ชีวิตแม่ชีในสังคมพม่า


ชีพม่านุ่งห่มสีชมพู ปลงผม ไว้คิ้วเข้ม ทูนถาดบนศีรษะ เดินเขย่าภาชนะรูปคล้ายกระโถนหมาก
ชีวิตแม่ชีในสังคมพม่า

 

ชีพม่านุ่งห่มสีชมพู ปลงผม ไว้คิ้วเข้ม ทูนถาดบนศีรษะ เดินเขย่าภาชนะรูปคล้ายกระโถนหมาก ส่งเสียงบอกบุญให้พร เพื่อขอรับบริจาคทานไปตามย่านตลาดและละแวกบ้าน เป็นภาพที่พบเห็นเจนตาในชุมชนเมืองและชนบทของประเทศพม่า จากข้อมูลตามแจ้งในรายงานของรัฐบาลพม่าเมื่อปี ค.ศ ๑๙๙๓ ระบุว่าประเทศพม่ามีจำนวนชีอยู่จำพรรษาในปีนั้น ๒๒,๙๙๗ รูป พร้อมระบุว่ามีภิกษุจำพรรษาจำนวน ๑๔๔,๓๙๕ รูป และมีสามเณรจำพรรษามากที่สุดถึง ๒๘๗,๕๔๓ รูป นับว่าพม่ามีชีจำนวนไม่มากนักเมื่อเทียบกับจำนวนภิกษุและสามเณรที่จำพรรษาในปีเดียวกัน ถึงแม้ทางการพม่าจะไม่แจ้งวัยของผู้บวชชีในช่วงเข้าพรรษาไว้ แต่สถิตินี้สะท้อนให้เห็นว่าชาวพม่านิยมบวชลูกชายเพื่อศึกษาอบรมและเอากุศลมากกว่าบวชลูกสาว ที่หวังให้อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน สิทธิของสตรีพุทธพม่าจึงดูไม่เสมอชายในทางศาสนา

 

โดยทั่วไปพม่ามีคำเรียกชีว่า ตีละฉี่ง (lu]ia'N) หมายถึง "ผู้ทรงศีล" คำนี้เป็นคำประสม ประกอบด้วยศัพท์บาลีว่า สีละ (lu]) คือ ศีล กับศัพท์พม่าคำว่า ฉี่ง (ia'N) หมายถึง "ผู้ครอง,ผู้ทรง" นอกเหนือจากคำดังว่านี้ ชียังมีคำเรียกอื่นได้อีก อาทิ แมตีละ (,pNlu]) แปลตามศัพท์ได้ว่า "แม่ศีล"; พวาตีละ (z:ktlu]) แปลว่า "แม่เฒ่าศีล"; แมตูด่อ (,pNl^g9kN) หรือ ตูด่อมะ(l^g9kN,) แปลว่า"หญิงผู้ทรงศีล" สำหรับคำว่าแมตูด่อนั้นมักใช้คู่กับคำว่า โพตู่ด่อ(z6btl^g9kN) หมายถึงชายถือศีลนุ่งห่มขาว แบบเดียวกับปะขาว ส่วนคำตูด่อมะนั้น นิยมใช้ในหมู่ชาวพม่าที่รัฐยะไข่ ที่รู้จักกันมาแต่เดิมว่ารัฐอาระกัน

 

วัดชีในพม่าจะอยู่ภายใต้การดูแลของเถรสมาคมหรือคณะสังฆะมหานายกะ(l"S,skokpdvz:ch) วัดชีมีรูปแบบเป็น ๒ ลักษณะ ลักษณะหนึ่งเป็นวัดเอกเทศ มีการปกครองโดยชีด้วยกันเอง อีกรูปแบบหนึ่ง เป็นวัดที่อยู่ภายใต้การดูแลของวัดสงฆ์ แต่ที่พบเห็นส่วนมากจะเป็นวัดชีในแบบแรก การปกครองของชีนั้น จะมีคณะกรรมการที่เป็นแม่ชีโดยเฉพาะ ทั้งในระดับประเทศ รัฐ ภาค และอำเภอ สำนักชีในพม่า ถือเป็นวัดเช่นเดียวกับวัดของสงฆ์ มีเจ้าอาวาสเป็นผู้ปกครอง เรียกว่า อาจารย์ใหญ่ หรือ ซยาจี(CikWdut) ต่างจากเจ้าอาวาสของฝ่ายสงฆ์ ซึ่งจะเรียก พระอาจารย์ หรือ ซยาดอ(Cikg9kN) ศูนย์กลางวัดชีในประเทศพม่าที่ใหญ่ที่สุดอยู่ ณ เขาสะกาย (00Nd6b'Ntg9k'N) ริมฝั่งแม่น้ำอิระวดี ตรงข้ามเมืองอมรปุระใกล้เมืองมัณฑะเล บนดอยแห่งนี้มีวัดชีเป็นจำนวนหลายร้อยวัด มีจำนวนชีหลายพันรูป เขาสะกายจึงเปรียบดุจหมู่บ้าน แม่ชีของพม่า

 

โดยทั่วไปวัดชีมีคำเรียกเช่นเดียวกับวัดของฝ่ายสงฆ์ คือใช้คำว่า จอง(gdyk'Nt) เหมือนกัน ซึ่งกินความได้ทั้งวัดและโรงเรียน และมักเรียกวัดชีเต็มๆว่า ตีละฉี่งจอง(lu]ia'Ngdyk'Nt) แปลว่า "วัดชี" และยังมีคำเรียกแบบสำนักชีว่า จองไต้ (gdyk'Nt96bdN) แปลตามศัพท์ว่า "ตึกวัด" หรือ "ตึกโรงเรียน" หรืออาจเรียกว่า ซาตี่งไต้ (0kl'N96bdN) แปลว่า "ตึกเรียนหนังสือ" ซึ่งก็คือโรงเรียนนั่นเอง นอกจากนี้อาจเรียกสำนักชีได้อีกว่า ตีละฉี่งซยะ(lu]ia'N=ixN) เฉพาะคำว่า ซยะ(=ixN)นั้น จะหมายถึง "ศาลาที่พักพิง" แต่ถ้าเป็นพื้นที่เขาสะกาย นิยมเรียกวัดชีว่า ฉ่อง(g-yk'N) คำนี้มีความหมายได้ ๒ นัย นัยหนึ่งแปลว่า "วิเวกสถาน" อีกนัยหนึ่งแปลว่า "ซอกเขา" ก็ได้ ศัพท์นี้สันนิษฐานว่ามีที่มาตามนัยว่าซอกเขา ก่อนกินความรวมถึงที่วิเวก เพราะวัดชีบนเขาสะกายนั้น จะตั้งเร้นอยู่ในหลืบเขาเป็นส่วนใหญ่ ด้วยเป็นที่สงบเย็นอยู่กลางแมกไม้ เหมาะแก่การปฏิบัติธรรม กล่าวกันว่าวัดชีซึ่งมีเนืองแน่นบนเขาสะกายนั้น ยามเมื่อต้องการพื้นที่เพิ่มเพื่อขยายวัด จำต้องปรับซอกเขาให้เป็นลานกว้าง ก่อนที่จะปลูกสร้างตัวอาคาร ด้วยเหตุนี้ พม่าจึงมีโวหารสำหรับการสร้างวัดชีที่เขาสะกายไว้ว่า ตัดดอย ขยายวัด (g9k'NzcHexut g-yk'N-ych) จึงถือเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของวัดชีแห่งเขาสะกายนั้น เห็นได้ว่าศัพท์ที่ใช้สำหรับเรียกวัดชีใน ภาษาพม่านั้นมีแตกต่างถึง ๓ นัย คือเป็นได้ทั้งสำนักเรียน ที่พักพิง และวิเวกสถาน ช่วยบ่งให้รู้บทบาทหน้าที่ของวัดชีได้อย่างชัดเจน

 

หากกล่าวถึงความเป็นมาของการบวชในสังคมพุทธพม่านั้น ผู้หญิงพม่าน่าจะมีโอกาสถือบวชได้เช่นเดียวกับชายมาแต่ยุคแรกๆ ศาสตราจารย์ลูช(G.H.Luce) เอ่ยถึงสังคมชาวพยูในพม่า ตามที่กล่าวในบันทึกของจีนยุคราชวงศ์ถังโบราณ เมื่อศตวรรษที่ ๙ ความว่า "เมื่อย่างถึงวัย ๗ ขวบ เด็กทั้งชายหญิงจะปลงผมและพำนักอยู่ในวัด เพื่อใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์ ต่อเมื่ออายุถึงวัย ๒๐ ปี หากไม่อาจมีสุขอยู่ในแนวทางนั้นได้ ก็จะสึกจากสมณเพศ ปล่อยผมยาวคืนสู่ภาวะสามัญชนดังเดิม" จากข้อเขียนของศาสตราจารย์ลูชดังกล่าวนั้น ยะเวทูน(ig;5:oNt) ภิกษุชาวพม่าผู้แต่งหนังสือ "ประวัติภิกขุณีและแม่ชี" (4bd7oulklokOa'NH lu]ia'Nl,6b'Nt) ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. ๑๙๖๕ ได้สันนิษฐานว่า ชีในสังคมพม่าน่าจะกำเนิดมาแต่ยุคสมัยศรีเกษตรของชาวพยูเป็นอย่างช้า และหญิงพม่าคงนิยมบวชชีสืบเนื่องเรื่อยมาถึงสมัยพุกาม อังวะ คองบอง จวบจนถึงปัจจุบัน

 

ในประวัติศาสตร์พม่ามีชีที่ประกอบคุณความดีเป็นที่นับถือของพุทธศาสนิกชนเช่นกัน ชีที่มีชื่อท่านหนึ่ง คือ ซยากีง (Cikd'Nt) มีชีวิตอยู่ในสมัยของพระเจ้ามินดง พระองค์ให้ความเคารพศรัทธาต่อชีท่านนี้ยิ่งนัก ถึงขนาดนิมนต์มาพำนักในวังหลวง เพื่ออยู่อบรมสั่งสอนเจ้านายฝ่ายใน ในสมัยนั้นแม่ชีพม่ามีประวัติโดดเด่นที่สุด ต่อมาในสมัยอาณานิคม จำนวนชีดูจะน้อยลงกว่าเดิม จนหลังได้รับเอกราช จำนวนชีกลับมีเพิ่มขึ้นมาเป็นลำดับ รายงานรัฐบาลพม่าแจ้งไว้ในปี ค.ศ. ๑๙๖๑ ระบุว่าพม่าทั้งประเทศมีชีจำนวน ๘,๗๕๓ รูป จนถึงปัจจุบันพม่ามีชีกว่า ๒ หมื่นรูปตามกล่าวมาแล้ว ที่จริงจำนวนชีที่ไม่ได้แจ้งเข้าพรรษาน่าจะมีมากกว่าที่ระบุอยู่ไม่น้อย ยะเวทูนกล่าวว่าชีมิได้เพิ่มเพียงปริมาณ แต่ยังมีคุณภาพสูงกว่าในอดีต ดังพบว่ามีชีหลายรูปที่เรียนธรรมชั้นสูง และบางรูปแต่งตำราได้ไม่ด้อยไปกว่าพระ อย่างไรก็ตามชีจะไม่ได้รับโอกาสสอบท่องพระไตรปิฎก ซึ่งกำหนดไว้เฉพาะฝ่ายสงฆ์เท่านั้น

 

แม้ชีพม่าในปัจจุบัน จะครองผ้าเป็นชุดสีชมพูก็ตาม แต่กล่าวกันว่าเดิมทีนั้นชีพม่าแต่งชุดขาวเหมือนกับชีไทย ชีลาว และชีเขมร ยะเวทูนเชื่อว่าชีน่าจะครองชุดขาวมาตลอดยุคราชวงศ์ของพม่า คือนับแต่สมัยพุกามจนถึงสิ้นราชวงศ์คองบอง ดังมีหลักฐานบันทึกเป็นบทกลอนที่เรียกว่าส่าโช (0k-y7bt) ซึ่งน่าจะแปลว่า "เพลงแซว" แต่งโดยพระเถระรูปหนึ่ง นามว่าพระอาจารย์บะหม่อ(roNtg,kNCikg9kN) เป็นสงฆ์ผู้มีชื่อเสียงทางกวีนิพนธ์ในสมัยของพระเจ้ามินดง พระอาจารย์บะหม่อแต่งบทกลอนนี้ไว้ เมื่อตอนที่ท่านขึ้นจำพรรษา ณ เขาสะกาย มีเนื้อความ บ่งบอกสีของผ้าครองของชีสมัยนั้น โดยเปรียบเปรยแม่ชีเป็น "แม่ไก่ขาว" ซึ่งท่านใช้คำว่า แจ๊ะผยู่มะ (EddNez&,) ส่าโชบทนั้นว่าไว้ดังนี้

 




ว่ามิคุ้น จึงมิเมตตา


,d,Nt9cH ,dy'N|
ขอเอ่ยถึงแม่ไก่ขาวเนาศาลา


ixNgxK EddNez&,d6b -:oNt0]6bdN-y'N|
วรรณะเนียน อ้อนแอ้นอรชร


vgl:t'pNpfN vl:'Nd gxykHgxyk'Nt|
ครองกายหล่อน ผืนป่านขาวผ่องแผ้ว


l^;9Ng] ez&5:9NdpNg]YkNg9Oa'NH
เพียรแน่วในแนวธรรม อยู่จำวัดชีที่เชิงดอย


g9k'Nge-,akdy'NH9ikt'pN z:ktlu]gdyk'Nt|



ในระยะหลัง มีบันทึกกล่าวถึงการเปลี่ยนผ้าครองสีขาวเป็นสีคล้ำ กล่าวคือในช่วงระหว่าง ค.ศ. ๑๘๙๕ - ๑๙๑๙ พระอาจารย์แห่งวัดมหาคันธาโยง เมืองอมรปุระ ขึ้นไปจำพรรษา ณ เขาสะกาย ท่านเห็นว่าชีที่มากราบไหว้แต่งกายด้วยเสื้อขาว และห่มสบงคล้ำ ท่านจึงให้ข้อคิดว่าชีควรจะเปลี่ยนผ้าครองให้เป็นสีคล้ำทั้งชุด เนื่องจากเสื้อสีขาวที่ใส่นั้น ดูคล้ายชาวบ้าน จึงไม่เหมาะกับผู้ถือศีล นับจากนั้นมา จึงไม่ปรากฏว่าชีใช้ผ้าครองสีขาวกันอีก แรกๆกล่าวเรียกสีของผ้าครองเป็นสีดินคล้ำแบบดินเมืองปะคัน (x-oNtge,L6b) ต่อมาได้เปลี่ยนมาเป็นสีดินแดงแบบดินย่างกุ้ง(ioNd6oNge,ou) แล้วแปรเปลี่ยนเรื่อยมาเป็นสีชมพูดังปัจจุบัน

 

อันที่จริงชีพม่าในปัจจุบันนิยมครองผ้า ๒ แบบ แบบหนึ่งเป็นผ้าสีชมพู ซึ่งพบได้ทั่วไป ใช้สำหรับชีที่เน้นทางด้านปริยัติ ถือศีล ๘ และอีกแบบหนึ่งเป็นผ้าสีน้ำตาล ใช้สำหรับชีที่เคร่งด้านปฏิบัติ ถือศีล ๑๐ ชีที่ครองผ้าสีชมพูนั้น มิได้ห่มผ้าสีชมพูโทนเดียวทั้งชุด สบงอาจเป็นส้ม แดง หรือสีมันกุ้ง เสื้อเป็นสีชมพูอ่อนหรือสีส้มอ่อน ผ้าพาดบ่าหรือผ้าปกศีรษะ มักจะมีสีน้ำตาลอ่อน ดังนั้นหากสังเกตดีๆ ชุดชีพม่าจะใช้ผ้าต่างระดับสี หากดูรวมๆจะเป็นสีชมพู ส่วนชีที่แต่งชุดสีน้ำตาลนั้น จะนุ่งสบงและใช้ผ้าพาดบ่าสีน้ำตาลคล้ำ และสวมเสื้อสีน้ำตาลอ่อน จึงดูคล้ายโยคีหรือผู้ถืออุโบสถศีล แต่ปฏิบัติเคร่งกว่าชีส่วนใหญ่ที่ครองผ้าสีชมพูและถือเพียงศีล ๘

 

ธรรมเนียมการบวชชีของพม่านั้นหากเป็นเด็กหญิง มักจะบวชพร้อมกับบวชเณร และการบวชชีมักจะทำควบคู่ไปกับพิธีเจาะหู โดยแต่งตัวให้งามดุจเจ้าหญิง มีการแห่แหน พาไปไหว้พระเจดีย์ จากนั้นจึงพามาทำพิธีที่วัด โดยให้พระสงฆ์เป็นผู้บวชให้ หากต้องเจาะหูด้วย ก็ต้องทำพิธีก่อนปลงผม โดยไม่ต้องโกนคิ้ว หลังจากครองผ้า ชีจะเข้ารับศีลจากพระสงฆ์ แล้วจึงไปจำอยู่วัดชี ส่วนอายุบวชนั้น มักอยู่ในวัย ๗-๘ ขวบ ด้วยสามารถช่วยตนเองได้ และเหมาะจะเรียนรู้ธรรมะขั้นพื้นฐาน เด็กบางคนถูกพ่อแม่จับบวชชีตั้งแต่อายุน้อยๆ ด้วยวัยเพียง ๓-๔ ขวบ แต่จะเป็นการบวชเพียงเพื่อหวังกุศล และจะบวชในระยะสั้นๆ ๓-๗ วัน บางรายพอโกนหัวแต่งชุดชี เข้าพิธีบวช พ่อแม่ก็พากลับไปนอนบ้าน ไม่จำเป็นต้องถือถึงศีล ๘ อนุโลมให้ถือเพียงศีล ๕ เท่านั้น นับเป็นการบวชชีพอเป็นพิธี

 

ที่จริงการบวชชีจะขึ้นอยู่กับฐานะ หากเป็นชาวบ้านจนๆ ที่หวังพึ่งสำนักชีเป็นที่เล่าเรียนและยังชีพ จะจัดพิธีบวชกันอย่างเรียบง่าย ไม่ต้องแต่งชุดเป็นเจ้าหญิง ไม่นำพาต่อพิธีรีตอง และยืดหยุ่นตามความจำเป็น แต่ถ้าเป็นครอบครัวผู้มีอันจะกิน หรือที่พอจะช่วยตนเองได้ มักจัดงานบวชให้กับบุตรสาว พร้อมไปกับบุตรชาย มีการจัดพิธีและกิจกรรมบันเทิงที่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายสูง บางงานมีการฉลองด้วยดนตรีปี่พาทย์ที่เรียกว่า ซายวาย (C6b'Nt;6b'Nt) และทำบุญเลี้ยงพระและชีทั้งวัด พร้อมกับเชิญญาติมิตรมาร่วมงานกันถ้วนหน้า ถือว่าได้ทั้งกุศลและเป็นหน้าเป็นตาให้แก่เจ้าภาพ

 

การบวชครองเพศชีในสังคมพม่า มีทั้งการบวชชั่วคราว บวชนาน และบวชชั่วชีวิต การบวชชั่วคราวนั้น มักเป็นการบวชเพื่อบุญกุศล บวชแก้บน หรือบวชปฏิบัติธรรมตามโอกาส ที่ครองเพศชีอยู่นานจะบวชเพื่อศึกษาหาความรู้ หรือไม่ก็บวชเพราะหนีปัญหาชีวิต แม่ชีที่บวชเพียงชั่วคราวจะเรียกว่า ดุลฺลภะ-ตีละฉี่ง (m6]4lu]ia'N) ส่วนการบวชนานจนชั่วชีวิตนั้น โดยมากสืบเนื่องมาจากกลุ่มผู้บวชชั่วคราวและกลุ่มผู้บวชนานนั่นเอง หญิงพม่ามักบวชชีด้วยศรัทธาในแนวทางพุทธศาสนา และมีจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่บวชด้วยหวังพึ่งพุทธศาสนาเป็นทางออกแก่ชีวิต แต่ไม่ว่าจะบวชช่วงสั้น ยาวนาน หรือจะบวชด้วยเหตุผลใดก็ตาม ชาวพุทธพม่าจะให้ความเคารพต่อชี หากเป็นแม่ชีมีวุฒิหรือสูงวัยจะต้องเรียก ซยาจี(CikWdut) แปลว่า "ครูใหญ่" และเรียกชีวัยเด็กวัยสาวว่า ซยาเล(Cikg]t) แปลว่า "ครูน้อย" คำว่า ซยา(Cik) แปลว่า "ครู" และเวลาพูดกับชีจะต้องกล่าวลงท้ายอย่างสุภาพด้วยคำว่า "พะยา" (46ikt) เทียบได้กับ "เจ้าค่ะ" หรือ "ขอรับ" ดุจเดียวกับพูดกับพระสงฆ์ ทั้งนี้เพราะพม่าถือว่าชีเป็นผู้ทรงศีลและมีความรู้ด้านพุทธศาสนา ช่วยสืบพระศาสนา อีกทั้งเห็นว่าชีมีหน้าที่ในการอบรมสั่งสอน โดยอยู่ประจำสำนักซึ่งเป็นดุจโรงเรียน ชีพม่าจึงได้รับการยกย่องเช่นเดียวกับสงฆ์

 

ในการครองชีวิตชีพม่านั้น จะไม่สะสมสิ่งของเครื่องใช้มากเกินความจำเป็น ของใช้ส่วนตัวของชีนอกจากผ้าครองกาย ๖ ชิ้นแล้ว จะมีของใช้อีก ๖ อย่าง ได้แก่ มีดโกน ร่ม รองเท้า หีบ สร้อยประคำ และถาดรับข้าวสาร ปัจจัยจำเป็นดังกล่าว แม้ดูไม่มากนัก แต่การบวชชีสำหรับชาวพม่าที่มีฐานะยากจน ของใช้เหล่านั้นกลับเป็นสิ่งที่เหลือวิสัย จึงต้องอาศัยศรัทธาจากผู้อื่น เกื้อหนุน หรือหยิบยืมกันเองในหมู่เพื่อนชี

 

ในด้านการศึกษาตามสำนักชีนั้น แม่ชีจะมีบทบาทในด้านการสั่งสอนธรรม การอบรมบ่มนิสัย และสังคมสงเคราะห์ ชั้นเรียนสำหรับชีจะเริ่มตั้งแต่ระดับชั้นประถม ที่เรียกว่า มูละตัน(,^]9oNt) จนถึงชั้นมัธยม ที่เรียกว่า อะจีตัน (vWdut9oNt) บางสำนักเปิดสอนในระดับธรรมาจริยะ (T,k0ibp) เป็นชั้นเรียนสำหรับผู้สอน ที่เรียกว่า ระดับส่าชะตัน (0k-y9oNt) ที่จริงจำนวนชีที่จบถึงชั้นธรรมาจริยะนั้นมีไม่มากนักเมื่อเทียบกับฝ่ายสงฆ์ วัดชีจึงมีชีสำหรับสอนในระดับสูงค่อนข้างน้อย จึงมักต้องอาศัยเรียนกับวัดของสงฆ์ที่อยู่ใกล้ๆ มีน้อยวัดที่สามารถเปิดสอนจนถึงระดับสูงได้โดยไม่ต้องพึ่งสงฆ์ ในการอบรมบ่มนิสัยนั้น จะมุ่งสอนในด้านงานบ้านงานเรือน อาทิ การปรุงอาหาร การจัดหิ้งบูชาพระ และกิริยามารยาท ในด้านสังคมสงเคราะห์นั้น ชีพม่าได้พัฒนารูปแบบมานับแต่เมื่อพม่าได้รับเอกราช บางวัดรับดูแลคนชราและคนพิการ บางวัดรับเด็กกำพร้าและเด็กยากจนมาบวชเรียน โดยเฉพาะเด็กชาวเขาหรือชนส่วนน้อยต่างภาษา อาทิ ปะหล่อง มอญ ไทใหญ่ กะเหรี่ยง ว้า กะฉิ่น และฉิ่น กล่าวว่ารูปแบบนี้มีขึ้นเพื่อกันกลุ่มชนเหล่านั้นไม่ให้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์

 

โดยทั่วไปชีวิตชีพม่าดูจะไม่สุขสบายอย่างพระสงฆ์และสามเณร ชีมักจะมีความเป็นอยู่ที่อัตคัด โอกาสในลาภสักการะจะมีน้อยกว่าสงฆ์ ชีมักจะออกเรี่ยไรสัปดาห์ละ ๒ ครั้ง ของที่ได้รับมักเป็นข้าวสารและเงิน ไม่มีการถวายเครื่องคาวหวาน อีกทั้งชีมักต้องจัดหากับข้าวเอง โดยจับกลุ่มทำอาหารแบ่งปันกันในวัด เว้นแต่วัดชีที่ได้ผู้ศรัทธาที่มีฐานะให้การอุปถัมภ์ จึงจะอยู่ดีกินดี ชีไม่เพียงแต่ต้องจัดหาอาหารเองเท่านั้น ชียังต้องคอยเตรียมอาหารถวายพระเป็นครั้งคราว เพราะถือเป็นการทำบุญกุศลเช่นเดียวกับฆราวาส

 

ปัจจัยที่หญิงพม่าเข้าบวชเป็นชีนั้นมีหลายทาง หญิงพม่าที่พบกับปัญหาชีวิตอาทิ ความยากจน กำพร้าพ่อแม่ ไร้ที่พึ่งพิง ผิดหวังในชีวิต อาจหาทางออกด้วยการบวชชี พบมากเป็นเด็กจากชนบท หรือชนส่วนน้อยเผ่าต่างๆ และมีไม่น้อยที่บวชเพื่อแก้บน บ้างบวชเพราะพ่อแม่บังคับ โดยเฉพาะในช่วงปิดภาคเรียน หรือช่วงสงกรานต์ ด้วยพ่อแม่ปรารถนาจะให้ลูกใกล้ชิดพระศาสนา เรียนรู้ธรรมะและเป็นคนมีระเบียบวินัย เด็กบางคนเต็มใจบวชเพราะเห็นแบบอย่างอยู่บ่อย เห็นการเอาใจจากผู้ใหญ่ และแม้แต่เครื่องแต่งตัวสวยงามก่อนบวชก็เป็นแรงจูงใจอย่างหนึ่งได้เช่นกัน ถึงแม้แมชีพม่าจะมีฐานะไม่ต่ำต้อยนัก แต่พ่อแม่ที่มีฐานะดีมักไม่นิยมให้ลูกสาวบวชชีเพื่อหลีกหนีชีวิตฆราวาส ส่วนมากจะยอมให้บวชเพียงชั่วคราวเพื่อหวังกุศล ศึกษาหาความรู้ หรือเพื่อปฏิบัติธรรม เว้นแต่จะมีจิตมุ่งมั่นจริงๆ ก็อาจบวชชีไปตลอดชีวิต

 

นอกเหนือจากการบวชชีด้วยศรัทธา หรือด้วยความจำเป็นดังกล่าวมาแล้ว ในอดีตมีหญิงพม่าบวชชีเพราะหนีภัยสงคราม และเลี่ยงราชภัย ดังมีบันทึกไว้ว่า นางสลิ่นสุพยา(0]'Nt06z6ikt) ราชธิดาของพระเจ้ามินดง ผู้กินตำแหน่งตะบีงด่าย(9x'N96b'N) มีฐานะว่าที่อัครมเหสีของกษัตริย์องค์ถัดไป ซึ่งคือพระเจ้าธีบอหรือสีป่อ แต่ด้วยนางเกรงอำนาจของพระนางอะเลนันดอกับ นางสุพยาลัต นางสลิ่นสุพยาจึงออกบวชเป็นชีจนชั่วชีวิต และในช่วงสงคราม ผู้หญิงพม่าก็ได้อาศัยวัดชีเป็นที่พึ่งหนีความอดอยากและความโหดร้ายจากภัยสงคราม

 

ชีวิตชีนับเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้หญิงพม่าผู้ปรารถนาพึ่งร่มเงาแห่งพระศาสนา ในสังคมพม่าถือว่าชีเป็นนักบวชที่ต้องอยู่ประจำสำนัก ครองชีวิตพ้นจากโลกียสุข ทั้งนี้อาจจะด้วยความศรัทธา เพื่อการศึกษา หรือเพราะหนีปัญหาชีวิตก็ตาม และแม้ว่าชีวิตชีพม่าจะมิใช่เป็นหนทางที่สะดวกสบายนัก ด้วยชียังจำต้องดิ้นรนหาเลี้ยงชีพ และสังคมพม่ามิได้ยอมรับฐานะของชีเสมอกับพระสงฆ์ แต่ผู้หญิงพม่าก็ยังนิยมบวชชีเพื่อหนีปัญหาทางโลกเข้าสู่วิถีทางอันสงบที่สังคมอำนวยให้ และนับแต่อดีตมา แม่ชีพม่าแทบจะไม่เคยเรียกร้องสิ่งใดเป็นพิเศษจากสังคม นอกเหนือจากปัจจัยยังชีพและที่พักพิง อีกทั้งไม่เคยออกมาเรียกร้องทางการเมืองจนเด่นชัด

 

อรนุช-วิรัช นิยมธรรม

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15502เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2006 17:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 18:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท