KM กับโครงการผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยฯ


ต้องจัดการความรู้สึกก่อน มีความเชื่อมั่นว่าเกษตรอินทรีย์ว่าสามารถทำการผลิตได้ ดี และมีประโยชน์

          ผมได้เข้าร่วมการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ "การจัดการความรู้โครงการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยและได้มาตรฐานประจำปีงบประมาณ 2549"  ระหว่างวันที่  7- 8 กุมภาพันธ์ 2549 ณ ห้องประชุมชั้น 5 กรมส่งเสริมการเกษตร (ลิงค์) ในฐานะจังหวัดนำร่อง 9 จังหวัดของปี 2548
          ในภาคเช้าของวันที่ 7 กุมภาพันธ์  อาจารย์ ดร.ประพนธ์  ผาสุขยืด ได้มาเพิ่มเติมและทบทวนถึง "แก่นของการจัดการความรู้" ให้กับจังหวัดนำร่องเดิม และจังหวัดใหม่ที่จะนำ KM ไปเป็นเครื่องมือในการทำงานในปี 49

          ดร.ประพนธ์  ได้พูดถึงแก่นของ KM อย่างชัดเจนและง่ายต่อการเข้าใจ คนที่จะทำ KM ใหม่ก็คงเข้าใจได้ในระดับหนึ่ง ส่วนที่ได้ปฏิบัติมาบ้างแล้วอย่างพวกผม ก็ทำให้เชื่อมโยงกับสิ่งที่ได้เรียนรู้มาแล้วเป็นอย่างดี  ผมก็อาศัยการ "ฟัง" ซึ่งเป็นสิ่งแรกที่อาจารย์แนะว่า นัก KM ต้องฝึกและมีทักษะ  ปัญหาที่ทำ KM ที่ผ่านมา เน้นที่การเล่า "คนเล่า" แต่สรุปแล้วกลับพบว่า ที่ไม่สำเร็จกลับอยู่ที่ "คนรับ" ฟังแต่ไม่รับ

          ผมบันทึก และสรุปประเด็นที่สำคัญๆ ที่อาจารย์ได้ชี้แนะให้กับนักส่งเสริมการเกษตรในการนำการจัดการความรู้ไปปรับใช้ในการผลิตพืชปลอดภัย ดังนี้ครับ

  • ต้องจัดการความรู้สึกก่อน มีความเชื่อมั่นว่าเกษตรอินทรีย์ว่าสามารถทำการผลิตได้ ดี และมีประโยชน์
  • KM เริ่มจากวิธีคิดก่อนต้องเปลี่ยนวิธีคิด
  • KM ต้องให้กลมกลืน/เนียนอยู่ในงาน
  • ให้ความสำคัญกับความรู้ที่ฝังลึก แลกเปลี่ยน ปรับใช้ ยกระดับหมุนเกลียวไม่สิ้นสุด
  • ต้องมองไปที่งาน ว่าจะนำการจัดการความรู้มาใช้ในงานอย่างไร ไม่มีรูปแบบที่ตายตัว ทำ KM แบบธรรมชาติไม่เป็นกลไก
  • ต้องใช้ความรู้ในการทำงาน ซึ่งการจัดการความรู้ของกรมฯ มีความรู้หลายระดับ มีทั้งการ ลปรร.ระหว่างนักส่งเสริม/และเกษตรกรกับเกษตรกร
  • เริ่มต้นที่การฟังที่ดี  พบว่าปัญหาอยู่ที่คนรับ ไม่ใช่คนเล่า
  • เน้นการเล่าความสำเร็จ/ไม่ใช่ปัญหา
  • หน่วยงานมักเน้นไปที่เทคโนโลยี,ไอซีที แต่ควรเน้นที่คนและกระบวนการ
  • การจัดทำคลังความรู้ ให้ระวังความรู้ที่หมดอายุ คือความรู้ที่ใช้ไม่ได้แล้ว
  • ฯลฯ

         ยังมีรายละเอียดอีกมาก แต่ผมนำประเด็นหลักๆ ที่สำคัญๆ มาเล่าในบันทึกนี้ และในตอนท้ายๆ อาจารย์ยังได้ให้ข้อคิดว่า การฟังในวันนี้จะได้ผลก็ต่อเมื่อเรารู้ว่า เราจะต้องกลับไปทำอะไร และทำอย่างไร ซึ่งความคิดนี้จะเกิดขึ้นเองที่เรียกว่า "ปิ้งแว้ป" แต่การฟังก็อย่าเชื่อ/ไม่เชื่อ  ไม่ควรยึดติดคือให้ "หลุด"

          ผมก็ปิ้งเหมือนกัน โดยเกิดความคิดผุดขึ้นมาในหลายๆ ประเด็น ยิ่งฟังก็ยิ่งคิดได้ในสิ่งใหม่ๆ และเห็นภาพของ KM ในแง่มุมต่างๆ ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ต้องขอขอบพระคุณ อาจารย์ ดร.ประพนธ์ และทีมงานส่วนกลางที่ได้จัดสัมมนาในครั้งนี้เป็นอย่างยิ่งครับ

(ลิงค์ภาคบ่าย)

วีรยุทธ  สมป่าสัก 7/02/49

หมายเลขบันทึก: 15214เขียนเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2006 00:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2012 12:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท