เสรีนิยม ประชานิยม หรือรัฐสวัสดิการ (3): "ว่าด้วยความยากจน"


เนื่องจาก ทีดีอาร์ไอกำลังจะสื่อสารกับรัฐและสังคมซึ่งเป็นคนนอกที่ไม่จน (ไม่ได้ตั้งใจบอกชาวบ้านคนจน) ตอนแรกทีดีอาร์ไอจึงต้องอธิบายให้ฟังก่อนว่า คนจนคือใคร มีลักษณะอย่างไร

งานของทีดีอาร์ไอวางแกนของเรื่องไว้ที่ความยากจน  โดยให้ตัวละครหลักหรือพระเอกของเรื่อง  คือ รัฐ   คงด้วยเหตุผลคือ  เพื่อเป็นข้อคิดให้นักการเมืองที่กำลังจะมาจากการเลือกตั้งประการหนึ่ง  และเพราะคิดว่า ตลาดล้มเหลวและชุมชนก็ ทำไม่ได้ทุกเรื่อง  อีกประการหนึ่ง  (เราสรุปความเอาจากตอนที่อาจารย์ตอบข้อคิดเห็น)   แต่บังเอิญว่า  กรณีที่ทีดีอาร์ไอเลือกศึกษาในกลุ่มย่อย   คือ สินเชื่อ  การศึกษา  สวัสดิการ และสิ่งแวดล้อมนั้น  ชุมชนทำกันคึกคักเป็นขบวนใหญ่น่าติดตาม  แก้ปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรมในระดับหนึ่ง  (มากน้อยแล้วแต่เรื่อง แล้วแต่พื้นที่)  การวางชุมชนเอาไว้ข้างๆฉาก  จึงทำให้ ทางเลือก ที่เสนอนั้นยังไม่ครบ  เกิด ช่องว่าง เพราะขาดตัวละครสำคัญที่ดำรงอยู่จริงอีกชุดหนึ่ง     แม้ว่าทีดีอาร์ไอจะเชิญพี่ศิวโรจน์จากกลุ่มหนองสาหร่าย  และครูชบ ขึ้นเวทีด้วยในกลุ่มย่อยที่ 1  และ 3  ก็ตาม  (ถ้าทีดีอาร์ไอศึกษาบทบาทชุมชน ก็จะเป็นประโยชน์ต่อชาวบ้านด้วย)   แต่เอาละ  จะอนุโลมว่า เวลาศึกษามีน้อย งบจำกัด ...

  

เนื่องจาก  ทีดีอาร์ไอกำลังจะสื่อสารกับรัฐและสังคมซึ่งเป็นคนนอกที่ไม่จน    (ไม่ได้ตั้งใจบอกชาวบ้านคนจน)   ตอนแรกทีดีอาร์ไอจึงต้องอธิบายให้ฟังก่อนว่า  คนจนคือใคร มีลักษณะอย่างไร    จะได้ ไล่ล่าหาคนจน  ผู้เป็นเป้าหมายของนโยบายสวัสดิการ   (ซึ่งข้อมูลบอกว่าเหลืออยู่ 10%  และงานอาจารย์ณรงค์ก็บอกว่า หาตัวยาก  เพราะคนจนจริงๆ (ที่ไม่ใช่ผู้ป่วย คนพิการ คนชรา) จะไม่อยู่กับที่)    เราคิดว่าการควานหาหรือกรองคนเพียง 10% ด้วยข้อมูลมหภาค ก็เหมือนใช้ตะแกรงร่อนตาห่าง ไม่น่าจะคัดกรองคนจนออกมาได้จริง    คำตอบน่าจะอยู่ที่หมู่บ้าน  คือ คนในหมู่บ้านนั่นแหละรู้ดี  การศึกษาจึงควรเป็นระดับจุลภาคที่ลงลึกมากกว่าแล้วค่อยรวมข้อมูลเป็นมหภาคอีกที

  

และผลก็ออกมาเช่นนั้นจริงๆ   คือ  ข้อมูลระดับมหภาคไม่ได้บอกอะไรใหม่มากนัก  แม้จะมีเทคนิคการคำนวณที่ดีกว่าเดิม (odd ratios)   คือ  พบว่า ในชนบท  กลุ่มคนที่มีการศึกษาไม่เกินป.4   กลุ่มคนที่เป็นครอบครัวขยาย  และครอบครัวที่มีเพียงเด็กและคนชรา  มีโอกาสที่จะเป็นคนจน

  

ที่จริงวิธีการศึกษาไม่ได้บอกความสัมพันธ์เชิงเหตุและผล  แต่ ดร.สมชัยเผลอไปตีความว่า  การได้เรียนสูงกว่าระดับประถมมีส่วนช่วยให้หลุดพ้นความยากจนได้  พูดสั้นๆก็คือ การศึกษาน้อยทำให้ยากจน   ทั้งๆที่ตัวเลขที่เก็บมาลอยๆอาจตีความว่า   ยากจนทำให้มีการศึกษาน้อย   ก็ยังได้

  

ดร.สมชัยทบทวนงานศึกษาอื่นๆ 2-3  ชิ้น ที่น่าสนใจ   แต่ท่านไม่ได้สรุปไว้   เราอ่านแล้วสรุปเอาเองว่า   จากข้อมูลมหภาคเหล่านี้   เราบอกอะไรไม่ได้มากนักเกี่ยวกับความยากจน  

  

เช่น  งานของ Prof. Townsand   น่าสนใจตรงที่ได้ติดตามศึกษาคนกลุ่มเดียวกันในระยะ 7  ปี  แล้วพบว่า  สังคมไทยมีการเปลี่ยน ชั้นรายได้  กันคึกคัก   (ปี 2540 เทียบกับปี 2546)  คนเคยจน(รายได้) กลับรวยขึ้นก็มี  คนรวยกลับจนลงก็มี    ด้วยเหตุนี้คนจนที่เราเห็นๆนั้น อาจจนชั่วคราว  แต่ ดร.สมชัยก็ไม่ได้อธิบายว่า เพราะเหตุใด   และหากเราเข้าใจข้อเท็จจริงว่า คนส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ  รายได้ย่อมมีความผันผวนสูง ทั้งยังเป็นช่วงหลังวิกฤตที่ปัญหาอาจยังไม่ลงตัว และหากถือตามงานศึกษาชิ้นอื่นของ ดร.สมชัยเองที่เสนอแนะว่า  ในสังคมไทยนั้น  ควรดูความยากจนจากด้านรายจ่าย มากกว่ารายได้  ก็เลยยิ่งสงสัยว่า  ถ้าเช่นนั้น การเปลี่ยนชั้นรายได้จะมีนัยยะต่อการเปลี่ยนชั้นความยากจนมากน้อยเพียงใด

  

ดร.สมชัยอ้างอิงอีกงานหนึ่งที่ดูระดับสินทรัพย์เทียบกับหนี้สินในปี 2549   บอกว่าวิธีนี้ดูความยากจนได้ดีกว่าดูด้านรายได้ หรือ ด้านรายจ่ายเสียอีก   งานชิ้นดังกล่าวพบว่า   แม้แต่คนจนที่สุดก็ยังมีสินทรัพย์มากกว่าหนี้สินอยู่มาก   ดร.สมชัยตั้งข้อสังเกตในเวทีว่า  ที่ว่า จน  ก็คือ ขาดสภาพคล่อง  มากกว่า  เราเกิดคำถามในใจว่า   ในสภาพที่ธุรกิจสินเชื่อ  ธุรกิจเงินผ่อน เฟื่องฟูอยู่ในขณะนี้  และชาวบ้านเองยังมีกองทุนต่างๆ ให้ใช้หมุนเวียนอีกหลายกอง   การดูแค่สินทรัพย์มากกว่าหนี้สิน มันหลอกตาอะไรหรือเปล่า    (ท่านไม่ได้บอกวิธีคำนวณไว้ให้)  เราจะทำความเข้าใจตรงนี้ในประเด็นเรื่องความยากจน อย่างไร

  

ฉะนั้น   การดูด้านรายจ่ายเพื่ออธิบายความยากจนน่าจะน่าเชื่อถือกว่า  แต่งานของ ดร.สมชัยคราวนี้ก็ไม่มีข้อมูลดังกล่าว

  

งานศึกษาของดร.สมชัยชิ้นนี้มองระดับบุคคล  ตั้งใจเพียงระบุลักษณะคนจน  ไม่ได้ตั้งใจบอกสาเหตุของความยากจน   (ปัญหาเชิงโครงสร้าง ปัญหาเชิงกระบวนการ  ปัญหาเชิงพฤติกรรม)  เราจึงสรุปเอาเองว่า  ถึงที่สุด  งานชิ้นนี้ไม่ได้บอกอะไรใหม่ (ที่จะชี้หาทางออก) และไม่ได้บอกอะไรมาก (เพราะยังงงๆกับการตีความ)   งานชิ้นอื่นๆเรื่องความยากจนของ ดร.สมชัย ยังบอกอะไรชัดเจนกว่านี้

  

นึกถึงภาพ ตุ่มรั่วที่เติมน้ำไม่เต็ม ของชาวบ้าน ที่มีทั้งรายรับ รายจ่าย  หนี้สินอยู่ในภาพเดียวกัน  ชาวบ้านบอกได้ว่า รูรั่วของตนมาจากไหนบ้าง  รูรั่วไหนบ้างที่พอจะอุดเองได้ และจะมีวิธีอุดแต่ละรูอย่างไร  ถ้านักวิชาการได้ข้อมูลจุลภาคเช่นนั้นมาหาผลในระดับมหภาค  ที่จะเสนอเป็นนโยบายสนับสนุนพลังท้องถิ่นก็น่าจะดีไม่น้อย  

  

ครั้งหน้าจะต่อด้วยประเด็นของอาจารย์อัมมารเรื่องประชานิยมและรัฐสวัสดิการค่ะ

 
หมายเลขบันทึก: 148044เขียนเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2007 01:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มีนาคม 2012 21:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
เล่าสนุกเหมือนวิจารณ์วรรณกรรมจริงๆ
  • สวัสดีครับ
  • อ่านประโยคที่ว่า "และหากถือตามงานศึกษาชิ้นอื่นของ ดร.สมชัยเองที่เสนอแนะว่า  ในสังคมไทยนั้น  ควรดูความยากจนจากด้านรายจ่าย มากกว่ารายได้" แล้วรู้สึกแปลก ๆ ครับ
  • คือ คนแต่ละคน มีนิสัยใช้จ่ายเฉพาะตัว คือ แปรผันตรงตามรายได้
  • บางคน ใช้จ่ายให้พอดีกับรายได้เสมอ
  • บางคน ชอบใช้จ่ายเกินรายได้
  • บางคน ใช้จ่ายน้อยกว่ารายได้มาก
  • เป็นนิสัยการใช้จ่าย ไม่เกี่ยวกับรายได้ (ยกเว้นคนที่รายได้น้อยจนไม่พอยังชีพขั้นพื้นฐาน)
  • ถ้าดูจากรายจ่ายเทียบกับรายได้ สิ่งที่เห็น ผมไม่คิดว่าเป็น ความจน แต่เป็น พฤติกรรมการใช้เงิน มากกว่าครับ ?

 

อาจารย์ภีม...

ครูใหญ่มาตรวจงานรึเปล่าคะ   ยังทำการบ้านไม่เสร็จเลยค่ะ

การบ้านที่ว่า คือ นัยยะต่อสวัสดิการชุมชนจะเป็นอย่างไร   จะพยายามดูว่าจะสกัดอะไรออกมาได้บ้าง... ต้องค่อยๆคิดค่ะ

สวัสดีค่ะคุณ wwibul

การวัดความยากจนดูได้หลายทางค่ะ  ในประเทศพัฒนาแล้ว  คนจะมีรายได้ค่อนข้างแน่นอนก็มักจะดูด้านรายได้

การดูด้านรายจ่ายจะสัมพันธ์โดยตรงกับการกินการอยู่ซึ่งจะเชื่อมโยงโดยตรงกับสวัสดิการ

ประเทศกำลังพัฒนา  คนจำนวนมากมีรายได้ไม่แน่นอน  แต่รายจ่ายพื้นฐานเพื่อการดำรงชีวิตนั้นมีอยู่แน่ๆ   ก็เลยใช้รายจ่ายขั้นต่ำเพื่อการดำรงชีวิต เป็นเกณฑ์   คนในบริบทสังคมเดียวกัน จะมีรายจ่ายขั้นต่ำเพื่อการดำรงชีวิตในระดับใกล้เคียงกัน  ใครมีรายจ่ายต่ำกว่านี้ (คิดทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงิน)  แสดงว่า มีไม่พอกินแน่ๆ  จัดเป็นคนจน ค่ะ

แต่ "คนจน"  ก็มีหลายประเภทอีก

ทั้ง "จนชั่วคราว"  "จนเรื้อรัง"  "เสี่ยงที่จะจน"

 บางครั้งเราก็มองความยากจนจากสาเหตุ  เช่นบอกว่า   คนจนคือคนที่ไม่มีที่ทำกิน

สาเหตุความยากจน มีทั้งจากพฤติกรรม จากกระบวนการ  จากโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคม

ที่เรียกว่า "พฤติกรรมการใช้เงิน" นั้น อาจนำไปสู่การจนชั่วคราว  จนถาวร  หรือไม่จนก็ได้   เรื่องมันเกี่ยวๆพันๆกันอยู่

ความยากจนจึงเป็นเรื่องอีรุงตุงนังที่แก้ปมได้ยากค่ะ  บางคนไม่ได้ "จนจริง"  แต่ "จนโดยเปรียบเทียบ" ก็มีค่ะ   ประเด็นหลังเป็นเรื่องของการกระจายรายได้และบานปลายไปเป็นความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคมได้ค่ะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท