ชุมชนสวนหม่อมร่วมมือกันแก้ไขปัญหายาเสพติด


การประชุมหารือแลกเปลี่ยน ทำให้เกิดสาระสำคัญที่เป็นกุญแจดอกสำคัญ ๆ หลายดอกที่จะสามารถนำไปไขปัญหาที่เกิดขึ้น ให้พบกับหนทางที่จะนำไปสู่การอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันในสังคม
เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน  ๒๕๕๐ ที่ผ่านมา นางรอซิด๊ะ  มาลินี ประธานกรรมการชุมชนสวนหม่อม ได้เชิญชวนคณะกรรมการชุมชน  พี่น้องประชาชน ผู้ปกครอง  กรรมการมัสยิด และผู้ใหญ่บ้าน ม.๕  ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยมี กระผม(นายสุริยา  ยีขุน นายกเทศมนตรี) นายอุสมาน  หวันละเบ๊ะ รองนายกเทศมนตรี(๑)  นายกอเส็ม  ดาอี รองนายกเทศมนตรี(๒)  นายยะโกบ  หวังมุสา  นายนที  หมีโดด และนายโกศล  จิตตพันธ์ สมาชิกสภาเทศบาลทั้งสามท่านเป็นผู้ร่วมสังเกตุการณ์และร่วมแลกเปลี่ยน  ซึ่งนับป็นเวทีแลกเปลี่ยนที่น่าชื่นชมอีกเวทีหนึ่ง ที่จะบอกได้ถึงการเปล่ยนแปลงวิธีคิด วิธีทำ ในการประชุมหารือในระดับชุมชน นั่นคือ ผมได้สังเกตุเห็นการวางรูปแบบในการตั้งวงสนทนา ที่เป็นรูปวงกลม ที่ทำให้ทุกคนได้เห็นหน้าค่าตากัน และสามารถที่จะแสดงความคิดเห็นอย่างเป็นอิสระแก่กันและกัน เห็นรองฯกอเส็ม  สท.นที และ คุณจริยา(บารี) ทำหน้าที่เป็นคุณลิขิต คอยบันทึกเรื่องราว และประเด็นสำคัญ ๆ ที่เกิดจากวงสนทนา แล้วชวนให้เกิดความชื่นชมในพัฒนาการของการจัดประชุมในระดับชุมชน นี่ไม่ได้เป็นเรื่องของการเยินยอกันเองแต่เป็นปลื้มด้วยการที่ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเชิงกระบวนการมากกว่าอื่นใด ก็ต้องออกมาชื่นชมกันตามสมควร  

จากการประชุมแลกเปลี่ยน ทำให้เกิดสาระสำคัญที่เป็นกุญแจดอกสำคัญ ๆ หลายดอกที่จะสามารถนำไปไขปัญหาที่เกิดขึ้น  ให้พบกับหนทางที่จะนำไปสู่การอยู่เย็นเป็นสุข ผมคงไม่ต้องนำประเด็นปัญหาและสาเหตุแห่งปัญหาที่ได้จากเวทีนี้มาอธิบายให้มากความแต่ประการใด  เพียงทำหน้าที่นำสารมาเล่าสู่กันว่าที่ชุมชนสวนหม่อม กรรมการชุมชนุมชน และพี่น้องประชาชนในชุมชนเกิดการตื่นตัวและพร้อมที่จะร่วมมือกันทุกภาคส่วนที่จะต่อต้านปัญหายาเสพติดในชุมชน  ผมพอจะเก็บเกี่ยวประเด็นได้บ้างเป็นสังเขป กล่าวคือ

สาระสำคัญประการแรก   หลายคนให้ความเห็นว่า ควรปรับทิศทางการใช้ชีวิตของผู้คนในชุมชนโดยใช้ศาสนาเป็นกลไกในการสร้างพฤติกรรมพึงประสงค์ ที่ให้ทุกครอบครัวมี อีมาน มี อะมานะฮ์  มีความศรัทธาต่อศาสนาอย่างจริงจัง ใช้หลักคำสอนทางศาสนามาเป็นทางนำในการดำรงชีวิต

ประการที่สอง  การใช้หลัก   "บรม" (ที่ประกอบด้วย บ้าน โรงเรียน มัสญิด ) เป็นกลไกในการขับเคลื่อน ทั้งองค์ความรู้  ความเข้าใจ และการนำไปปฏิบัติ ที่จะต้องทำให้เกิดกระบวนการในการขัดเกลาทางสังคม(Socialization) ที่จะนำไปสู่หนทางของการแก้ไขปัญหาในระยะยาว

ประการที่สาม  การนำวิธีคิดในการใช้บทลงโทษทางสังคม(Social sanction) ด้วยกิจกรรมทางศาสนา ประเพณี และวัฒนธรรม มาเป็ปฐมบทในการขับเคลื่อน  เช่น การไม่ร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวใด ๆ ก็ตามที่มีส่วนพัวพันและเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการนำปัญหายาเสพติดมาสู่ชุมชน ซึ่งต่อไปในอนาคตอันไกล้นี้ทางชุมชนสวนหม่อมอาจจะตั้งเป็นเงื่อนไขหรือกติกาของชุมชน ที่ว่าหากพบว่าครอบครัวใดเป็นผู้ที่มีส่วนพัวพันกับปัญหายาเสพติด เราจะไม่ไปร่วมทำบุญ กินหนุหรี หรือร่วมกิจกรรมที่บ้านนั้น  ๆ (นี่เป็นกรณีตัวอย่างของบทลงโทษในเบื่องต้น) ซึ่งในประเด็นดังกล่าวนี้อาจจะต้องมีการประชุมหารือ แลกเปลี่ยน และทำข้อตกลงกันอีกหลาย ๆ เวที หลาย ๆ ครั้ง เพื่อให้เกิดการตกตะกอนทางความคิด ต่อไป ** ขอย้ำ ประเด็นนี้ เป็นเพียงวิธีคิด ที่กำลังจะต้อง สร้างกระบวนการคิดซ้ำ อีกหลายครา (ครับผม) จึงจะนำไปสู่การปฏิบัติต่อไปได้อย่างเป็นรูปธรรม

ประการที่สี่  การใช้กลไกการมีส่วนร่วมในระดับครัวเรือน โดยในชุมชนได้เสนอกันว่า ให้แต่ละครัวเรือนต้องสอดส่องดูแลทั้งบุตรหลานและสมาชิกในครอบครัว ตลอดจนบุคคลภายนอก ที่เห็นว่ามีพฤติกรรมยุ่งเกี่ยวกับเรื่องยาเสพติด โดยผู้ปกครอง บิดา มารดา ต้องทำหน้าที่เบื้องต้นในการเฝ้าระวัง ควบคุมพฤติกรรมของบุตรหลาน ต้องใช้ความอดทน อดกลั้น และความเพียรพยายามที่เริ่มจากครอบครัวตัวเราเองเป็นขั้นต้น และจึงขยายผลสู่สาธารณะ จากระบบเครือญาติ สู่สังคมในชุมชน

ประการที่ห้า  หากเกิดการเหลือบ่ากว่าแรง จำเป็นที่จะต้องพึ่งพิงภายนอก หรือจำเป็นที่จะต้องใช้วิธีการทางกฏหมาย ก็จะต้องสร้างกลไกการประสานงานให้สามารถที่จะติดต่อประสานงานขอแรงหนุนช่วยจากส่วนราชการ  และองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการบำบัดรักษา และเยียวยา ก็จะมีพี่น้องในชุมชนจะช่วยกันเป็นแกนหลักเบื้องต้น สมาชิกสภาที่อยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ และเทศบาลตำบลปริก ที่ประกอบไปด้วยนายกฯ รองนายก ข้าราชการ และพนักงาน  รวมทั้งผู้ใหญ่บ้าน ม.๕  จะเป็นกลไกการประสานงาน  เป็นต้น ซึ่งจะมีการวางระบบกันแบบหลวม ๆ ง่าย ๆ แต่ให้สามารถดำเนินการได้จริง  ซึ่งก็อาจจะต้องมีเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเป็นระยะ ๆ  และจะต้องหารือกันอีกหลาย ๆ รอบ เพื่อให้ได้หนทางที่ดีขึ้นเป็นลำดับต่อไป
 
ประเด็นต่าง ๆ ทั้งห้าประการข้างต้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลการประชุมหารือครั้งแรก ทราบข่าวมาว่าในระดับชุมชนยังจะต้องตั้งวงหารือกันอีกหลาย ๆ รอบ ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป(ครับผม)
หมายเลขบันทึก: 153463เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2007 00:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 20:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ศาสนาเท่านั้นที่จะสามารถป้องกันยาเสพติดได้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท