เวทีนวัตกรรมการเรียนรู้ติดดาว


เวทีนวัตกรรมการเรียนรู้ติดดาว

         เราคิดว่าจะจัดเป็นเวที ลปรร. เล็ก ๆ    ผู้เข้าร่วมประมาณ 30 - 50 คนต่อเวที   คือเป็นเวทีที่เน้นคุณภาพ   ไม่เน้นปริมาณ (จำนวน)

         แต่ สคส. จะไม่จัดเองนะครับ   เราจะชวน สมศ. มาร่วมกันเป็นผู้สนับสนุน   อาจชวนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามาร่วมสนับสนุนด้วย  หาหน่วยงานจัด   เป้าหมายหน่วยงานผู้จัดคือ มรภ. และคณะศึกษาศาสตร์ทั้งหลาย

         วิธีจัดก็ง่าย ๆ (แต่พิถีพิถัน) ครับ   คือเลือก รร. หรือกลุ่มครูที่มี "Best Outcome" จากการมีนวัตกรรมจัดการเรียนรู้หรือการเรียนการสอน   เชิญตัวแทน 2 - 3 คนมาเล่า  ว่าบรรลุ Best Outcome ได้อย่างไร  

         เกณฑ์ในการเลือก รร. หรือกลุ่มครูมีเพียง 2 ข้อคือ  (1) มี Best Outcome และ (2) มี innovation ในวิธีจัดการเรียนรู้

         บางโรงเรียนอาจมีผลงานแบบนี้ตั้งหลายเรื่อง   เราก็จะเลือกเรื่องเดียว

         รวมแล้วเวทีหนึ่ง ๆ จะมีเรื่องราวของ "นวัตกรรมการเรียนรู้ติดดาว" มา ลปรร. กัน 5 - 10 เรื่อง   มีตัวแทนมาเล่าและ ลปรร. เรื่องละ 2 - 3 คน  คนเหล่านี้ถือเป็น "วิทยากร" ที่ได้รับเชิญมา   ผู้จัดเวทีจ่ายค่าเดินทางให้   รวมแล้ว "วิทยากร" จะมี 15 - 30 คน   เราจะประกาศรับผู้สนใจเข้าร่วม ลปรร. โดยจ่ายค่าลงทะเบียนเข้าร่วม ลปรร. (คงจะประมาณ 500 บาทต่อคน   เป็นค่าเอกสาร  ค่าอาหาร  และค่าใช้จ่ายในการจัดการ) โดยรับจำนวนจำกัด   เพราะนี่เป็นเวที ลปรร. ไม่ใช่เวทีถ่ายทอดความรู้

         แต่ละเวทีใช้เวลา 1 วัน 09.00 - 16.30 น.   สถานที่น่าจะเป็นที่สถาบันผู้จัด

         "ความรู้" เริ่มต้นสำหรับเวทีนวัตกรรมการเรียนรู้ติดดาว   คือผลการประเมินของ สมศ.   ที่มีข้อมูลเรื่องราวความสำเร็จดี ๆ ที่น่ายกย่อง   ซึ่ง ศ. ดร. สมหวัง  พิธิยานุวัฒน์ บอกผมว่า   สมศ. มีข้อมูลอยู่แล้ว   เราจะเอามาให้ผู้จัดนำไปคัดเลือก

         เราคงจะไม่ใช่แค่ตกลงกว้าง ๆ ว่า  ที่จังหวัด...มอบให้ สรภ...เป็นผู้จัด   เราจะพิถีพิถันกว่านั้นมาก   คือเราจะเจาะจงเลือกตัวหัวหน้าโครงการที่มีคุณภาพ   มีความสามารถสูง   โดยเฉพาะเรื่องการจัดการและเรื่อง KM   แล้วทำความตกลงกับผู้บริหารสถาบันว่าถือเป็นโครงการความร่วมมือ (สถาบันได้ชื่อเสียงและโอกาสทำงานต่อ)   แล้วจะเชิญหัวหน้าโครงการมาประชุมหารือแนวทางดำเนินการร่วมกัน   ในเบื้องต้นอาจเริ่มที่ 10 -20 เวทีก่อนกระจายไปทั่วทุกภาค   ถ้าได้ผลดีอาจเกิดเป็น 100 เวทีก็ได้   ภายใน 6 เดือน

         เวทีนี้คงไม่ใช่แค่พูดกันแล้วจบ   ต้องมีการจดบันทึก KA (ขุมความรู้) ด้วย   และนำเอาขุมความรู้และเรื่องเล่าเผยแพร่โดยวิธีการต่าง ๆ   ซึ่งวิธีที่ประหยัดและกว้างขวางที่สุดคือลงบล็อก

         และคงจะไม่จบกันแค่เวทีนี้นะครับ   นวัตกรรมระดับ 5 ดาว  คงจะมีสื่อมวลชนไปทำข่าว   เผยแพร่ผลงานที่น่าภาคภูมิใจให้สังคมรับรู้และเป็นแนวทางให้ รร./สถาบันอื่น ๆ นำไปปรับใช้และจะได้รับเชิญเข้าร่วมมหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ 3 ด้วย   เราเชื่อว่าจะเกิดผลทางบวก   สร้างศักดิ์ศรีให้แก่วงการศึกษาได้อย่างมากมาย   เป็นการเอาความดี  สิ่งดีออกขยายผลและเผยแพร่

         เราหวังว่า   เวทีง่าย ๆ (แต่สูงคุณภาพ) นี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของเครือข่ายนวัตกรรมการเรียนรู้ของประเทศครับ

วิจารณ์  พานิช
 9 ก.พ.49

หมายเลขบันทึก: 14881เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2006 12:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท