คุยเฟื่องเรื่อง งานวิจัย


การวิจัยเชิงนโยบาย
วันนี้ขอนำแนวคิดการวิจัยเชิงนโยบายแบบมีส่วนร่วม มาเล่าสู่กันฟังครับ ดังนี้
                นโยบาย (Policy)  บอกให้ทราบถึงทิศทางการเปลี่ยนแปลงขององค์กรหรือของสังคม  โดยมีองค์ประกอบสำคัญ  2 ส่วน  คือ วัถตุประสงค์ของนโยบาย  (Policy objective)  และแนวทางของนโยบาย (Policy means) ในการกำหนดนโยบายนั้นมีข้อเสนอแนะให้คำนึงลักษณะของนโยบายที่ดี  คือ 1) ต้องมีเป้าหมายที่ส่งผลประโยชน์แก่องค์กรและประชาชนส่วนร่วมมากที่ที่สุด  2)  ควรได้มาจากการกลั่นกรองถึงความสำคัญของปัญหาหรือความต้องการ 3) ควรครอบคลุมภารกิจทุกด้าน ในแต่ละด้านมีความสอดคล้องกัน 4)  ควรประกอบด้วย เป้าหมาย แนวทาง และกลวิธที่ดีดำเนินการได้เร็วที่สุดและเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด 5) เนื้อหาของนโยบายจะเป็นหลักในการประเมินความสำเร็จทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ 6)  มีความชัดเจน ถ่ายทอดสู่ผู้ปฏิบัติได้โดยง่าย และมีความเข้าใจตรงกัน
                การกำหนดนโยบายมีหลายรูปแบบแตกต่างกันไป ดังนี้ 1)   รูปแบบผู้นำ  (elite model) คือแบบอำนาจนิยม  2)   รูปแบบกลุ่ม  (group model) คือแบบยึดหลักการมีส่วนร่วม 3)   รูปแบบสถาบัน  (institutional model) คือแบบยึดหลักการเป็นสถาบันทุกคนต้องปฏิบัติตาม  4)   รูปแบบค่อยเป็นค่อยไป  (incremental model) คือแบบยึดแนวคิดความต่อเนื่องจากอดีต สู่ปัจจุบัน และอนาคต  5)   รูปแบบระบบ  (system model) คือ ยึดถือแนวคิดว่านโยบายเป็นปัจจุบันป้อนออก(out put) ที่เกิดจากปัจจัยป้อนเข้า(input) 6)   รูปแบบกระบวนการ  (process model)   คือการกำหนดนโยบายเป็นกิจกรรมที่มีขั้นมีตอน7)   รูปแบบมีเหตุมีผล  (rational model) คือ การกำหนดนโยบายที่คำนึงถึงผลตอบแทน(gain)ที่จะได้รับมากกว่าค่าใช้จ่าย(cost) และการกำหนดนโยบายในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เกี่ยวข้องกับรูปแบบการตัดสินใจของผู้กำหนดนโยบายด้วย  ซึ่งจำแนกออกเป็นสองลักษณะ คือ 1)  การตัดสินใจแบบมีเหตุผล (ration decision making)  และ 2)  การตัดสินใจแบบไม่มีเหตุผล  (non-ration decision making)
                Majchrzak (1984)  กล่าวว่า  การวิจัยเชิงนโยบาย (policy research)  เป็นกระบวนการศึกษาปัญหาพื้นฐานทางสังคม เพื่อให้ได้ข้อเสนอที่เน้นการปฏิบัติที่เป็นไปได้ (possible action oriented recommendations)  สำหรับ  ผู้กำหนดนโยบายใช้ประกอบการตัดสินใจในการแก้ปัญหานั้น ๆ หรือ กล่าวอีกนัยหนึ่ง การวิจัยเชิงนโยบายจะมุงศึกษาปัญหาของสังคม ซึ่งสามารถกระทำได้ด้วยระเบียบวิธีวิจัยที่หลากหลาย อาจเป็นการวิจัยพื้นฐาน (basic research)  การวิจัยประยุกต์ ( applied research )  หรือ การวิจัยผสม (mixed  research )  การวิจัยเชิงนโยบายอาจจะผันแปรไปตามประเด็นต่างๆดังนี้ 1)  แหล่งเงินทุนที่เป็นผู้ใช้ประโยชน์หรือไม่ใช้ประโยชน์ จาการวิจัย 2) จุดเน้นของการวิจัย  3)  ความเป็นผู้วิจัยภายในหรือภายนอกองค์การ 4)  หลักการทางวิชาการของผู้วิจัย  อย่างไรก็ตามแม้การวิจัยเชิงนโยบายจะผันแปรไปตามประเด็นต่างๆ แต่ก็มีผู้กำหนดลักษณะสำคัญของการวิจัยเชิงนโยบาย  ดังนี้  1)  เป็นพหุมิติ (multidimension) มองปัญหาที่ศึกษาหลายแง่มุม 2)  เฉพาะกรณีและเชิงประจักษ์ (empirico – inductive approach)  ในลักษณะเป็นทฤษฎีฐานราก (grounded theory)  3)  ให้ความสำคัญทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ไม่กำหนดกรอบตัวแปรไว้ตายตัว 4)  ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ผลงานวิจัยหรือแหล่งทุนสนับสนุน  และ 5) แสดงค่าค่านิยม (หรือแนวคิด) ให้เห็นชัดเจนในนิยามของปัญหา   ปัญหาการวิจัย การพัฒนาข้อเสนอแนะจากผลการวิจัยและการเผยแพร่ผลการวิจัย
                Majchrzak  ได้เสนอขั้นตอนการวิจัยเชิงนโยบาย 5 ข้นตอน  คือ 1)การเตรียมการ (preparation)  เป็นการศึกษาสภาพในอดีตและปัจจุบันของบริบทนโยบายในปัญหาที่ศึกษา เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการที่จะกำหนดทิศทางการวิจัย ให้ได้ผลการวิจัยที่เป็นประโยชน์  โดยทั่วไปจะให้ความสำคัญในประเด็น  บริบทการกำหนดนโยบาย นิยาม ข้อตกลงเบื้องต้น ประเภทของข้อเสนอแนะ  และ ทรัพยากรที่ต้องการและจำเป็นสำหรับการวิจัย เป็นต้น 2) ขั้นกำหนดกรอบแนวคิด (conceptualizing)  เป็นขั้นตอนดำเนินงานในกิจกรรม สามกิจกรรม คือ การพัฒนาตัวแบบเบื้องต้นของปัญหาที่ศึกษา (developing a preliminary model of the social) คำถามการวิจัย (formulating specific research question)  และ การเลือกผู้ดำเนินการวิจัย  (selecting research investigators)  3) ขั้นการวิเคราะห์เชิงเทคนิค (technical analysis)  เป็นการตรวจสอบถึงปัจจัยที่อาจเป็นสาเหตุของปัญหา 4) ขั้นวิเคราะห์ข้อเสนอแนะ ( analysis of recommendation)  เป็นการวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้เสีย การวิเคราะห์องค์กร และการคาดคะเนผลกระทบที่จะเกิดขึ้น  การคาดคะเนโอกาสในการปฏิบัติและการเตรียมให้ข้อเสนอแนะสุดท้าย 5)  ขั้นการสื่อสารผลการวิจัยต่อผู้ตัดสินใจนโยบาย ( communicating policy research to policymakers) เพื่อให้มั่นใจว่าผลการงานวิจัยนั้นได้รับการพิจารณาและมีโอกาสที่จะนำไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งควรเป็นการสื่อสารแบบสองทาง (two-way communication)
                การวิจัยเชิงนโยบาย ประกอบด้วย 5  บท เหมือนการวิจัยประเภทอื่นๆทั่วไป คือ บทที่ 1 บทนำ เป็นการศึกษาวิเคราะห์ความเป็นมาของปัญหา การกำหนดขอบเขตการวิจัย การนิยามศัพท์เชิงปฏิบัติ และการการกำหนดผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจาการวิจัย  บทที่ 2 การศึกษาวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง (related literature)  บทที่ 3  วิธีการดำเนินการวิจัย จำแนกเป็นสองขั้นตอน คือ ขั้นตอนการกำหนดข้อเสนอเชิงนโยบาย และขั้นตอนการคาดคะเนโอกาสในการปฏิบัติของข้อเสนอเชิงนโยบาย โดยขั้นตอนแรกควรออกแบบเป็นวิธีวิจัยแบบผสม (mixed methodology) เพื่อให้ได้ข้อมูลที่หลากหลายตามหลักการตรวจสอบสามเส้า(triangulation) สำหรับขั้นตอนที่สองเป็นขั้นตอนการคาดคะเนโอกาสในการปฏิบัติของข้อเสนอเชิงนโยบายทั้งในแง่การยอมรับ(acceptable) และความเป็นไปได้ (feasible)   บทที่ 4 แสดงผลการวิเคราะห์ข้อมูล บทที่ 5 สรุปอภิปรายผลและข้อเสนอแนะจากจากผลการวิจัย  เป็นการสรุปผลสุดท้ายของข้อเสนอเชิงนโยบาย การอภิปรายผลโดยเทียบเคียงกับทฤษฎี นโยบายแผน  และผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
หมายเลขบันทึก: 152769เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2007 11:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท