มหาวิทยาลัยนเรศวรกับการออกนอกระบบ: ตอกย้ำซ้ำหลายๆครั้ง


          วันนี้ดิฉันกลับเข้าประจำการ ณ ที่ตั้ง มน. พิษณุโลก อีกครั้ง หลังจากไปร่วมมหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ 4 ณ ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็คเมืองทองธานี  กทม. โดยเดินทางจาก พล - กทม. ตั้งแต่เย็นวันที่ 29 พ.ย.  และร่วมงานตลอดทั้งวันในวันที่ 30 พ.ย. แล้วก็เดินทางกลับเย็นวันดังกล่าวเลย 

          งานนี้จัดได้เยี่ยมยอดดังเช่นเคย แต่ดิฉันยังไม่มีกะจิตกะใจจะเล่าในบันทึกนี้นะคะ  เหตุก็เพราะ  เช้าวันนี้เมื่อดิฉันเปิดแฟ้ม e-office เพื่อตรวจตราภารกิจประจำ ก็พบเรื่องด่วนที่สุด ที่สำคัญมาก เรื่องหนึ่ง  นั่นก็คือ.....

          ท่านรองคณบดีฝ่ายบริหาร (อาจารย์สุวรรณา  ถาวรรุ่งโรจน์) แจ้งให้ดิฉันทราบใน e-office ว่า มหาวิทยาลัยเรียกตัวเข้าประชุมแทนคณบดีด่วน เพื่อแจ้งให้ทราบว่า จากการที่พระราชบัญญัติของ มน ได้เข้าสู่สภานิติบัญญัติ (สนช) แล้วนั้น สนช ให้ มน กลับมาทำประชาพิจารณ์อีกครั้งหนึ่ง  แล้วจึงยื่นให้กับ รมต ใน วันอังคารที่จะถึงนี้ (4ธ.ค. 50)

          มหาวิทยาลัยจึงจะจัดประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ. มน. แก่บุคลากรทุกคนในมหาวิทยาลัยอีกครั้ง  ในวันจันทร์ที่ 3 ธันวาคม เวลา 9.00-12.00  ณ โรงละคร อาคารเฉลิมพระเกียรติ์  จึงขอให้ผู้บริหารคณะฯ กลับไปถามความเห็นของบุคคลากรในคณะวิชาว่า เห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย ต่อการร่าง พ.ร.บ. ในประเด็น ดังนี้

  1. อธิการ รองอธิการและ ผู้ช่วยอธิการเท่านั้นที่ถูกบังคับโดย พ.ร.บ. ให้ออก (จากการเป็นข้าราชการ) นอกนั้นมีสิทธิเลือก
  2. เพิ่มสิทธิประโยชน์อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ในเรื่องการเพิ่มเงินเดือนพนักงานเมื่อข้าราชการได้เงินเพิ่มด้วย
  3. ลดจำนวนกรรมการสภาฯ ที่เป็นบุคคลภายนอก แต่เพิ่มจำนวนผู้บริหาร พนักงานสายบริการ และนายกสมาคมศิษย์เก่า
  4. ตำแหน่งวิชาการสามารถเพิ่มได้ เช่น ศ พิเศษ ศ เกียรติคุณ เป็นต้น

          ถึงวันนี้ บุคลากรของคณะสหเวชฯ ที่ให้ความคิดเห็นในเรื่องนี้มีเพียง 3 ท่าน จากจำนวนทั้งสิ้นราว 60 กว่าท่าน ส่วนที่แสดงความคิดเห็น ดิฉันก็ไม่แน่ใจว่าท่านเหล่านั้นได้เคยศึกษาข้อมูลมาแล้วมากน้อยเพียงใด

          วันนี้ (30 พ.ย.) ดิฉันจึงจำเป็นต้องเขียนข้อคิดเห็นและให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่บุคลากรในคณะฯ และประชาสัมพันธ์โดยด่วนที่สุด ผ่าน e-office ของคณะ (หวังว่าจะได้อ่านกันทัน ก่อนตัดสินใจ) ดังนี้


เรียนบุคลากรคณะสหเวชศาสตร์ทุกท่าน
        
         
          ในฐานะผู้นำองค์การของคณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร  ดิฉันขอเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับ ร่างพ.ร.บ. มหาวิทยาลัยในกำกับของ มน.  ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ทุกๆ ท่านด้วย  หวังว่าจะเป็นประโยชน์ในการใช้ประกอบการตัดสินใจ  ร่วมกับวิจารณญานอันรอบคอบของท่าน  ขอท่านโปรดคิดและตัดสินใจด้วยหลักของเหตุและผล และเพื่อสิทธิประโยชน์ของตัวท่านเองอย่างมองการณ์ไกล  ( ข้อความข้างล่างต่อไปนี้  เรียบเรียงมาจากหลายบทความ ใน http://gotoknow.org/blog/council  ของ ศ.นพ.วิจารณ์  พานิช : นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบไปแล้ว)

  1. เหตุใดจึงต้องสนับสนุนให้นำ พ.ร.บ. เข้าพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติในช่วงเวลานี้

    (๑) เพื่อให้เสร็จทันอายุของสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดนี้   มิฉะนั้นอาจต้องรอต่อไปอีกหลายปี   ก่อผลเสียหายต่อโอกาสมีความคล่องตัวยืดหยุ่นในการพัฒนามหาวิทยาลัย

    (๒) หากต้องการผลตามข้อ ๑   ต้องเลือกดำเนินการในขั้นตอนที่ลัดสั้นที่สุด   ผ่านขั้นตอนน้อยที่สุด   ต้องไม่เสนอร่าง พ.ร.บ. ใหม่ที่ต้องกลับไปผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกา   ซึ่งจะใช้เวลานานมาก (อาจหลายปี)  และขั้นตอนอื่นๆ ก็มากขึ้นด้วย

    (๓) ต้องตระหนักว่า   การเสนอร่าง พ.ร.บ. ไปจากมหาวิทยาลัยนั้น   ไม่ใช่ว่าจะได้กฎหมายตามที่เราเสนอ   จะมีขั้นตอนที่มีการแก้ไขโดยคนหลายกลุ่ม   ดังนั้น  ในขั้นตอนการออกกฎหมายนี้ควรมุ่งหวังเฉพาะหลักใหญ่ๆ ก่อน    ส่วนรายละเอียดยอมประนีประนอมบ้าง   หวังไปแก้รายละเอียดบางอย่างในภายหน้าเมื่อมีการดำเนินการและสังคมยอมรับหลักการใหม่ๆ มากขึ้น

    (๔) หวังไปแก้ไขรายละเอียดบางอย่างที่ประชาคมนเรศวรต้องการ และคณะทำงานของสภามหาวิทยาลัยพิจารณาแล้วเห็นเหมาะสมในขั้นตอนของคณะกรรมาธิการวิสามัญของสภานิติบัญญัติ   โดยที่สภาจะมีมติแต่งตั้งผู้แทนไปอยู่ในคณะกรรมาธิการดังกล่าว

    (๕) ทันที่ที่ยื่น พ.ร.บ. เข้าสู่ สนช. แล้ว สภามหาวิทยาลัยจะต้องแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณารายละเอียด  และรับฟังข้อคิดเห็นเพื่อเตรียมประเด็นไปขอแก้ไขร่าง พ.ร.บ. ในชั้นกรรมาธิการฯ

    การออกจากระบบราชการ   ไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐนั้น   ก็เพื่อสร้างโอกาสในการทำงานสร้างสรรค์หลากหลายให้แก่สังคม   ผ่านความเป็นอิสระ (แต่มีความรับผิดชอบ) ใน 3 ด้าน  คือ
                        1. ด้านการเงิน
                        2. ด้านการบริหารคน
                        3. ด้านการบริหารวิชาการ

              แต่ถึงจะออกไปมีอิสระ   มหาวิทยาลัยเหล่านี้ก็ยังต้องการการสนับสนุนด้านการเงินจากภาครัฐ   สำหรับทำงานวิชาการยากๆ ให้แก่สังคม

              ภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ก็คือ
                        ม้ยังอยู่ในระบบราชการ   แต่มหาวิทยาลัยก็ถูกรัฐบาลและกลไกต่างๆ ล่อให้ออกไปอยู่นอกระบบราชการกระแสหลักตั้งเกือบครึ่งตัวแล้ว
                      
     ออกหรือไม่ออกจากระบบราชการก็วิกฤตอยู่แล้ว   มหาวิทยาลัยของรัฐจะต้องปรับตัวรวมพลังกันเต็มที่  เพื่อรับมือกับแรงบีบคั้นรอบด้าน   เพื่อทำหน้าที่แก่บ้านเมืองให้ดีที่สุด



  2. เรื่องค่าตอบแทน
    (ก)  หลักการในร่างกฎหมายแม่ (พ.ร.บ.)
          การออกข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของมหาวิทยาลัยต้องเป็นไปเพื่อความเป็นธรรม สร้างขวัญและกำลังใจ โดยได้รับฟังความคิดเห็นของพนักงานและลูกจ้างมหาวิทยาลัยประกอบด้วย"
    (ข)  หลักการในการออกกฎหมายลูก (ข้อบังคับ)
          ค่าตอบแทนในการทำงานมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มี ๖ ส่วน
         ๑. เงินเดือน
         ๒. เงินประจำตำแหน่ง
         ๓. เงินสวัสดิการ ได้แก่  ค่ารักษาพยาบาล  ค่าเล่าเรียนบุตร ฯลฯ
         ๔. เงินเพิ่มจากการทำงานพิเศษ เช่น  การวิจัย  การบริการ วิชาการ
         ๕. การได้ทำงานที่ตนมีความสุข ความพึงพอใจ  ตามแรงบันดาลใจ
         ๖. การได้อยู่ในบรรยากาศวิชาการ มีเครื่องอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตวิชาการ    ในการสร้างผลงานที่ตนใฝ่ฝัน
     
    ข้อ ๑ – ๔ เป็นค่าตอบแทน in cash    ข้อ ๕ – ๖ เป็นค่าตอบแทน in kind 

    มหาวิทยาลัยที่เคยเป็นส่วนราชการ เมื่อออกไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ จะต้องรับประกันว่า ค่าตอบแทนข้อ ๑ – ๓ รวมกันต้องไม่น้อยกว่าเมื่ออยู่ในระบบราชการ

    แต่เมื่อได้ความคล่องตัวในการบริหารจัดการมาจากการไม่เป็นส่วนราชการ  ก็จะต้องช่วยกันทำให้ค่าตอบแทนข้อ ๔ – ๖ เพิ่มขึ้น

    สำหรับคนเก่งและขยันเป็นพิเศษ ค่าตอบแทนข้อ ๔ จะมากกว่าค่าตอบแทนข้อ ๑ และ ๒ รวมกัน และในหลายคนอาจสูงถึง ๒ เท่า

    แนวทางการจัดสวัสดิการแก่บุคลากรทุกประเภท  ควรยึดหลักการว่าสมาชิกแต่ละคนได้รับสิทธิประโยชน์ไม่น้อยกว่าที่ได้รับอยู่เดิม   ฝ่ายบริหารและสภาฯ ต้องระมัดระวังมากว่าจะจัดให้ได้จริงตามสัญญา คือต้องมีการทำวิจัยทำนายอนาคตในหลากหลาย  scenario เอาตัวเลขมาดู     โดยระบบที่กำหนดมีการคำนึงถึงทั้งประโยชน์ส่วนบุคคล และขีดความสามารถในการจ่ายของมหาวิทยาลัยด้วย  มีคู่มือวิธีใช้สวัสดิการของบุคลากรแต่ละประเภทออกมาช่วยให้แต่ละคนรู้วิธีใช้สิทธิประโยชน์อย่าง “พอเพียง”  บุคลากรแต่ละกลุ่ม จะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างกัน  แต่ยึดหลัก ใช้ระบบประกันสังคมให้มากที่สุด  บุคลากร ๔ กลุ่มของมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้แก่
     
    (๑) พนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการ
    (๒) พนักงานมหาวิทยาลัยสายบริการ
    (๓) พนักงานราชการ
    (๔) พนักงานที่เปลี่ยนสภาพมาจากข้าราชการและลูกจ้าง
  3. เรื่องการสรรหาผู้บริหาร
    (ก)  หลักการในกฎหมายแม่ (พ.ร.บ.)
          ต้องแสดงเจตนารมณ์ว่าผู้บริหารต้องเป็นผู้ที่ไม่ใช่ข้าราชการ  กล่าวคือ ผู้บริหารในปัจจุบัน (อธิการบดี  รองอธิการบดี  ผู้ช่วยอธิการบดี) ต้องแสดงความจำนงออกจากการเป็นข้าราชการภายใน ๖๐ วัน นับจากวันที่ พ.ร.บ.ประกาศใช้ จึงจะสามารถดำรงตำแหน่งต่อจนครบวาระ    หากท่านใดไม่ออกจากการเป็นข้าราชการก็จะหมดวาระดำรงตำแหน่งโดยปริยาย

(ข)  หลักการ (บางประการ) ในการออกกฎหมายลูก (ข้อบังคับ)
      ข้อบังคับว่าด้วยการสรรหาคณบดี    ควรระบุให้ผู้มีสิทธิได้รับการสรรหาเป็นใครก็ได้ที่มีคุณสมบัติตามต้องการ     ไม่จำเป็นต้องเป็นพนักงานของมหาวิทยาลัยมาก่อน  กล่าวคือ เปิดกว้างยืดหยุ่น เพื่อให้มหาวิทยาลัยสามารถดึงดูดคนเก่งเข้ามาทำงานในตำแหน่งสำคัญได้  โดยดึงดูดได้จากทั่วประเทศไทย  และทั่วโลก

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา



          ดิฉันมีความรู้ในเรื่องกฎหมายแค่หางอึ่ง  แต่ก็ได้พยายามศึกษาเรื่องการออกนอกระบบจากผู้รู้หลายๆแหล่งเพิ่มเติม   เพราะ ณ เวลานี้  เรื่องสำคัญอย่างนี้  ความรู้เป็นสิ่งจำเป็นต่อการตัดสินใจ  ยิ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคงในอาชีพการงาน ก็ยิ่งต้องสนใจ ดังนั้น แม้จะสื่อสารกับบุคลากรในคณะฯแล้ว  ดิฉันก็ยังหวังไว้เล็กๆ ว่า จะมีบุคลากรบางท่านใน มน. (ต่างคณะฯ) ได้อ่านด้วย  จึงบันทึกผ่าน Blog อีกทางหนึ่ง

          โดยเฉพาะบุคลากรที่เป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ของมหาวิทยาลัยนเรศวร กลุ่มบุคคลผู้ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า  แทบไม่รู้ร้อนรู้หนาว เอาเสียเลย กับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้

          ดิฉันสงสัยอยู่เสมอว่าเพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนี้  แต่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ดิฉันได้มีโอกาสฟังคำสัมภาษณ์ของพนักงานมหาวิทยาลัยที่เป็นทั้งอาจารย์และเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง  จึงได้ถึงบางอ้อว่า...ทำไม พนักงานมหาวิทยาลัยนเรศวร จึงไม่รู้ร้อนรู้หนาว กับการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัย

          ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ  พนักงานมหาวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยนเรศวร  มีสิทธิ สวัสดิการ และค่าตอบแทนต่างๆ ล้นเหลือ ไม่ต่างจากข้าราชการ (หรือมากกว่าด้วยซ้ำ)   ในขณะที่ มหาวิทยาลัยแห่งอื่นๆ  มีน้อยกว่า หรือไม่มีเลย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่มีค่าเหนือกว่าเงินทอง  นั่นก็คือความเป็นอิสระและความเสมอภาคทางความคิดเห็น โอกาสในการออกความคิดเห็นต่างๆ  ตลอดจนสิทธิในการบริหารงานทุกระดับ

แต่จะเป็นอย่างนี้ตลอดไปหรือเปล่าไม่รู้นะ

เพราะถึงอย่างไรก็เป็นคนนอกกฎหมาย

          ถ้าท่านต้องตกอยู่ในสภาพที่ไม่เท่าเทียมดังกล่าว  และต้องทนอยู่ในระบบนั้นอย่างหวานอมขมกลืน  เพราะไม่มีทางไป  หรือไม่มีทางเลือกที่ดีกว่า  ท่านคงโหยหา และเรียกร้องมากกว่านี้

 



โอกาสที่ท่านยังสามารถต่อรองได้....

โอกาสที่ท่านจะเลือกทางเดินของท่านได้เอง...

เหลือไม่มากนักแล้วนะคะ.....

การรอคอย....

ไม่ได้รับประกันว่า....

โอกาสนั้นจะหวลกลับมาหาอีก.....

ถ้าไม่รีบคว้าไว้.....

 



 

         

หมายเลขบันทึก: 150739เขียนเมื่อ 1 ธันวาคม 2007 16:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 08:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีครับ .. อาจารย์มาลินี

  • หากว่า บรรยากาศทางวิชาการ สวัสดิการต่าง ๆ ที่ พรบ.นี้สนองตอบได้แล้วไซร์ ก็น่าดีใจแทนทางบุคลากรทุกคนของ มน. จริง ๆ ครับ
  • ผมเองก็ไม่ได้เข้าไปอยู่ในบรรยากาศแบบ มน. ซะด้วย จึงไม่ขอแสดงความคิดเห็นให้มากกว่า
  • แต่ที่แน่ ๆ ผมคือนักศึกษาที่ไปเรียนอาคารมิ่งขวัญเป็นรุ่นแรก ๆ
  • น่าดีใจแทน เมื่อย้อนหลังมา  10 กว่านี้มานี้ มน. เจริญเติบโตด้วยดี รากฐานแข็งแกร่ง สามารถดึงคนเก่งเข้ามาทำงานที่นี่ได้
  • มอหนองอ้อ จาก ท้องนา กลายเป็น เมืองมหาวิทยาลัย ... ขอชื่นชมในจุดนี้
  • ส่วนรายละเอียดของความขื่นขมใจของบุคลากรบางคน บางพวก บางกลุ่มนั้น ก็เห็นจะไม่ทราบได้
  • แต่จะบอกว่า มน.เคยมีการประท้วงขับไล่อธิการฯ มา  1 คนแล้วจากสมัยที่ผมอยู่ที่นี่
  • ดังนั้น ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน หรือมีคนบางกลุ่มเลือกจะใช้ความผิดพลาดบางอย่างมาแจ้งให้กับนักศึกษาที่ไม่ได้มองภาพรวมล่ะก็ ... ผมว่า ประท้วงเหมือนกับมหาวิทยาลัยเก่าแก่หลาย ๆ ที่แน่ ๆ

ขอบคุณครับ ... ยาวไปหน่อย :)

ขอบคุณ คุณ Wasawat Deemarn  มากนะคะ ที่เข้ามาอ่าน และให้ความเห็น

ดิฉันได้รับความคิดเห็นจากบุคคลภายนอกที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียมาโดยตลอด อย่างน้อยก็ช่วยให้ดิฉันรู้สึกคลายความโดดเดี่ยวไปได้บ้าง

ขออนุญาตตอบทักทายเพียงเล็กน้อยนะคะ

เพราะตอนนี้ดิฉันกำลังเศร้าสุดๆ 

เอ้า อาจารย์ ... เศร้าทำไมกันครับ

แวะมาให้กำลังใจดีกว่าครับ

ยิ้ม ๆ

บุญรักษา ครับ :)

เสียใจด้วยนะครับฝันค้างกลางฤดูหนาว
เปิดความจริงหลังม.มหิดลออกนอกระบบ สิทธิรักษาพนง.น้อยกว่าเดิม-เงินเดือนขึ้นลูกผีลูกคน
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 11 ธันวาคม 2550 09:06 น.
       ตีแผ่ความจริงหลังการนำม.มหิดลพ้นระบบราชการ เผยปัญหารุมเร้าสารพัด โดยเฉพาะ “พนักงานมหาวิทยาลัย” กว่าหมื่นคนที่ถูกลอยแพอย่างเจ็บช้ำน้ำใจ เหตุได้รับสิทธิและสวัสดิการในการรักษาพยาบาลน้อยกว่าเดิม โดยผู้บริหารพยายามผลักดันให้ใช้สิทธิประกันสังคม ขณะที่การปรับอัตราเงินเดือนใหม่ก็ไม่ได้เป็นไปตามที่เคยนำเสนอ เงินเดือนอาจารย์ที่จะให้เพิ่ม 1.7 เท่าก็ลดลงเหลือไม่เกิน 1.5 เท่า ส่วนพนักงานอื่นๆ จากเพิ่ม 1.5 เท่าก็ลดลงเหลือไม่เกิน 1.3 เท่า เเต่สุดท้ายผู้บริหารกลับบอกว่ายังไม่เเน่นอน อ้างก.คลังยังไม่ตอบว่าจะให้งบประมาณเท่าไหร่

       ม.มหิดลถือเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในยุครัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี และ นายวิจิตร ศรีสอ้านเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ถูกผลักดันให้นอกระบบ
       
       ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ดูเหมือนว่า การออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยแห่งนี้จะเป็นไปด้วยความราบรื่น และไม่มีปัญหาอะไรปรากฏสู่สายตาของบุคคลภายนอก แต่ความจริงก็คือ การออกนอกระบบของม.มหิดลไม่ได้สวยหรูอย่างที่หลายคนวาดฝันไว้ ยิ่งกับบรรดา “พนักงานมหาวิทยาลัย” ด้วยแล้ว ยิ่งต้องบอกว่า ถึงขั้นช้ำใจเลยทีเดียว
       
       แหล่งข่าวระดับสูงในม.มหิดลให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ภายในมหาวิทยาลัยมีปัญหาและข้อขัดแย้งเกิดขึ้นหลายประการ เนื่องจาก พ.ร.บ.ม.มหิดล พ.ศ.2550 ที่ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ดำเนินการอย่างเร่งรีบ ไม่ได้มีการให้ข้อมูลกับประชาคมเกี่ยวกับการบริหารจัดการหลังการออกนอกระบบอย่างชัดเจนเเละรอบด้าน รวมทั้งไม่สอบถามความคิดเห็นจากประชาคมอย่างเพียงพอ ขณะที่การออกกฎหมายลูก ผู้บริหารดำเนินการเองโดยไม่ได้มีตัวแทนของพนักงานมหาวิทยาลัยเข้าไปมีส่วนร่วมในการร่างข้อบังคับ ทำให้ขณะนี้สภาพการบริหารงานภายในเต็มไปด้วยปัญหา สับสน เพราะขาดการเตรียมพร้อมที่ดีพอและไม่มีใครทราบว่า อนาคตจะเป็นอย่างไร
       
       ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญที่สุดก็คือ การเปลี่ยนแปลงของข้าราชการและพนักงานมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับสิทธิและสวัสดิการในการรักษาพยาบาล กล่าวคือ ในพ.ร.บ.ม.มหิดล ไม่ได้กำหนดชัดเจนเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการในการรักษาพยาบาล ของพนักงานมหาวิทยาลัย เพียงเเต่กำหนดในหลักการว่าผู้ที่เลือกเป็นข้าราชการต่อไปก็จะยังคงได้รับสิทธิและสวัสดิการในการรักษาพยาบาลเหมือนเดิม ส่วนผู้ที่เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆและสวัสดิการไม่น้อยกว่าเดิม แต่ขณะนี้ผู้บริหารกลับตัดสินแทนพนักงานมหาวิทยาลัยให้ไปใช้สิทธิประกันสังคมทั้งหมด โดยที่ไม่เคยมีการให้ข้อมูลเเละรับฟังความเห็นของพนักงานก่อน โดยส่งรายชื่อพนักงานมหาวิทยาลัยเงินอุดหนุนทั้งหมดให้ไปใช้สิทธิประกันสังคมตั้งเเต่วันที่ 17 ต.ค.50
       
       “เดิมในส่วนของพนักงานมหาวิทยาลัยเงินอุดหนุนประจำจะถูกหักเงินเดือน 10% เพื่อจัดสวัสดิการรักษาพยาบาลให้เหมือนข้าราชการทุกอย่างคือ เบิกได้ทั้งตนเอง พ่อแม่และลูก แต่เมื่อดันให้ไปเข้าประกันสังคมก็หมายความว่า ต่อไปนี้จะเบิกได้เฉพาะตัวเองคนเดียวซึ่งมีข้อจำกัดมากมาย เมื่อมีการต่อต้าน ผู้บริหารก็เสนอเพิ่มเติมเข้ามาว่า นอกจากสิทธิประกันสังคมแล้ว พนักงานจะสามารถเบิกเงินจากกองทุนสวัสดิการได้ 2 หมื่นบาทต่อปี แต่ถ้าเกินจากนั้นก็จะต้องร่วมกันจ่ายคนละครึ่งแต่ไม่เกิน 5 หมื่นบาทต่อปี แต่เมื่อนำไปเปิดเผยกับประชาคมทั้งที่ ศาลายา รามาฯและศิริราชก็ถูกโจมตีอย่างหนัก”
       
       แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า จากการรับฟังความเห็นที่ผ่านมา ประชาคมต้องการให้มีการบริหารจัดการเรื่องการรักษาพยาบาลเองภายในมหาวิทยาลัยเพื่อความคล่องตัวในการทำงานและน่าจะดูแลพนักงานได้ดีกว่าประกันสังคม เนื่องจากมหาวิทยาลัยมีโรงพยาบาลในสังกัดถึง 4 แห่งคือศิริราช รามาธิบดี โรงพยาบาลคณะเวชศาสตร์เขตร้อน และศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษกที่ศาลายา เเต่ก็ไม่เคยได้รับการชี้เเจงจากผู้บริหาร ซึ่งถ้าม.มหิดลบริหารจัดการเรื่องการรักษาพยาบาลเองได้ มหาวิทยาลัยอื่นก็สามารถใช้เป็นเเนวทางได้
       
       สำหรับพนักงานมหาวิทยาลัยของม.มหิดลนั้น แบ่งออกเป็นหลายประเภทเเละมีจำนวนเกินกว่า 10,000 คน
       
       “เราเป็นมหาวิทยาลัยทางการแพทย์ ไม่มีเหตุผลที่จะทำเรื่องนี้ไม่ได้ ทำไมไม่ไปดูแบบอย่างจาก ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีที่เขาออกนอกระบบไปก่อนเราเเละเขาจัดสวัสดิการให้พนักงานมหาวิทยาลัย เหมือนข้าราชการทุกอย่างได้โดยไม่เข้าประกันสังคม พวกเราดูแล้วเหมือนกับว่า ทำอย่างไรก็ได้ให้ออกนอกระบบไว้ก่อน ส่วนจะมีปัญหาอะไรค่อยไปว่ากันทีหลัง”
       
       “เท่าที่ทราบตอนนี้พนักงานที่รามาฯ ได้ล่ารายชื่อยื่นให้กับมหาวิทยาลัยไปแล้วว่า ต้องได้สิทธิไม่น้อยกว่าเดิม ซึ่งไม่ทราบว่าทางผู้บริหารได้นำมาพิจารณาหรือเปล่า และล่าสุดทราบว่านำเข้าสภามหาวิทยาลัยไปประมาณ 2 อาทิตย์แล้ว พวกเราก็ยังไม่ทราบเหมือนกันว่าจะออกมาอย่างไรเพราะตอนที่แก้ไม่ได้นำมาเปิดเผยให้ประชาคมดูก่อน”
       
       แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า เรื่องอัตราเงินเดือนที่จะเพิ่มขึ้นก็ไม่เป็นไปอย่างที่เคยนำเสนอมาก่อนหน้านี้ กล่าวคือก่อนที่จะออกนอกระบบนั้น ผู้บริหารแจ้งให้ทราบว่า ผู้ที่เป็นอาจารย์จะได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นจากเดิม 1.7 เท่า ขณะที่พนักงานกลุ่มอื่นๆ จะได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นจากเดิม 1.5 เท่า แต่เมื่อกฎหมายผ่านสนช.มาแล้ว ผู้บริหารกลับมาบอกว่าอัตราเงินเดือนใหม่คือ อาจารย์ลดลงเหลือไม่เกิน 1.5 เท่าและพนักงานอื่นๆ ลดเหลือไม่เกิน 1.3 เท่า เเต่ขณะนี้ก็ยังไม่เเน่นอนอยู่ดี อาจจะลดลงไปอีกก็ได้
       
       “ตอนแรกผู้บริหารอ้างว่าที่ต้องลดการเพิ่มเงินเดือนเพราะได้รับงบประมาณมาน้อย แต่พอซักไปซักมาก็บอกใหม่ว่า มหาวิทยาลัยยังไม่รู้ว่ากระทรวงการคลังจะให้งบประมาณมาเมื่อไหร่ จำนวนกี่มากน้อย ซึ่งเป็นเรื่องที่ตลกมาก เพราะความจริงกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.ตั้งแต่ต้นปี เเละผ่านวาระ 2 เเละ 3 ตั้งเเต่กลางเดือนส.ค. เเละมีผลบังคับใช้ เมื่อกลางเดือนต.ค.ไม่ใช่เพิ่งเสร็จ ทำไมถึงไม่มีการสอบถามหรือตรวจสอบกับสำนักงบประมาณ จากรัฐบาลเกี่ยวกับเรื่องนี้ล่วงหน้า”
       
       “ความจริงพวกเราไม่เคยคัดค้านการออกนอกระบบเพราะเชื่อว่าน่าจะมีผลดีมากกว่าผลเสีย เเต่ผู้บริหารที่เราไว้วางใจมาตลอดว่าจะดูเเลพนักงานเเละมหาวิทยาลัยเป็นอย่างดีกลับไม่น่าไว้วางใจอีกต่อไป เราไม่อยากใช้ความรุนแรงด้วยการเดินขบวนประท้วงหรือหยุดงาน เพราะไม่เป็นผลดีกับทุกฝ่าย เราอยากมีส่วนร่วมในการรับรู้เเละให้ข้อมูลต่างๆด้วยการพูดคุยกันอย่างมีเหตุผล แต่ถ้ายังไม่รับฟังความเห็นของประชาคมเช่นนี้ต่อไป ก็คงต้องใช้เหมือนกัน”แหล่งข่าวรายเดิมกล่าว
       
       ดังนั้น จึงอยากจะขอเตือนให้มหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่ยังไม่ได้ออกนอกระบบให้ทำอย่างรอบคอบ คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาคมอย่างจริงใจและถ้าเป็นไปได้ให้ชะลอการออกกฎหมายเอาไว้ก่อนจนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่ และมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภามาช่วยกลั่นกรองอีกชั้นหนึ่งก่อน
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท