Proceedings มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ (๒๗)_๑


Proceedings มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ (๒๗)_๑

ภาพรวมคลินิกให้คำปรึกษา
        คลินิกให้คำปรึกษา เป็นส่วนของการให้คำปรึกษาทางด้านข้อมูล เทคนิค และนำเสนอตัวอย่างให้กับ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมในมหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ 2  ซึ่งเป็นผู้ที่ลงทะเบียนแจ้งความจำนงในการขอเข้ารับการปรึกษาในงาน   ทั้งนี้จะเป็นการลงทะเบียนแจ้งความจำนงล่วงหน้า ผ่านทางเว็บไซด์ของสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม  (สคส.)     ภายในงานมหกรรมได้มีการแบ่งคลินิกออกเป็น  3  คลินิกที่มีประเด็นเนื้อหาต่างกัน คือ คลินิก KM Thesis  คลินิก Weblog  และคลินิก Faci Service 

        โดยในคลินิก KM Thesis  จะมีเนื้อหาแนวทางการให้คำปรึกษา แนะนำข้อมูล   สำหรับผู้เข้าร่วมคลินิกซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในระดับ ปริญญาโท-เอก  และมีความสนใจหรือกำลังอยู่ระหว่างการทำวิทยานิพนธ์ด้านการจัดการความรู้    ส่วนคลินิก Weblog  เป็นการให้คำปรึกษา  แนะนำ  เทคนิคและวิธีการสมัครใช้งาน    รวมทั้งตัวอย่าง Weblog   เสนอแก่ผู้เข้าร่วมคลินิก  และคลินิก Faci Service   จะเป็นการให้คำปรึกษาด้านเทคนิค  ข้อแนะนำแก่ผู้เข้าร่วมคลินิกที่มีความสนใจหรือทำหน้าที่เป็น “คุณอำนวย” (facilitator)    เพื่อการฝึกฝนเทคนิค  ความรู้ต่างๆในการเป็น “คุณอำนวย” ที่มีความชำนาญมากขึ้น


         คลินิกให้คำปรึกษาทั้ง 3 ประเด็นเนื้อหานี้  จะเปิดให้บริการแก่ผู้สนใจที่แสดงความจำนงไว้ล่วงหน้า  จำนวน  3  รอบ  รอบละ  45  นาที  คือ   รอบที่ 1  วันที่  1  ธันวาคม  2548   ระหว่างเวลา  10.00-10.45 น.    รอบที่ 2 วันที่ 2 ธันวาคม  2548  ระหว่างเวลา  15.30-16.15 น.    และรอบพิเศษ  วันที่  2  ธันวาคม  2548  ระหว่างเวลา 08.00-08.45 น.  โดยแต่ละประเด็นคลินิกจะให้คำปรึกษาแก่ผู้สนใจที่แสดงความจำนงไว้ล่วงหน้า    จำนวนรอบละ 30 คนต่อคลินิก  ซึ่งจากการให้แสดงความจำนงล่วงหน้า  มีผู้สนใจเข้าร่วมจำนวนรวมทั้งสิ้น  270  คน   เต็มตามจำนวนที่กำหนดไว้
 

        จากการเปิดคลินิกให้คำปรึกษาในทั้ง 3 ประเด็น  ตลอดระยะเวลาการจัดกิจกรรมมหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติ  ครั้งที่ 2  ทั้ง  3  รอบ   สามารถสรุปตามประเด็นต่างๆได้ดังต่อไปนี้

คลินิก KM Thesis

         คลินิกให้คำปรึกษาในเรื่องวิทยานิพนธ์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการความรู้ แก่ผู้เข้าขอรับคำปรึกษา   ซึ่งมี ทั้งผู้สนใจและผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาโทและเอกเข้าร่วมขอรับคำปรึกษาเป็นจำนวนมาก    จนครบตามจำนวนที่กำหนดในแต่ละรอบ  รายละเอียดในคลินิก KM Thesis สามารถนำเสนอตามหัวข้อต่างๆได้ ดังนี้

วิทยากร
         ดร.ยุวนุช ทินนะลักษณ์ (นักวิชาการอิสระ) ดร.จิรัชฌา วิเชียรปัญญา (นักวิชาการจากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ  มหาวิทยาลัยรังสิต)   และ คุณพร   เดชชัยยัญ  (นักศึกษาปริญญาเอก  โครงการสหวิทยาการ  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

ผู้เข้าร่วม
         ผู้เข้าร่วมขอรับคำปรึกษาในคลินิก KM Thesis ตลอดระยะเวลาทั้ง  2  วันของงานมหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ 2  ในทั้ง  3  รอบที่จัดขึ้น  จะประกอบไปด้วยผู้สนใจจากหลากหลายอาชีพ  เช่น  พยาบาล  ครู  เจ้าหน้าที่เกษตร  รัฐวิสาหกิจ  เป็นต้น และส่วนใหญ่เป็นผู้ที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาโทและเอกจากสถาบันการศึกษาต่างๆ

วัตถุประสงค์ของ Thesis กับ KM
         การให้คำปรึกษาแก่ผู้ทำวิทยานิพนธ์หรือผู้สนใจ   โดยในคลินิกครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หรือแนวทางอยู่  2  ประการ  ซึ่งชี้แจงแก่ผู้เข้าร่วมคลินิก  คือ
        ประการที่ 1 เป็นเรื่องของการมาปรับความเข้าใจในเรื่อง  KM  และ ในเรื่องของกระบวนการของ KM
        ประการที่ 2 การมาพบปะกัน  และสร้างเป็นเครือข่ายในการทำวิทยานิพนธ์  เช่น ใครทำอะไรที่ไหนอย่างไร    เป็นเครือข่ายของนักศึกษาด้วยกัน    รวมทั้งเครือข่ายของอาจารย์ที่สอนเกี่ยวกับเรื่อง  KM

ประเด็นในการทำวิทยานิพนธ์
         ประเด็นในการทำวิทยานิพนธ์ของผู้เข้าร่วมในในคลินิกนี้ และกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ  ในระดับปริญญาโทและเอกส่วนใหญ่จะเป็นการพัฒนารูปแบบการจัดการความรู้ในองค์กรหรือหน่วยงาน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นองค์กรหรือหน่วยงานในภาครัฐ  เช่น  โรงเรียน  โรงพยาบาล  มหาวิทยาลัย  ส่วนประเด็นอื่นๆ นอกจากนี้ จะเกี่ยวข้องกับกระบวนการเรียนรู้ของชุมชน ความสัมพันธ์ระหว่างการจัดการความรู้กับการปฏิบัติงานในหน้าที่  การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์   ตัวอย่างของประเด็นในการทำวิทยานิพนธ์  เช่น  ในระดับปริญญาเอก: การพัฒนารูปแบบการจัดการความรู้ในการศึกษาขั้นพื้นฐานส่งผลต่อประสิทธิผลต่อโรงเรียนอย่างไร   การพัฒนารูปแบบการจัดการความรู้ในภาครัฐ   การจัดการความรู้ทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำสะแกกรัง ในระดับปริญญาโท: ความสัมพันธ์ระหว่างการจัดการความรู้การสนับสนุนของหอผู้ป่วยกับพยาบาลประจำการในมหาวิทยาลัยของรัฐ   ปัจจัยที่เป็นผลสำเร็จในการนำ KM มาใช้ในองค์กร
         นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่นๆที่มีผู้สนใจในการทำวิทยานิพนธ์ โดยส่วนใหญ่แล้วยังคงเกี่ยวกับการพัฒนา การจัดการความรู้ในองค์กรหรือหน่วยงานอีกเช่นเดียวกัน เช่น การทำ KM ในสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน   การพัฒนา KM ในสำนักงานเกษตรและสหกรณ์ การนำ KM มาใช้ในโรงพยาบาล   การใช้ KM ในการประกันคุณภาพของมหาวิทยาลัย และมีบางส่วนเป็นประเด็นความสนใจที่เกี่ยวข้องกับชุมชน  เช่น KM กับภูมิปัญญาพื้นบ้าน   หลักธรรมในศาสนาพุทธในการจัดการความรู้
         จากประเด็นของการทำวิทยานิพนธ์ดังกล่าวข้างต้นซึ่งรวมถึงประเด็นที่มีผู้สนใจแต่ยังมิได้ดำเนินการ    ได้แสดงให้เห็นถึงจุดเน้นในการใช้การจัดการความรู้ในการพัฒนาบุคลากรหรือองค์กร และมุ่งหวังว่ากระบวนการดังกล่าว  จะนำไปสู่การพัฒนารูปแบบบางประการที่สามารถนำไปทดลองใช้ได้จริงกับบุคลากรขององค์กร

ขอบเขตของเนื้อหาวิทยานิพนธ์
        ขอบเขตของเนื้อหาวิทยานิพนธ์ส่วนใหญ่  จะเกี่ยวข้องกับการทำงานเพื่อนำไปสู่ผลสำเร็จขององค์กร  คือ  เน้นการใช้ความรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ประสิทธิผลขององค์กร เช่น การพัฒนาคุณภาพงาน   การใช้ KM เป็นเครื่องมือสำหรับการทำ QA โดยการใช้ภาวะผู้นำ  นอกจากนี้ขอบเขตของผู้สนใจจะเป็นการนำ KM ไปใช้ในการทำงานภาครัฐ   ได้แก่  โรงพยาบาลและสถานศึกษา  นอกจากนี้ พบว่า มีบางประเด็นที่มอง KM ในเชิงยุทธศาสตร์ด้วย  เช่น  การพัฒนางาน KM ในเชิงงานบูรณาการ  เป็นต้น   
        ส่วนในด้านของขอบเขตเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับชุมชน    จะยังมีไม่มากนักในกลุ่มผู้เข้ารับคำปรึกษาในคลินิก KM Thesis    โดยขอบเขตของเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับชุมชนจะเป็นในเรื่อง Community  of  Practice (CoP)  ในประเด็นต่างๆ  เช่น  ภูมิปัญญาพื้นบ้าน  วัฒนธรรม  ศาสนา

การออกแบบและระเบียบวิธีการวิจัย
        เนื่องจากข้อจำกัดในด้านเวลาของการให้คำปรึกษาและจำนวนผู้เข้าร่วมที่มีจำนวนมาก ทำให้ประเด็น การพูดคุยจะเน้นที่ประเด็นการตั้งโจทย์ปัญหาการวิจัยเป็นส่วนใหญ่    ทั้งนี้มิได้มีการกล่าวถึงอย่างเด่นชัดในด้านการออกแบบและระเบียบวิธีวิจัยที่ใช้ในการทำวิทยานิพนธ์ของผู้เข้าร่วมคลินิก

ผลที่เกิดขึ้นในคลินิก KM Thesis
        บรรยากาศของการเข้าร่วมรับคำปรึกษา   จะเป็นลักษณะการประชุมโต๊ะกลม โดยมีวิทยากรเป็นผู้ให้คำปรึกษาและนำกระบวนในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้เข้าร่วมคลินิกทั้งหมด  ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ต่างก็มีประเด็นความสนใจที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เนื่องจากเป็นกลุ่มจำเพาะเจาะจงที่มีความสนใจในการทำวิทยานิพนธ์ ในเรื่อง KM อยู่แล้ว จึงมีความสนใจในการขอเข้ารับการปรึกษาเป็นจำนวนมาก  แต่ช่วงเวลาของการเข้าร่วมคลินิกจะมีเพียงรอบละ  45  นาที  ทำให้การร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้รับการปรึกษาในคลินิก   มิอาจลงได้ลึกถึงรายละเอียดในแต่ละประเด็นหัวข้อของวิทยานิพนธ์  อีกทั้งประเด็นคำถามก็ยังไม่เฉพาะเจาะจงอีกด้วย  ผลที่เกิดขึ้น จึงเป็นการจุดประการและสร้างช่องทางรวมทั้งเครือข่ายระหว่างผู้มีความสนใจในวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับ KM ด้วยกัน  เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันต่อไป

ข้อเสนอแนะจากคลินิก KM Thesis
        ข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมรับคำปรึกษาจากคลินิก KM Thesis  ซึ่งจัดขึ้นระหว่างงานมหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ 2 ส่วนใหญ่เป็นข้อเสนอแนะในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ KM     การส่งเสริมให้มีการขยายผลในการทำ KM ของกลุ่มอาจารย์ไปสู่กลุ่มนักศึกษา    รวมทั้งการขยายสู่ชุมชนในท้องถิ่นต่างๆ และในส่วนของผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาโทและเอก ที่มีความสนใจในการทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับ KM   ควรมีการศึกษาในหลายๆบริบท  เพื่อนำมาเปรียบเทียบผลที่ได้ก่อนทำการวิเคราะห์ต่อไป
 นอกจากนี้มีผู้เสนอถึงช่องทางการค้นหาข้อมูลสำหรับการศึกษาในเรื่อง KM    โดยสามารถหาได้จากเว็บไซท์ Eric, Wilson และ Emerald


คลินิก Weblog

        การให้คำปรึกษาสำหรับคลินิก Weblog เป็นการให้คำปรึกษา แนะนำเทคนิคและวิธีการสมัครใช้งาน    รวมทั้งตัวอย่าง Weblog  ซึ่งจากการเปิดให้คำปรึกษาทั้ง 3 รอบในการจัดงานมหกรรมการจัดการความรู้  ครั้งที่ 2  มีรายละเอียดสามารถนำเสนอได้ดังต่อไปนี้

วิทยากร
 ดร.ธวัชชัย  ปิยะวัฒน์  (นักวิชาการจากคณะวิทยาการจัดการ  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์)   และคณะ


ผู้เข้าร่วม
        ผู้เข้าร่วมขอรับคำปรึกษาในคลินิก Weblog   เป็นผู้ที่ลงทะเบียนล่วงหน้าในการขอเข้ารับคำปรึกษาเป็นส่วนใหญ่ มีเพียงส่วนน้อยที่เป็นผู้สนใจแต่มิได้แจ้งความจำนงล่วงหน้า โดยเป็นผู้เข้ามาร่วมงานมหกรรมและผ่านคลินิกนี้ ทั้งนี้เนื่องจากคลินิก Weblog เป็นคลินิกที่อยู่นอกห้อง จึงเป็นที่สนใจของผู้ที่ผ่านไปมาด้วย    ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่ไม่เคยใช้งาน Weblog ก่อน มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เคยใช้และมีปัญหาข้อติดขัด     และในกลุ่มนี้ค่อนข้างจะมีความเข้าใจดีในเรื่องเทคนิคทางคอมพิวเตอร์

วัตถุประสงค์ของการนำ Weblog ไปใช้ในกระบวนการ KM
        Weblog เป็นเครื่องมือที่มีลักษณะเหมือนสมุดบันทึกที่บุคคลใช้บันทึก หรือเล่าเรื่องของตนเองเพื่อแบ่งปันและร่วมเรียนรู้กับคนอื่นๆ    เมื่อนำ Weblog มาใช้กับ KM  ก็จะกลายเป็นเครื่องมือในการสร้างความรู้  เผยแพร่ความรู้  แลกเปลี่ยนความรู้  ค้นหาผู้ชำนาญการ  และเป็นเครื่องมือในการแยกแยะประเภทของความรู้และสร้างความสัมพันธ์ของความรู้ ดังนั้น จึงได้จัดให้มีคลินิก Weblog ขึ้น เพื่อให้คำปรึกษาและแนะนำแก่ผู้สนใจ     และเป็นช่องทางขยายแนวทางของ สคส. ต่อไป   

สาระสำคัญในคลินิก Weblog
        สาระสำคัญที่เกิดขึ้นในคลินิก Weblog ในงานมหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ 2 นี้ จะเกี่ยวกับความรู้ในเรื่อง Weblog ประโยชน์ของ Weblog และการสมัครใช้ โดยจะเน้นใน Weblog ของ สคส. คือ GotoKnow.org ที่ดำเนินการเพื่อการจัดการความรู้แบบฝังลึก เน้นการบันทึกในรูปแบบไดอารี่ของแต่ละบุคคล  เพื่อแสดงความคิด ความรู้ ประสบการณ์  เทคนิคการทำงาน  และร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อื่นผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต   สาระสำคัญที่เกิดขึ้นในคลินิกอีกประเด็น คือ  การให้คำปรึกษา ตอบข้อคำถาม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นในเชิงเทคนิค โดยมีสาระเกี่ยวกับปัญหาและข้อสงสัยที่เกิดขึ้นระหว่างการใช้งาน และรายละเอียดในแต่ละเรื่อง เช่น  Planet Matter   Track directory  GotoKnow

ผลที่เกิดขึ้นในคลินิก Weblog
         ผลที่เกิดขึ้นในคลินิก Weblog ทำให้เกิดความรู้  ความเข้าใจ  และสามารถใช้งานได้จริง  ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของผู้เข้ารับคำปรึกษา ถึงแม้ว่าจะไม่เป็นไปตามที่ผู้จัดหรือวิทยากรในคลินิกคาดนัก  ทั้งนี้เนื่องจากผู้เข้าร่วมรับคำปรึกษาส่วนใหญ่ เป็นผู้ที่ไม่เคยผ่านการใช้งาน Weblog มาก่อน วิทยากรจะเป็นผู้แนะนำ   อธิบายถึงวิธีการใช้ Weblog  การสมัครใช้ และตอบคำถามที่เกิดขึ้นระหว่างการอธิบายขั้นตอนต่างๆ   การให้คำปรึกษาจะแบ่งออกเป็น  3  โต๊ะ  มีวิทยากรและคอมพิวเตอร์ประจำในแต่ละโต๊ะ   ผู้เข้าร่วมคลินิกซึ่งเป็นผู้ที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับ Weblog มาก่อน จะเป็นผู้รับฟังการบรรยาย สาธิต ในเรื่องความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับ Weblog  จากวิทยากรใน  2  โต๊ะแรกเป็นส่วนใหญ่   ส่วนที่มีความคุ้นเคยอยู่บ้างจะเป็นผู้ตั้งคำถาม  ขอคำปรึกษาจากวิทยากรในโต๊ะที่ 3  ซึ่งคำอธิบายจะเป็นในเชิงเทคนิคพอสมควร  การใช้เวลาของผู้เข้าร่วมในคลินิกแต่ละคนจะไม่นานนัก มีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไปรับฟังและสอบถามจากวิทยากรคนอื่นๆ ในคลินิก  

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15304เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2006 10:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 10:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท