วิวัฒนาการ .. แนวความคิดที่จะนำ "มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ" ของไทย (1)


เล่าเรื่อง "ที่มาของการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยไทย"

ประเด็นของ "การออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยของรัฐ" ถือเป็นประเด็นร้อนที่ถกเถียงกันมาอย่างยาวนานหลายสิบปี ... แต่ร้อนมาก ๆ คงจะเป็นช่วงนี้ ข่าวคราวของการต่อต้านการออกนอกระบบมีเกือบทุกมหาวิทยาลัยที่ผู้บริหารมีความคิดหรือกำลังวางแผนกันอยู่ หรือมีข่าวของมหาวิทยาลัยมหิดลที่ได้ออกนอกระบบเป็นมหาวิทยาลัยแรก แต่กลับมาปัญหาการต่อต้านกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต

ประเด็นนี้ผมให้ความสนใจมาหลายปีตั้งแต่เรียนหนังสือ เข้าทำงานในสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งทำให้ผมมีโอกาสซึบซาบความเหล่านี้มาเยอะ ทั้งคนที่เห็นด้วยและคนที่ไม่เห็นด้วย รวมถึงคนที่ไม่ทราบอะไรเลยเนื่องจากไม่ใส่ใจ หรือ การไม่ได้รับข้อมูลเรื่องนี้อย่างถูกต้องจากมหาวิทยาลัยนั้น ๆ หรือไม่ ไม่ทราบได้

ผมได้มีโอกาสอ่านและแสดงความคิดเห็นไปบ้างครับ

P QA_KM in NU » มหาวิทยาลัยในกำกับ ไม่อยู่ภายใต้กฎหมายอะไรบ้าง?
P QA_KM in NU » รายได้ของมหาวิทยาลัยในกำกับมาจากทางใดบ้าง
P QA_KM in NU » มหาวิทยาลัยนเรศวรกับการออกนอกระบบ: ตอกย้ำซ้ำหลายๆครั้ง
P QA_KM in NU » มหาวิทยาลัยนเรศวรกับการออกนอกระบบ: เศร้า
P งานในตำแหน่งกรรมการสภาสถาบัน » ความคืบหน้าของ พรบ. มจพ.

วันนี้จึงขอนำเนื้อความเกี่ยวกับ "วิวัฒนาการของแนวความคิดที่จะนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการของไทย" มานำเสนอให้ท่านได้อ่านกันสนุก ๆ ดังนี้

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

จากการศึกษาของนายสุเมธ แย้มนุ่น และคณะ มหาวิทยาลัยของรัฐ เกิดขึ้นมาในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการ ย่อมขาดความอิสระในการบริหารงานหลายด้าน เท่าที่ควร จึงมีความพยายามที่จะให้มหาวิทยาลัยมีอิสระมากขึ้น โดยเฉพาะการออกจากระบบราชการ

ซึ่งเริ่มขึ้นใน พ.ศ.2507 จากการสัมมนา เรื่อง ปัญหาและบทบาทของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย รวมทั้งมีการสัมมนาอีก 3 ครั้ง ใน พ.ศ.2509 พ.ศ.2510 และ พ.ศ.2513 จนได้ข้อสรุปเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาล เสนอคณะรัฐมนตรี ซึ่งลงมติเห็นชอบในหลักการ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2514 โดยมอบให้สภาการศึกษาแห่งชาติยกร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวขึ้น โดยมีการหลักการสำคัญ ๆ คือ

  • ประการแรก .. ให้มีคณะกรรมการจัดสรรเงินทุกมหาวิทยาลัยเป็นตัวกลาง
  • ประการที่สอง .. ส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยมีอิสระในการบริหารงาน มีเสรีภาพทางวิชาการ และมุ่งสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ โดยมีสภาคณาจารย์เป็นที่ปรึกษาอธิการบดี
  • ประการที่สาม .. มหาวิทยาลัย มีอิสระในการบริหารงานบุคคล และมีความคล่องตัวในการบริหารการเงินของตนเอง

จากนั้น สำนักนายกรัฐมนตรีได้ส่งเรื่องให้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ พิจารณา ซึ่งส่วนใหญ่ "ไม่เห็นด้วย" และคณะปฎิวัติก็ยังไม่พร้อมที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลงตามแนวทางเช่นนั้น เรื่องจึงชะงักลง

เมื่อมีการปฎิรูปการศึกษาใน พ.ศ.2517 ได้กำหนดแนวทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาไว้อย่างหนึ่ง คือ ดำเนินการตามเป้าหมายเพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาเป็นระบบอิสระ โดยไม่เป็นส่วนของระบบราชการ ด้วยการใช้ระยะเวลาช่วงท้ายของแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติร ระยะที่ 3 จนถึงระยะที่ 4 เป็นขั้นการเตรียมการ และให้มีสภาพเป็นระบบอิสระในช่วงต้นของแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ ระยะที่ 5 พร้อมกับมีคณะกรรมการจัดสรรเงินทุนมหาวิทยาลัย เกิดขึ้น

ผลการปฏิรูปการศึกษาในส่วนนี้เกิดขึ้นน้อย แต่ความพยายามที่จะให้มหาวิทยาลัยมีอิสระในการบริหารงาน ก็มีมาอย่างต่อเนื่อง และใน พ.ศ.2530 เมื่อทบวงมหาวิทยาลัยได้ริเริ่มโครงการจัดทำแผนอุดมศึกษาระยะยาว 15 ปี (พ.ศ.2533-2547) ซึ่งได้กำหนดนโยบายและมาตรการไว้ประการหนึ่งคือ ให้มีการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ไปสู่รูปแบบที่มีทั้งเป็นส่วนราชการ และไม่เป็นส่วนราชการ อยู่ในสถาบันเดียวกัน จนถึงรูปแบบมหาวิทยาลัยของรัฐไม่เป็นส่วนราชการ ตามความพร้อมและศักยภาพ

ส่วนสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่จะจัดตั้งใหม่ ให้มีการบริหารในรูปแบบมหาวิทยาลัยของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการ ดังนั้น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ซึ่งจัดตั้งขึ้น ใน พ.ศ.2533 จึงเป็นมหาวิทยาลัยนอกระบบราชการเป็นแห่งแรกของประเทศ

ต่อมา ในปี พ.ศ.2534 รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่า จะพัฒนระบบบริหารสถาบันอุดมศึกษาของรัฐให้มีความอิสระ คล่องตัว มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลมากขึ้น

ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย ได้เสนอทางเลือกให้มหาวิทยาลัย 2 แนวทาง คือ

  • คงอยู่ในระบบราชการต่อไป แต่แก้ไขกฎระเบียบต่าง ๆ ให้คล่องตัว และสิ้นสุดที่มหาวิทยาลัย หรือ ..
  • ออกจากระบบราชการ โดยถือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เป็นตัวอย่าง

ตามหนังสือทบวงมหาวิทยาลัยที่นำเสนอคณะรัฐมนตรีที่ ทม0100/294 ลงวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ.2534 ทั้งนี้ โดยให้มหาวิทยาลัยพิจารณาเลือกและแจ้งทบวงมหาวิทยาลัยภายใน 30 วัน ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง เนื่องจากมีผลกระทบทั้งต่อมหาวิทยาลัยและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง

วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ.2534 ทบวงมหาวิทยาลัยจึงได้เชิญอธิการบดีมหาวิทยาลัยของรัฐทุกแห่ง มาร่วมประชุมชี้แจงมาตรการดังกล่าวว่า มหาวิทยาลัยได้ต่อสู้เรื่องความเป็นอิสระมาแล้ว ร่วม 30 ปี แต่ไม่สำเร็จ เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เห็นว่า เป็นหน่วยงานเช่นเดียวกับหน่วยงานแห่งอื่น ๆ จึงไม่ควรมีสิ่งแตกต่างกันออกไป รวมทั้งรัฐบาลสมัยก่อนด้วย จนกระทั่งได้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี พ.ศ.2533 ขึ้น มีรูปแบบเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ แต่ไม่เป็นส่วนราชการ รัฐบาลจัดสรรเงินงบประมาณอุดหนุนทั่วไปให้ โดยไม่เกี่ยวข้องในรายละเอียด

โดยที่มหาวิทยาลัยหลายแห่งยังไม่เข้าใจรายละเอียดของมาตรการนี้ วันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2534 ทบวงมหาวิทยาลัย จึงได้เชิญผู้บริหารและคณาจารย์ มาประชุมอีกครั้งหนึ่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เป็นผู้เสนอกรณีศึกษาขึ้นมา และเห็นด้วยกับการออกนอกระบบราชการ แต่ต้องมีหลักประกันคือ

  • รัฐบาลต้องให้การสนับสนุนงบประมาณ
  • มหาวิทยาลัยมีอิสระในการหารายได้
  • และต้องมีบทเฉพาะกาล สำหรับผู้ที่ประสงค์จะอยู่ในระบราชการต่อไป

ที่ประชุมเห็นว่า แม้บางมหาวิทยาลัยอาจะไม่พร้อมหรือยังไม่ประสงค์จะออกจากระบบราชการ แต่ในระยะยาว ก็ควรมีแผนชัดเจนที่จะค่อย ๆ นำมหาวิทยาลัยออกจากระบบราชการให้ได้ทั้งหมด โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัย รวมทั้ง มีการชี้แจงทำความเข้าใจให้คณาจารย์และบุคลากรทุกฝ่าย ร่วมรับรู้ด้วย

 

ยังไม่จบครับ ขอเขียนในบันทึกถัดไป ในตอนที่ 2 ครับ

แหล่งอ้างอิง

ทินพันธุ์ นาคะตะ.  (2546).  มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาล.  กรุงเทพฯ: สหายบล็อกและการพิมพ์.

หมายเลขบันทึก: 154224เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2007 16:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ผมมาติดตามครับ

ไม่ค่อยทราบรายละเอียดมากนัก แต่พอประติดประต่อได้

นอกระบบ ในระบบ ในกำกับ นอกกำกับ

-----------------------

ไม่รู้ว่าดีไม่ดีอย่างไร???

ก็คงต้องชี้เเจงกันทีละประเด็น เรื่องผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น เพราะที่ยุ่งกัน ออก ไม่ออก ก็ผลประโยชน์กันทั้งนั้น

เงื่อนไขเหล่านี้ บอกตรงๆว่าไม่สนใจ แต่หากจะทำอะไรที่ทำให้การศึกษาของประเทศโดยรวมดีขึ้น การศึกษาที่พัฒนาฐานปัญญาของคนในชาติกันได้ละก็ออก ไม่ออก ไม่สำคัญเลย

 

ขอบคุณมากครับ คุณเอก ...

มองให้มุมมองของคนที่ไม่ได้ทำงานในมหาวิทยาลัย ถือว่า ถูกต้องแล้วครับ

ทะเลาะกันด้วยปัญหาส่วนตัวและผลประโยชน์ทั้งนั้นครับ

แต่ "สังคมอุดมคติของการออกนอกระบบ" มันสวยงามครับ เป็นจุดที่คุณเอกอยากได้จริง ๆ ครับ

แต่นั่น ขึ้นอยู่กับ สภาพแวดล้อมมากมายหลายประเด็นครับ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับประเด็นที่ผู้บริหารหว่านล้อมประเด็นเดียวหรือไม่กี่ประเด็นครับ

สภาพแวดล้อมต่างกัน วิธีจัดการบริหารก็ย่อมต่างกันแน่นอน ครับ

:)

"มุ่งสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ"  ประโยชน์ของใคร ถ้าเป็นเพื่อพัฒนา นิสิต นักศึกษา ให้เก่งทางวิชาการ และมีคุณธรรม จะดีเลิศมากเลย แต่ถ้าเพื่อส่วนตัว อันนี้น่าคิด 
จะออกนอกระบบหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ มันอยู่ที่ "ทัศนคติ" และ "จิตวิญญาณ" ของความเป็น ครูอาจารย์ ที่อยากพัฒนาลูกศิษย์ ด้วยมุ่งหวังให้เขาเป็นคนเก่งและคนดี ของสังคม

เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ ท่านอาจารย์ ครูgisชนบท ;)...

เป้าหมายหลักของเรา ต้องเป็น "ลูกศิษย์ที่เป็นคนดี"

ขอบคุณครับ ;)...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท