ชีวิตที่พอเพียง : 412. นิวยอร์ควันที่ 4 (26 ต.ค. 50)


เดิมกะว่าจะไปดูพิพิธภัณฑ์ 2-3 แห่ง คือ American Museum of Natural History ( www.amnh.org), Rose Center for Earth and Space และอาจไปชม Metropolitan Museum of Art แต่เอาเข้าจริงๆ ผมก็ไปวนเวียนชม American Museum of Natural History ที่เดียวจนถึงเวลาปิดตอน 17.30 น.

พิพิธภัณฑ์ที่นิวยอร์คต่างจากที่วอชิงตัน ดีซี อย่างหนึ่ง คือที่นิวยอร์คต้องเสียเงินค่าเข้าชม ผมจึงซื้อตั๋วควบ เป็นค่าผ่านประตูและค่าดูหนังเรื่อง Cosmic Collision ซึ่งไม่ใช่หนัง IMAX (3 มิติ) หนังเรื่องนี้ให้ความรู้เรื่องธรรมชาติของการชนกันของสรรพสิ่งในจักรวาล

เช่นการที่ดาวฤกษ์ 2 ดวงชนกัน ทำให้เกิดสะเก็ดดาวมากมาย ใหญ่บ้างเล็กบ้าง สะเก็ดส่วนใหญ่รวมกันเป็นดวงอาทิตย์ ที่เหลือรวมกันเป็นดาวเคราะห์และดวงจันทร์ของดาวเคราะห์

โลกเราก็เคยถูกชนครั้งใหญ่เมื่อ 65 ล้านปีมาแล้ว ทำให้เกิด “ไฟบรรลัยกัลป์" ล้างโลก จนสิ่งมีชีวิตตายไปสามในสี่ สิ้นยุคไดโนเสาร์ไปเลย ถ้าโลกไม่โดนชนครั้งนั้น อาจไม่เกิดมนุษย์

พระอาทิตย์เป็นเช่นที่เป็นอยู่ คือเป็นแหล่งพลังงานมหาศาล ก็เพราะโปรตอนชนกัน ปลดปล่อยพลังงานออกไปรอบทิศทาง หนึ่งในพันล้านส่วนตกบนโลก ผู้ทำหน้าที่เก็บพลังงานเหล่านั้นไว้คือพืชกับแบคทีเรียบางชนิด

การชนกันของกาแล็กซี่ ทำให้เกิดกาแล็กซี่ใหม่ ดังนั้น การชนกัน (collision) จึงเป็นที่มาของสภาพที่เป็นอยู่ โลกเราก็ถูกสะเก็ดดาวเล็กๆ วิ่งมาชนอยู่เสมอ ที่เราเห็นเป็นผีพุ่งไต้

American Museum of Natural History (AMNH) นี้ใหญ่มาก ใหญ่กว่า Smithsonian National Museum of Natural History

อาคาร AMNH มีถึง 5 ชั้น มีโรงหนัง 2โรง คือ IMAX Theatre กับ Hayden Planetarium Space Theatre ที่ผมเข้าไปดู ซึ่งทำเพดานโค้งให้เหมือนมองจักรวาล มีที่นั่งประมาณ 200 ที่นั่งเท่านั้น เล็กกว่า IMAX 2 โรงที่ผมไปดูที่ Smithsonian

มีทั้ง permanent exhibit และ special exhibit ซึ่งขณะนี้มี special exhibit เป็น attraction ถึง 8 exhibit ผมใช้เวลา 4 ชั่วโมงครึ่งดูได้ไม่ทั่ว ผมประทับใจความรู้ที่ผมได้รับใหม่เรื่องวัฏจักร (cycle) ของสรรพสิ่งในโลก เขาใช้คำว่า โลกเป็นดาวเคราะห์ที่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นพลวัต (Earth is a dynamic planet.) กระบวนการทางธรณีวิทยาและทางชีววิทยา ก่อพลังงานและทำให้ธาตุที่จำเป็นต่อชีวิต (อันได้แก่ C, H, N, O, S, P) มีการไหลเวียนผ่านแหล่งเก็บกักของโลก (global reservoirs) แหล่งเก็บกักมี 4 แหล่ง คือ biosphere, atmosphere, ocean, และ solid earth แล้วเขาก็มีนิทรรศการวัฏจักรของน้ำ ของคาร์บอน ของหิน (rock) ให้ดูเป็นตัวอย่าง

การเปลี่ยนแปลงของวัฏจักรเหล่านี้ เป็นตัวการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ของสภาพแวดล้อมในโลก ดังกรณีโลกร้อนเกิดจากวัฎจักรคาร์บอนถูกมนุษย์ทำให้ขาดสมดุล

ผมไม่เคยคิดถึงวัฏจักรของหิน คิดมาตลอดว่าหินคือหิน เป็นสิ่งแข็งทื่อตายตัว แต่มาชมนิทรรศการนี้แล้วเห็นชัดว่า มีวัฏจักรของหินจริงๆ แต่เวลาของวัฏจักรยาวมาก เป็นล้านปีจึงจะเห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจน และไม่ใช่แค่เป็นวัฏจักรของหินในโลกเท่านั้น เรายังมีหินจากนอกโลกเติมเข้ามาอยู่ตลอดเวลา

ผมเกิดความคิดว่า ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เช่นนี้นำไปสู่ความเข้าใจโลกและชีวิต ทำให้ง่ายต่อการที่จะฝึกใจตนเองให้ไม่ยึดติด ผมชอบชม (ที่จริงคือเรียนรู้จาก) พิพิธภัณฑ์ก็ด้วยเหตุนี้

ผมเกิดความรู้สึกอีกอย่างหนึ่ง ว่าพิพิธภัณฑ์คือแหล่งเรียนรู้ที่ยึดโยงความรู้กับความเป็นจริง ในขณะที่โรงเรียนมีแนวโน้มจะเป็นแหล่งเรียนความรู้ที่ลอย ไม่ค่อยมีกิจกรรมหรือสิ่งที่ยึดโยงความรู้นั้นเข้ากับชีวิตจริง ที่ AMNH นี้ครูพานักเรียนมาชมกันมาก บรรยากาศบางที่จึงเจี๊ยวจ๊าวแบบเด็ก บางที่เด็กนักเรียนจดบันทึกกัน บางที่มีผู้ใหญ่มานั่งวาดรูป

ที่ AMNH มี section แสดงนิทรรศการเกี่ยวกับอเมริกันอินเดียนใหญ่กว่าที่ National Museum of American Indian เสียอีก มีการแบ่งเป็นกลุ่มพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ เช่น อเมริกันอินเดียนทางชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือ ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ในพื้นราบ เป็นต้น เห็นได้ชัดว่ามีวัฒนธรรมประเพณีแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อม ความแตกต่างของนิทรรศการอินเดียนที่ AMNH กับที่ National Museum of American Indian ของ Smithsonian ที่วอชิงตัน ดีซี อยู่ที่ ของ NMAI เน้นมุมมองของตัวคนอเมริกันอินเดียนเอง เน้นให้เขาแสดงภาพลักษณ์ ความคิด ของตนเอง หรือมุมมองจากภายใน แต่ที่ AMNH เป็นมุมมองจากภายนอก คือของคนขาว ผมไม่แน่ใจว่าผมตีความถูกหรือไม่

เนื่องจาก AMNH อยู่ในนิวยอร์ค จึงมีนิทรรศการเกี่ยวกับสภาพธรรมชาติของรัฐนิวยอร์คมากหน่อย มีทั้งนก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์น้ำ เป็นต้น ผมชอบนิทรรศการหุ่นแสดงบรรยากาศบ้านเรือนและความสัมพันธ์ระหว่างคนอเมริกันอินเดียนกับคนขาวในบริเวณนิวยอร์คมาก เลือดเนื้อเชื้อไขนิวยอร์คที่เขายกย่องคืออดีต ปธน. ธีโอดอร์ รูสต์เวลท์ ที่เกิดในเมืองนิวยอร์ค เป็นคนรักและศึกษาธรรมชาติ โดยเฉพาะของ Long Island และ Hudson River Valley เป็นนักล่าสัตว์และเจ้าของไร่ปศุสัตว์ เป็นนักการเมือง นักคิด นักประวัติศาสตร์ นักภูมิศาสตร์ นักสำรวจอัฟริกาและอเมริกาใต้

ในช่วง 3 วันที่ผ่านมาฝนตก วันนี้ตอนเย็นฝนตกมาก ผมนั่งแท็กซี่กลับจากพิพิธภัณฑ์ ฝนตกรถติด ไม่ต่างจากที่กรุงเทพฯ เลย พอฝนตกอากาศก็เย็นลง และพอฝนตกภรรยาและแต้วก็จะไม่อยากไปไหน แต่ผมฝึกตัวเองมาแต่เด็กให้ไม่กลัวฝน ผมจึงไปชมพิพิธภัณฑ์คนเดียวสบายไป ไม่ต้องเกรงใจคนรอ

ภาพวาดชื่อ Old New York

รูปกวาง Elk ที่ไร่ของตระกูล Roostvelt ผมได้ลิ้มรสเนื้อกวางนี้เมื่อวาน

นิทรรศการในห้อง biodiversity

Hominid หญิงชายกำลังเดินเมื่อ 3.5 ล้านปีก่อน

ภาพวาดแสดงความเปลี่ยนแปลงบริเวณรัฐนิวยอร์คในอดีต 1 ก่อนยุคคนขาว

คนขาวเริ่มตั้งถิ่นฐาน ค.ศ. 1790

ค.ศ. 1840

ค.ศ. 1870

ค.ศ. 1950

หุ่นแสดงวิถีชีวิตคนอินเดียน ในภาพเป็นการทำ tanning หนังสัตว์

พิธี Sun Dance ของอเมริกันอินเดียน

Sun Stone ของเผ่า Aztec

อวโลกิเตศวร ศิลปะทิเบต เอามาให้ดูเพื่อแสดงว่า AMNH มีนิทรรศการที่หลากหลายด้านมาก

ห้องโถงทางเข้า AMNH

วิจารณ์ พานิช
27 ต.ค. 50
นิวยอร์ค

หมายเลขบันทึก: 148575เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2007 09:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 เมษายน 2021 08:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท