หมอบ้านนอกไปนอก(41): ศัตรูคู่กาย


คนที่เจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง รักษาไม่หาย แต่ก็สามารถอยู่กับมันได้อย่างมีความสุข เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมยกย่องมาก การมีโรค (Disease) อยู่ในร่างกายแล้วทำให้ไม่สบายกายไม่สบายใจทำให้ป่วย (illness) และถ้าส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ก็เกิดความเจ็บป่วย (sickness) ขึ้น ส่งผลทั้งทางร่างกาย จิตใจ สังคมและจิตวิญญาณ เกิดเป็นความทุกข์ (suffering) กลายเป็นปัญหาสุขภาพได้ (health problem)

                  สัปดาห์ที่สองของเดือนธันวาคม ถือเป็นก้าวเข้าสู่ฤดูหนาวอย่างสมบูรณ์แบบ อากาศที่หนาวขึ้นกว่าเดิมอีกอยู่ที่ 0-3 องศาเซลเซียส ฝนจางลงไปบ้าง ลมหนาวพัดคลอเคล้าผิวกาย ใบหูเย็นเฉียบ หนาวมือจนปวดต้องใส่ถุงมือหรือล้วงลงไปในกระเป๋ากางเกงเพื่อหาไออุ่น ลดการสูญเสียความร้อนของร่างกายจากเส้นเลือดที่ลำคอด้วยผ้าพันคอผืนหนาๆ กลางคืนที่ยาวนานกว่าดวงอาทิตย์จะออกมาให้แสงสว่างก็แปดเก้าโมงเช้าแล้วก็รีบลาลับไปในช่วงสี่ห้าโมงเย็น ด้วยความหนาวเย็นทำให้ไม่อยากออกจากห้องไปไหน เพลิดเพลินอยู่กับไออุ่นของเครื่องทำความอุ่นในบ้านพักอย่างสบายๆ

                 วันพฤหัสที่ 6 ธันวาคม เป็นเทศกาลของชาวเบลเยียมชื่อ sinterklaasหรือวันเซนต์นิโคลัส ตรงกับคืนวันที่ 5 และ 6 ธันวาคม โยเซนต์นิโคลัสมาจากสเปนมาที่เบลเยียม มีสมุดจดรายชื่อเด็กๆ มีของรางวัลให้เด็กดีและลงโทษเด็กไม่ดี โดยมีม้าพร้อมแส้ติดมาด้วย ลงไปบ้านเด็กๆโดยผ่านทางปล่องไฟ ทำให้ใบหน้าเนื้อตัวของเซนต์นิโคลัสดำไปด้วยเขม่าควัน ขณะที่พวกเรากำลังนั่งเรียนเรื่องNational health systemกับอาจารย์วิมอยู่ ปรากฏว่ามีเสียงเคาะประตูห้องดังมากทั้งสองทาง ทุกคนต่างตกใจตกใจว่าเกิดอะไรขึ้นแล้วประตูห้องก็เปิดออกมีผู้ชายร่างสูงแต่งตัวเป็นเซนต์นิโคลัสขี่ม้าจำลองเข้ามาในห้องพร้อมทั้งผู้ช่วยที่ทาหน้าดำอีกสองคน ถึงได้รู้ว่าเป็นการจำลองเทศกาลให้พวกเราได้ร่วมสนุกกัน เฮลก่ากับฟิโอน่าแต่งตัวเป็นผู้ช่วย ส่วนเซนต์นิโคลัสผมจำเสียงได้น่าจะเป็นบรูโน อาจารย์ที่ปรึกษาของผม มีการเรียกเด็กๆในชั้นออกมาเช่นดาเมี่ยน นามีน เอ็ดวินและแพทริเชีย คู่หลังนี่ให้ออกมาเต้นเพลงละตินอเมริกาโดยเชิญอาจารย์วาลาเรียกับอาจารย์วิมมาเต้นหน้าชั้นด้วยกัน ปิดท้ายด้วยบัญชีเด็กดื้อ โรติมี่ถูกเรียกออกไปสัมภาษณ์และโดนตี(เล่นๆ)ด้วยแส้ ก็ถือเป็นกิจกรรมที่สร้างความสนุกสนานได้อย่างมาก พร้อมกับทิ้งท้ายประโยคเด็ดจากโรติมี่ว่า เขาชอบ Women centerd ไม่ใช่ Patient centred เสร็จแล้วตอนเบรคก็มีขนมและช็อกโกแลตมาแจกพวกเราด้วย

                  วันศุกร์ที่ 7 ธันวาคม อาจารย์วิม ฟอน ดัม (Wim Van Damme) จัดงานเลี้ยงให้พวกเราที่บ้านพักที่ Korte Gasthuisstraat 26 ถือเป็นการจบการสอนวิชาระบบสาธารณสุขแห่งชาติไปในตัว ก่อนที่จะสอบในสัปดาห์หน้าและต่อด้วยงานฉลองวันเกิดของประชันธ์ที่เรียมสแตรต ผมสนุกเต็มที่ จนเพื่อนๆแปลกใจเพราะทุกทีเห็นเงียบๆ ชิมเบียร์ 2 ชนิด ไวน์ประมาณ 2 ชนิด มีไวน์ชื่อ Pichet de France งานเลี้ยงที่บ้านอาจารย์วิมสนุกมาก มีการเต้นรำกันด้วย บรรยากาศสบายๆ มีอาจารย์ไปร่วมหลายคน เพื่อนๆในชั้นไปเกือบครบ อาจารย์วิม ภรรยาและลูกชายช่วยกันเสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่มให้พวกเรา ทั้งสามคนน่ารักมาก

                    วันอาทิตย์ที่ 9 ธันวาคม เตรียมตัวสอบ อ่านหนังสือทั้งวัน อ่านจนล้า ไม่ได้ออกไปไหน เริ่มเบื่อก็ได้ อาศัยการล้างจานกับซักผ้าเป็นการผ่อนคลายความเครียด ได้คุยกับลูกและภรรยา แม่ พ่อตา แม่ยายทางสไกป์ได้พลังใจขึ้นเยอะ การขดตัวอยู่ใต้ผ้าห่มเพื่ออ่านหนังสือทำให้รู้สึกอบอุ่นดีมาก แล้วก็อาศัยเวลาสั้นๆงีบเพื่อเติมพลังสมองได้ ความหนาวทำให้ไม่อยากออกไปไหน

                   วันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม มีสอบปากเปล่า (Oral examination) รู้สึกว่าการอ่านหนังสือสอบหรือดูหนังสือสอบนี่ไม่ค่อยจะสุนทรียทัศนาเท่าไหร่ ตอนเช้าตื่นมาก็อ่านหนังสือ อ่านจนรู้สึกว่าสมองไม่ค่อยอยากจะรับหรืออาจเป็นไปได้ว่าใจไม่อยากจะรับก็ได้ ความอดทนในการอ่านหนังสือลดลงมากกว่าตอนเป็นเด็กเยอะเลย ผมชอบอ่านหนังสือมากแต่ไม่ชอบอ่านหนังสือช่วงสอบ วันแรกของการสอบอาจารย์วาลาเรียขออาสาสมัครสอบก่อน 6 คน มีผม ประชันธ์ แพทริซ กัดดัม เกษม เกลนด้า สมัคร (3P: Prashant, Patrice, Phichet, 2K: Kadam, Kasame, 1G: Glenda) ผมตื่นเต้นมากพอควร (สังเกตว่าคนอื่นๆก็ตื่นเต้นเหมือนกัน) อาจารย์ฌอง ปิแอร์ อังเกอร์กับบาร์ท ครีเอล น่ารักมาก ช่วยทำให้บรรยากาศผ่อนคลาย ผมตอบคำถามได้ทั้งสองข้อ แต่จะตรงกับคำตอบในใจของอาจารย์ทั้งสองท่านหรือเปล่าไม่รู้ ตอบได้แต่ไม่แน่ใจว่าตอบถูกหรือเปล่า แต่ก็คลายเครียดหลังสอบด้วยการเล่นปิงปองกับประชันธ์ไปสี่เกมส์ก่อนกลับบ้านพัก อาจารย์วาลาเรีย เป็นเหมือนครูประจำชั้นน่ารักมากคอยให้กำลังใจ คอยปลอบโยนไม่ให้กังวลหรือตื่นเต้นมากเกินไป ตอนกลางคืนไม่ได้อ่านหนังสือนั่งเขียนรายงานต่อจนดึก

                   วันอังคารที่ 11ธันวาคม ไม่ได้อ่านหนังสือ นั่งเขียนรายงานการวิเคราะห์ปัญหาที่นำเสนอในรูปบทความทางวิชาการ คล้ายๆการเขียนรายงานวิจัยเพื่อตีพิมพ์แต่เป็นภาษาอังกฤษ นักศึกษาจะมีอาจารย์ที่ปรึกษาช่วย ผมรู้สึกว่าเป็นการใช้พลังของสมองอย่างมากเลย ใช้เวลาเขียนจนเกือบบ่ายโมง ก็ส่งไปให้อาจารย์บรูโนทางอีเมล์ก่อนแล้วก็ไปพบอาจารย์ตอนสี่โมงเย็น อาจารย์บรูโน อ่านบทความแล้วก็ให้ข้อเสนอแนะหลายประการในการเขียนบทความที่เชื่อมโยงกันทั้งบทนำ การอธิบายสภาพปัญหา การวิเคราะห์ปัญหาที่เชื่อมโยงกับหลักการทฤษฎีที่นำมาใช้เป็นกรอบการวิเคราะห์และแนะนำวิธีการเขียนบทความทางวิชาการในภาพรวมให้ เสร็จแล้วก็กลับบ้านพัก ตกกลางคืนก็อ่านหนังสือวิชาระบาดวิทยาทางสถิติ (Epistat I)

                    วันพุธที่ 12 ธันวาคม ตื่นสายประมาณเก้าโมงเช้า รู้สึกมองแสงมองภาพแปลกๆ ไม่ค่อยชัดเจนนัก ทำให้รู้ได้เลยว่าต้องมีอาการของโรคไมเกรนแน่เลย และก็ใช่จริงๆ ผมไม่เคยวินิจฉัยโรคไมเกรนของตนเองผิดพลาดเลย แต่ด้วยความที่รู้เร็วและรู้วิธีการรักษาแล้วก็เลยมีอาการไม่มาก ผมรักษาด้วยการดื่มกาแฟไปหนึ่งแก้วและพาราเซตามอล 1 เม็ด นอนพักประมาณสองชั่วโมงก็หายไป อ่านหนังสือต่อได้ในช่วงบ่ายและช่วงกลางคืน ไมเกรนเป็นสิ่งที่ผมไม่อยากให้มาเยือน แต่ก็ห้ามไม่ได้ คงต้องเปลี่ยนจากศัตรูมาเป็นมิตรกันแล้ว

                    วันพฤหัสที่ 13 ธันวาคม ตื่นเช้ามาสดชื่นคราวนี้ตื่น 7 โมงเช้า อ่านหนังสือได้ตั้งแต่เช้า กลางวันและเย็น อ่านอีพิแสต็ต รู้สึกสนุกมาก ผมเคยเรียนวิชานี้มาหลายครั้งแต่รู้สึกไม่ค่อยเข้าใจมากนัก พอได้มีเวลาอ่าน ทำความเข้าใจทำให้รู้สึกสนุก ท้าทาย อ่านจนจบเล่มเลย ช่วงกลางคืนก็นั่งแก้ไขรายงานเพื่อส่งไปให้อาจารย์บรูโนอ่านและช่วยให้คำแนะนำแก้ไขโดยมีนัดกับอาจารย์บ่ายวันศุกร์

                     วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม มีเรียนทบทวนอีพิแสต็ตก่อนสอบโดยอาจารย์วีเริ่ล อาจารย์ลองเอาโจทย์มาให้ทำกันดู ก็ถือว่าทำได้ แต่ก็มีเพื่อนๆหลายคนที่ยังตามไม่ทัน ตอนบ่ายพบอาจารย์บรูโน ได้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมในการเขียนและแก้ไขบทความรายงาน รวมทั้งอาจารย์ช่วยแก้ไขคำหรือประโยคบางคำให้ด้วย ผมขอแก้ไขและนัดพบอาจารย์อีกครั้งในวันพฤหัสหน้าหลังสอบเสร็จแล้ว ผมรู้สึกว่าการได้เจออาจารย์หลายๆครั้ง ทำให้เราได้เทคนิคและแนวทางในการเขียนบทความวิชาการเป็นภาษาอังกฤษซึ่งเป็นประโยชน์มาก ข้อกำหนดให้นัดเสนออาจารย์ที่ปรึกษาแค่ครั้งเดียว แต่ผมคิดว่านยิ่งพบบ่อยก็ยิ่งได้ความรู้มากขึ้นโดยเฉพาะเทคนิควิธีการที่เป็นความรู้ฝังลึก (Tacit knowledge) ของอาจารย์และถือเป็นการเรียนรู้โดยการปฏิบัติจริง (Learning by Doing) เลย

                    วันเสาร์ที่ 15 ธันวาคม อยู่บ้านอ่านหนังสือเกือบทั้งวัน บรรยากาศในช่วงสอบนี่ไม่ค่อยรื่นรมย์เท่าไหร่ แต่ถ้าใจยิ่งคิดว่าน่าเบื่อก็ทำให้ไม่อยากอ่านหนังสือมากขึ้น ผมก็มาคิดว่าหนังสือที่เราอ่านนี่ เราเอาไปใช้ประโยชน์ตรงไหนได้บ้าง เปรียบเทียบกับที่เราทำเป็นอย่างไรบ้าง อะไรที่เป็นเรื่องใหม่ที่เราเพิ่งรู้บ้าง ทำให้เป็นการอ่านเพื่อค้นหามากกว่าการอ่านเพื่อจำไปสอบ ทำให้ไม่เบื่อและไม่หลับ ช่วงเที่ยงออกไปตลาดสดวันเสาร์ไปซื้อผัก ผลไม้ ไข่และไก่มาไว้ทำกับข้าว ตอนแรกกะว่าหลังทานอาหารกลางวันแล้วจะไปขี่จักรยานเล่นสักพัก พอออกไปตลาดแล้ว รู้สึกว่าหนาวมาก ก็เลยอยู่ที่ห้องดีกว่า ช่วงบ่ายได้คุยกับแม่ ภรรยา น้องขิมและน้องขลุ่ย สร้างความสดชื่นได้มาก

                  วันอาทิตย์ที่ 16 ธันวาคม อยู่บ้านทั้งวัน ขดตัวอยู่ใต้ผ้าห่มพร้อมกับการอ่านหนังสือด้วยความอบอุ่น เพื่อเตรียมพร้อมกับการสอบในวันพรุ่งนี้

                  ผมเองก็กังวลๆเรื่องกลัวจะเป็นไมเกรนในช่วงสอบ แล้วมันก็เป็นจริงๆ เป็นไปตามกฎทองของนักบริหารที่ว่า "สิ่งที่คิดว่ามันจะเกิด มันจะเกิดขึ้น" แต่ก็คิดว่าไมเกรนน่าจะเป็นกลไกธรรมชาติที่ทำให้ร่างกายและสมองของผมได้พักจากแรงกดดันจากการอ่านหนังสือสอบและเขียนรายงานวิเคราะห์ปัญหา ผมวิเคราะห์ดูแล้ว การเป็นไมเกรนของผมไม่ได้มีสาเหตุเดียว เคยคิดว่าเครียดแล้วจะเป็นไมเกรน แต่บ่อยครั้งที่เครียดมากๆ มากกว่าช่วงที่เป็นไมเกรนอีก ก็ไม่เป็น เกิดจากอดนอน บ่อยครั้งที่อดนอนก็ไม่เป็น ผมสรุปได้ว่าต้องมาจากหลายสาเหตุที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันส่วนผสมที่ลงตัวของปัจจัยต่างๆ แต่ไม่ทราบได้ว่าในปริมาณเท่าไหร่บ้าง นั่นคือเครียด กังวล อดนอน หลับไม่ดี ตื่นสาย น้ำตาลต่ำหรือหิวข้าว อากาศเย็น แสงจ้ากระทบผนังหรือวัตถุสีขาวหรือแสงอาทิตย์สะท้อนเข้าตา

                   การเล่าเรื่องไมเกรนนี้ น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านหลายท่านที่เป็นโรคนี้ เท่าที่ผมทราบเพื่อนๆพี่ๆน้องๆหลายคนที่รู้จักก็เป็นกันมาก ก็ถือว่าเป็นกรณีศึกษา (Case study) ที่แพทย์และผู้ป่วยเป็นผู้เล่าเอง โดยความยินยอมของผู้ป่วย จึงไม่ถือว่าแพทย์ผิดจรรยาบรรณในการเปิดเผยความลับของผู้ป่วย ผมเริ่มเป็นไมเกรนครั้งแรกตั้งแต่เรียนชั้นมอสี่ เทอมสอง หลังจากมีปัญหาสายตาสั้นแล้วใส่แว่นตา คอนแรกก็คิดว่าปวดหัวจากสายตาและการใส่แว่น เป็นหลังจากขี่จักรยานกลับจากรับรางวัลเรียนดีในงานวันเด็กที่เทศบาลสวรรคโลก ขณะขี่จักรยานมีแสงแดดส่องสะท้อนกระจกรถยนต์เข้าตา แล้วผมก็รู้สึกว่ามองภาพแล้วแปลกๆ มองไม่ค่อยชัด เบลอๆ สักพักก็มองภาพแล้วมีแสงวาวๆ อยู่ในภาพเป็นสักสามสิบนาทีก็หายไปหลังจากนั้นก็เกิดอาการปวดศีรษะข้างขวามากขึ้นเรื่อยๆ ปวดรุนแรงและทรมานมาก จนต้องเข้าไปนอนพักในห้องนอน กินยาแก้ปวดพาราเซตามอลก็ไม่ดีขึ้น ปวดมากจนรู้สึกว่าแทบจะทนไม่ไหวแล้วอาการปวดนั้นก็ค่อยๆลดลงๆเรื่อยๆจนหายปวดในเวลาตั้งแต่เริ่มปวดจนถึงหายปวดประมาณ 2 ชั่วโมง หลังปวดหัวก็รู้สึกเพลียๆแล้วก็ง่วงนอน ผมเป็นอย่างนี้ทุกปีๆละ 1 ครั้ง มักเป็นในช่วงฤดูหนาว ส่วนความเครียดคิดว่ามีอยู่แล้วเพราะตอนเรียนมอปลายต้องอ่านหนังสือมาก และกังวลเรื่องสถานที่เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย ตอนนั้นไม่รู้ว่าโรคนี้เขาเรียกว่า ไมเกรน

                   ตอนเรียนแพทย์ปีหนึ่ง ก็มีอาการช่วงหน้าหนาว จำได้ว่าก่อนสอบวิชาสถิติหนึ่งวัน ทำให้ผมได้เกรดวิชาสถิติแค่บี (คะแนนเก็บได้ 58 จาก 60) น่าจะได้เอไม่ยาก พอตอนเช้าเริ่มมีอาการเตือนทางสายตา เห็นภาพแปลกๆ มีสีวาวๆหรือดำๆ ในภาพที่มอง แล้วอาการปวดก็เป็นแบบทุกครั้งที่เป็น แต่ปวดมากจนอาเจียนเลย ไปนอนพักที่หอชายหนึ่ง ห้องของน้าชาย (นายแพทย์สำเริง สีแก้ว) ได้กินยาคิดว่าน่าจะเป็นคาร์เฟอร์กอต (Cafergot) แต่ยาไม่ได้ช่วยลดทอนความปวดลงเลย ยังคงปวดเหมือนทุกครั้งแล้วก็ทุเลาจนหายไปเอง แต่ก็ได้รู้แล้วว่าเป็นโรคไมเกรน เพราะน้าบอกให้ ผมก็เลยเอาตำราของน้ามาอ่านเรื่องโรคไมเกรนอย่างละเอียด ทำให้สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้ตั้งแต่เรียนหมอปีหนึ่ง พอเรียนปีสอง เป็นช่วงกำลังนั่งรถขนวัสดุก่อสร้างไปออกค่ายอาสา มีอาการไม่มากนักแล้วก็ได้หลับในรถไปได้ ยาที่กินก็ยังคงเป็นคาร์เฟอร์กอตเหมือนเดิมแล้วก็ไม่ได้ผลเหมือนเดิม แล้วก็เป็นมาทุกปีๆละ 1 ครั้ง ไม่เคยเป็นมากกว่านี้ อาการทุกอย่างเป็นเหมือนเดิมทั้งหมด ด้วยความที่ปวดหัวข้างเดียวและรุนแรงมาก จนอาเจียน ต้องนอนพัก อยู่ในห้องเงียบๆ คนเดียว แล้วไม่รู้มันจะเป็นเมื่อไหร่ เป็นช่วงสำคัญๆหรือเปล่าทำให้ผมเป็นอีกโรคหนึ่งตามมาคือโรคกลัวไมเกรน (Migraine phobia) ปีนี้มาเป็นก่อนสอบวิชาระบาดวิทยาสถิติ แต่ดีที่ไม่รุนแรง อีกอย่างอยู่ไกลบ้านไกลครอบครัว ไม่มีใครดูแล เลยต้องรีบหายเร็วหน่อย

                  พอจบเป็นแพทย์ใช้ทุนที่โรงพยาบาลงาว ก็เป็นตอนหน้าหนาว คราวนี้ผมรักษาด้วยยาอะมิทริปทีรีน (Amitryptiline) ขนาด 25 มิลิกรัม ยานี้อยู่ในกลุ่มยาต้านโรคซึมเศร้า แต่สรรพคุณสามารถรักษาโรคไมเกรนและป้องกันโรคไมเกรนได้ พอจบเป็นหมอแล้วก็สั่งยากินเอง ปรากฏว่าได้ผลดีมาก พอเริ่มมีอาการเตือนทางสายตา ผมก็รีบกินยาเลย แล้วก็เข้านอนในห้องเงียบๆแล้วก็หลับไป ทำให้ไม่ปวดศีรษะหรืออาจปวดแต่เราหลับไปแล้ว ตื่นเช้ามาก็เพลียๆแล้วก็มีปากแห้งคอแห้งจากผลข้างเคียงของอะมิทริปทีลีน ผมคิดว่าก็ยังดีกว่าปวดศีรษะรุนแรงแบบเมื่อก่อน พอไปอยู่แม่พริกและบ้านตากก็มีอาการทุกปีเช่นกัน ก็ใช้ยาแบบนี้รักษาไปได้

                  พอปี 2546 ผมไปดูงานในการอบรมผู้บริหารระดับกลางที่เชียงราย ก่อนเดินทางไปแม่ฟ้าหลวง ผมก็เกิดอาการเตือนอีก คราวนี้มีแต่ยาพาราเซตามอล คิดว่าคงเอาไม่อยู่แน่ ก็เลยตัดสินใจดื่มกาแฟไปสองแก้ว (ปกติผมไม่ดื่มกาแฟ) แล้วกินยาพาราไปหนึ่งเม็ด ปรากฏว่าอาการปวดศีรษะจากไมเกรนน้อยมาก สามารถเดินทางไปร่วมดูงานได้สบาย ทำให้ผมได้สูตรรักษาใหม่คือการดื่มกาแฟเมื่อมีอาการนำ จริงๆแล้วในยารักษาไมเกรนคือคาร์เฟอร์กอต มีส่วนผสมของคาเฟอีนที่มีอยู่ในกาแฟ ที่เชื่อว่าช่วยรักษาไมเกรนได้ ผมจึงได้ประยุกต์เอาความรู้นี้มาใช้ ตอนปี 2547 หลังจากสอบความรู้รวบยอด (Comprehensive exam) หรือสอบข้อเขียนภาคพิสดารของนิด้า ผมก็เป็นไมเกรนอีก ได้อาศัยลูกอมกาแฟก็ช่วยได้เช่นกัน ปีที่แล้วมีอาการตอนทำงานอยู่ที่ สสจ.ตาก ก็ดื่มกาแฟไปสองแก้วก็ดีขึ้น พี่เปิ้ลเลขาฯที่สำนักงานยังงงๆเลยว่า ทุกทีหมอไม่ดื่มกาแฟ คราวนี้ขอทีเดียวเลยสองแก้ว แต่กาแฟที่ดื่มต้องใส่น้ำตาลให้ออกหวานหน่อยนะ ถึงจะดื่มได้ ถ้าเป็นกาแฟเย็นด้วยยิ่งดี บางดีเจอร้านกาแฟเย็นก็อดไม่ได้แอบอ้างเพื่อป้องกันไมเกรนไปบ้างก็มี แต่ก็พยายามอดใจไม่ดื่มบ่อยเพราะกลัวดื้อทำให้รักษาไมเกรนไม่ได้ ส่วนคนที่ไม่ค่อยดื่มกาแฟพอดื่มอาจจะมีใจสั่นได้ สำหรับคนที่ดื่มกาแฟเป็นประจำ การรักษาไมเกรนด้วยวิธีนี้อาจจะไม่ได้ผล เพราะอาจทนทาน (tolerance) หรือดื้อยา (resistant) ไปแล้ว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น อาจขึ้นอยู่กับชนิดของโรคไมเกรนด้วย

                     ไมเกรน เป็นอาการปวดศีรษะข้างเดียว แต่ก่อนเรียกกันว่า ลมตะกัง ไม่มีใครทราบสาเหตุที่แน่ชัด ทราบแต่ว่ามีปัจจัยกระตุ้นให้เกิดได้หลายอย่าง แล้วแต่ปัจจัยของแต่ละคนไป อาจไม่ใช่ปัจจัยเดียวกันก็ได้  เช่นความเครียด อดนอน วิตกกังวล หลับไม่พอ ตื่นนอนสายกว่าปกติมากเกินไป แสงจ้า อากาศเปลี่ยน เป็นต้น ไมเกรนเป็นโรคที่ไม่มีพยาธิสภาพ (Pathology) ที่ผิดปกติในร่างกาย แต่เป็นความเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยา (Physiology) ทำให้เกิดการขยายตัวของเส้นเลือดที่หนังศีรษะชั่วคราว การขยายตัวของเส้นเลือดนี้ทำให้เกิดอาการปวดขึ้น เป็นการปวดตุ๊บๆ เป็นจังหวะ คล้ายการเต้นของชีพจร ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะข้างเดียว ไมเกรนแบ่งออกเป็นสองชนิด คือชนิดธรรมดา (Common migraine) จะไม่มีอาการนำก่อนการปวด การปวดในกลุ่มนี้มักปวดไม่รุนแรงมากนัก แต่จะปวดนานเป็นวันหรือหลายวัน เป็นๆหายๆ เป็นได้บ่อยๆ ส่วนอีกชนิดคือคลาสสิก (Classical migraine) จะมีอาการนำมาก่อน อาการนำอาจเกิดหลายชนิด ส่วนใหญ่เกิดทางตา อาการนำนี้เรียกว่าออร่า (Aura)แล้วก็ค่อยปวดศีรษะโดยค่อยๆปวดมากขึ้นเรื่อยๆจนสูงสุดแล้วก็ลดลง ปวดอยู่ไม่นานสักสองถึงสามชั่วโมง มักเป็นไม่บ่อย

                  การรักษาไมเกรน มียาหลายชนิดตั้งแต่ยาแก้ปวดธรรมดา ยากลุ่มที่มีคาเฟอีน ยาต้านการซึมเศร้าและมียากลุ่มใหม่ๆที่ใช้รักษาอาการปวดศีรษะจากเส้นเลือดหรือ Vascular headache อีกหลายชนิด สำหรับคนที่เป็นบ่อยๆ นานๆ จนรบกวนชีวิตประจำวันอาจต้องใช้ยาป้องกันไมเกรนด้วย ยาป้องกันจะใช้ก่อนที่มีอาการ ถ้ามีอาการแล้วมักป้องกันไม่ได้ผล อีกทางหนึ่งก็คือการป้องกันโดยลดปัจจัยกระตุ้นให้เกิดไมเกรน เป็นวิธีที่ดีที่สุดแต่ปฏิบัติตามได้ยากที่สุด ด้วยความที่ไม่รู้ว่าอะไรเป็นสาเหตุกันแน่ ทำให้แก้ไขที่ต้นตอทำได้ยาก  แต่ความเป็นจริงอย่างหนึ่งก็คือไมเกรน เป็นโรคที่พบกันมาก ไม่ใช่โรคติดต่อ ไม่ใช่โรคที่มีอันตรายร้ายแรง แม้จะปวดรุนแรงไปบ้างก็ตาม แต่ก็ไม่หายขาด มันจะอยู่กับเราไปตลอด ถ้ามันคิดถึงเรา แม้เราไม่คิดถึงมัน มันก็ออกมาได้ การเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันจึงเป็นเรื่องที่ดี จากศัตรูคู่กายก็ให้คิดว่าเป็นมิตรคู่กายแทนก็แล้วกัน

                   ผมเคยอ่านเรื่องราวของคนหลายคนที่เจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง รักษาไม่หาย แต่ก็สามารถอยู่กับมันได้อย่างมีความสุข เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมยกย่องมาก การมีโรค (Disease) อยู่ในร่างกายแล้วทำให้ไม่สบายกายไม่สบายใจทำให้ป่วย (illness) และถ้าส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ก็เกิดความเจ็บป่วย (sickness) ขึ้น ส่งผลทั้งทางร่างกาย จิตใจ สังคมและจิตวิญญาณ เกิดเป็นความทุกข์ (suffering) กลายเป็นปัญหาสุขภาพได้ (health problem) แต่ถ้าเราไม่ทุกข์กับมัน มันก็ไม่เป็นปัญหากับเรา ไม่เป็นปัญหาสุขภาพของเรา ตอนนี้ผมเรียนรู้ที่จะอยู่กับไมเกรนได้และเลิกเป็นโรคกลัวไมเกรนแล้ว

พิเชฐ  บัญญัติ

Verbond straat 52, 2000 Antwerp, Belgium

16 ธันวาคม 2550, 23.05 น. ( 05.05 น.เมืองไทย )
หมายเลขบันทึก: 154068เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2007 05:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

พี่เคยฟังบรรยายจาก  อาจารย์ สุรเกียรติ อาชานานุภาพ ค่ะ

อ แนะนำว่าให้ผู้ป่วยที่เป็น พก พาราเซทตามอล ติดตัวตลอดเวลา  มีอาการเตือน หรือ เริ่มนิดหน่อย หรือสงสัยว่าจะเป็น ให้กินทันที ที่เริ่มมีอาการผิดปกติ และค่อยตามด้วย Cafegot

 ที่พี่ได้แนะนำ ก็ พบว่าถ้าผู้ป่วยตั้งใจและกินทัน มักจะใช้ได้ดีค่ะ

วันนี้เพิ่งรู้ว่า กาแฟ 2 แก้ว และ เอมิทริปทีลีน ก็ ได้ผลดี

พอแพทย์ เป็นเองและมาเล่าแบบนี้ ได้ประโยชน์ดีมากนะคะ เอาไปใช้ต่อได้เลย 

เห็นด้วยมากๆเลยกับที่ว่า

ไม่ใช่โรคติดต่อ ไม่ใช่โรคที่มีอันตรายร้ายแรง แม้จะปวดรุนแรงไปบ้างก็ตาม แต่ก็ไม่หายขาด มันจะอยู่กับเราไปตลอด

การเรียนรู้ที่จะอยู่กับโรคที่ไม่หายขาดเป็นเรื่องที่ดี

สวัสดีครับอาจารย์หมอรวิวรรณ

ขอบคุณอาจารย์มากครับที่แวะมาให้กำลังใจอย่างสม่ำเสมอ และร่วมให้ความคิดเห็นตลอดจนความรู้เพิ่มเติมครับ ตอนนี้เชียงรายก็คงหนาวเหมือนกันนะครับ วันนี้ที่แอนท์เวิปกลางคืนลบ 5 องศา เช้า -3 บ่าย -2 องศาเซลเซียสครับ เมื่อเช้าน้ำค้างบนหลังคารถริมถนนเป็นน้ำแข็ง ตอนเย็นเริ่มมีหิมะตกแล้วครับ

สำหรับท่านผู้อ่านที่ไม่ใช่แพทย์ ควรใช้วิจารณญาณในการนำไปใช้นะครับ ถ้าจำเป็นต้องใช้ยาควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรจะปลอดภัยกว่าการทดลองรักษาตัวเองโดยซื้อยามากินเองครับ

แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนพึงทำได้ในการเป็นหมอดูแลตัวเองก็คือการส่งเสริมสุขภาพหรือการดูแลตัวเองครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท