หลังจากที่ลงเรื่องบริการเชิงรุกของโรงพยาบาลคำตากล้า ตอนที่ ๑ แล้ว คุณวีรพัฒน์ ได้เข้าไปเยี่ยม blog ของเรา และให้ความเห็นเรื่องของตัวชี้วัดระบบการดูแลผู้ป่วยเบาหวานไว้ มีทั้งคำถามและข้อเสนอแนะ ต้องขอขอบคุณคุณวีรพัฒน์ที่กระตุ้นให้เราคิดนะคะ คำตอบส่วนหนึ่งน่าจะอยู่ในบันทึกเรื่อง "เครือข่ายพัฒนาคุณภาพ" ซึ่งนำข้อมูลมาจาก นพ.อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล ที่ http://dmcop.blogspot.com เมื่อ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๔๘ ค่ะ
บริการเชิงรุกของโรงพยาบาลตากล้า ตอนที่ ๒ มีรายละเอียดของการบริการที่มีอยู่หลายกิจกรรม เห็นบทบาททั้งของผู้ป่วยและทีมสหสาขาวิชาชีพ
วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๔๘
"บริการเชิงรุกของโรงพยาบาลคำตากล้า ตอนที่ ๒"
กิจกรรมที่จัดให้ผู้ป่วยในการมารับบริการแต่ละครั้ง มีชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง (ในครั้งแรก) วัดสัญญาณชีพ เจาะเลือดปลายนิ้ว บริการข้าวต้ม และให้ออกกำลังกายโดยยืดเหยียดกล้ามเนื้อ รำไม้พลอง จากนั้นก็ให้ผู้ป่วยนั่งพักเหนื่อย
ขณะที่นั่งพัก เจ้าหน้าที่ของเราก็จะให้สุขศึกษาตามแผนการสอนที่จัดทำขึ้นเหมือนกันทุก PCU จากนั้นก็มีการทำกิจกรรมกลุ่ม โดยให้ผู้ป่วยที่ควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีมาเล่าให้เพื่อนๆ ฟังว่ามีวิธีปฏิบัติตัวอย่างไร มีการกินอยู่ในชีวิตประจำวันอย่างไร จึงทำให้เขาสามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ปกติ หลังจากทำกลุ่มเสร็จก็จะให้ผู้ป่วยเข้าพบแพทย์ ในขณะที่รอพบแพทย์จะให้พยาบาลตรวจเท้าผู้ป่วยด้วย ในรายที่ควบคุมน้ำตาลได้ไม่ดีแพทย์จะส่งพบพยาบาลเพื่อซักถามรายละเอียดและให้คำแนะนำต่อไป จากนั้นก็ให้ผู้ป่วยรับยาโดยเภสัชกรจะเป็นผู้จ่ายยาให้ ผู้ป่วยเบาหวานของเราสามารถบอกได้ว่ายาที่เขากินอยู่ทุกวันใช้รักษาโรคอะไรได้บ้าง เพราะบางคนอาจจะได้ยารักษาถึง ๔ กลุ่มโรค มียา ๘-๙ อย่างก็มี ทางเภสัชกรก็มีการประเมินความรู้ผู้ป่วย สอบถามยาที่ใช้ วิธีเก็บ และวิธีกินยาที่ถูกต้อง ผู้ป่วยก็สามารถบอกได้
ส่วนในรายที่ขาดนัด ขาดยา เราก็มีการติดตามเยี่ยมบ้านทุกราย
จากการที่ทีมงานออกไปให้บริการเชิงรุก ก็ยังพบว่าผู้ป่วยบางรายยังขาดความรู้ความเข้าใจในการดูแลตนเอง ยังมีภาวะแทรกซ้อนและแผลเรื้อรังอยู่หลายคน จึงได้ร่วมกันวิเคราะห์ปัญหา พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการดูแลตนเอง ขาดแรงจูงใจ จึงมีแนวคิดที่จะทำค่ายเบาหวาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ป่วยได้มีการพบปะสังสรรค์ มีการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันจากประสบการณ์ตรง เราคิดว่าการทำเช่นนี้น่าจะทำให้ผู้ป่วยของเราเกิดความตระหนักและใส่ใจตนเองมากขึ้น
กิจกรรมที่จัดในค่าย ภาคเช้าจะให้ความรู้เรื่องโรคและภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้เชิญผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ความดันสูง โรคหัวใจ โรคไต ผู้ป่วยที่มีแผลเรื้อรังมาเล่าให้เพื่อนๆ ฟังถึงอาการแทรกซ้อนที่เป็นอยู่ สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ข้อควรปฏิบัติในการดูแลตนเองที่จะป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้น ในขณะเดียวกันเราก็จะให้เจ้าหน้าที่สอดแทรกความรู้ขณะสัมภาษณ์ผู้ป่วยไปด้วย หลังจากนั้นก็จะให้ความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพในช่องปากโดยทันตแพทย์
ในภาคบ่าย เรามีการแบ่งฐานออกเป็น ๔ ฐานคือ ฐานที่ ๑ การดูแลผู้ป่วยที่มีแผลเรื้อรังที่ผิวหนังและเท้า ฐานที่ ๒ การใช้ยา ฐานที่ ๓ เรื่องอาหาร และฐานที่ ๔ การออกกำลังกาย การแบ่งกลุ่มก็แบ่งตามปัญหาที่พบ คนที่ออกกำลังกายเป็นประจำก็ให้รวมอยู่กับคนที่ไม่ออกกำลังกาย กลุ่มที่ BMI เกิน ๒๕ ก็จัดให้อยู่กลุ่มอาหาร กลุ่มที่มีปัญหาการใช้ยา ที่มีภาวะแทรกซ้อนมากๆ ก็รวมอยู่ในกลุ่มยา กลุ่มแผลเรื้อรังก็รวมกลุ่มกัน เรามีการสาธิตการดูแลเท้า การล้างเท้า และนวดเท้าด้วยตนเอง โดยเน้นให้ผู้ป่วยดูแลเท้าให้มากที่สุด
เราให้ผู้ป่วยแต่ละกลุ่มร่วมแสดงความคิดเห็นในหัวข้อเรื่องที่ได้รับมอบหมาย มีพี่เลี้ยงประจำกลุ่มคอยให้คำแนะนำ หลังจากนั้นก็ให้แต่ละกลุ่มนำเสนอผลการประชุมกลุ่ม ซึ่งเราก็พบว่าผู้ป่วยของเรามีความรู้ความเข้าใจพอสมควร
หลังจากที่เราจัดค่าย เราได้ติดตามดูความเปลี่ยนแปลงของผู้ป่วย เราพบว่าผู้ป่วยเบาหวานสามารถควบคุมระดับน้ำตาลอยู่ในเกณฑ์ดีร้อยละ ๘๒.๔๘ ภายในเวลา ๓ เดือน ซึ่งก่อนจัดค่ายอยู่ที่ร้อยละ ๗๐.๔๖ ผู้ป่วยขาดนัดน้อยลง พบภาวะแทรกซ้อนรายใหม่ลดลง
ผู้เล่าเรื่อง คุณกนิษฐา จันทร์แจ่มศรี พยาบาลวิชาชีพ ๗ โรงพยาบาลคำตากล้า อ.คำตากล้า จ.สกลนคร ๔๗๐๐๐ โทร. ๐๔๒-๗๙๖-๐๔๖