“หัวปลา” ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานนทบุรี ที่ ๑


“หัวปลา” ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานนทบุรี  ที่ ๑

         วันที่ ๖ กพ. ๔๙  คุณหญิง (นภินทร) กับผมไปพบ อ. ประไพ สุนทรมัจฉะ   ผอ. เขตพื้นที่การศึกษานนทบุรี  ที่ ๑  เพื่อทำความเข้าใจ “หัวปลา” ของการทำ KM .ของเขตพื้นที่การศึกษานนทบุรี  ที่ ๑  ผมทำ AAR การไปหารือกันดังนี้ 
• เป้าหมายของการไปหารือในวันนี้ก็เพื่อ
1. ทำความเข้าใจร่วมกันให้ชัดเจน ว่าเป้าหมาย KM ของ เขตพื้นที่การศึกษานนทบุรี  ที่ ๑ เป็นแบบที่ ๑  หรือแบบที่ ๒    (แบบที่ ๑ คือทำ KM เพื่อให้ โรงเรียนในเขต และสำนักงานเขต เป็น LO,  แบบที่ ๒  คือ ฝึกอบรมให้รู้จัก KM และรู้จักเทคนิค KM แล้วปล่อยให้ไปดำเนินการกันเอง)
2. ทำความเข้าใจรูปแบบการบริหารจัดการ KM ของ เขตพื้นที่การศึกษานนทบุรี  ที่ ๑ ที่เหมาะสมสอดคล้องกับเป้าหมาย
3. ทำความเข้าใจรูปแบบของการบริหารจัดการ KM ของเขตพื้นที่การศึกษานนทบุรี  ที่ ๑ ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
4. ทำความตกลงวิธีการจัดประชุมให้ความเข้าใจ  และประชุมปฏิบัติการ ครั้งที่ ๒


• สิ่งที่บรรลุเกินความคาดหมาย คือวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนของ อ. ประไพ  ผอ. สพท. นนทบุรี  ที่ ๑   ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเขตพื้นที่การศึกษานนทบุรี  ที่ ๑ และของ จ. นนทบุรี (ท่านเป็นผู้แทนกระทรวงศึกษา ของ จ. นนทบุรีด้วย)    โดยท่านมองเห็นสภาพการเปลี่ยนแปลง  ปัญหา และโอกาส ของ  จ. นนทบุรี ชัดเจนน่าประทับใจมาก     ยิ่งกว่านั้นผมยังเห็นแววความเอาจริงเอาจัง ความมุ่งมั่นของท่าน
• ที่ได้เกินความคาดหมาย คือผู้บริหารสำคัญๆ อยู่ร่วมประชุมกันพร้อมหน้า    ทำให้เกิดความเข้าใจร่วมกันอย่างชัดเจน   ผมคิดว่าเป็นการประชุมที่ทำให้ “หัวปลา” ของ KM เขตพื้นที่การศึกษานนทบุรี  ที่ ๑  ชัดเจนมาก    และเป็นความชัดเจนจากการหารือจนเป็นฉันทามติในวันนั้น  (“หัวปลา”  ที่ได้คือ  “สพท.นบ. ๑  เข้มแข็ง  โรงเรียนเข้มแข็ง”)
• เกินความคาดหมายอย่างยิ่ง คือเราคุยกันแบบเปิดใจ แบบตรงไปตรงมา    คุยลึกลงไปถึงกิจกรรม (จากหลักการ สู่การปฏิบัติ) ที่ได้เกิดขึ้นแล้ว ว่ามันสอนอะไรเรา    และเข้าไปถึงการวางแผนกิจกรรมที่จะทำต่อ    โดยเฉพาะอย่างยิ่งทีมแกนนำ KM ของ สพท. นนทบุรี ที่ ๑  วิธีบริหารจัดการระบบ KM ของ สพท. นนทบุรี ที่ ๑  และวิธีเริ่มกิจกรรม KM ในสำนักงานเขตฯ 
• บรรลุตามเป้าหมายในเรื่องการทำความตกลงยุทธศาสตร์การบริหารจัดการการเริ่ม KM เขตพื้นที่การศึกษานนทบุรี ที่ ๑    ว่าเริ่มจาก รร./ครู จำนวนน้อย ที่จะไปเป็นวิทยากร และไปดำเนินการขยายผลต่อไปยัง รร. อื่นๆ ให้เต็ม เขตพื้นที่การศึกษา นนทบุรี ที่ ๑ ในภายหลัง    และทีมบริหารจัดการ KM ของ สพท. นนทบุรี ที่ ๑ ต้องดำเนินการขับเคลื่อนการขยายผลดังกล่าว
• ได้เรียนรู้ว่าใน จ. นนทบุรี มีการทำ KM ใน ๓ หน่วยงานหลัก โดยใช้ที่ปรึกษาต่างกัน    ได้แก่ สนง. ที่ดิน ใช้บริการที่ปรึกษาของ สถาบันเพิ่มฯ     สพท. นนทบุรี ที่ ๒ ใช้บริการของ สพบศ. (วัดไร่ขิง)   และ สพท. นนทบุรี ที่ ๑ ใช้บริการของ สคส.    ท่านผอ. เขตฯ มีความคิดจะทำวิจัยเปรียบเทียบกระบวนการและผล    ซึ่งผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง
• ถึงแม้การประชุมจะดูเหมือนว่าทำให้เกิดความเข้าใจร่วมกันดีมาก     ผมก็ยังทำใจรอดูว่าในทางปฏิบัติจะเกิดอะไรขึ้นในทางฝ่าย สพท.  นนทบุรี ที่ ๑  จะมีการตั้งทีมบริหารจัดการ KM อย่างไร   มีการกำหนด หน้าที่ความรับผิดชอบชัดเจนแค่ไหน    มีการทำงานเป็นทีมแค่ไหน    จะมีการจัดสรรทรัพยากรเพื่อใช้ขับเคลื่อนการ ลปรร. ความสำเร็จ อย่างไร    ทีมบริหารจัดการ (ทีมแกนนำ) จะทำ/ไม่ทำ อะไรบ้าง  เกิดอะไรบ้างที่โรงเรียน / กลุ่มครู  
• ผมจะรอดูว่าทีมแกนนำ ดำเนินการจัดการประชุมให้ความเข้าใจ  และจัด Workshop ครั้งที่ ๒  อย่างไร
• ผมมีความเห็นเพิ่มเติมหลังจากกลับมาไตร่ตรองเพิ่มว่า    ทีมแกนนำของ สพท. นนทบุรี ที่ ๑ ควรมี ผอ. โรงเรียนที่เหมาะสม สัก ๒ – ๓ โรงเรียน    และท่านควรเข้ามาร่วมจัด Workshop ครั้งที่ ๒ ด้วย    จึงขอเสนอแนวความคิดนี้ต่อท่าน ผอ. ประไพ มา ณ ที่นี้ด้วย

วิจารณ์ พานิช และนภินทร ศิริไทย
๘ กพ. ๔๙

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 14784เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2006 15:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2012 22:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท