การเขียนย่อหน้าในความเรียง


ในการเขียนโดยทั่วไป เรามักละเลยหลักเกณฑ์การเขียน

การเขียนย่อหน้าในความเรียง

หลักเกณฑ์ที่เป็นบรรทัดฐาน

ในการเขียนความเรียงที่ดี             

                  ในการเขียนโดยทั่วไป เรามักละเลยหลักเกณฑ์การเขียน เพราะมุ่งที่จะสื่อสารมากกว่า  หลักเกณฑ์ทำให้เรายุ่งยาก ต้องคิด ต้องพิจารณาว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือไม่  อาศัยความรู้สึกนึกคิด คือ อยากเขียนอะไรก็เขียน  จะย่อหน้าหรือไม่ หรือจะย่อหน้าตรงไหน ตามใจที่อยากจะทำ  เราจึงมักพบว่า 

           1. เขียนไม่มีย่อหน้าเลย  ติดต่อกันไปยืดยาว ไม่รู้จะหยุดหายใจตรงไหน  เด็กๆ สมัยนี้เขียนกันอย่างนี้ทั้งนั้น ผมไม่ทราบว่าครูได้สอนการวางย่อหน้ามาหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นเด็กประถม มัธยม เขียนไม่ย่อหน้าทั้งนั้น มาถึงอุดมศึกษาจึงไม่ต้องพูดถึง มันติด ชิน เสียจนแก้ไม่ได้

             2. เขียนย่อหน้าเหมือนกัน แต่เป็นการย่อบรรทัดหรือย่อข้อความสั้น แบบที่ใช้ในการเขียนคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์  บางทีเราเรียกการย่อหน้าแบบนี้ว่า การเขียนแบบกระพริบคล้ายๆ  การสื่อสารเป็น shot  ในโทรทัศน์  กระพริบสารครั้งหนึ่งตามที่ต้องการ แล้วให้ผู้ดู ผู้อ่าน ผสานความเอาเอง 

          3. เขียนไม่เป็นย่อหน้า  คือ นึกอยากย่อหน้า ก็ย่อ ไม่คำนึงว่าย่อไปทำไม และย่อแล้วเก็บความสำคัญได้ประเด็นสำคัญหนึ่งหรือไม่

  

           การเขียนย่อหน้า  ควรจะเขียนในงานเขียนประเภทใด? นี่ก็ขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายของตน  การเขียนคอลัมน์ในหน้าหนังสือพิมพ์ อาจจำเป็นต้องเขียนแบบกระพริบ เพราะต้องการเสนอคำ วลี สำคัญ ช่วยในการอ่านง่าย และจดจำ จึงย่อหน้าเสียให้เห็นชัดเจน  อีกประการหนึ่งพื้นที่การเขียนก็มีจำกัด  จึงเขียนสั้นๆ โดยเฉพาะคอลัมน์ที่เป็นแบบบล็อก

  

            ส่วนกรณีงานเขียนประเภท ข่าว  บทความ  เรียงความ  รายงาน  หรือความเรียงต่างๆ น่าจะต้องคำนึงถึงการเขียนย่อหน้า เพราะย่อหน้าคือกลุ่มข้อความหนึ่งที่มีความสัมพันธ์กันเป็นหนึ่งเดียว มีความคิดสำคัญประเด็นเดียว สามารถสรุปสาระได้อย่างเดียว  

 

           การเขียนย่อหน้าช่วยให้ผู้อ่านได้พักสายตา เพราะข้อความมันดูโปร่งตา ไม่อึดอัด  ได้เก็บความทีละย่อหน้า ทีละประเด็น  ช่วยให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น  หากเนื้อเรื่องนั้นยาว เราจะเห็นความสำคัญในเรื่องย่อหน้ามาก ก็คงไม่ต่างจากการจัดแบ่งข้อความในหนังสือเป็นบท เป็นตอน เป็นหัวข้อๆ จะช่วยให้เราอ่านหนังสือได้ง่ายนั่นเอง

  

  หลักเกณฑ์การเขียนย่อหน้าที่ดี

  

             1. ย่อหน้าที่ดีต้องมี เอกภาพ  สัมพันธภาพ และสารัตถภาพ

   

             2. ย่อหน้าที่ดีต้องใช้ให้ถูกต้องตามหน้าที่

  

             3. ย่อหน้าที่ดีควรมีความยาวเหมาะสม

  1. ย่อหน้าที่ดีต้องมี เอกภาพ  สารัตถภาพ และสัมพันธภาพ 

              เอกภาพ  คือ ความเป็นหนึ่ง นั่นคือในย่อหน้าหนึ่งๆ ต้องกล่าวถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ประเด็นหนึ่ง เท่านั้น ไม่นอกเรื่อง นอกประเด็นหรือมีประเด็นสำคัญหลายประเด็น ทำให้ไม่รู้ว่าย่อหน้านี้กล่าวถึงเรื่องอะไรกันแน่

  

               สารัตถภาพ  คือ ความมีสาระ   นั่นคือต้องมีความคิดสำคัญเพียงหนึ่งเดียว  คือสามารถสรุปความคิดได้เพียงประการเดียว ประโยคทุกๆ ประโยคจะมุ่งกล่าวอธิบายความคิดสำคัญนั้น เราอาจสังเกตได้จากประโยคใจความสำคัญที่วางไว้ต้นย่อหน้า กลาง หรือท้ายย่อหน้าก็ได้ แต่ถ้าไม่มีเราสามารถสรุปเองเป็นประโยคสำคัญของเราได้

  

              สัมพันธภาพ  คือ คำ ประโยค ข้อความในย่อหน้าต้องมีความเกี่ยวเนื่องกัน สังเกตได้จากการใช้คำเชื่อมต่างๆ ที่เชื่อมโยงข้อความจนสามารถทำให้เราอ่านแล้วเข้าใจ มองเห็นทิศทางของสาระในเรื่องได้ชัดเจน

  

              ท่านลองสังเกตจากจากย่อหน้าในบันทึกที่กำลังอ่านอยู่นี้ก็ได้ครับว่า ผมเขียนเสนอประเด็นอะไร มีเอกภาพ สัมพันธภาพ และสารัตถภาพครบถ้วนหรือไม่ เช่น

  

               การเขียนย่อหน้าช่วยให้ผู้อ่านได้พักสายตา เพราะข้อความมันดูโปร่งตา ไม่อึดอัด  ได้เก็บความทีละย่อหน้า ทีละประเด็น  ช่วยให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น  หากเนื้อเรื่องนั้นยาว เราจะเห็นความสำคัญในเรื่องย่อหน้ามาก ก็คงไม่ต่างจากการจัดแบ่งข้อความในหนังสือเป็นบท เป็นตอน เป็นหัวข้อๆ จะช่วยให้เราอ่านหนังสือได้ง่ายนั่นเอง 

เอกภาพ -  คือ กล่าวถึงประโยชน์ของการเขียนย่อหน้า 

สัมพันธภาพ -  คือ การใช้คำเชื่อม (ตัวเอียง) เชื่อมความให้ต่อเนื่องกัน ให้เป็นเหตุ เป็นผลกัน 

สารัตถภาพ คือ  การเขียนย่อหน้าช่วยให้ผู้อ่านพักสายตาและช่วยให้เข้าใจง่ายขึ้น  

    

  2. ย่อหน้าที่ดีต้องใช้ให้ถูกต้องตามหน้าที่  

  

                ย่อหน้าแต่ละย่อหน้าในการเขียนความเรียงนั้น  ทำหน้าที่แตกต่างกัน อย่างน้อย 4 ลักษณะ คือ

  

                ย่อหน้านำความคิด   เป็นย่อหน้าที่บอกจุดมุ่งหมายหรือเสนอประเด็นความคิดหลักของเรื่อง  ถ้านำไปเขียนนำก่อนเข้าสู่เนื้อเรื่องจะเรียกว่า  ย่อหน้าคำนำ

  

               ย่อหน้าโยงความคิด  เป็นย่อหน้าที่ใช้เชื่อมระหว่างย่อหน้าเพื่อโยงความคิดจากย่อหน้าหนึ่งไปอีกย่อหน้าหนึ่ง ทำให้เกิดความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกันได้ตลอดทั้งตอน หรือทั้งเรื่อง

  

              ย่อหน้าแสดงความคิด  เป็นย่อหน้าที่เสนอความคิดประเด็นใดประเด็นหนึ่งตามที่ได้กำหนดไว้แล้ว เป็นย่อหน้าที่อยู่ในส่วนเนื้อเรื่อง

  

              ย่อหน้าสรุปความคิด  เป็นย่อหน้าที่สรุปความคิด ซึ่งอาจสรุปความคิดจากหลายย่อหน้าที่กล่าวมาแล้วเพื่อสร้างความเข้าใจ  หรือจะใช้สรุปความคิดทั้งหมดของเรื่อง มักนำมาเขียนในย่อหน้าสุดท้ายหลังจากกล่าวเนื้อเรื่องหมดแล้ว

  

             เราใช้ย่อหน้าทั้ง 4 ชนิดที่กล่าวมานี้ เขียนเป็นเรื่องในความเรียง เพราะฉะนั้น ความเรียงที่ดีจึงควรมี ย่อหน้าคำนำ ย่อหน้าเนื้อเรื่อง ย่อหน้าสรุป เรียงลำดับกันอย่างนี้ โดยมีย่อหน้าโยงความคิดเป็นย่อหน้าเชื่อมรพหว่างย่อหน้าทั้งสามนี้ 

  

3. ย่อหน้าที่ดีควรมีความยาวเหมาะสม

  

              ย่อหน้าหนึ่งๆ จะมีความยาวเท่าใดนั้นอยู่ที่ความเหมาะสม  5 บรรทัด หรือ 10 บรรทัด อยู่ที่สาระประเด็นความคิดและรายละเอียดที่จะขยายความว่าต้องการแค่ไหน แต่โดยมากแล้ว ย่อหน้าไม่ควรยาวเกินครึ่งหน้ากระดาษ A4 เพราะจะทำให้อ่านยากเกินไป และสรุปความคิดได้ยาก เนื่องจากมีรายละเอียดมาก  แต่ถ้าสั้นก็ไม่ควรสั้นจนเหลือ 1 – 3 บรรทัด เพราะจะไม่สามารถสรุปสาระประเด็นหลักได้

                รื่องการเขียนย่อหน้าที่กล่าวมาโดยสรุปนี้ เป็นหลักเกณฑ์ที่พึงพิจารณาและนำไปฝึกฝน  ย่อหน้าที่เขียนจะดีหรือไม่ดีอยู่ที่สามารถใช้ถ้อยคำภาษาดีหรือไม่ สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่วางไว้หรือไม่ แม้จะไม่ถูกต้องทั้งหมด แต่ก็ไม่ควรผิดหลักเกณฑ์จนไม่สามารถอ่านเข้าใจได้  เราต้องดูผลสัมฤทธิ์ในการสื่อสารด้วย ผมก็หวังว่า คงจะพอมองเห็นแนวทางการเขียนย่อหน้าได้บ้าง และคงจะนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาการเขียนความเรียงของตนให้ดีขึ้นต่อไปครับ   
หมายเลขบันทึก: 147838เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2007 10:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 16:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

อาจารย์ค่ะ ขอสารภาพว่าอายยยยยย ... มากที่จะเอ่ยว่ามาทบทวนวิชาภาษาไทยกับอาจารย์คะ

ขอบคุณสำหรับความรู้ดีๆ

ทุกวันนี้เขียนบันทึก ทำย่อหน้าตามความรู้สึกครับ อาจเป็นเพราะเราทำจนเป็นอัตโนมัติเพราะถ้าไม่ย่อก็โดนเจ้านายเฉ่งว่าเขียนสำนวนอ่านไม่รู้เรื่องหรือเปล่าก็ไม่รู้ครับ

อ่านเรื่องที่ผมเขียนแล้วขอคำแนะนำด้วยนะครับ

สวัสดีครับP

              ความรู้แลกเปลี่ยนกันครับ คุณMoo มีอะไรที่ผมทำไม่ได้มากมายครับ ผมก็ได้เรียนรู้จากคุณMooมากนะครับ

สวัสดีครับP

            ยินดีครับ ผมคิดว่า การย่อหน้าตามความรู้สึกอาจจะดูมั่วไปบ้าง แต่ถ้ามีประเด็นชัดก็สื่อสารได้เข้าใจ  ถ้าจะให้ดีก็ต้องคำนึงหลักเกณฑ์ไว้บ้างน่าจะดีกว่าครับ

ขอบคุณมากนะคะสำหรับข้อมูลดีๆที่จะเอาไว้ใช้ประกอบการเขียนย่อหน้าส่งอาจารย์ค่ะ

ทั้งๆที่เป็นวิชาภาษาไทย ภษาของเราเอง แต่หลายครั้งก็ร้สึกว่า ใช้ได้ไม่ถูก ไม่ดีพอที่จะได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของภาษาเลยค่ะ แล้วอย่างนี้คงจะเรียนภาษาอื่นให้ดียากเมือนกัน

ตอนนี้เรียนปี 1 ค่ะ คณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาภาษาจีนค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ ทำข้อสอบได้แน่ๆเลย

ขอบคุณมากนะคะ

พอดีหนูจะนำข้อมูลที่ได้

ไปทำข้อสอบมิสเทอม

ได้รับความรู้เพิ่มขึ้นมากเลยคะ

คุณFaith คุณนุช และคุณศุภลักษณ์

ดีใจที่จะนำไปใช้ประโยชน์ จะทำข้อสอบหรือฝึกหัดพัฒนาการใช้ภาษาของตนก็ดีทั้งนั้นครับ ขออวยพรให้สอบได้ดีทุกๆ คนก็แล้วกันครับ

ขอบคุณมากนะคะ

พอดีหนูจะนำข้อมูลที่ได้

ไปทำข้อสอบมิสเทอม

ได้รับความรู้เพิ่มขึ้นมากเลยคะ

ทุกวันนี้เขียนบันทึก ทำย่อหน้าตามความรู้สึกครับ อาจเป็นเพราะเราทำจนเป็นอัตโนมัติเพราะถ้าไม่ย่อก็โดนเจ้านายเฉ่งว่าเขียนสำนวนอ่านไม่รู้เรื่องหรือเปล่าก็ไม่รู้ครับ

อ่านเรื่องที่ผมเขียนแล้วขอคำแนะนำด้วยนะครับ

ทั้งๆที่เป็นวิชาภาษาไทย ภษาของเราเอง แต่หลายครั้งก็ร้สึกว่า ใช้ได้ไม่ถูก ไม่ดีพอที่จะได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของภาษาเลยค่ะ แล้วอย่างนี้คงจะเรียนภาษาอื่นให้ดียากเมือนกัน

ตอนนี้เรียนปี 1 ค่ะ คณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาภาษาจีนค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท