สนุกกับภาษาไทย – ภาษาอัชฌาไศรย ๓๖. ชายคาภาษาไทย (๑๕)


ช่อฟ้า

         ผู้เขียนและท่านผู้อ่านคงรู้จักคำว่า “ช่อฟ้า” กันดี เมื่อเวลาไปวัด ช่อฟ้าใบระกาทำให้โบสถ์วิหารดูงามนัก แต่คำนี้มีที่มาอย่างไรนับว่า น่าสนใจไม่น้อย ผู้เขียนจะไม่คิดติดใจอะไรเลย ถ้าไม่ไปถามนักประวัติศาสตร์ศิลปะเข้า แล้วท่านหนึ่งบอกว่า ช่อ มาจาก ฉ้อ หรือ ฉะ หมายถึง ฟันฉะขึ้นไปบนฟ้า อีกท่านหนึ่งบอกว่า ช่อ เขียนผิดมาจาก ฉ้อ ต่างหาก ย่อมาจาก ฉกามาพจร คือ สวรรค์ทั้ง 6 ชั้น ผู้เขียนเป็นนักประวัติศาสตร์ที่ครูอาจารย์สอนมาไม่ให้เชื่อใคร จึงต้องสอบสวนหาความรู้เองบ้าง สัญชาติญาณบอกว่าให้พลิกดูความตอนสร้างกรุงรัตนโกสินทร์จากคัมภีร์สังคีติยวงศ์ ซึ่งพระพิมลธรรม (ต่อมาเป็นสมเด็จพระวันรัตน์ วัดพระเชตุพน) รจนาไว้เป็นภาษาบาลี เมื่อสร้างกรุงเทพฯ ต้องสร้างวัดวาอาราม ปราสาทราชวัง อย่างไรเสียก็ต้องมีคำว่า ช่อฟ้า บ้าง ตรงคำภาษาไทยว่า ช่อฟ้า นั้นพบว่าพระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษณ์) แปลจากคำเดิมภาษาบาลีว่า  กณฺณิกา เขียนอย่างสันสกฤตว่า กรฺณิกา หนังสือพระบาฬีลิปก๎รม ให้คำแปลว่า ช่อฟ้า ยอด ปทานุกรมบาลี ไทย อังกฤษ สันสกฤต ให้คำแปลว่า ช่อดอกไม้ เพิ่มเข้าไปด้วย ส่วนคำแปลภาษาอังกฤษให้ไว้ว่า “a pinnacle, a sheaf in the form of a pinnacle” (ยอดแหลมที่พุ่งขึ้นไป, ช่อที่ทำเป็นยอดแหลมพุ่งขึ้นไป) ก็เท่านั้นเอง การให้ความหมายขยายแก่ศัพท์กลายเป็นเรื่องปกติของผู้รู้ ต่างคนต่างคิด แล้วก็จะบังคับให้คนอื่นเชื่อ ทางที่ดีต้องเชื่อตนเอง เขียนมาถึงตรงนี้ ผู้เขียนก็ยังเปิดใจกว้างที่จะยอมรับว่า ไทยรับคำนี้มาจากภาษาเขมร คือ ชหฺวา อ่านว่า เจียะเวีย หรือ จัวเวีย การรับคำนี้ก็เหมือนกับการรับคำเขมรโบราณอื่นๆ เราไม่รับการออกเสียงแบบเขมร เพราะไม่คุ้นปากหรือออกเสียงยาก เราจึงรับรูปเขียนมาแล้วอ่านออกเสียงแบบไทยหรือให้ถูกลิ้นไทย ตัวอย่างมีอยู่มาก หาอ่านที่อื่นได้ทั่วไป ผู้เขียนไม่ต้องยกมาแสดงให้เปลืองหน้ากระดาษอีก
 

 

หมายเลขบันทึก: 152754เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2007 10:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท