สวัสดิการชุมชนสำหรับ "คนต่างด้าว" เป็นไปได้ไหม??


ในสถานการณ์ที่พวกเขาอาจถูกจับกุม และผลักดันออกนอกประเทศได้ทุกขณะเช่นนี้ การจัดสวัสดิการชุมชนจะเป็นอย่างไร??

เมื่อ ๒ วันก่อนดูข่าวสกู๊ปพิเศษก่อนช่วงเลือกตั้ง มีข่าวหนึ่งไม่ใช่ก็ใกล้เคียง ชวนให้เกิดคำถามตามมากับงานกองทุนการเงินชุมชนที่กำลังเริ่มหลายคำถาม

"ตำรวจนำกำลังขึ้นไปปิดล้อมหมู่บ้านบนดอยวาวี ๓ หมู่บ้าน เพื่อกวาดล้างคนต่างด้าวผิดกฎหมาย" โดยมีข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า "เนื่องจากในพื้นที่นี้มีชาวไทยภูเขาที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง..หลักหมื่น (จำจำนวนที่ข่าวเสนอไม่ได้) จึงเป็นพื้นที่ที่มีคะแนนเสียงชี้ขาดในการเลือกตั้ง สส. หลายครั้งที่ผ่านมา"

ในหมู่บ้านที่อยากจะเลือกเป็นหมู่บ้านนำร่องในการเริ่มต้นงานกองทุนการเงินชุมชน อย่างที่คุยเบื้องต้นกับ อ.ปัทไว้นั้น มีบรรยากาศหลายอย่างคล้ายคลึงกัน แม้จะเป็นหมู่บ้านเล็กๆ กว่ามาก คือเป็นหมู่บ้านที่ชาวบ้านทั้งหมดเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ที่มีประเพณีวัฒนธรรมเฉพาะของตน แม้จะคลายไปมากตามกระแสการพัฒนาสมัยใหม่ก็ตาม

แต่ที่ไม่ต่างกันเลยก็คือมีการปะปนกันของผู้คนที่เข้ามาอาศัยในชุมชนในช่วงเวลาต่างๆ กัน และในแง่การปกครองและความมั่นคง ทางราชการก็ได้มีการสำรวจ จัดทำบัตรประจำตัว และกำหนดสถานภาพตามกฎหมายให้ ดังนั้น ผู้คนชาติพันธุ์เดียวกันในหมู่บ้านแต่ละแห่งนี้ จึงมีสถานภาพตามกฎหมายปะปนกัน

ทั้งคนสัญชาติไทย (มีบัตรประชาชนแล้ว)

คนที่กำลังรอพิสูจน์สัญชาติไทย (ถือบัตรสีของชนกลุ่มน้อยอยู่)

คนที่ยังไม่มีโอกาสได้สัญชาติไทยตามกฎหมายในชั่วอายุของตน (ต้องรอรุ่นลูก) แต่ตนเองสามารถอยู่ในประเทศไทยได้อย่างถาวรหรือได้รับการผ่อนผันชั่วคราว (คงหมายถึงตลอดชีวิตเช่นกัน)

หรือคนที่เพิ่งเข้ามาอาศัยอยู่กับญาติพี่น้อง โดยที่ยังไม่มีหลักฐานใดๆ คนกลุ่มนี้ แม้ทางราชการกำลังมีนโยบายจะจัดทำบัตรประจำตัวเฉพาะให้ เพื่อให้มีหลักฐานประจำตัวไว้ แต่ในทางปฏิบัติก็ยังเป็นแค่การสำรวจ ยังไม่ได้รับการจัดทำบัตรแต่อย่างใด

คนกลุ่มนี้ นอกจากจะมีคนที่เพิ่งเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยแล้ว ยังมีคนที่อาจเพิ่งเข้ามาอาศัยอยู่ในชุมชนนี้ แต่ที่จริงแล้วอยู่ที่อื่นในประเทศไทยมานานแล้ว แต่ไม่เคยได้รับการสำรวจจัดทำบัตร หลายคนมีหลักฐานพิสูจน์การอยู่ประเทศไทยได้ อาทิ หลักฐานการศึกษาของลูก หลักฐานการฝึกอบรมต่างๆ ที่ตำรวจทหารชายแดนอบรมให้ชาวบ้านชายแดนในอดีต หรือหลักฐานการรักษาพยาบาล การฝากครรภ์ของภรรยา แม้กระทั่งหลักฐานการเกิดในประเทศไทยของลูก เป็นต้น

และคนกลุ่มนี้อีกเช่นกัน ที่มีสิทธิถูกตำรวจจับในฐานะคนต่างด้าวที่ไม่มีเอกสารประจำตัวใดๆ เพื่อยืนยันว่าทางราชการอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยได้

คนกลุ่มนี้ ในความเป็นจริงแล้วมีความเป็นอยู่อย่างยากลำบาก เพราะนอกจากจะต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ แล้ว ยังไม่ได้รับสวัสดิการใดๆ จากรัฐเลย

ดังนั้นความคิดที่จะจัดสวัสดิการชุมชนเพื่อช่วยเหลือกันเองในชุมชนสำหรับคนเหล่านี้จึงมีความจำเป็น และสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในชีวิตของพวกเขาได้อย่างมาก

แต่ในสถานการณ์ที่พวกเขาอาจถูกจับกุม และผลักดันออกนอกประเทศได้ทุกขณะเช่นนี้ การจัดสวัสดิการชุมชนจะเป็นอย่างไร??

จะผิดกฎหมายไหม?? แม้ไม่ใช่ให้ที่พักพิง หรือนำพาคนต่างด้าวโดยตรง แต่การให้ความช่วยเหลือลักษณะนี้จะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนคะ??

หรือแม้ช่วงที่เขาเป็นสมาชิกกลุ่มกันอยู่แล้วมีปัญหาจะเป็นอย่างไรต่อคะ??

 

หมายเลขบันทึก: 151705เขียนเมื่อ 6 ธันวาคม 2007 10:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 20:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

แม้ไม่มีปัญหาในการถูกจับกุม แต่ด้วยวิถีชีวิตที่พร้อมจะอพยพเคลื่อนย้ายที่อยู่ เมื่อเกิดปัญหา ก็น่าเป็นคำถามสำหรับการจัดสวัสดิการชุมชนสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ชายแดนแถบนี้ค่ะ

แต่คงไม่ใช่ส่วนใหญ่หรอกค่ะ เพราะปัจจุบันพวกเขาก็เลือกที่จะลงหลักปักฐานกันเป็นส่วนใหญ่แล้ว เพราะความจำกัดของที่ทำกิน ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตกันพอสมควร

รูปแบบการจัดสวัสดิการชุมชนจึงน่าจะช่วยได้มากในช่วงเปลี่ยนผ่านเช่นนี้

เคยทำงานขับเคลื่อนระบบแลกเปลี่ยนชุมชนในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ   ที่นั่น เป็นชุมชนใหม่ อายุประมาณ 20-30 ปี  พื้นที่ยากจน บางปีข้าวไม่พอกิน  ชาวบ้านเคยมีปัญหาเรื่องการตัดไม้   ผู้คนอพยพออกไปหางานทำภายนอก

การเริ่มต้นด้วยการออมทรัพย์จะยากมาก เพราะคนคิดว่าตัวเองไม่มีออม (แม้จะมองว่าเป็นการลดรายจ่าย) แต่ที่สำคัญคือ  ไม่อยู่ติดพื้นที่ที่จะมาออมเงินสม่ำเสมอ  การออมทรัพย์ไม่เกิด

เราเริ่มด้วยการแลกเปลี่ยน แต่ไม่ได้ผลถาวร

จึงต้องตั้งหลักใหม่ ด้วยการหาทางให้เขาอยู่ติดพื้นที่  สร้างบ้านดินแทนบ้านไม้ (ตัดไม้ไม่ได้แล้ว)  และเริ่มการเลี้ยงวัว การทำนารวม  การฝึกทำขนม ทำไม้กวาดขายในชุมชนใกล้ๆ   ผลคือ ชาวบ้านเริ่มอยู่ติดพื้นที่ 

ที่คิดคือ  ตอนนี้จะเริ่มขยับต่อด้วยการออม ...น่าจะพอไหว

การรวมกลุ่มออม  แม้ "ไม่มีกฎหมายรองรับ" แต่ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาเรื่อง "ผิดกฎหมาย"   เพราะเป็นเงินของชาวบ้านเอง  เพียงแต่ว่า ไม่มีใครการันตี หากมีคนยักยอกเงินกลุ่มไป  

จึงต้องใช้การวางกติกาของกลุ่มให้ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน ซื่อสัตย์และควบคุมกันเอง    บางพื้นที่ ใช้การค้ำประกันกันเอง  เช่น นาย ก. จะยืมเงิน  ต้องมีนาย ข.และนาย ค. ค้ำประกัน   ถ้านาย ก. ไม่คืน  นาย ข.และนาย ค. ต้องหามาคืน ค่ะ

 

อ.ปัทคะ

แล้วอย่างพื้นที่นี้ เราจะเริ่มอย่างไรดีคะ ??

ตอบคุณ pilgrim ในบล็อก econ4life เรื่อง "รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนของสถาบันป๋วย" แล้วนะคะ

เริ่มที่สวัสดิการสุขภาพก็น่าจะดีค่ะ   ดูว่ามีหลายเรื่องให้ขยับได้อยู่

จะลองเขียนโครงการดูไหมคะ  2-3 หน้าก็พอค่ะ

ลองเขียนโจทย์ดูนะคะว่า ปัญหาเรื่องสุขภาพของพื้นที่อยู่ตรงไหน    อยากทำอะไร (แนวทางก็พอค่ะ)  

ส่งทางอีเมล์ก็ได้ค่ะ  เดี๋ยวพี่ช่วยดูให้อีกที

 

 

ขอบคุณ อ.ปัท มากค่ะ

ขอเอาคำตอบที่ อ.ปัท ตอบมาใส่ไว้ตรงนี้ด้วย เผื่อจะเป็นประโยชน์กับมวลมิตรที่กำลังตามงานสวัสดิการด้านสุขภาพชุมชนค่ะ

http://gotoknow.org/blog/econ4life/151621?page=1

คนไทยยังยากจนอีกมาก เอาเวลาและงบประมาณมาช่วยคนไทยด้วยกันเองดีกว่านะเราว่า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท