Proceedings มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ (๒๖)_๑


Proceedings มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ (๒๖)_๑

ภาพรวมของเนื้อหากิจกรรมนิทรรศการและ KM Tour

         ภายในงานมหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ 2 “เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง”  วันที่ 1-2 ธันวาคม 2548  ณ  โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพ ฯ  มีการแสดงนิทรรศการ 29 ตัวอย่าง  “คลังความรู้มีชีวิต” จาก 5 ภาคส่วนร่วมขับเคลื่อนการจัดการความรู้ (KM)ในสังคมไทย ได้แก่ พลังภาคี : การส่งเสริมและการเรียนรู้ KM, การจัดการความรู้ภาคประชาสังคม, การจัดการความรู้ภาคราชการไทย,  การจัดการความรู้ ภาคการศึกษาและการจัดการความรู้  ภาคเอกชน  ในการนำเสนอภาพรวมของเนื้อหากิจกรรมดังกล่าว ก็เพื่อให้เห็นถึง  1) วัตถุประสงค์และเป้าหมายในการจัดการความรู้ขององค์กร 2) ขั้นตอนกระบวนการและเครื่องมือที่ใช้ในการจัดการความรู้ขององค์กรนั้น 3) ผลของการจัดการความรู้ก่อให้เกิดความรู้ และการเผยแพร่รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากความรู้  4) การขยายผลหรือแนวทางในการยกระดับงาน รวมทั้งข้อสังเกตที่เป็นปฏิกิริยาของผู้คนที่มีปฏิสัมพันธ์กับนิทรรศการนั้น ๆ โดยรวม
 จากการสังเกตกิจกรรมนิทรรศการและ KM Tour ทั้งจากเอกสารเผยแพร่ในงาน  ป้ายนิทรรศการและปฏิกิริยาของผู้เข้าร่วมงาน พบว่า การนำเสนอผลงานของแต่ละองค์กรในนิทรรศการนั้น อาจสะท้อนการเคลื่อนตัวที่แตกต่างกันไปในเรื่องของการจัดการความรู้ ที่อาจสอดคล้องกับประเด็นทั้ง 5 ข้างต้นมากน้อยแตกต่างกันไปบ้างตามพัฒนาการของการดำเนินงานในแต่ละองค์กร โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
 
1.พลังภาคี : การส่งเสริมและการเรียนรู้ KM
1.1  สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)
         สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) เป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนขบวนการจัดการความรู้ในสังคมไทย  มุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ   มุ่งหวังขับเคลื่อนสังคมไทยไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ในทุกภาคส่วนของสังคม ด้วยการใช้เครื่องมือที่เรียกว่า การจัดการความรู้ (knowledge manangement) ควบคู่ไปกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่มผู้ปฏิบัติการจัดการความรู้ตัวจริงที่อยู่ในชุมชนต่าง ๆ  โดยที่ สคส.ให้การสนับสนุนด้านกระบวนการในการนำการจัดการความรู้ไปสู่การปฏิบัติให้แก่หน่วยงานหรือชุมชนอื่นๆ ที่สนใจนำการจัดการความรู้ไปใช้จริง มีเป้าหมายชัดเจน มีแผนงานรองรับทั้งระยะสั้นและระยะยาว  นอกจากนี้ สคส.ยังส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อการเรียนรู้ และพัฒนาทักษะที่เกี่ยวข้องกับการจัดการความรู้เชื่อมโยงหลักการและวิธีการจัดการความรู้เข้าสู่โครงการเพื่อสังคมที่มีการดำเนินการอยู่แล้ว อีกทั้งจัดมหกรรมความรู้ หรือตลาดนัดความรู้เพื่อเคลื่อนสังคมไปสู่ความเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ สังคมเรียนรู้
         นอกจากภารกิจหลักในการเสาะแสวงหาและกระตุ้นให้สังคมขับเคลื่อนชุมชนเพื่อไปสู่การเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ดังกล่าวแล้ว  ภายในองค์กรของ สคส.เองยังนำการจัดการความรู้เข้ามาผนวกกับเนื้องานที่ดำเนินการได้อย่างเป็นธรรมชาติอีกด้วย เริ่มตั้งแต่สิ่งแวดล้อมสถานที่ทำงานที่อากาศปลอดโปร่ง ไม่ทึบด้วยผนังกั้นห้อง  มีระบบการทำงานที่สามารถปรับปรุง เปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์ สมาชิกทุกคนมีอิสระทางความคิด  มีโครงสร้างการทำงานแบบระนาบเดียว ภายหลังเสร็จภารกิจจะมีกระบวนการทบทวนผลการทำงานด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า การถอดบทเรียนหลังการปฏิบัติการ(after action review : AAR) โดยใช้เทคนิคสุนทรียสนทนา  มีการสื่อสารระหว่างกันแบบพบปะเห็นหน้าซึ่งกันและกัน (face to face,f2f )ทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ  เพื่อระดมความคิดนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นในโอกาสต่อไป มีเวทีประชุมประจำสัปดาห์ มีการบันทึกกิจกรรมต่าง ๆ ไว้เป็นคลังความรู้ ที่จะกลับมาสืบค้นหรือปรับปรุงข้อมูลเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนางานในครั้งต่อ ๆ ไป อีกทั้งยังมีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกลุ่มผู้ปฏิบัติอีกด้วย
         อาจกล่าวได้ว่า เครื่องมือการจัดการความรู้ที่ สคส.นำมาประยุกต์ใช้ในการเผยแพร่สู่สังคมนั้น ส่วนใหญ่จะเน้นเครื่องมือที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง อันได้แก่ (1) แผนภูมิแม่น้ำ (river diagram) ,ตารางแห่งอิสรภาพ, บันไดแห่งการเรียนรู้, พื้นที่ประเทืองปัญญา “BA” , ขุมความรู้, (2) เพื่อนช่วยเพื่อน(peer assist), (3) โมเดลปลาทู (4) โมเดลฝูงปลาตะเพียน  (5) การถอดบทเรียนหลังการปฏิบัติการ (after action review : AAR) (6) เรื่องเล่าเร้าพลัง (storytelling) (7) สุนทรียสนทนา (dialogue) และ  (8) บล็อก (blog)
         ผลของการดำเนินการที่ผ่านมาเกิดเป็นชุดความรู้ต่าง ๆ ที่ผลิตออกมาทั้งในรูปแบบของเอกสารสิ่งพิมพ์ วีซีดี และบทความที่เผยแพร่ผ่านทางบล็อก
         การสังเกตปฏิกิริยาของผู้เข้าร่วมประชุม พบว่า ส่วนใหญ่ให้ความสนใจอ่านป้ายนิทรรศการ จดบันทึก ขอเอกสาร และถ่ายรูปเก็บไว้ แต่ไม่มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันระหว่างผู้ชมกับหน่วยงาน ทั้งนี้อาจเนื่องจาก การแสดงนิทรรศการดังกล่าวไม่มีผู้แทนจากหน่วยงานมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้เข้าเยี่ยมชม

1.2  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)  : องค์กรสร้างความรู้กับการจัดการความรู้
         สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นองค์กรแห่งการสร้างองค์ความรู้ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งย่อมหมายความว่าองค์กรเองก็ควรเป็นองค์กรที่เรียนรู้ด้วยเช่นเดียวกัน สกว. ได้พัฒนาระบบการบริหารจัดการองค์กรมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเจ้าหน้าที่ประจำการ (program officer: PO) สกว.ได้นำกระบวนการจัดการความรู้เข้ามาใช้ในการพัฒนา โดยมุ่งหมายว่า การจัดการความรู้จะเป็นเครื่องมือช่วยทำให้กระบวนการบริหารจัดการงานวิจัยมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และการบริหารจัดการภายในองค์กร การสร้างกระบวนการจัดการความรู้จึงมุ่งไปที่คนทำงานในสองส่วนคือ นักวิจัย และเจ้าหน้าที่ของ สกว. ซึ่งสองส่วนต้องทำงานเกี่ยวข้องกัน
         ในการดำเนินการดังกล่าว สกว.ใช้การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือในพัฒนาศักยภาพพนักงานด้วยการประเมินพนักงานประจำปีโดยให้พนักงานเข้ามามีส่วนร่วม  ในระยะแรกดำเนินการจัดการความรู้ในกลุ่มเจ้าหน้าที่ประจำการ  จัดให้มี workshop เริ่มด้วย 1) สมาชิกร่วมกำหนดเป้าหมายในการจัดการความรู้ คือ การเป็นเจ้าหน้าที่ประจำการมืออาชีพ 2) ค้นหาองค์ประกอบหลัก(core competencies) ของความเป็นเจ้าหน้าที่ประจำการ โดยใช้กระบวนการเล่าเรื่องจากความภูมิใจของพนักงาน 3) ร่วมกันกำหนดเกณฑ์ในการประเมินพนักงานตามองค์ประกอบหลักของการเป็นเจ้าหน้าที่ประจำการมืออาชีพตามที่สรุปได้
         การดำเนินงานที่ผ่านมาทำให้ได้ผลลัพธ์ที่สำคัญคือ แบบประเมินพนักงานที่เป็นผลจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งคาดหมายว่าจะเป็นเครื่องมือที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้ดีขึ้นต่อไป นอกจากนี้ยังพบว่า กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานกับผู้บริหารดีขึ้น สำหรับแนวทางหรือแผนงานในอนาคต สกว. มุ่งจะการสร้างระบบของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งเป็นกลไกของการจัดการความรู้ขึ้นในองค์กร
อนึ่ง การสังเกตปฏิกิริยาของผู้เข้าร่วมประชุม พบว่า ส่วนใหญ่ให้ความสนใจอ่านป้ายนิทรรศการ จดบันทึก ขอเอกสาร และถ่ายรูปเก็บไว้ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันระหว่างผู้ชมกับหน่วยงานไม่มากนัก

1.3   สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กับการจัดการความรู้
         สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นองค์กรอิสระที่สนับสนุนให้องค์กร ภาคี เครือข่ายต่างๆ นำกระบวนการ/วิธีการจัดการความรู้ในภาคธุรกิจมาปรับใช้ในการพัฒนาสังคม  ด้วยเหตุนี้ สสส. จึงสนับสนุนให้เกิดสถาบันการจัดการความรู้เพื่อสังคมหรือ สคส. เพื่อดำเนินการจัดการความรู้ในบริบททางสังคมไทยอย่างเป็นระบบ และขยายแนวคิดเกี่ยวกับการจัดการความรู้ไปสู้ภาคีเครือข่ายอื่น ๆ ในสังคม
โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสกัดความรู้ ความคิดของกลุ่มคนที่มีเป้าหมายเดียวกันที่มุ่งหวังให้เกิดสิ่งดี ๆ ขึ้นในสังคม  เพื่อนำความรู้ดังกล่าวมาใช้ในการขับเคลื่อนสังคมต่อไป นอกจากนี้ยังได้เริ่มดำเนินการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในสำนักงานของ สสส. เองอีกด้วย เพื่อใช้ในการพัฒนา สสส. ให้เป็นองค์กรเรียนรู้
         ในการดำเนินงานดังกล่าว สสส. เข้าไปร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ โดยพิจารณาจากเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของแต่ละเครือข่ายเป็นหลัก โดยเข้าไปมีส่วนร่วมในการให้การสนับสนุนให้การแลกเปลี่ยนดำเนินไปได้ด้วยดี ไม่ใช่ในฐานะผู้ให้ทุน
อย่างไรก็ตามจากการสังเกตปฏิกิริยาของผู้เข้าร่วมงาน พบว่า ส่วนใหญ่ให้ความสนใจอ่านป้ายนิทรรศการ แต่ไม่มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันระหว่างผู้ชมกับหน่วยงาน ทั้งนี้เนื่องจากการแสดงนิทรรศการดังกล่าวไม่มีผู้แทนจากหน่วยงานมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้เข้าเยี่ยมชม

1.4   HA กับการจัดการความรู้ในโรงพยาบาล สถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล
         สถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล(พรพ.) เป็นองค์กรที่ประยุกต์ใช้การจัดการความรู้เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล  โดยมีเป้าหมายเพื่อจัดการสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การสร้างกระบวนการเรียนรู้ และใช้ความรู้ในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ  อีกทั้งส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพ รวมทั้งการแสวงหาความรู้ที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ของโรงพยาบาล โดยมีการประเมินและรับรองเป็นแรงจูงใจและให้กำลังใจ  ในการดำเนินงานพรพ.ผสมผสานระหว่างแนวคิด หลักการและกระบวนการของ HA (hospital accreditation) และ KM (knowledge management) เข้าด้วยกัน โดยจะเน้นในหลักการจัดการความรู้มากกว่ารายละเอียด ดังนั้นในกระบวนการจัดการความรู้ในรูปแบบของ พรพ.จึงอาจไม่ครบทุกขั้นตอน  แต่มีการเลือกใช้ขั้นตอนของการจัดการความรู้ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของแต่ละโรงพยาบาล  ซึ่งมีกิจกรรมหลักได้แก่ รวบรวมและสร้างองค์ความรู้/แนวทางการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล สร้างความตื่นตัว เผยแพร่ความรู้ ฝึกอบรม กระตุ้นการพัฒนาต่อเนื่องเป็นลำดับขั้น สร้างเครือข่ายความร่วมมือ/เครือข่ายการเรียนรู้ และประเมิน รับรองคุณภาพ
         อนึ่ง ในการสังเกตปฏิกิริยาของผู้เยี่ยมชมนิทรรศการ พบว่า ส่วนใหญ่ให้ความสนใจอ่านป้ายนิทรรศการ จดบันทึก ขอเอกสาร และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันระหว่างผู้เยี่ยมชมนิทรรศการกับหน่วยงานไม่มากนัก

1.5   การจัดการความรู้ “แก้ไขปัญหาหนี้สินโดยชุมชน” ขบวนองค์กรชุมชนและสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน
         สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์กรมหาชน) มีแนวทางการพัฒนาองค์กรไปสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ทั้งในหมู่ผู้ปฏิบัติงาน(เจ้าหน้าที่)และขบวนการองค์กรชุมชน  โดยใช้การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้ปฏิบัติงาน(เจ้าหน้าที่)และแกนนำชุมชน ซึ่งทั้งสองส่วนต้องประสานการทำงานร่วมกัน
         ในระยะแรกสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนเริ่มกระบวนการจัดการความรู้ด้วยการพัฒนาทักษะการจัดการความรู้ให้กับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการของหน่วยพัฒนาขบวนการเศรษฐกิจและทุนชุมชนที่รับผิดชอบงานด้านนี้ ร่วมกับส่วนประเมินผลและพัฒนาองค์ความรู้ โดยใช้ประเด็นการแก้ไขปัญหาหนี้ของชุมชนเป็นต้นแบบเพื่อหาแนวทางการขับเคลื่อน และนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานจริงร่วมกับชุมชน  เริ่มด้วยกำหนดเป้าหมาย/พันธกิจของการจัดการความรู้ร่วมกันของขบวนองค์กรชุมชน คือ “การแก้ไขปัญหาหนี้สินโดยชุมชน” เป็นเป้าหมายร่วม, มีกระบวนการจัดการความรู้ในชุมชนต่าง ๆ โดยเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการของหน่วยพัฒนาขบวนการเศรษฐกิจมีบทบาทในการเป็น “คุณอำนวย” จัดกระบวนการจัดการความรู้ในชุมชนที่มีประเด็นในการจัดการความรู้ที่แตกต่างหลากหลาย  (เช่น การบูรณาการกองทุนชุมชน, การพัฒนาที่อยู่อาศัยและการใช้หนี้สินเพื่อการพัฒนา เป็นต้น) โดยให้ความสำคัญกับการดำเนินการจริงในพื้นที่ มีการสนับสนุนชุมชนอย่างต่อเนื่อง ผสานวิธีการทำงานร่วมกันระหว่างจ้าหน้าที่และแกนนำชุมชน ใช้กระบวนการเพื่อนช่วยเพื่อน ให้ระหว่างชุมชนแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเอง
         ผลลัพธ์สำคัญที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานที่ผ่านมาเกิดเป็นคลังความรู้เรื่อง กระบวนการแก้หนี้สินโดยชุมชนและสร้างเครือข่าย  ที่ประกอบด้วยชุดความรู้ย่อยในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การบูรณาการกองทุนชุมชน การพัฒนาที่อยู่อาศัย เป็นต้น มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันผ่านตลาดนัดความรู้ “การแก้ไขปัญหาหนี้สินโดยชุมชน” เพื่อถอดรูปธรรมความสำเร็จร่วมกันและนำประสบการณ์ ความรู้ เทคนิควิธีการใหม่ ๆ ไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตนเองและขยายผลไปสู่พื้นที่อื่นต่อไป
         สำหรับปฏิกิริยาของผู้เข้าร่วมประชุม พบว่า ส่วนใหญ่ให้ความสนใจอ่านป้ายนิทรรศการ จดบันทึก ขอเอกสารและถ่ายรูปเก็บไว้  ในขณะที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้เยี่ยมชมกับหน่วยงานมีไม่มากนัก

1.6  การใช้ระบบบล็อก GotoKnow.org เพื่อการจัดการความรู้
         บล็อก(blog) เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่นำมาใช้ในการจัดการความรู้   โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อใช้เทคโนโลยีเพื่อการจัดการความรู้เชิงลึก เป็นการบันทึกประสบการณ์ ความคิด ความรู้และเทคนิคการทำงานสู่บุคคลอื่น และจัดการความรู้สำหรับปัจเจกบุคคลและชุมชนนักปฏิบัติสำหรับเป็นขุมความรู้รวมของสังคมไทย  โดยใช้การบันทึกในรูปแบบของไดอารี่เพื่อบอกเล่าประสบการณ์ ความรู้ ความคิดของตนเองผ่านทางอินเทอร์เน็ต  มีการจัดกลุ่มของบันทึกแต่ละบันทึกด้วยคำถามหลัก (key word) ที่แทนแก่นความรู้ของบันทึกนั้นๆ มีสถิติแสดงจำนวนผู้เข้าชมและข้อคิดเห็นต่อบันทึกนั้นๆ
         ผลลัพธ์สำคัญที่ได้จากการดำเนินงานที่ผ่านมาคือ ผู้เขียนบันทึกได้พัฒนาคุณภาพในการถ่ายทอดความรู้  การเขียน  การฝึกคิด  ฝึกประมวลความรู้และต่อยอดความรู้ความคิดของตนเอง นอกจากนี้ยังพบว่ามีการขยายไปสู่กลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย โดยการเผยแพร่ผ่านทางอินเทอร์เน็ต
         อนึ่ง การสังเกตปฏิกิริยาของผู้เข้าร่วมประชุม  พบว่า ส่วนใหญ่ให้ความสนใจอ่านป้ายนิทรรศการ จดบันทึก ขอเอกสารและมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันระหว่างผู้เยี่ยมชมนิทรรศการกับหน่วยงานเกี่ยวกับกระบวนการในการจัดทำบล็อกค่อนข้างมาก

2. การจัดการความรู้ภาคประชาสังคม(จัดการความรู้อัตโนมัติและจัดการความรู้ประยุกต์)
2.1  “ฟ้าสู่ดิน” การจัดการความรู้ระดับชาวบ้าน
         เครือข่ายชาวบ้านเขตอำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ เห็นความสำคัญของดินที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตการทำมาหากินของชาวบ้านในการทำเกษตรกรรม แต่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือกลับไม่เอื้อต่อการเพาะปลูกที่ได้ผลดีนัก จึงจำเป็นต้องหาความรู้และสร้างความรู้ที่เหมาะสมกับบริบทของชาวบุรีรัมย์ โดยใช้การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือ เพื่อศึกษาการสร้างความรู้และการจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของชาวบ้านโดยใช้กรณีศึกษาในการปรับปรุงดิน  เชื่อมโยงกิจกรรมและความรู้ต่างๆ สู่เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน สู่นักวิชาการ สู่เยาวชนพร้อมประมวลความคิด กิจกรรมความรู้ต่างๆ ที่เกิดขึ้นไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง
          กระบวนการจัดการความรู้ฉบับชาวบ้านนี้เริ่มด้วยการระดมความคิดในชุมชน  ค้นหาภูมิปัญญาผู้รู้เรื่องดินในชุมชน ผสานแนวคิดเชิงวิชาการร่วมกับนักวิชาการ นักวิจัยและส่วนราชการในกรมกองต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรกรรม ศึกษาดูงานจากเกษตรกรในภูมิภาคอื่นๆ  ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้ระหว่างกัน นำความรู้ที่ได้ไปทดลองปฏิบัติ และมีเวทีในการแบ่งปันความรู้ที่ได้จากการทดลองปฏิบัติร่วมกัน
         ผลจากการดำเนินการดังกล่าวทำให้สมาชิกในชุมชนสามารถแก้ปัญหาและปรับปรุงบำรุงดินของตนเองได้ เกิดเป็นชุดความรู้ในประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับดินที่สอดคล้องกับความต้องการของชาวบ้านอย่างแท้จริง อาทิ ชุดความรู้เรื่องการปลูกพืชคลุมดิน การสร้างหน้าดินโดยใช้ใบไม้กิ่งไม้ การปรับปรุงดินโดยใช้ต้นไม้ที่ทนแล้งเป็นตัวเบิกแล้วไถกลบคืนคุณค่าให้กับดิน เป็นต้น สำหรับการเผยแพร่ความรู้ต่างๆ จะดำเนินการผ่าน “คุณอำนวย” ในพื้นที่ การเพิ่มฐานการเรียนรู้ (พื้นที่ปฏิบัติการ) การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในฐานการเรียนรู้ นอกจากนี้ยังมีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ และผ่านทางเว็บบล็อก
         เมื่อชุมชนสามารถแก้ปัญหาของตนเองได้แล้ว แนวทางในการดำเนินงานในระยะต่อไป ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติจริงจะถูกแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันทั้งภายในเครือข่ายสมาชิกและนอกเครือข่าย ผสมผสานกับความรู้จากนักวิชาการ เกิดเป็นความรู้ใหม่ในเรื่องการทำการเกษตรอย่างรอบด้านเพื่อนำไปพัฒนาวิชาชีพของชาวบ้านได้อย่างแท้จริง และคาดว่าจะเกิดความรู้ความเข้าใจในชุมชนของตนเองมากขึ้นเพื่อนำความรู้และความเข้าใจมาพัฒนา ให้เกิด “คุณอำนวย” และ “คุณกิจ” ที่มีประสิทธิภาพในชุมชนอย่างกว้างขวาง
          อนึ่ง การสังเกตปฏิกิริยาของผู้เข้าร่วมประชุม พบว่า ส่วนใหญ่ให้ความสนใจอ่านป้ายนิทรรศการ จดบันทึก ขอเอกสาร และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันระหว่างผู้เยี่ยมชมนิทรรศการกับหน่วยงานไม่มากนัก

2.2   การส่งเสริมการจัดการความรู้เรื่องการทำนาข้าวในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน จ. สุพรรณบุรี
          มูลนิธิข้าวขวัญเป็นองค์กรที่ทำงานด้านการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับเกษตรกรรมยั่งยืนและพัฒนาปรับปรุงอนุรักษ์พันธุ์ข้าวไทยร่วมกับสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคมดำเนินโครงการ “การส่งเสริมการจัดการความรู้ เรื่องการทำนาข้าวในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน” เพื่อชักชวนชาวนามาร่วมกันหาทางออก    เพื่อลดต้นทุนการผลิตและการพึ่งตนเอง      รวมทั้งสุขภาวะที่ดีของชาวนา ดำเนินการในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี โดยใช้การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือ  เพื่อส่งเสริมการจัดการความรู้เรื่องการทำนาข้าวในระบบเกษตรกรรมยั่งยืนและพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรให้สามารถจัดการระบบเกษตรของตนเองได้
         การส่งเสริมการจัดการความรู้เรื่องการทำนาข้าวในระบบเกษตรกรรมยั่งยืนของมูลนิธิข้าวขวัญ เน้นการใช้กระบวนการจัดการความรู้ที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม เริ่มตั้งแต่การกำหนดเป้าหมายและผลลัพธ์ที่ต้องการร่วมกันระหว่างมูลนิธิข้าวขวัญและเกษตรกร ใช้กระบวนการกลุ่มและกระบวนการเรียนรู้จากการปฏิบัติของชาวนาผ่านกลไกโรงเรียนชาวนา มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน สรุปบทเรียนทั้งหมดของชาวนาและมูลนิธิร่วมกัน และขยายผลผ่านสื่อมวลชน และสื่อเพื่อการเรียนรู้อื่น ๆ
ผลลัพธ์ที่สำคัญอันเกิดจากการดำเนินการดังกล่าวนอกจากองค์ความรู้เกี่ยวกับการทำนาแบบเกษตรกรรมยั่งยืนแล้ว ยังพบว่า มีการเปลี่ยนแปลงของนักเรียนชาวนาเกี่ยวกับเปลี่ยนวิธีคิด กระบวนทัศน์และจิตสำนึก เกิดการเรียนรู้ถึงกระบวนการทำนาแบบเกษตรกรรมยั่งยืน มีความรู้เพิ่มพูนต่อยอดจากความรู้เดิมซึ่งเป็นความรู้ฝังลึก จนเกิดเป็นผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เกี่ยวกับการทำนาแบบเกษตรกรรมยั่งยืนในทุก ๆ พื้นที่
         ในส่วนของปฏิกิริยาของผู้คนที่มีปฏิสัมพันธ์กับนิทรรศการนั้น พบว่า ผู้เยี่ยมชมนิทรรศการให้ความสนใจ จดบันทึก ขอเอกสารและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับหน่วยงานค่อนข้างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความสนใจเกี่ยวกับผลผลิตที่ได้จากการจัดการความรู้ เช่น การทำปุ๋ย เป็นต้น

2.3   การจัดการความรู้เครือข่ายโรงเรียนชาวนานครสวรรค์
         สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรในจังหวัดนครสวรรค์อันเป็นผลเนื่องมาจากการใช้สารเคมีในการทำเกษตรกรรมมาเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้สภาพดินเสื่อม ระบบนิเวศน์เปลี่ยนแปลงไปต้นทุนในการทำนาเพิ่มสูงขึ้น วิถีชีวิตของเกษตรกรเปลี่ยนแปลงไป กลุ่มนครสวรรค์ฟอรั่มหรือเครือข่ายโรงเรียนชาวนานครสวรรค์จึงเกิดขึ้น โดยมีกลยุทธ์ของการดำเนินงานในรูปแบบของ “โรงเรียนชาวนา” ที่เคยมีการดำเนินการอยู่ในหลายพื้นที่มาลองใช้กับชาวนานครสวรรค์ แต่มีกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นรูปแบบเฉพาะของตนเอง  โดยมีเป้าหมายที่จะใช้การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการแก้ปัญหาเรื้อรังของการทำนา 
         เริ่มกระบวนการเรียนรู้โดยการจุดประกายความคิดเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาโดยใช้กระบวนการทบทวนปัญหาของเกษตรกรที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ค้นหาสาเหตุของปัญหาและแนวทางการแก้ไข  กำหนดเป้าหมายร่วมกัน  เรียนรู้จากการปฏิบัติจริงภายใต้หลักสูตรที่โรงเรียนชาวนากำหนดขึ้น เป็นการนำความรู้จากภายนอกมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับพื้นที่ โดยให้ความสำคัญกับการจดบันทึกรายละเอียดทุกขั้นตอนของการปฏิบัติ นำผลที่ได้จากการปฏิบัติมาร่วมแลกเปลี่ยน
ในการดำเนินการดังกล่าวเกิดผลลัพธ์ที่น่าสนใจ คือ เกษตรกรสามารถขยายเครือข่ายของตนเอ'ได้ เกิดเป็นชุมชนนักปฏิบัติที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างกลุ่มเกษตรกรและกลุ่มนครสวรรค์ฟอรั่ม ผลผลิตที่ได้จากการนำความรู้ที่ได้จากกระบวนการจัดความรู้ไปปฏิบัติมีคุณภาพดี ทำให้นครสวรรค์เป็นศูนย์กลางค้าข้าวแหล่งใหญ่ของประเทศ 
นอกจากการดำเนินงานภายในกลุ่มของตนเองแล้ว แนวทางการดำเนินงานในระยะต่อไปเครือข่ายโรงเรียนชาวนานครสรรค์จะขยายเครือข่ายภาคีการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เข้าไปทำงานร่วมกับชุมชนร่วมสนับสนุนและพัฒนาชุมชน ขยายเครือข่ายนักเรียนชาวนาโดยใช้ระบบพี่สอนน้อง – ศิษย์เก่าสอนศิษย์ใหม่ เกิดเป็นชุมชนนักปฏิบัติ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 14790เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2006 15:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท