“มีสัจจะ” แต่ “ไม่ซื่อสัตย์”


ชาวบ้านอาจรวมกลุ่มทำกิจกรรมได้สารพัด แต่มักจะล้มเหลวในการรวมกลุ่มเพื่อการเกษตร

ไปจันทบุรี  ไปต่อภาพขบวนการปลูกมังคุดเพื่อการส่งออกจากที่เคยไปดูที่นครฯ...

  

จันทบุรีในใจของเราน่าสนใจด้วยสองเหตุผล   เหตุผลแรก  จันทบุรีน่าจะเป็น พื้นที่เกษตรเพื่อการค้าด้วยเหตุที่ใกล้ตลาดใหญ่สุด คือ กรุงเทพฯและส่งออกได้ง่าย  จึงอยากรู้ว่า แนวคิดและการปฏิบัติของเกษตรกรที่จันทบุรีจะต่างจากที่นครศรีฯ อย่างไร

  

เหตุผลที่สองคือ   ในความเข้าใจของเรา  ชาวบ้านอาจรวมกลุ่มทำกิจกรรมได้สารพัด  แต่มักจะล้มเหลวในการรวมกลุ่มเพื่อการเกษตร   แล้วในพื้นที่ที่องค์กรการเงินและสวัสดิการชุมชนเข้มแข็งอย่างจันทบุรี  การรวมกลุ่มเกษตรเพื่อ สวัสดิการพื้นฐาน  คือ สร้างความมั่นคงในอาชีพของตนเองคือ อาชีพเกษตร... จะเป็นอย่างไร

  

เจ้าหน้าที่เกษตรบอกว่า  การรวมกลุ่มไม่สำเร็จ  เพราะสมาชิก ไม่ซื่อสัตย์   มีการปนสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพ

  

ทั้ง ออมเงิน  และ รวมกลุ่มขายผลผลิต  น่าจะเป็นสิ่งดีต่อสมาชิกทั้งคู่  ดังนั้น การที่คนจะ มีสัจจะ  ในเรื่องหนึ่ง  แต่ ไม่ซื่อสัตย์ ในอีกเรื่องหนึ่งย่อมต้องมีเหตุผลอธิบาย

  

ประการแรก   เงิน  ของกลุ่มสัจจะ  เป็นสิ่งที่กลุ่มสามารถกำหนดทิศทาง ประโยชน์จากการใช้เงินกองทุนได้     แต่ มังคุด  ถูกกำหนดราคามาจากตลาด (ซึ่งไม่ใช่พ่อค้าคนกลางคนใดคนหนึ่งที่กลุ่มค้าขายอยู่ด้วย)   การรวมกลุ่มอาจช่วยให้ราคาเพิ่มขึ้น สมาชิกได้ประโยชน์บ้าง  แต่ไม่เสมอไป    เพราะจะทำได้เฉพาะในช่วงผลผลิตน้อยที่พ่อค้าต้องลงมาง้อเกษตรกร   ตรงนี้ เกษตรกรมักไม่เข้าใจ ฤทธิ์ของตลาด   คิดว่าเป็นแค่การเจรจากับพ่อค้า   จึงทำให้คาดหวังผลจากการรวมกลุ่มสูงเกินไปว่าจะต้องได้ราคาดีกว่าเสมอ     แต่เมื่อราคาตก  ศรัทธาต่อกลุ่มก็จะหายไป  

  

ประการที่สอง  เงิน  คงรูป   เก็บเงินก็ได้ดอกเบี้ย   แต่ มังคุด ไม่คงรูป  เก็บมังคุดไว้นาน รอไว้ขายตอนราคาดีไม่ได้   เก็บมังคุดก็มีแต่เน่า   เมื่อผลผลิตออก  จำเป็นต้องขาย ไม่ว่าราคาจะเป็นอย่างไร  จึงเกิดแรงจูงใจที่จะ  ยัดไส้  กันขึ้น

  ประการที่สาม  เงิน บาทที่หนึ่ง  กับ เงิน บาทที่สองมี คุณภาพ (ในการซื้อขายแลกเปลี่ยน) เท่ากันเสมอ   แต่ มังคุด ลูกที่หนึ่งกับลูกที่สองอาจมี คุณภาพไม่เท่ากัน  ที่สำคัญคือ  คุณภาพข้างในนั้นดูด้วยตาเปล่าไม่ออก โดยเฉพาะผู้ไม่ชำนาญ    จึงเกิดการหลอกกันได้ในการค้าขาย  บางครั้ง คนขายไม่ได้ตั้งใจหลอก แต่อาจไม่รู้จริงๆว่าข้างในผลมังคุด มีคุณภาพเป็นอย่างไร  

คนมีสัจจะ จึงกลายเป็นคนไม่ซื่อสัตย์ไปได้ง่ายๆ

พื้นที่เดียวกันจึงรวมกลุ่มสัจจะได้   แต่รวมกลุ่มขายมังคุดไม่ได้

  

เหมือนกันทั้งกลุ่มศึกษาที่ นครศรีฯ  พัทลุง  และ จันทบุรี .....  พื้นที่ที่มีกระบวนการกลุ่มออมทรัพย์เข้มแข็ง

  

ในความเห็นของเรา   จะรวมกลุ่มเกษตรได้คงต้องทำหลายเรื่อง การตอกย้ำเรื่องความซื่อสัตย์ก็เรื่องหนึ่ง แต่อีกเรื่องหนึ่งก็คือ  ต้องให้สมาชิกเข้าใจความแตกต่างระหว่าง พ่อค้า  กับ ตลาด    สมาชิกต้องเข้าใจว่า กลุ่มทำอะไรได้ขนาดไหน มีข้อจำกัดอะไรบ้าง    เมื่อเข้าใจถูกต้อง ก็จะคาดหวังกับบทบาทของกลุ่มได้ถูกต้อง จะได้ไม่ เสื่อมศรัทธากลุ่ม   เร็วเกินไป   รอคอยและอดทนได้ในช่วงที่ราคาตก    พร้อมที่เข้ามาช่วยกันคิดแก้ปัญหาเพื่อให้ขนาดของกลุ่มใหญ่ขึ้นๆ จนต่อรองกับ ตลาด  ได้จริง

  

อาจเป็นไปได้ที่จะการขยายกิจกรรมกลุ่มสัจจะสู่การรวมกลุ่มขายสินค้าเกษตร  โดยใช้ประโยชน์จากกลุ่มสัจจะเป็นเงื่อนไขในการควบคุมสมาชิกให้ซื่อสัตย์ในเรื่องการขายของตามคุณภาพด้วย  .....   แต่  ...กลุ่มสัจจะไม่ควรจะเป็นผู้รับซื้อขายสินค้าเกษตรเสียเอง ..... 

 
หมายเลขบันทึก: 153810เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2007 21:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2012 15:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • ในเวทีถอดบทเรียนกลุ่มสัจจะตราดอยู่ครั้งหนึ่งของอาจารย์ ทรงพล มีคนถามว่า "กลุ่มสัจจะฯ มีการทบทวนอุดมการณ์กันบ่อยหรือไม่ ด้วยวิธีใด"  คำถามนี้ชวนคิดต่อว่า แล้วการนำแนวคิดกลุ่มสัจจะมาขยายผลต่อนั้น มีการนำความรู้นั้นๆ มาประยุกต์ใช้ต่อในพื้นที่อย่างไร และพื้นที่นั้นๆ ทบทวน "ที่มา อุดมการณ์ของกลุ่มมากน้อยแค่ไหนอย่างไร"  ตัวเองก็เป็นสมาชิกกลุ่มสัจจะอยู่กลุ่มนึงค่ะ เป็นกลุ่มในเมือง พอนานๆ ไปการพบกันเดือนละครั้งของกลุ่มก็เป็นเพียงการนำเงินมาฝาก บางคนมากู้เงิน มาถอนเงิน แล้วก็ลืมไปด้วยซ้ำว่า ฐานคิดของกลุ่มสัจจะนั้นเป็นการสร้างเงื่อนไขให้เกิดความสัมพันธ์ในกลุ่ม และสูงสุดคือ ถ้ากลุ่มจัดการดี สำเร็จ ก็จะสามารถดูแลกันตั้งแต่เกิดจนตาย ภายใต้แนวทางการพึ่งพากันเอง ไม่ต้องพึ่งภายนอก
  • โชคดีจังเลยค่ะ ที่เมืองไทยยังมีนักวิชาการอย่างอาจารย์ค่ะ เพราะอาจารย์ไม่ได้แค่เข้าไปหาข้อมูลอย่างเดียว แต่อาจารย์ยังคิดให้และคิดถึงชุมชนที่อาจารย์เข้าไปศึกษาด้วย 
  • ขอให้อาจารย์มีความสุขกับงานที่อาจารย์รักนะคะ  และจะติดตามอ่านงานแห่งความสุขของอาจารย์ค่ะ
  • สวัสดีครับท่านอาจารย์
  • หัวข้อดึงดูดใจให้ผมมาอ่านครับ แม้จะเข้าใจผิดแต่ก็ไม่ผิดหวัง
  • ท่านอาจารย์ยังคงเดินทางไม่หยุดเลยนี่ครับ

เกมของเกษตรกรกับพ่อค้าคือ
เกษตรกรพยายามยัดไส้เท่าที่จะทำได้
พ่อค้าพยายามโกงตาชั่ง กดราคาเท่าที่จะทำได้
เป็นเกมที่แพ้ด้วยกันทั้งคู่
วิธีแก้แบบบ้านๆคือ หาคู่ค้าประจำ กลายเป็นความสัมพันธ์

คุณดอกไม้น้อย

กลุ่มสัจจะในเมือง ดำเนินการยากไหมคะ  

มีคนเชื่อว่า ทุนทางสังคม คือความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้กลุ่มประสบความสำเร็จ   เพราะคนจะควบคุมกันเองไม่กล้าหลอกกัน  (จริงรึเปล่าไม่ทราบ)  

"ถ้ามีแต่ออมหวังกู้อย่างเดียว   กลุ่มออมทรัพย์ก็ไม่ต่างกับเล่นแชร์" ... บางคนว่าไว้อย่างนี้ ...ดิฉันไม่อยากให้เป็นอย่างที่บางคนเขาปรามาสไว้ค่ะ

สวัสดีค่ะอาจารย์เอก

จะเข้าไปแสดงความเห็น (แซว) ในบล็อกอาจารย์แต่เกรงตัวเองจะเข้าใจผิด  ก็เลยได้แต่อ่านค่ะ

ชีวิตใหม่ของอาจารย์เป็นยังไงบ้างคะ 

รักษาสุขภาพนะคะ

อาจารย์ภีม..สวัสดีค่ะ

ถ้าคนหนึ่งเลือก "ยัดไส้"  คนหนึ่งเลือก "โกงตาชั่ง" 

เกมนี้ทั้งคู่ไม่ไว้ใจกัน   งานนี้ "แพ้ทั้งคู่" แน่ๆ อย่างที่อาจารย์ว่า

 แต่คำถามคือ  จะมีทางเลือกอื่นๆไหม และทำไมไม่เลือกทางเลือกอื่น

อาจารย์เสนอทางเลือก คือ  หาคู่ค้าประจำที่ดีต่อกัน 

ทางเลือก แบบหาคู่ค้าประจำ เป็นความสัมพันธ์หรือเครือข่ายกันนั้น    ต้องมาจาก "ความซื่อสัตย์ต่อกัน" ก่อน  ไม่งั้นจะคบกันได้หรือ  และเกมนี้ จะให้ผลลัพธ์ "ดีที่สุด" 

ก็เลยถามกลับว่า  แล้วทำไมบางคนไม่เลือกที่จะซื่อสัตย์...

...เหตุผลกลับมาที่เดิมตามที่เขียนไว้กระมังคะ...

ภายใต้สถานการณ์ "ไม่ซื่อสัตย์"  สังคมจะได้คำตอบที่แย่กว่าที่ควรเสมอ ....

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท