แนวคิดการเรียนการสอนดนตรี


เด็กไทย ต้องได้เรียน ได้เล่น ได้รู้จักและรักดนตรี

         การเรียนรู้แนวใหม่ของระบบการศึกษาไทย  ได้จัดให้เด็กทุกคนมีโอกาสที่ได้เรียนวิชาดนตรี  เพราะดนตรีเป็นหุ้นส่วนของชีวิต    ดนตรีเป็นเครื่องมือที่จะเปลี่ยนแปลงบรรยากาศของการศึกษา  ดนตรีจะส่งเสริมให้เด็กไทยมีความเฉลียวฉลาด  การพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก

จำเป็นต้องกระตุ้นให้สมองสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต  การเรียนรู้จากสิ่งรอบๆตัว โดยผ่านทางประสาทสัมผัสและอวัยวะต่างๆของร่างกาย  จะทำให้เด็กๆตื่นเต้น  สนุกสนานไปกับธรรมชาติ  การสัมผัสสิ่งแวดล้อมรับรู้ความรู้สึกรอบตัว ที่แปลกใหม่  จะทำให้จิตสำนึกของเด็กได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว  ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาสติปัญญาและความสามารถในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ  ของเด็กเมื่อเติบโตขึ้น

          ในระยะเริ่มแรกของการเจริญเติบโต    สมองจะเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว  เซลล์สมองที่ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้จะเกิดขึ้นเมื่อใยประสาทและจุดเชื่อมเพิ่มขึ้นตามลำดับ   ถ้าหากเด็กได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ  ในช่วงเวลาที่เหมาะสม (ตั้งแต่หลังคลอดจนถึงวัยรุ่นระยะเริ่มต้น)  ความสามารถในการเรียนรู้จะเกิดขึ้น   ยิ่งถ้ามีใยประสาทมาก  เด็กก็จะเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วและฉลาดการให้การศึกษาแกเด็กเพื่อกระตุ้นสมองให้สร้างใยประสาท   โดยผ่านการเรียนรู้จากสัมผัสทั้ง  5 ตา หู ปาก  จมูก และประสาทสัมผัส  จึงมีความสำคัญและเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้เด็กพัฒนาความฉลาดของตน   กิจกรรมการเล่นดนตรี  การร้องเพลง  การทำงานศิลปะ  เป็นสิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้เด็กมีความเฉลียวฉลาด   มีความรู้สึกดี  มองโลกในแง่ดี  มีความคิดรอบคอบ  และสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้

        ดนตรี เป็นวิชาหนึ่งที่ใช้เสียงที่ไพเราะ  ซึ่งทุกคนในโลกนี้ต้องการฟัง  เสียงเป็นกระแสคลื่นที่สามารถสร้างความเคลื่อนไหว ความเคลื่อนไหวจะก่อให้เกิดการพัฒนาปัญญาและคุณภาพชีวิต   คนจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี  เมื่อมีดนตรีในหัวใจ  จิตใจจะสงบ มีสมาธิ  เมื่อทุกคนเป็นเช่นนั้น สังคมก็ย่อมน่าอยู่  นอกจากนี้แล้ว  ดนตรียังเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม  เป็นคุณสมบัติของความเจริญงอกงาม  ความเป็นระเบียบแล้ว ความกลมเกลียว  ความก้าวหน้าของชาติและศีลธรรมอันดี  เด็กไทยจะต้องเรียนรู้ดนตรีเพื่อให้รูและเข้าใจคุณค่าวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติอีกประการหนึ่ง

      สิ่งที่จำเป็นในการเรียนดนตรี  คือ กิจกรรมการเล่นดนตรี   ดังคำกล่าวของขงจื๊อ"  สิ่งที่ฉันได้ยินมา   ฉันก็จะลืม  ที่ฉันได้เห็น ฉันเข้าใจและสิ่งที่ฉันได้ทำ  ฉันจำได้ "  ดนตรีเป็นวิชาที่ต้องทำ  คือต้องเล่น  ดนตรี   เมื่อเด็กได้เล่นดนตรีแล้ว  เกิดความสนุกสนาน  เกิดการเรียนรู้ที่เกิดจากการได้ทำ เมื่อเด็กเล่นดนตรีได้แล้ว  เด็กก็จะมีความสุขปัญญาก็ตามมา  ความคิดสร้างสรรค์ก็จะเกิดขึ้น  สามารถทำงานอื่นได้อย่างมีความสุข

         ปรัชญาและแนวคิดของการศึกษาดนตรีใหม่จึงต้องให้เด็กรักดนตรี    การที่เด็กจะรักดนตรีได้    เด็กก็ต้องได้เรียน  ได้เล่น และรักดนตรี  ความรักจะเกิดขึ้นเหมือนคนเราจะต้องมีความผูกพันความรักจึงเกิดดนตรีก็เหมือนกัน  หากเด็กทุกคนได้เล่นดนตรีโดยผ่านสื่อและเครื่องมือประกอบการเรียบเรียง    บรรเลงอย่างมีความสุขและสนุกสนาน  จะทำให้เขาเกิดการเรียนรู้อย่างรวดเร็ว   เกิดความคิดสร้างสรรค์ในขั้นสูง การพัฒนาสมองเด็กโดยผ่านกิจกรรมดนตรีจึงเป็นการวางพื้นฐานสำหรับเด็กที่จะเติบโตไปในอนาคต  เด็กจะเป็นผู้ที่มีความฉับไวในการแก้ปัญหา   เพราะดนตรีช่วยพัฒนาความฉลาดให้กับเด็กส่วนนี้ในขณะเดียวกันเด็กๆ  เหล่านี้จะเป็นผู้มีวัฒนธรรม  มีความปราณีต  มีเสห่ห์และความงดงามอยู่ในตัว

          กล่าวโดยสรุปว่าประสบการณ์ทางศิลปะ เช่นการเล่นดนตรีและรักดนตรี  จะเป็นสิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้รู้ในโลกแห่งความรู้สึก   ดังนั้นเด็กๆต้อได้เรียนดนตรี   ได้เล่น  ได้รู้และรักดนตรี   จึงเป็นบทบาทของการศึกษาไทย  ในอันที่ส่งเสริมให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ในโลกเป็นภาพรวม    โดยประสาทสัมผัส   หู  ตา  ปาก  จมูก  และกายสัมผัส  เป็นการเรียนรู้ที่บริสุทธิ์  เป็นธรรมชาติ  และเป็นของตนเอง  ช่วยให้โลกน่าอยู่  น่ามอง  น่าศึกษา  ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมให้เด็กที่จะเผชิญกับสิ่งต่างๆ ที่ซับซ้อน  อย่างสุขุมและรอบคอบ

หมายเลขบันทึก: 148824เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2007 10:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 02:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท