ห้างค้าปลีกต้นทุนศูนย์ เป็นไปได้หรือไม่ ?


อ่านข่าวจาก ผู้จัดการรายวัน ที่กรมการค้าภายในเชิญตัวแทนค้าปลีกไปร่วมร่างไกด์ไลน์ค้าปลีก แต่เข้าประชุมรายเดียว  (คนอื่นไม่ว่าง !) ด้วยความเข้าอกเข้าใจ และสงสาร

ยักษ์ค้าปลีกแข็งข้อพาณิชย์ เมินร่วมถกไกด์ไลน์ค้าปลีก
โดย ผู้จัดการรายวัน 21 พฤศจิกายน 2550 08:16 น.

อ่านจบแล้ว อดไม่ได้ตั้งคำถามทางวิชาการว่า เป็นไปได้เพียงใด ในการบริหารต้นทุนของสินค้าในการค้าปลีก ให้กลายเป็นศูนย์

คำว่า ต้นทุนศูนย์ หมายถึง ไม่ต้องออกเงินซื้อสินค้าเลยสักบาทเดียว แต่ขายได้ กำไรเก็บ

คำตอบคือ เป็นไปได้ครับ แม้จะไม่ง่ายนัก เพราะต้องตั้งต้นให้ใหญ่ยักษ์

สงสัยไหมครับ ว่าทำไม

คำตอบอาจอยู่ที่ความเข้าใจของเราในศัพท์ทางเทคนิคในข่าวนี้ เช่น ค่าธรรมเนียมแรกเข้า(เอนทรานซ์ ฟี) 2 แสนถึง 1 ล้านบาท ต่อหนึ่งสินค้า, การเรียกส่วนลดการขายตามปริมาณเป้าหมาย (รีเบต) โดยเฉลี่ยส่วนใหญ่อยู่ที่ 1% จากยอดขาย แต่มีบางรายเรียกเก็บสูง 5-6%, การประวิงการจ่ายเงิน ห้างค้าปลีกบางราย มีการจ่ายเงินให้ผู้ผลิตสินค้าต่างกัน เร็วสุด 30 วัน ช้าสุด 90 วันก็มี

ประเด็นเหล่านี้ ผู้ซื้อที่มีอำมหิตาจิต มักจะชอบ เพราะจะรู้สึกว่า ซื้อของได้ถูกลง "ตั้งหลายเปอร์เซนต์" แน่ะ แต่เบื้องหลังของถูกหลายเปอร์เซนต์เหล่านี้ คืออะไร ?

สมมติว่าผมเรียกเก็บค่าธรรมเนียมแรกเข้าของสินค้า รายละ 1 ล้านบาท คูณรายการสินค้าทั้งห้าง (น่าคิดนะครับ ว่ากี่รายการ) นำมาใช้เป็นทุนหมุนเวียนสร้างสาขา จ้างคน ได้สบาย ๆ รับมือกับต้นทุนคงที่โดยไม่ต้องจ่ายเอง

รีเบต เพิ่มมาร์จินกำไรขึ้นเป็นหลายเท่า โชวห่วยขายกัน 2-3 ชิ้น ห้างใหญ่ ขายได้ชิ้นเดียว กำไรดันเท่ากัน !

ยังไม่หนำใจ โชวห่วย ต้องเอาเงินไปจมเป็นปี แต่ห้างไม่ต้องออกเงินเลย มีของมาขาย ขายหมดก่อน เอาเงินไปหมุน ได้กำไรการขาย แถมผลตอบแทนจากเงินหมุน ก็ไม่มีต้นทุน

สะใจไหมครับ ?

โชวห่วย จึงกลายเป็น endangered species ด้วยเหตุผลดังฉะนี้ ฯ

สรุปแล้ว ...

ไม่ว่าง ! ....."เป็นคำตอบสุดท้าย"

ถูกต้องแล้วคร๊าบ !

 

หมายเลขบันทึก: 148805เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2007 08:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 23:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีครับอาจารย์

ต้นทุนเป็นศูนย์เป็นไปได้ครับ แต่อาจารย์อย่าลืมนะครับว่า scale ของร้านต้องใหญ่มากๆถึงมากที่สุด รวมไปถึงต้องมีประสิทธิภาพมากๆด้วยนะครับ

เพราะนั่นหมายความว่า อาจารย์จะต้องจัดการค่า overhead จากentrace fee อย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งยากมากที่จะสามารถ cover variable costs หลายๆอย่างที่ใช้ในร้านค้า

ถ้าสมมติว่าเป็นไปได้นะครับ ผมคิดว่าลักษณะของร้านจะเป็นร้านเล็กๆแบบโชว์ห่วยหรือไม่ก็ 7-11 แต่มีพนักงานแค่คนเดียว แล้วพนักงานคนนั้นต้องทำงานเร็วเป็นสามถึงสี่เท่าของพนักงานในปัจจุบัน เพื่อสามารถดูแลร้านทั้งหมดได้โดยใช้คนน้อยที่สุด

ผมคิดว่ายากมากครับที่โชว์ห่วยจะตามห้างยักษ์ใหญ่ทัน ผมคิดว่าทางเดียวที่จะทำได้ คือโชว์ห่วยต้องใช้ความรู้ชุมชนมาใช้ครับ (ความเป็นมิตรกับคนในชุมชนนั่นแหละครับ) รวมไปถึงอาจจะต้องกำหนดโซนนิ่งกันด้วย

แต่ผมสงสัยอย่างนึงครับอาจารย์ เป็นไปได้ไหมครับที่โชว์ห่วยก็อาจจะได้กำไรจากส่วนต่างนี้ด้วย ผมไม่แน่ใจ และไม่รู้ด้วยว่ามีโชว์ห่วยกี่เจ้า ที่ไปซื้อของราคาถูกจากโลตัส คาร์ฟู แล้วเอามาขายที่ร้านตัวเอง

ถ้า ขอย้ำว่า ถ้านะครับ ถ้าเป็นแบบนี้ มันก็วินวิน นะครับอาจารย์

ขอบพระคุณครับ

 

 

"ผมคิดว่ายากมากครับที่โชว์ห่วยจะตามห้างยักษ์ใหญ่ทัน ผมคิดว่าทางเดียวที่จะทำได้ คือโชว์ห่วยต้องใช้ความรู้ชุมชนมาใช้ครับ (ความเป็นมิตรกับคนในชุมชนนั่นแหละครับ) รวมไปถึงอาจจะต้องกำหนดโซนนิ่งกันด้วย..."

  • เห็นด้วยแบบสุด ๆ ครับ

"แต่ผมสงสัยอย่างนึงครับอาจารย์ เป็นไปได้ไหมครับที่โชว์ห่วยก็อาจจะได้กำไรจากส่วนต่างนี้ด้วย ผมไม่แน่ใจ และไม่รู้ด้วยว่ามีโชว์ห่วยกี่เจ้า ที่ไปซื้อของราคาถูกจากโลตัส คาร์ฟู แล้วเอามาขายที่ร้านตัวเอง..."

  • ผมไม่รู้เหมือนกัน เคยเห็นโชวห่วยซื้อจาก makro บ่อย ๆ แต่แทบไม่ค่อยเห็นซื้อแบบนั้นในโลตัส คาร์ฟูร์ เพราะอะไร เดาไม่ถูกครับ ไม่มีข้อมูล
  • ประเด็นนี้ ผมเดาไม่ออกครับ ว่าเป็นไปได้แค่ไหน
  • แต่ถ้าวิน-วินจริง ก็ไม่มีเหตุผลที่โชวห่วยจะปิดสิ ?

สวัสดีครับ....อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่านครับ...

ได้โปรดชี้แนะด้วยครับ...

เราสามารถแข่งขันกับร้านค้าปลีกยักษืใหญ่ด้วยกลยุทธ์อะไรได้บ้างครับ...

ขอมีส่วนร่วมด้วยนะคะ

อยากถามว่าโชว์ห่วยกำไรเฉลี่ยอยู่ที่กี่ % ของยอดขายคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท