ตอบคำถามว่าด้วย "เศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม"


เศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมพยายามวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาที่เกิดจากการตัดสินใจทางเศรษฐกิจของมนษย์ และหาเครื่องมือในการแก้ปัญหาเหล่านี้

น้องคนหนึ่ง เขียนมาถามว่า "เศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม" เรียนเกี่ยวกับอะไร  ขอตอบผ่านบล็อคนะคะ

ที่จริงถ้าเราตั้งโจทย์เรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม  คำถามแรก คือ ปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดจากอะไร  ... จะเป็นอะไรไปเสียไม่ได้นอกจาก พฤติกรรมกินอยู่ของมนุษย์   ยิ่งกินมากใช้มาก ก็ยิ่งใช้ทรัพยากรมากขณะเดียวกันก็เหลือเป็นขยะ ของเสีย มลพิษกลับมาสู่สิ่งแวดล้อมมากด้วย   สิ่งแวดล้อมจึงเป็นทั้ง sink คือที่ทิ้งของเสีย และ source คือ แหล่งที่มาของวัตถุดิบ สินค้า บริการต่างๆที่เราใช้อยู่

จะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจึงต้องแก้ที่พฤติกรรมมนุษย์   คำถามคือ จะแก้อย่างไร   เศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมพยายามวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาที่เกิดจากการตัดสินใจทางเศรษฐกิจของมนษย์  และหาเครื่องมือในการแก้ปัญหาเหล่านี้

เศรษฐกิจพอเพียงที่ให้คนใช้อย่างพอประมาณ  คำนึงความสมดุลในการดำรงชีวิต ที่หมายถึงสมดุลกับธรรมชาติด้วย  ก็เป็นหลักคิดแบบหนึ่งที่เรียกร้องให้คนเรา "ตระหนัก"  "ระเบิดจากภายใน"  ควบคุมพฤติกรรมตนเอง  ลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้

เศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมไม่ได้เน้นปัจจัยภายใน  แต่สร้าง "กลไกจากภายนอก"

 ถ้าพูดถึงกลไกควบคุมภายนอก  มีอยู่ 3 ชุด

ชุดแรกคือ  การสั่งการและควบคุม   เช่น กม.ห้ามทิ้งของเสีย  การกำหนดมาตรฐานสิ่งแวดล้อม แล้วห้ามไม่ให้ต่ำกว่ามาตรฐาน เป็นต้น

ชุดที่สองคือ การสร้างแรงจูงใจ   เป็นเครืองมือทางเศรษฐศาสตร์โดยตรง    วิธีนี้ไม่ได้ห้าม  แต่ให้ "เลือก"  เอาเอง   เช่น  การเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม เก็บค่าธรรมเนียมมลพิษทำให้สินค้าที่ก่อมลพิษมีราคาสูงขึ้น  ลดแรงจูงใจในการซื้อ ลดการบริโภค ระบบมัดจำขวด ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของเครื่องมือชุดนี้   หลักการคือ "ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย"  เพื่อลดปัญหาการผลักภาระสู่สังคม   แน่นอนว่า  ผู้ก่อมลพิษในทางเศรษฐศาสตร์มีสองส่วน คือ ผู้ผลิต กับ ผู้บริโภค   เมื่อคนเหล่านี้ต้องรับภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นด้วย  ก็จะ "ระมัดระวัง" มากขึ้นในการกินการใช้

ในต่างประเทศพูดถึงเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ในการลดปัญหาภาวะโลกร้อนกันมาก   เช่น tradable permit,  carbon credit

ชุดที่สาม คือ  การเจรจาต่อรอง    กระบวนการชุมชน  การเคลื่อนไหวต่อรองกับผู้ก่อมลพิษ  การร้องเรียนต่างๆ จะอยู่ในเครื่องมือชุดนี้    

เศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม นอกจากจะเน้นการวิเคราะห์และสร้างเครื่องมือชุดที่สองแล้ว  ยังอธิบายเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของเครื่องมือชุดต่างๆด้วย  สถานการณ์ต่างกัน จะใช้เครื่องมือชุดไหนอย่างไร  ภายใต้หลักการ  ให้บรรลุเป้าหมายด้วย "ต้นทุนรวมของสังคม"ต่ำที่สุด

หัวใจสำคัญของที่จะใช้เครื่องมือชุดที่สองและชุดที่สามได้อย่างมีประสิทธิภาพ  คือ   ระบบกรรมสิทธิ์  เช่น สิทธิในการเป็นเจ้าของทรัพยากร  สิทธิในการก่อหรือยับยั้งมลพิษ     ถ้าระบบกรรมสิทธิ์ไม่ชัดเจน  จะเจรจาก็คงเถียงกันไม่จบ   จะใช้กลไกราคาก็ไม่รู้ว่าใครจะมีสิทธิตั้งราคา

"สถาบัน"  (เช่นระบบกรรมสิทธิ์) จึงเป็นอีกประเด็นที่เศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมต้องพูดถึงค่ะ   การรวมกลุ่มในระดับโลก เพื่อสร้างสนธิสํญญาระหว่างประเทศต่างๆ ในการจัดการสิ่งแวดล้อมก็ถือว่าอยู่ในประเด็นนี้ค่ะ

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 154890เขียนเมื่อ 20 ธันวาคม 2007 09:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 17:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท