ความคิดในวิถีชีวิต


คิดอย่างอิสระ
            การใช้ความคิดกับเรื่องที่ถูกกะเกณฑ์ มักมีความรู้สึกว่ากำลังถูกบังคับ  ทำให้เกิดความรู้สึกติดขัด เหมือนไม่อิสระ  แต่ถ้าจะฝึกคิดกับเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน  สิ่งที่คิดได้ สร้างคุณค่าได้ จะทำให้การคิดนั้นเป็นความสุข เป็นความปลาบปลื้ม   สำหรับเด็ก ๆ คงต้องอาศัยคุณครูพาคิด  พูดถึงคุณครูที่จะพานักเรียนคิด ทำให้คิดถึงคุณครูพิชัย จุลเดช ครูดอยคนเมืองใต้  ที่ให้โอกาสแก่เด็กๆ เสมอ  ขอเล่าเรื่องหนึ่งเป็นเหตุเกิดในห้องเรียนบนดอย (อยากเล่าหลายเรื่อง) ผู้เขียนนึกดีใจกับเด็ก ๆ ที่มีครูดีแม้จะอยู่ห่างไกลเมือง              เหตุการณ์เกิดที่โรงเรียนบ้านทุ่งหลวง  โรงเรียนตั้งอยู่บนเขาแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่  นักเรียนกำลังสนุกกับการทำกิจกรรมเลี้ยงปลา เลี้ยงเป็ดในโครงการเรียนรู้ สุขภาพดี เราทำได้ แผนกิจกรรมที่ครูพิชัย นำนักเรียนชั้นประถมปีที่ 3-4 ทำตั้งแต่เปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2543  (ดูจะเก่า แต่ไม่เคยเล่าให้ใครฟัง)  เป็นการเรียนรู้วิธีการเลี้ยง และเก็บเกี่ยวผลเพื่อทำอาหารกลางวัน  นักเรียนเรียนรู้การปรุงอาหาร  จัดเมนูอาหาร  แต่ไม่ทันที่จะได้ไข่เป็ดมาปรุงอาหาร  ก็เกิดปัญหาสุนัขในหมู่บ้าน เข้ามาไล่กัดเป็ด  คุณครูพิชัยต้องเรียกประชุมแต่เช้าก่อนเคารพธงชาติ  การประชุมค่อนข้างเครียด  บางคนเสนอให้เจ้าของสุนัขเอาสุนัขออกจากบริเวณโรงเรียน  แต่ก็มีคนแย้งว่า  ชาวบ้านเลี้ยงสุนัขแบบปล่อย และเข้ามาในบริเวณโรงเรียนแต่ไหนแต่ไร  การขอให้เอาสุนัขให้พ้นเป็นเรื่องยาก  ไม่น่าที่จะได้รับความร่วมมือ  กลับกัน อาจเกิดความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับโรงเรียนได้  บางคนเสนอให้เลิกเลี้ยงเป็ด  แต่ก็มีคนแย้งว่า ได้ลงทุนแล้ว  ถ้าเลิกเลี้ยงตอนนี้ก็จะขาดทุน  นักเรียนคนหนึ่งให้ความเห็นว่า  ไข่เป็ดเป็นอาหารที่มีคุณค่ามาก  และทำให้เรียนรู้ในวิชาต่างๆ ได้หลายเรื่อง   นักเรียนโต้แย้งกันเอง ฟังกันเองในกลุ่ม  ไม่มีข้อยุติ  ครูพิชัยจึงแนะนักเรียนให้ลองคิดวิธีอื่น ที่ไม่กระทบกับเจ้าของสุนัข ขณะเดียวกัน ก็สามารถเลี้ยงเป็ดไว้กินไข่ต่อไป  นักเรียนหารือกันจนได้เวลาเคารพธงชาติ ทุกคนหยุดพูด ทุกคนร้องเพลงชาติ แล้วก็คิดต่อ  ตอนนี้ คิดออกแล้ว   นักเรียนคนหนึ่งเสนอให้เอาไม้ลวก เป็นไม้ไผ่ลำเล็ก ๆ มาปักเป็นรั้วรอบขอบบ่อ  สานเป็นตาข่ายห่างๆ ให้รั้วนี้ตั้งทำมุมเอียง ประมาณ 40 องศา  พบว่าสุนัขไม่สามารถปีนรั้วแบบนี้ได้  ขณะเดียวกัน เป็ดก็ไม่ทางเล็ดรอดออกมาเช่นกัน  การหารือยุติ ทุกคนลงมือทำงาน อย่างขมีขมัน  ไม้ลวกหาไม่ยาก มีที่ชายป่าห่างออกไปสัก 1 กิโลเมตร  อุปกรณ์อื่น เป็นต้นว่า ฆ้อน มีด หาได้จากการขอยืมแม่ หรือพ่อ ที่บ้าน   เพียง2-3 ชั่วโมง งานก็เสร็จสมบูรณ์   ไม่ต้องสร้างความรู้สึกที่กระทบกัน  ยังได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าของสุนัขร่วมออกแรงกับนักเรียนด้วย  นับว่า การคิดอย่างรอบคอบ  คิดมุ่งสร้างสรรค์  สามารถเลือกทางออกอย่างแยบยล  เข้าทำนอง ได้ และ ได้ ไม่มีใครเสียเลย  (win win situation)            ที่นี่ นักเรียนมีโอกาสฝึกการคิดในทำนองนี้มาก  คิดไปกับเหตุการณ์ในชีวิต ได้เรียนรู้ตามสภาพจริงตลอดเวลา  เป็นการสร้างสภาพการเรียนรู้ที่ฉลาดของครูพิชัย  ผู้เขียนได้รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นที่นี่ด้วยความชื่นชมในความจริงใจ จริงจังของการสอนด้วยการใช้ชีวิตที่สร้างสรรค์กลมกลืนกับธรรมชาติและวิถีชีวิตของชุมชนปกาเกอะญอ ของคณะครู 7 คน  ครูได้รับความร่วมมือกับชุมชน ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรที่อนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น และเน้นกิจกรรมการเรียนรู้ตามสภาพจริง              แม้ว่า เวลาได้ล่วงเลยไป ครูหลายคน ลงเขา สร้างความก้าวหน้าในงานครูต่อไป คงมีแต่ครูพิชัย จุลเดช ที่ยังยืนยัดอยู่กับเด็กๆ บนดอย แม้ว่า กำลังครูจะเหลือเพียง 2 คน โดยมีครูเกศร อินต๊ะทา ย้ายเข้ามา ทั้งสองทำงานเพื่อเด็กๆ อย่างน่าชื่นชม  ผู้เขียนหมดหน้าที่อนุกรรมการปฏิรูปการศึกษาตั้งแต่ 2546  แต่ด้วยความคิดถึง ทำให้ได้ไปเยี่ยมเยียนตลอดมา ระยะทางไม่เป็นอุปสรรคใดๆ เพราะเราสื่อสารกันทาง e-mail  และโทรศัพท์มือถือ อย่างอิสระเสรี เหนือสิ่งอื่นใด คุณครูสองท่านยังมีเรื่องเด็ก ๆ เล่าให้ครูภาวิณีฟังอย่างต่อเนื่อง 
หมายเลขบันทึก: 147513เขียนเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2007 01:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 16:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
คุณค่าของการใช้ชีวิตมีหลายแบบ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่กรอบสี่เหลี่ยมที่ถูกตีไว้เท่านั้น หากแต่ทุกคนเรียนรู้จากสิ่งที่อยู่รอบตัวก็ทำให้เราได้รู้ถึงสิ่งที่เราคาดไม่ถึงว่าจะเกิดขึ้น แต่ที่แน่ๆ การที่จะคิดทำอะไรจะต้องคำนึงถึง ประโยชน์ หากทำแล้วได้ประโยชน์ซึ่งกันและกันก็จะส่งผลเลิศทุกประการ  

ครูพิชัย  เป็นครูต้นแบบที่ดีน่ายกย่องและเอาอย่างจริงๆ ค่ะ  อดดีใจแทนเด็กๆ ที่มีโอกาสได้เรียนรู้กับครูพิชัยค่ะ

บีเองก็จะพยายามทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มความสามารถและไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใดๆ ที่ผ่านเข้ามาเพื่อเป็นบททดสอบเราค่ะ

พรมแดนไม่ขวางกั้นความเป็นครู

บทเรียนแห่งวิถีชีวิตที่นับวันจะมีให้เห็นน้อยลง ดีค่ะที่เก็บมาเล่าอย่างน้อยก็จุดประกายให้คิดย้อนไปถึงเรื่องดีที่เคยมีประสบการณ์กับครูของเรา

อ่านแล้วรู้สึกประทับใจ ทำให้คิดว่า มนุษย์ในโลกนี้ดำรงอยู่ได้เพราะยังมีผู้เสียสละอยู่ทุกแห่ง มนุษย์ส่วนมากในปัจจุบันมองเลยไป ไม่มีความเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ทำทุกอย่างเพื่อตนเองเท่านั้น

พิมฉัตร์ ฤกษ์รัตน์ระพี

สวัสดีค่ะอาจารย์

อ่านบทความของอาจารย์แล้ว รู้สึกนับถือครูพิชัย จุลเดชมาก ที่มีความเป็นครูจริง ๆ คือ สอนให้นักเรียนได้รู้จักคิด เปิดโอกาสให้นักเรียนได้รู้จักถกเถียงกันอย่างมีเหตุผล ตามสภาพที่เป็นจริง และชี้แนะแนวทางความคิดซึ่งเป็นความคิดที่สามารถทำได้โดยไม่ต้องไปทะเลาะกับใคร ไม่เกิดผลกระทบกับใคร และไม่สร้างศัตรู เป็นความคิดที่รอบคอบ คิดเชิงบวก คิดแบบสร้างมูลค่าเพิ่ม ทั้งนักเรียน และชาวบ้าน ต่างก็ชื่นมื่นด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย ทำให้ได้แนวคิดว่า ในการทำงานใดๆก็ตาม หากเกิดปัญหาอุปสรรคขึ้นมา ดิฉันเชื่อว่าทุกปัญหาสามารถแก้ได้ด้วยการคิด โดยคิดอย่างรอบคอบ รอบด้าน กว้างและลึก คิดเชิงบวก คิดแบบสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งในการคิดรอบด้านเราต้องนำองค์ประกอบหรือปัจจัยทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่คิด เพื่อเราสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการเลือก ตัดสินใจหรือวางแผนได้ ซึ่งองค์ประกอบที่จะช่วยให้เราเกิดการคิดรอบด้านได้แก่ องค์ความรู้ที่เป็นสาระโดยตรง (ความรู้ ทฤษฎี หลักการในเรื่องที่เราคิด) และองค์ประกอบในด้านอื่น ๆ เช่น ด้านคน (ตัวเรา ผู้อื่น) ด้านสังคม ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านศีลธรรม เป็นต้น ดิฉันเชื่อว่าหากคุณครูทุกคนได้ฝึกให้นักเรียนได้รู้จักคิดอย่างครูพิชัย จุลเดช สังคมไทยก็จะไม่วุ่นวาย หรือแม้แต่บุคคลที่ทำงานแล้วก็ตาม หากได้มีการฉุกคิดอย่างรอบคอบ คิดแบบรอบด้านก็จะทำให้เกิดการผิดพลาด หรือเกิดความเสี่ยงน้อยที่สุด หรืออาจจะไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้ ขอขอบคุณอาจารย์ที่ได้กรุณาเล่าสิ่งดี ๆ ให้ได้อ่าน และนำไปคิดต่อ และขออนุญาตนำไปขยายผลต่อนะคะ.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท