ศ. ดร. สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ถก KM กับ สมศ. (2)


ศ. ดร. สมหวัง  พิธิยานุวัฒน์ถก KM กับ สมศ. (2)

         วารสารวงการครู  ฉบับเดือนมกราคม 2549   นำเรื่องนี้มาลงเป็นเรื่องเด่นของฉบับ  คือเรื่องจากปก   สคส. จึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่อเป็นตอน ๆ ดังต่อไปนี้  ตอนที่ 2

"จุดเริ่มต้นของความรู้  คือการยอมรับว่าเราไม่รู้" 
อมเรศ ศิลาอ่อน  อดีตประธาน สมศ.

 

ทฤษฏีการบริหารพื้นฐาน อาทิ TQM, QCC หรือ Balance Scorecards ควรจะเข้มก่อนจะทำ KM หรือไม่
        จริง ๆ แล้ว ไม่ค่อยจำเป็น เพราะเขาเองบางครั้งอาจจะยังไม่รู้ด้วยว่า TQM (Total Quality Management) คืออะไร แต่เขารู้ว่า ถ้าเราจะประสานงานกับคนอื่นนั้น เราจะต้องรู้ว่า ความรับผิดชอบของเราไม่ใช่เฉพาะงานของเรา แต่ความรับผิดชอบของเราคือความสำเร็จของทั้ง สมศ. ฉะนั้น การที่เราบอกว่า เราส่งงานให้กลุ่มงานหนึ่งไป และถ้าเขาทำไม่สำเร็จ จะเป็นความผิดของเราด้วย คือไม่ใช่ว่า พ้นเราไปแล้วไม่ใช่หน้าที่ของเรา เพราะความสำเร็จมันเป็นความสำเร็จขององค์กร ถ้าทุกคนมีความคิดเช่นนี้แล้ว มันก็คือ Customer ซึ่งเขาเองอาจจะไม่รู้ว่า Customer This a King มันเป็นหัวใจ TQM ข้อที่ 1 เลย ทว่า คนที่รู้มีมากแต่ทำไมไม่ทำ

ท่านอาจารย์คิดอย่างไรกับกรณีที่ หลายองค์กร เวลาทำ KM จริง ๆ คุณเอื้อ คุณอำนวย (เจ้าของกิจการหรือผู้บริหาร) มักไม่ค่อยยอมเปิดโอกาส คือยังมีการ C&C หรือ Control and Command อยู่
         เราต้องรู้และต้องจัดระบบให้มันน่าจะเป็นการดีที่สุด แต่ผมก็บอกว่า เงื่อนไขก็อาจจะไม่ต้องไปอบรม TQM แต่ KM มันมี TQM อยู่ในตัวของคนที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งเราอาจจะไม่รู้ว่าลักษณะเช่นนี้เรียกว่า TQM  แต่ฟังดูแล้วนี่ก็คือ Customer ในมุมมองของผม ตรงกับทฤษฏีเลย แต่คนที่พูด เขาอาจจะไม่รู้ในเรื่องทฤษฏี หรือคนที่ฟังแล้วนำไปใช้ บางทีเขาก็ไม่ต้องรู้ว่า ทฤษฏี TQM เป็นแบบนั้นแบบนี้ ฉะนั้น การแลกเปลี่ยนกัน ไม่จำเป็นต้องไปอิงทฤษฏีสากลก็ได้
แต่แน่นอน ในการแลกเปลี่ยนกันแล้ว เราจะสรุปเป็นความรู้ เราก็จะต้องสรุปออกมาว่า เป็นทฤษฏีนั้น ทฤษฏีนี้ คือต้องมีชื่อเรียก อย่างบางครั้ง เรามาอบรมเรื่องนั้นเรื่องนี้แต่พอมาทำจริง ๆ กลับไม่ได้ทำ แต่นี่คือการพูดเรื่องจริงว่านี่ทำแล้ว และได้ผล ใช่ไหม และมันก็เป็นจิ๊กซอว์ที่ต่อกัน ฉะนั้น จริง ๆ เราทำ KM ที่ สมศ. นี่ เราหวังเรื่องการพัฒนาบุคลากรก่อน ซึ่งที่ผ่านมา เราต้องยอมรับว่า มันมีกลุ่มงานในบางกลุ่มงานที่เขาเข้มแข็ง เมื่อเข้มแข็งเขาก็ก้าวหน้าไปมาก และเขาอาจจะไม่ให้ความสำคัญกับกลุ่มงานอื่น ๆ และก็อาจจะมีที่ว่ากลุ่มงานเราเก่งกว่าอะไรเช่นนี้ เวลาที่ประชุมกลุ่มงาน ผมอ่านรายงานดูก็จะเห็นว่า จุดนี้เป็นปัญหา เพราะเราจะให้เขามองว่า สมศ. ก็คือกลุ่มงานของเขาเท่านั้น เช่นนี้องค์กรไปไม่รอด
         ผมต้องการแก้ด้วยวิธีการที่ว่า ถ้าคุณคิดว่ากลุ่มงานคือ คุณทั้งองค์กรคุณคิดผิด และในเรื่องการบอกกล่าวในการประชุม หลายหน ผมสรุปได้ว่ายังไม่ดีพอ คล้าย ๆ กับเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา แล้วก็เหมือนเดิม ส่งไปอบรมตั้งสองหมื่นบาทต่อหลักสูตรก็ยังเหมือนเดิม ใช่ไหมครับ  ก็เพราะมันยังไม่เกิดความเข้าใจ เราก็เลยคิดว่า วิธี KM นี้เป็นวิธีการสอนให้เขาโดยที่เขาไม่รู้ตัว และเขาเองก็ไม่เสียหน้าด้วย เราเลยเริ่มจากเรื่องการประสานงานก่อน
 ทำไมเขาถึงเป็นที่ยอมรับของคนอื่นว่า เขาประสานงานเก่ง ก็จัดเวทีให้เขามาเล่าให้ฟังหน่อยว่า เขาทำอย่างไร อะไรอย่างนี้  ผมว่าการทำอย่างนี้เป็นการถอดบทเรียนที่สำคัญ ซึ่งตรงนี้ผมเองก็ขอยอมรับว่า ผมเองอาจจะยึดในเรื่องของงาน ยึดในเรื่องของ Output มากเกินไป ผมก็คิดว่า ผมเองคงจะต้องลดลงหน่อย ผมเองยึดงาน 70 เปอร์เซ็นต์เลย เรื่องของคนผมให้ความสำคัญเพียง 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
         ก็เพราะที่ผ่านมา ผมประสบความสำเร็จไง ตรงนี้มันเลยเป็นเหมือนการให้คุณค่าหรือเป็นการให้รางวัลสำหรับผมไง จนกระทั่งผมมาป่วยด้วยโรคหัวใจเมื่อตอนปี 2546 ทำให้ผมถึงบางอ้อ ทำให้ผมเข้าใจว่า การที่เราไปตั้งเป้าไว้มากไปทุกอย่าง อาทิ จะต้องเซ็นงานให้หมดภายใน 1 วัน ต้องให้เสร็จ แต่บางวันนั้นงานมันมากเสียจนที่เราไม่มีเวลาเซ็น แต่ทำไมเราจะต้องมาอดหลับอดนอนมาทำให้เสร็จคืนนั้น จะตายก็ยอม อะไรแบบนั้น ผมคิดว่า วิธีการเหล่านี้ไม่มีประโยชน์ เป็นวิธีที่โง่
         หลังจากที่ผมป่วย ผมเองก็ได้มีเวลาและโอกาสคิด เลยคิดว่า เราจะไปกำหนดเรื่องมาตรฐานที่มันเป็นไปไม่ได้ แล้วมาบีบตัวเราเองแบบนี้ ซึ่งข้าวปลาไม่ได้กินอะไรแบบนี้ จะเอาแต่งานให้ได้ ต้องให้เป็นไปตามเป้าหมายที่เราวางไว้ ที่เรากำหนดมาตรฐานไว้ แต่ถ้าลองมองในตัวของผม ผมเองอาจจะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จมากคนหนึ่ง ในเรื่องของชีวิต ในเรื่องของงาน เรื่องของการเรียน เรื่องของชื่อเสียง อะไรต่าง ๆ ร้อยแปด แต่ไม่มีประโยชน์ ถ้าสุขภาพของเราไม่ดี ทุกอย่างก็ไร้ประโยชน์ ทำอะไรไม่ได้ต่อชาติบ้านเมือง กรณีนี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ใคร ๆ เองก็ไม่สามารถที่จะเตือนเราได้   เราเอง ในบางครั้ง ก็อาจจะหลงชื่นชมอยู่กับความสำเร็จ เพราะมันเป็นตัวสร้างความภาคภูมิ เป็นตัวสร้างคุณค่า และเป็นตัวสร้างรางวัลให้กับเรานั้น เหล่านี้คือความสำเร็จ ซึ่งบางครั้งคนที่มาพูดมันยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าเรา  แล้วยังมาพูดมาบอกกับเราอีก อะไรแบบนี้  ซึ่งจริง ๆ แล้วทั้งหมดเป็นสิ่งที่เขาหวังดีกับเรา แต่เราเองก็ยังไม่สนใจในสิ่งที่เขาพูด มันต้องเจอด้วยตัวเอง ต้องเจอของจริงแบบนี้ แต่ในเรื่องกระบวนการ KM นั้น เป็นกระบวนการที่ดี มันมีในเรื่องของคนหลายคน ซึ่งเราเองก็คงจะต้องมีใครคนที่เราชอบสักคนในที่เขาพูด ซึ่งเขาพูดแล้วเราชอบ เราเชื่อ และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยน
         การที่คนที่เราชอบ เขาพูดเหมือนกับคนที่เราไม่ชอบ และคนที่เราไม่ชอบ เขาเองก็ยังมีของดีนะ อะไรแบบนี้ ซึ่งอาจจะเปลี่ยนมุมมองของเรา อาจจะปรับในเรื่องโลกทัศน์ทางบวกมากขึ้นก็ได้ เพราะมันจะถูกนำเอาในเรื่อง Positive Thinking มาทำให้เกิดขึ้น ไม่พูดเรื่องลบ ไม่มาพูดเรื่องไม่ดี ซึ่งเหล่านี้ช่วยได้มาก ฉะนั้น Positive Thinking ก็จะมีความสำคัญมากต่อการมีโลกทัศน์ ต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ต่อการที่จะทำให้ประสบความสำเร็จ ต่อการทำงานใหญ่ ซึ่งพูดง่าย ๆ ว่า การจะทำงานใหญ่เราจะต้องมีในเรื่องของ Positive Thinking

ศ. ดร. สมหวัง  พิธิยานุวัฒน์ถก KM กับ สมศ. (1)


 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15002เขียนเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2006 10:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มีนาคม 2012 22:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท