โรงรับจำนำ : ทุคติอันดับสี่ของชาวพม่า


ชาวพม่ากล่าวว่าสถานที่ที่ไม่เป็นมงคลต่อชีวิตและถือเป็นทางแห่งทุคติมี ๓ แห่ง คือ โรงพยาบาล ศาล และสุสาน
โรงรับจำนำ : ทุคติอันดับที่สี่ของชาวพม่า
ชาวพม่ากล่าวว่าสถานที่ที่ไม่เป็นมงคลต่อชีวิตและถือเป็นทางแห่งทุคติมี ๓ แห่ง คือ โรงพยาบาล ศาล และสุสาน ดังนั้นหากเจ็บป่วยเล็กๆน้อยๆชาวพม่าจึงมักจะพยายามพึ่งพาตนเองด้วยการรักษาแบบพื้นบ้าน หากมีเรื่องคดีความก็ต้องวิ่งเต้นเพื่อไม่ให้เรื่องถึงโรงถึงศาล และสุสานคือแดนของเหล่าวิญญาณที่ไม่มีใครอยากเข้าใกล้ ปัจจุบันยังมีอีกสถานที่หนึ่งที่ชาวพม่าไม่อยากเข้าไปข้องแวะเช่นกัน สถานที่นั้นคือโรงรับจำนำ  ทุตข่องได้เขียนไว้ในวารสารเมียนมาธนะ ฉบับประจำเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๙๗ ว่าโรงรับจำนำเป็นทุคติที่ ๔ ของชาวพม่า  ถือเป็นปรอทตัวใหม่ที่ใช้วัดความตกต่ำของชีวิต
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้มีความจำเป็นในชีวิต โรงรับจำนำถือเป็นทางออกสำหรับปัญหาเฉพาะหน้า ทุตข่องกล่าวว่าช่วงเวลาที่มีการจำนำกันสูงจะเป็นช่วงใกล้ฤดูทำนา ช่วงงานบุญ ช่วงเปิดเรียน และช่วงใกล้สอบ ซึ่งต้องจ่ายค่าเรียนพิเศษให้กับลูกๆ ของที่จำนำมักได้แก่ เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องครัว ปิ่นโต จักรเย็บผ้า สามล้อ เครื่องมือช่าง คันไถ เครื่องสูบน้ำ ล้อเกวียน นาฬิกา สร้อยทอง พัดลม และจักรยาน เป็นต้น
ความคิดที่ผลักดันให้มีความสนใจต่อการตั้งโรงรับจำนำในประเทศพม่านั้น ทุตข่องได้โยงไปถึงกรณีกบฏชาวนา หรือ กบฎซะยาซัน ซึ่งเกิดขึ้นในปี ค.ศ. ๑๙๓๐ เหตุของกรณีกบฏซะยาซันนั้นเกิดจากการที่นายทุนเงินกู้ชาวอินเดีย หรือที่รู้จักกันดีว่า ชิตตี(-y0N9ut) ปล่อยเงินกู้ให้กับชาวนาโดยเก็บดอกเบี้ยรายปี ที่จริงเงินที่ชิตตีนำมาให้ชาวนากู้นั้นเป็นเงินที่กู้มาจากธนาคารของรัฐ โดยกู้มาในอัตราเพียงร้อยละ ๔ - ๘ เท่านั้น แต่กลับนำมาให้ชาวนากู้ด้วยดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ ๑๕ – ๒๐ และประกอบกับในช่วงเวลานั้นเกิดปัญหาราคาข้าวตกต่ำ ชาวนาจึงไม่อาจใช้หนี้คืนเจ้าของเงินกู้ได้ตามกำหนด ชาวนาจึงถูกยึดบ้าน ที่นา วัวควาย จนแม้แต่ลูกสาว ทำให้เกิดการลุกฮือของชาวนาเพื่อต่อต้านพวกนายทุนเงินกู้และรัฐบาลอาณานิคม พอหมดยุคชิตตีซึ่งค่อยๆสลายไปพร้อมกับการสิ้นยุคอาณานิคมนั้น ก็ได้เกิดนายทุนเงินกู้กลุ่มใหม่แทรกขึ้นมาแทน พวกนายทุนกลุ่มนี้เป็นชาวจีน ที่พม่าเรียกว่า เป้าก์ผ่อ(gxjdNgzkN) แปลว่า “สหาย,เกลอ” นายทุนชาวจีนปล่อยเงินกู้โดยเก็บดอกเบี้ยเป็นรายเดือน แต่ไม่ว่าจะเป็นชิตตีหรือเป้าก์ผ่อ ต่างก็คิดดอกเบี้ยสูงกว่าปกติเท่าตัว และมีรายงานว่าในช่วงปี ค.ศ. ๑๙๕๐ ซึ่งเป็นช่วงหลังพม่าได้รับเอกราชแล้ว ชาวจีนเคยครองตลาดเงินกู้ถึงกว่า ๘๐ %
จากการเก็บดอกเบี้ยเงินกู้สูงจนน่าสะพึงในยุคชิตตีและเป้าก์ผ่อนั้น พม่าจึงมักเรียกดอกเบี้ยของชิตตีและเป้าก์ผ่อว่า ดอกเบี้ยโพโพอ่อง หรือ ดอกเบี้ยปาฏิหาริย์ คำว่าโพโพอ่อง(46bt46btgvk'N)นั้นเป็นนามของผู้วิเศษตามความเชื่อของชาวพม่า โพโพอ่องเคยแสดงอิทธิฤทธิ์ด้วยการเขียนอักษร วะ (;) ลงบนลานดินให้เจ้าชายผู้เป็นสหายลบ แต่เจ้าชายไม่อาจลบอักษรวะนั้นให้หายไปได้ หนำซ้ำพอยิ่งลบก็กลับมีอักษรวะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเป็นทวีคูณ อิทธิฤทธิ์ของโพโพอ่องจึงถูกนำมาเทียบกับดอกเบี้ยเงินกู้ในยุคนั้นว่าสามารถผุดเพิ่มได้ดุจอักษรวะของโพโพอ่องบนลานดิน เพราะนอกจากจะลบล้างเงินต้นไม่หายแล้ว ดอกเบี้ยยังกลับเพิ่มพูนได้อย่างไม่หยุดนิ่ง
อันที่จริงในยุคหลังกบฏซะยาซันนั้น ได้เคยมีผู้เสนอแนวทางการผ่อนปรนปัญหาความยากจนด้วยรูปแบบของโรงรับจำนำอย่างอินโดนีเซียที่มีมาก่อน แต่รัฐบาลอาณานิคมสมัยนั้นกลับไม่ได้ให้ความสำคัญที่จะคิดตั้งโรงรับจำนำเพื่อผ่อนคลายปัญหาปากท้องของคนยากจน  โรงรับจำนำในพม่าเพิ่งมาเปิดเป็นบริการของรัฐหลังจากที่พม่าได้รับเอกราชแล้ว โดยเริ่มทดลองเปิดเป็นแห่งแรกในปี ค.ศ. ๑๙๕๒ ที่ย่านอีงเส่ง ชานเมืองย่างกุ้ง จากนั้นจึงขยายไปได้กว่าหนึ่งร้อยสาขาในช่วงปี ค.ศ. ๑๙๕๓ - ๕๔ อย่างไรก็ตาม ใช่ว่ากิจการโรงรับจำนำของรัฐจะราบรื่น เหตุเพราะมีปัญหาภายในระบบงานจนรัฐไม่อาจปล่อยให้มีการรับจำนำของหลายอย่าง อาทิ เสื้อผ้า เครื่องครัว นาฬิกา จักรยาน พัดลม  แต่ยังคงรับจำนำทอง จนหนังสือพิมพ์เขียนล้อรัฐบาลยุคนั้นว่า “จะทำกินฝนก็แล้ง จะขโมยกินสุนัขก็เห่า ค้าขายก็ขาดทุน จะเขียนก็กลัวถูกฟ้อง จะเอาโสร่งเก่าไปจำนำก็ไม่มีใครรับ” โรงรับจำนำของรัฐจึงไม่ใช่ที่พึ่งแท้จริงของประชาชน
ในยุคปัจจุบันมีโรงรับจำนำทั้งแบบของรัฐบาล แบบของเอกชนที่ได้รับอนุญาตจากรัฐ และแบบจำนำกับพวกนายทุนเถื่อน โรงรับจำนำของรัฐและเอกชนจะเก็บดอกเบี้ยไม่สูงมาก อาทิ หากเป็นสิ่งของ เช่น เสื้อผ้า เครื่องครัว จะเสียดอกเบี้ย ๑๐ – ๑๒ % หากเป็นทองจะเสียดอกเบี้ย ๔ - ๕ % แต่โรงรับจำนำของรัฐและเอกชนมักยึดระเบียบที่หยุมหยิม จำนำได้เพียงบางสิ่ง ต่อรองได้ยาก และผัดผ่อนไม่ได้ ชาวบ้านจึงมักไปจำนำกับพวกนายทุนเถื่อน โดยยอมเสียดอกเบี้ยสูงกว่า อาทิ หากเป็นของใช้จะเก็บดอกเบี้ย ๑๕ - ๒๐ % หากเป็นพัดลม เครื่องเล่นเทป หม้อหุงข้าว จักรเย็บผ้า นาฬิกา และจักรยานจะเก็บดอกเบี้ย๑๐ % แต่ถ้าเป็นทองจะคิดดอกเบี้ย๕ - ๗ %
เล่ากันว่าพวกนายทุนเถื่อนที่รับจำนำนั้น มักมีวาจาร้ายกับลูกค้าจนๆ จนมีการตั้งฉายาให้กับนายทุนเถื่อนว่าเป็นพวกปากอะเมจาง หรือ ผรุสวาทเทวี คำว่าอะเมจาง(vg,8y,Nt) หมายถึงผีนัตผู้หญิงตนหนึ่งตามความเชื่อของชาวพม่า นัตตนนี้มีหน้าตาบึ้งตึง วาจาหยาบกระด้าง ชอบนั่งในท่าชันสองเข่า ในมือคีบบุหรี่ขี้โย ท่าทางของอะเมจางคงดูคล้ายกับนายทุนเถื่อนที่นั่งเฝ้าสมบัติอยู่กับบ้าน บ้างนินทากันอีกว่าหากชาวบ้านจนๆนำของด้อยค่ามาจำนำซึ่งอาจมีค่าพอกับค่าข้าวค่ายาเพียงหนึ่งมื้อ สีหน้าของนายทุนเถื่อนก็จะตึงราวกับหนังหน้ากลองที่ผึ่งแดด แต่หากของที่นำมาจำนำเป็นทอง สีหน้าของนายทุนเถื่อนที่ปกติจะหน้านิ่วคิ้วขมวด ก็จะพลันแช่มชื่นทันตา
การที่ชาวบ้านนิยมจำนำของกับนายทุ่นเถื่อนแทนที่จะไปใช้บริการกับโรงรับจำนำของรัฐนั้น ก็คงด้วยเบื่อระเบียบที่ยุ่งยาก และอีกเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะความรู้สึกอับอายที่ต้องตากหน้าเข้าโรงรับจำนำซึ่งตั้งอยู่ในที่เปิดเผย โรงรับจำนำจึงถูกจัดให้เป็นทุคติอันดับที่ ๔ ของชาวพม่า เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่คนพม่าไม่อยากเข้าใกล้
วิรัช นิยมธรรม
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15501เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2006 17:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 13:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท