สนุกกับภาษาไทย – ภาษาอัชฌาไศรย ๓๕. ชายคาภาษาไทย (๑๔)


จุลาจล

         ในปัจจุบันเรารู้จักคำว่า “จลาจล” ดี จากสถานการณ์ความแตกแยกทางการเมืองเมื่อเร็วๆ นี้ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้ความหมายว่า “ความวุ่นวายในบ้านเมือง, ความปั่นป่วนในบ้านเมือง” และว่ามาจากคำบาลี-สันสกฤตว่า จล + อจล (ไม่เคลื่อนไหว + เคลื่อนไหว) ฟังดูแล้วประหลาดดี แต่การเลือกใช้คำของคนไทยนี้ไม่ต้องตั้งข้อกังขากัน เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้ ผู้เขียนเพียงแต่แปลกใจยิ่งนักที่นักปราชญ์ราชบัณฑิตของไทยไม่ยักเก็บคำต้นแบบอีกคำหนึ่ง คือ “จุลาจล” ไว้ คำนี้เป็นที่รู้จักและอยู่ในกระแสภาษาไทยอย่างน้อยจนถึงรัชกาลที่ 4 และที่ 5 เช่น เจมส์ แคสเวล ได้ใช้คำนี้อยู่ในการอธิบายคำว่า “เกีดจุลาจล” ว่าหมายถึง “นั้นคือสิ่งที่กำเริบแลหวั่นไหวแลสะเทือน บังเกีดนั้นจึ่งเรียกว่าเกีดจุลาจล” เมื่อย้อนกลับไปดูเอกสารประวัติศาสตร์เก่าๆ เช่น กฎหมายตราสามดวง ไม่พบว่าใช้คำว่า จลาจล ด้วยซ้ำไป ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ปรากฏว่าใช้คำนี้ในบางแห่ง แต่ก็อาจเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงด้วยความไม่รู้ในสมัยหลัง คำหลักที่ใช้คือ จุลาจล โดยเฉพาะในพระไอยการลักษณอาชญาหลวง ซึ่งว่าด้วยเรื่องความผิดและโทษของการก่อความวุ่นวาย เช่น
     [1] 69 มาตราหนึ่ง ผู้ใดฉ้อบังอะวิญาณกะทรัพยแลสวิญาณกะทรัพยของพระเจ้าอยู่หัวก็ดี กระทำทุจริตผิดในพระราชอาชา แลให้จุลาจลในแผ่นดินท่านก็ดี
     [2] มาตราหนึ่ง ถ้าเหนผู้ใดจะทำร้ายในแผ่นดินท่าน จให้เกีดจุลาจลจงได้ ท่านให้เอามาว่ากล่าวร่ำเรียนพิดทูลแต่ในวันหนึ่งสองวัน ครั้นช้านานไปต่อมีคดีของตนๆ จึ่งเอาควรแผ่นดินมาว่ากล่าว ท่านว่าอย่าให้รับไว้บังคับบัญชาพิจารณาเลย ถ้าผู้ใดขืนรับไว้บังคับบัญชาแลหมีฟังพระราชบัญญัตินี้ท่านให้ลงโทษโดยยศถาศักดิ์
     ส่วนในพระไอยการลักษณะกระบดศึก ก็มีใช้เพียงคำนี้คำเดียว ไม่ใช้จลาจล เช่น
     [3] พระพุทธิเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระเดชคุณานุภาพปกแผ่ไปเปนอันมาก แก่หมู่วิมลมุขมาตยานราราชคามนิคมเขต ประเทษอวสาณะอาณาจักร เปนหลักแก้วก่อกิจศุข ทั่วทุกทวยราษฎรบริสา อุประมามหาจักรวาฬพิสาลศีขเรศ กันประเทษธรณีมิให้มีจุลาจล วิกลลายไหลเลื่อนลงสู่มหาสมุทได้ สรรพสัตวอาไศรยเปนศุขทุกทิวาราตรีกาล
     [4] 9 มาตราหนึ่ง เมืองปากใต้เมืองฝ่ายเหนือซึ่งขึ้นแก่กรุงเทพมหา- นครให้มาอ่อนน้อมนำดอกไม้ทองเงิน เครื่องราชบรรณาการมาถวายตามราชประเพณีแต่ก่อน ถ้าเมืองใดมิได้กระทำตามประเพณี แขงบ้านเมืองไว้ให้เปนจุลาจลในแผ่นดินท่านไซ้ท่านว่าโทษถึงตาย

         ผู้เขียนยกตัวอย่างมาเพียง 4 ตัวอย่างก็เป็นการเพียงพอแล้วสำหรับแสดงว่า คนไทยสมัยโบราณมีความละเอียดอ่อนในเรื่องการเลือกใช้ภาษาที่ มีภาพพจน์ ให้ทั้งความหมายที่ถูกต้องและต้องความรู้สึก จุลาจล มาจาก จุล ซึ่งแปลว่า “แตกเป็นผุยผง ชิ้นเล็กชิ้นน้อย” กับ อาจล (ไม่ใช่ อจล) แปลว่า “ไม่นิ่ง, ไม่สงบ” คำนี้จึงเป็นคำที่สวยทั้งรูปงามทั้งความหมาย


         เพราะฉะนั้น ราชบัณฑิตยสถานอย่าแก่วัดสร้างคำใหม่ เอามรดกคำไทยกลับคืนมาด้วย
 

 

 

หมายเลขบันทึก: 151943เขียนเมื่อ 7 ธันวาคม 2007 07:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เมื่อก่อนผมก็สงสัยเหมือนกันครับ  ที่ราชบัณฑิต แจกออกเป็น  จล+ อจล  ผมมาลองคิดดู บวกกับลบ ก็เท่ากับศูนย์  ซึ่งก็ดูประหลาดอย่างที่อาจารย์ว่า

 ผมก็เลยมาคิดคิดว่า  น่าจะเป็น  จล+จล  กลายเป็นจลาจล  คือ  ไหว+ไหว  กลายเป็นไหวสองเท่า คือดับเบิ้ลไหว

ที่นี้เทียบเคียงกับ  จราจร  ในพจนานุกรมไม่แจกคำเอาไว้  ผมก็เลยคิดว่าน่าจะทำนองเดียวกัน  คือ จร+จร  เท่ากับ  ไปไป  ไม่รู้ข้อสันนิษฐานของผมจะถูกหรือเปล่าในข้อนี้

 แต่จุลาจล ก็ทำให้เห็นภาพชัดมากว่า  ไม่สงบจนแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย

 

ด้วยความเคารพ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท