วันนี้ได้ไปร่วมงานสัมมนาเชิงปฎิบัติการเรื่อง "ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการพัฒนางาน" ที่ภาควิชาพยาธิฯของเราจัดขึ้น ดังที่ท่าน CKO ของเราผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงกล่าวถึงในบันทึกก่อนหน้านี้ โดยมีทีมงานคณะกรรมการหลากหลายท่านที่ทำให้ภาควิชาของเรามีบรรยากาศอันอบอุ่น เป็นกันเอง เอื้อต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง ต้องขอชื่นชมในผลงานจริงๆและคงมีบันทึกจะพูดถึงอีกต่างหากต่อไป แต่บันทึกนี้อยากจะพูดถึงสิ่งที่ตัวเองคิดขึ้นมาขณะที่ฟังท่านอาจารย์วิจารณ์ พานิช บรรยายในงานนี้ ไม่ใช่การเล่าว่าท่านพูดอะไรบ้าง คิดว่าใครที่ไม่ได้ไปก็คงจะติดต่อขอดูการบรรยายครั้งนี้ซึ่งได้รับการบันทึกไว้เรียบร้อย ท่านอาจารย์บอกว่าให้ไว้แลกกับ VCD เรื่อง Patho Otop1 ที่ทางภาควิชาฯจัดทำ สำหรับ VCD เรื่องนี้ก็อยากให้ทุกท่านได้ดูจัง ตัวเองชอบมาก คิดว่าเป็นชิ้นงานที่ทุกคนในภาคควรได้รับชมค่ะ
ท่านอาจารย์เล่าว่าท่านเองเคยใช้ KM ภายในหน่วยงานของพยาธิฯมาตั้งแต่สมัยท่านทำงานอยู่โดยที่ท่านก็ไม่ทราบมาก่อนว่านั่นคือกระบวนการ KM อันนี้ทำให้นึกถึงที่คุณหมอพิเชฐก็เล่าในทำนองเดียวกันว่า ทำงานพัฒนาโรงพยาบาลบ้านตากมาได้เป็นอย่างดี ก็โดยใช้กระบวนการ KM มาโดยไม่ได้ทราบมาก่อนว่าสิ่งที่ทำอยู่คือ KM ท่านอาจารย์วิจารณ์เล่าว่าท่านใช้ KM อยู่ตลอดเวลาในการทำงานที่ สคส.ในปัจจุบัน จุดที่ทำให้อยากพูดถึงตรงนี้ก็คือ คนที่จะทำให้การพัฒนางานเกิดขึ้นนั้นคือคนหน้างานก็จริง แต่บทบาทที่จะทำให้งานขับเคลื่อนได้ดีจากการใช้ KM นั้นต้องเริ่มจากผู้นำ ตัวเองเป็นคนหน้างานที่อยู่ในระดับกลางๆคือไม่เล็กจนไม่มีใครฟัง แต่ก็ไม่ได้มีสิทธิมีเสียงดังพอจะผลักดันอะไรให้เกิดขึ้นได้ในระดับเป็นเรื่องเป็นราวมาเป็นเวลานาน คิดว่าพวกเราในห้อง lab Chem (เชื่อว่าหน่วยอื่นๆก็เช่นกัน) ได้ใช้หลัก KM ในการทำงานมานานแล้วเหมือนกัน เพราะเราจะคิดดัดแปลงปรับเปลี่ยนระบบการทำงานโดยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (ลปรร)ของคนทำงานทุกระดับในหน่วย ให้ได้งานที่ดีขึ้นเร็วขึ้น สะดวกขึ้นกันมาตลอด เพียงแต่ไม่มีใครมาชี้ว่านี่คือ KM และผลที่เกิดขึ้นก็เป็นเพียงความพอใจว่างานเราดีขึ้น และเรายังใช้กระบวนการ KM ไม่ครบสูตร คือขาดการบันทึก จึงทำให้การพัฒนาของเราอยู่ในวงแคบๆ ณ เวลานี้เรามีผู้นำที่เห็นความสำคัญที่จะผลักดันให้ใช้กระบวนการ KM เป็นไปอย่างถูกระบบครบวงจร ก็อยากขอให้ผู้ที่ใช้หลัก KM อยู่แล้วโดยไม่รู้ตัวได้ตื่นตัวช่วยกันทำให้ครบวงจร ฝึกการบันทึก ตามที่ท่านอาจารย์วิจารณ์ได้แนะนำด้วยเหมือนกันว่า เป็นวิธีที่เราต้องเรียนรู้ด้วยการลงมือเหมือนกัน และยิ่งทำก็จะยิ่งดีขึ้น ดังที่เราจะเห็นตัวอย่างจากหลายๆท่านในบล็อกของ Gotoknow นี้ อันนี้ก้ต้อง ซตพ.กันเอาเองนะคะ (จำกันได้ไหมเอ่ยว่าคำนี้ย่อมาจากอะไร แต่ที่แน่ๆคือไม่ใช่ของท่านอาจารย์วิจารณ์และชาวสคส.ค่ะ)
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย โอ๋-อโณ ใน เรื่องเล่าและเรื่องคุยจาก Lab Chem
คำสำคัญ (Tags)#การจัดการความรู้#พัฒนางาน#แลกเปลี่ยนเรียนรู้#ภาควิชาพยาธิวิทยา#การบันทึก
หมายเลขบันทึก: 15212, เขียน: 12 Feb 2006 @ 01:54 (), แก้ไข: 14 May 2012 @ 15:46 (), สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการ, ดอกไม้: 1, ความเห็น: 5, อ่าน: คลิก