เพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ ตอนที่ 8 "แผ่นดินไม่ไร้ น้ำใจศรัทธา"


เป็นความกรุณาอย่างยิ่งที่ผู้ชมให้ความสนใจ สังเกตแม้กระทั่งว่า ใครไม่มาเล่นเพลงในคืนนั้น วงเพลงพื้นบ้านที่มีเด็ก ๆ เป็นผู้แสดง

 

เพลงอีแซว

สายเลือดสุพรรณฯ

บนถนนสายวัฒนธรรม

ตอนที่ 8 แผ่นดินไม่ไร้ น้ำใจศรัทธา

ชำเลือง  มณีวงษ์  

                จะด้วยสิ่งใดก็แล้วแต่ คำพูดทุกประโยคที่ผมได้รับฟังและถ่ายทอดในบทความ ตอนที่ 7 คนประณามหยามหมิ่น นั้น ถึงแม้ว่าจะเป็นคำเย้ยหยันส่อเสียด หยามหมิ่นน้ำใจกันไปบ้างก็ตาม แต่นั้นก็คือ กระจกส่องให้เห็นตัวเราว่า มีจุดบกพร่องอะไรบ้างที่เราจะต้องปรับแก้ไข ผมถือว่าทุกข้อเสนอแนะเป็นสิ่งที่ดี ไม่ว่าจะออกมาจากใจจริงหรือหยอกเย้า ก็ยังพอรับได้ 

                หากไม่มีผู้ที่จะมาสะท้อนให้เรามองเห็นตนเองบ้าง มนุษย์เราคงหลงผิด เพราะว่าเส้นผมยังบังภูเขาได้ จมูกอยู่ใกล้ยังมองเห็นเพียงไร ๆ ความหนักแน่น อดทนจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ มีสิ่งเร้าทั้งทางบวกและทางลบที่ค่อนข้างหนักมาถ่วงความรู้สึกให้สูงขึ้นดิ่งลง  หากใครมีหัวใจทอง สมองเพชรที่แท้จริงย่อมที่จะผ่านจุดนั้น ๆ ไปได้และมีความยั่งยืนที่ยาวนานใครจะคิดบ้างว่า ความสำเร็จ ทั้งหลาย ที่ทุกท่านได้รับ มีที่มาที่น่าเรียนรู้เป็นประสบการณ์ชีวิตที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง 

         

          ไม่มีการเรียนรู้ใดที่จะดีเท่ากับประสบการณ์ตรง เพราะประสบการณ์ที่ได้รับมาโดยตรง เป็นความทรงจำยากนักที่จะลืมเลือน ผู้ที่อยู่ในปัจฉิมวัย ย่อมมีความคิดไตร่ตรองที่ลึกซึ้งกว่า คนในปฐมวัยเป็นธรรมดา คนเก่า ๆ เขาจึงตักเตือนลูกหลานว่า เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด สอนใจคนรุ่นหลังให้ได้ยั้งคิดว่าให้หยุดฟังคนโต ๆ เตือนเอาไว้บ้าง ป้าอ้น จันทร์สว่าง ครูเพลงพื้นบ้านของผม ท่านเล่าให้ผมฟังเมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2524 เมื่อตอนที่ผมได้ไปฝึกหัดเพลงอยู่ที่บ้านของท่าน ป้าเล่าเรื่องเก่า ๆ ด้วยน้ำตาคลอเบ้า

          มีเรื่องหนึ่งป้าเล่าว่า ครูเชื่อไหมว่า ฉันเล่นเพลงมา 40 ปี อีพวกแม่เพลงที่เคยเล่นด้วยกัน มันพูดประณามฉันว่า อีอ้น ร้องไหว้ครูไม่ได้ ว่าได้ก็ไม่จบเพลง ฉันยังไม่เคยลืมเลย ผมถามป้าอ้นกลับไปว่า แล้วทำไมป้าไม่ร้องให้พวกเขาฟังละ ครับ ป้าพูดกลับมาว่า ร้องเข้าไปได้อย่างไรก็พวกมันอยากจะร้องเสียเอง มันจึงช่วยกันพูดว่า ฉันร้องไม่จบเพลง ผมรู้แล้ว เลยพูดไปว่า งั้นก็แสดงว่าป้าเก่งกว่าเขา พวกเขาก็เลยกันป้าออกเสียนะซิ ป้าอ้น ก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่ถ้าครูจะฟัง ป้าจะว่าบทไหว้ครูให้ฟังนะ แล้วป้าอ้นก็ร้องบทเพลงอีแซวบทไหว้ครูจนจบบท ผมนำเอาเครื่องบรรทึกเสียงอัดเอาไว้ได้บางตอน ปัจจุบันเสียงของป้าอ้นยังอยู่ในเทปคาสเสท (ไม่ค่อยสมบูรณ์เพราะนานมาก) 

บทร้องไหว้ครูเพลงอีแซว ตอนหนึ่งที่ป้าอ้น ร้องว่า

          ยกพานกำนล         ขึ้นไปบนหน้าผาก      

      ธูปเทียนทั้งหมาก       แล้วก็ดอกไม้  

      จะไหว้พระพุทธที่ล้ำ   ไหว้พระธรรมที่เลิศ 

     ไหว้พระสงฆ์องค์ประเสริฐ   ฝึกสอนนิสัย  

      องค์พระพุทธเจ้า        ท่านล่วงเข้านิพพาน  

      เหลือแต่พระศรีอาน    และพระเมทไตร  

      ต้นไม้ใบหญ้า            พากันเศร้าโศก

      หินง้ำชะโงก             พากันคว่ำหงาย 

     เหล่าพระสาวก           ก็มาตกประหม่า 

     พระอานนศรีนุชา        พากันร้องไห้ 

     ท่านล่วงลับดับขันธ์     มาก็นานยืนยง  

     เหลืออยู่หมู่สงฆ์         ได้สั่งสอนนิสัย

     ไหว้พระแก้วกางกั่น      ไหว้พระกาฬสี่กร

     ให้มาช่วยอำนวยพร     ขอให้ลูกมีชัย 

        ลูกจะขอยอกร         ย้อนลงมา 

      คิดถึงบิดรมารดา        ผู้ยิ่งใหญ่

      คุณบิดายี่สิบเอ็ด        มารดาสิบสอง

      ท่านก็เคยอุ้มท้อง       มีแต่ทุกข์หทัย  

      เมื่อจะก่อกำเนิด        เมื่อจะเกิดเป็นคน

      เมื่อจะปฏิสนธิ          เกิดมาเป็นกาย

      เกิดเป็นดวงแดงๆ       คล้ายแสงอัคคี 

      ที่เขาเรียกกันว่าผี       เชียวหนอพุ่งใต้ 

      พุ่งข้ามหน้าต่าง         แล้วไปค้างยอดตอง 

      เลยไปเกาะท้องน่อง   ของมารดาไทย 

      เลือดของแม่ละลาย   ไปวันละเจ็ดแปดหน

      กว่าจะเป็นลูกคน        เติบโตขึ้นมาได้

      ตอนที่ลูกอยู่ในครรภ์   ของมารดา 

      แม่ก็สู้อุตส่าห์            เอาใจใส่ 

      แม้จะรับประทาน        อาหารเผ็ดร้อน 

      แม่ก็กลัวเลือดก้อน     จะละลาย 

      แม่ทะนุถนอม           พระครรภ์ภา 

      พ่อก็สู้อุตส่าห์          หาอาหารให้ 

      พ่อเขารักษาครรภ์     ปานชีวิต

      เฝ้ารอคอยด้วยดวงจิต กระวนกระวาย

                           (ยังมีต่อ...อีก)

          วันใดที่ผมรู้สึกท้อแท้ใจ จะนึกถึงคำที่ป้าเคยเล่า เรื่องราวที่ป้าอ้นถ่ายทอดมายังผม  มีเป็นจำนวนมาก ผมจะค่อย ๆ ย้อนกลับไปสู่สถานการณ์ในครั้งนั้นและนำเอาสิ่งที่ใช้ได้ในยุคปัจจุบันมาเล่าให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบในตอนต่อ ๆ ไป 

         

          ถ้าพูดถึงน้ำใจของคนเรา ไม่มีแห้งแล้ง ไม่มีวันหมด เพียงแต่ว่าบางครั้งอาจจะจางหายไปบ้าง และในบางครั้งก็หลั่งไหลลงมามากมายดังหยาดฝน ประสบการณ์ที่เป็นความจริงในวันนี้ทำให้ผมมีเพื่อน มีมิตรเพลงเป็นจำนวนมาก บางคนไปดูการแสดงแล้วถามว่า วันนี้ น้องอิม ไม่ได้มาหรือ เขาไปไหน บางท่าน ถามผมว่า ชุดการแสดงคืนนี้ ไม่ใช่ชุดใหญ่หรือ ครับ  ผมตอบคำถามผู้ที่มีน้ำใจไปว่า เด็ก ๆ นักแสดงของผมมีหลายคน (เกือบ 30 คน) ต้องผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันออกไปเผยแพร่ผลงานและอยู่เรียนรู้ในวิชาที่เขาต้องรับผิดชอบด้วยครับ 

             

         นับว่า เป็นความกรุณาอย่างยิ่งที่ผู้ชมให้ความสนใจ สังเกตแม้กระทั่งว่า ใครไม่มาเล่นเพลงในคืนนั้น วงเพลงพื้นบ้านที่มีเด็ก ๆ เป็นผู้แสดง มีเข้าออกตลอดเวลาอย่างทีว่านิ่งๆ ก็เพียง 3 ปี จะหาที่อยู่กับเรายาวนานถึง  6 ปี มีน้อย เมื่อเขาจบการศึกษาระดับหนึ่ง เด็กก็จะออกไปเรียนต่อที่อื่น เขาก็ต้องจากครูไป ส่วนวงเพลงพื้นบ้าน วงเพลงอีแซวของผม และอีกหลาย ๆ โรงเรียนในจังหวัดสุพรรณบุรีก็ยังคงเดินหน้าต่อไปด้วยผู้แสดงที่เข้ามาแทนที่และมีคุณภาพเท่าเทียมกันรับงานแสดง ได้ทุกสถานที่ ที่ท่านมีน้ำใจและศรัทธาในภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านนี้ ติดต่อเข้ามา

      30 พฤศจิกายน2550 วงเล็ก แสดงที่ คลังอมตะสุพรรณบุรี โดยคุณกฤษฎางค์ ทิพเนตร

        5 ธันวาคม  2550 ชุดใหญ่ แสดงที่หน้าห้างแมคโครสุพรรณบุรี 3 รอบ (ตลอดทั้งวัน)

        8 ธันวาคม 2550 แหล่ด้นสด ทำขวัญนาค (4 คน) ที่ข้างอนุสาวรีย์ฯ อ.เมือง จ.ชุมพร

      15 ธันวาคม 2550 แหล่ด้นสด ทำขวัญนาค (3 คน) ที่บ้านหนองสระ อำเภอดอนเจดีย์

      17 ธันวาคม 2550 ชุดใหญ่ แสดงที่ธนาคารกรุงเทพฯ สำนักงานใหญ่ สีลม กรุงเทพฯ

      28 ธันวาคม 2550 งานฉลองครบรอบ 10 ปี โรงพยาบาลพรชัย อำเภอเมืองสุพรรณบุรี

      30 ธันวาคม 2550  ชุดใหญ่ แสดงที่วัดหนองสังข์ทอง อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี

           

         ยังมีน้ำใจของท่านผู้ชมที่ไม่มีวันแห้งแล้ง ให้โอกาสนักเพลงได้ไปแสดงความสามารถในการร้องด้นสด แหล่สด เพลงอีแซว ทำขวัญนาคอีกหลายสถานที่ เป็นอีกมุมมองหนึ่งของผู้ที่ชื่นชมในความสามารถของเยาวชน แผ่นดินไม่ไร้ น้ำใจศรัทธา จริง ๆ ครับ

               

  ชำเลือง มณีวงษ์. เพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ บนถนนสายวัฒนธรรม ตอนต่อไปกาลเวลาสอนคน <p> </p>

หมายเลขบันทึก: 150832เขียนเมื่อ 2 ธันวาคม 2007 09:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
อาจารย์ชำเลืองครับ  หลังจากเราประชุประชุมแกนนำgotoknow กับเราคิดว่าจะจัดงาน เนะนานไ ใหญ่ที่กรุงเทพอยากจะมีรายการที่อาจารย์เล่นไปเล่าไปสักหนึ่งตอนอาจารย์จะรังเกียจใหมครับ  อยากเอาภูมิปัญญาไทยมาโชว์  เพราะไปงาน KM มามีแต่เอาตาราฝรั่งมาขายทั้งนั้นครับ

สวัสดีครับ คุณลุงเอก

  • ยินดีมากครับ ท่านอาจารย์เอกชัย ศรีวิลาศ และถ้าเป็นไปได้ "อยากที่จะนำเอาเรื่องที่เล่าไปเล่นเสียเลย เล่าด้วยเพลงพื้นบ้านนะ"
  • จะจัดให้มีงาน KM เมื่อไร ท่านอาจารย์ส่งข่าวไปให้ผมทราบด้วย จะได้นำเอาของเก่าที่ล้าสมัย (ถูกลืมสนิท) ไปโชว์บ้าง
ดีมากเลยครับอาจารย์แบบเล่าไปเล่นไปครับดีใจจริงๆเลยครับ  อยากเอาของไทยมาขายครับ
  • อยากเอาของไทยมาขาย (หน้า) นะซิ
  • ไม่หรอก ถ้าคุณลุงร่วมแสดงด้วยคงสนุกมากนะเพราะหายากที่จะมีนักวิชาการมองแล้วเห็นคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่น แบบแท้จริง
  • ขอบพระคุณท่านอาจารย์เอกชัย ศรีวิลาศ มาก ครับ
ขนลุกเลยอยากเล่นด้วยจริงๆ  ต้องซ้อมรำก่อนมือไม้แข็งไปหมดแล้ว  ฮิฮิ
  • ขนผมก็ลุก ดีใจจริง ๆ ที่คุณลุงเอกมีใจให้นักแสดงอย่างพวกเรา
  • ไม่ต้องซ้อมรำหรอกท่านอาจารย์ แค่ยกมือขึ้นแกว่งไกวก็พอแล้ว
  • มือผมก็แข็ง ไม่อ่อนเหมือนตอนหนุ่ม ๆ
  • แต่ว่าซ้อมเอาไว้บ้างก็ดี เผื่อว่ามีสมาชิกท่านอื่นมาร่วมสนุก ตอนเรียนรู้กับเรา ฮาๆๆๆ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท