แล้วนักเรียนมหาวิทยาลัย ต้องรู้วิธีการเรียนไหม?


ผู้เรียนเองก็มีส่วนอย่างมากในความสำเร็จทางการเรียน... บางคนก็หวังสูง บางคนหวังแค่ C

คนจน จนเพราะขี้เกียจหรือเปล่า เรื่องนี้คงต้องถาม อาจารย์ดร.แสวง
เด็กโง่ (แรงไปไหมครับ) โง่เพราะขี้เกียจด้วยหรือเปล่า อันนี้ผมยังสงสัย

ผู้สอนมีส่วนอย่างมากในการออกแบบและนำเสนอบทเรียนให้สอดคล้อง ต่อเนื่อง สามารถทำให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาย่อย และต่อยอดสู่เนื้อหาโดยรวมของหลักสูตรได้ เพื่อเป็นการสนับสนุนการเรียน ทั้งในด้านความเข้าใจเพื่อนำความรู้นั้นเข้าสู่ระบบความจำ (encoding and memory) โดยเชื่อมโยงกับความรู้เดิม (prior knowledge) เพื่อให้ผู้เรียนไม่ลืมบทเรียนนั้น (forgetting) สิ่งเหล่านี้เรียกรวมว่า การรับรู้ cognition (ผมมีปัญหาว่าจะแปลเป็นไทยว่าอย่างไร นอกจากคำว่าการรับรู้ ใครทราบช่วยบอกเป็นวิทยาทานด้วยนะครับ)

ผู้เรียนเองก็มีส่วนอย่างมากในความสำเร็จทางการเรียน ลองนึกๆ ดูสิ่งที่เด็กจะนำติดตัวเข้ามาในชั้นเรียนคือความรู้เดิม (prior knowledge) ความคาดหวัง และความมุ่งมั่น (perception & motivation) อันนี้บางคนก็หวังสูง บางคนหวังแค่ C, คุณสมบัติอีกประการที่เด็กนำติดตัวเข้ามาเพื่อต่อสู้ (ผมใช้คำว่าต่อสู้เพราะเราเรียนกันเพื่อเกรด เรียนให้รู้ว่าฉันเก่ง) กับเพื่อนร่วมชั้นคือความเข้าใจเกี่ยวกับการรับรู้ (meta-cognition) นั้นคือรู้เทคนิควิธีการเรียนต่างๆ และรู้ว่าจะนำเทคนิคเหล่านั้นมาใช้ในสถานการณ์ใด สองเทคนิคง่ายๆ ที่เราคุ้นเคยคือ แบบค่อยๆ เรียนรู้ทำความเข้าใจ (meaningful learning) และแบบเฉพาะกิจ (rote learning, cramming) คือแบบท่องเร็ว ลืมเร็วนั่นเอง

choose

ผมคงต้องยกตัวอย่างชัดๆ คือน้อง Roommate ของผม ซึ่งเป็นชาวอเมริกัน ด้วยจรรยาบรรณของเพื่อนร่วมห้อง ขอไม่เปิดเผยชื่อครับ ขอเรียกนามแฝงว่าน้องเอแล้วกัน เอเรียนปริญญาตรีสาขาชีวะวิทยา เมื่อช่วงสอบกลางภาค มีวิชาหนึ่งที่เขาหนักใจมากๆ คือวิชาพญาธิวิทยา ต้องท่องจำชื่อเชื่อโรคเป็นร้อยๆ สิ่งที่เอทำคือไปซื้อการ์ดกระดาษแข็งมาเขียนชื่อเชื้อโรคไว้หน้าหนึ่ง แล้วเขียนผลของเชื่อโรคไว้อีกหน้าหนึ่ง (flash card) เอทำอยู่อย่างนั้นก่อนสอบครับ ผลที่ออกมาคือจำไม่ค่อยจะได้ และก็ได้รู้ว่าข้อสอบไม่ได้ออกแนวท่องจำมากนัก ตอนนี้ใกล้จะสอบปลายภาค เขาเอาเอกสารการสอนทั้งหมดประมาณร้อยหน้ามาย่อเหลือห้าหน้า (summarizing) แล้วก็นัดเพื่อนไปติว จริงๆ คือไปอ่านให้เพื่อนฟัง เพราะพอไปถึงห้องเพื่อน เขากำลังทำกับข้าวอยู่

เอบอกผมว่าเขาไม่คิดว่าเพื่อนเอาเปรียบ เพราะเขาบอกว่าเขาเรียนได้ดีที่สุดโดยการสอนคนอื่น (learning by teaching)

จะเห็นว่าน้องเอของผมมีเทคนิคมากมายในการเรียนหนังสือ และสามารถเลือกใช้ตามสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม คือมีการปรับเปลี่ยนเมื่อรู้ว่าเทคนิคหนึ่งไม่เวิร์ค ก็งัดเอาเทคนิคที่เหมาะกว่ามาใช้

เท่าที่ผมจำความได้ บ้านเราไม่มีวิชา “เรียนว่าเราเรียนอย่างไร” หรือ learn how to learn ผมสงสัยต่อว่านี่เป็นส่วนหนึ่งหรือเปล่า ที่ทำให้คนเรียนไม่ดี เรียนไม่ดี คือไม่รู้ว่าจะเรียนอย่างไร ไม่รู้ว่าตัวเองเรียนแบบไหน ถือว่าเป็นโชค(ร้าย)สองชั้นก็ว่าได้นะครับ คือไม่เข้าใจในวิชาที่เรียนแล้ว ยังไม่รู้ว่าจะจัดการกับความไม่เข้าใจนี้อย่างไร มันก็ยิ่งไปกันใหญ่

ใครมีความเห็นอย่างไร ขอเชิญอภิปรายครับ

รูป โดย fatal Cleopatra

หมายเลขบันทึก: 147427เขียนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2007 15:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กันยายน 2013 19:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • เป็นไปได้ไหมครับว่า
  • บ้านเราไม่ได้สอนวิธีการเรียน
  • เราสอนแบบบรรยาย
  • ไม่ได้สอนวิธีการตกปลา
  • แต่สอนโดยการให้ปลา
  • ดีใจที่ได้อ่านเรื่องนี้
  • อาจารย์คิดว่าอาจารย์เองมีวิธีการเรียนแบบไหนครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์วสะ

ดิฉันอ่านบันทึกอาจารย์เพลินไปเลยค่ะ  และคิดว่าสิ่งสำคัญที่สุดที่นักเรียนมหาวิทยาลัยต้องรู้  คือ  เรียนไปเพื่ออะไร   เพราะธรรมชาติของมนุษย์ จะให้คุณค่าแก่สิ่งที่เรารู้สึกว่ามีความหมาย  เมื่อตระหนักในคุณค่าแล้ว  ก็จะเป็นแรงจูงใจให้หาวิธีเรียน  ที่เหมาะแก่การเรียนรู้เรื่องนั้นๆได้

ดิฉันคิดว่า คนที่ "ไม่รู้ว่าจะเรียนอย่างไร ไม่รู้ว่าตัวเองเรียนแบบไหน" เช่นที่อาจารย์กล่าวไว้(อย่างน่าฟัง)   ยังไม่โชคร้ายเท่าคนที่ "ไม่รู้ว่าจะเรียนไปเพื่ออะไร"  

เท่าที่เห็นมานะคะ  ดิฉันคิดว่าดูไปแล้วชุมชน(อันประกอบด้วยชาวบ้าน) จะรวมตัวกันร่วมใจกันแก้ปัญหาได้อย่างมีพลังสามัคคี  (แปลว่ามีศักยภาพในการแก้ปัญหา)  มากกว่าผู้อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย   เพราะเขาเริ่มจากปัญหา"ร่วม"จริงๆ  เขารู้ว่าปัญหาจริงๆของเขาคืออะไร  และเขาจะแก้ปัญหานั้นไปเพื่ออะไร และเขาต้องทำให้ได้  ต้องไปให้รอดพร้อมๆกันด้วย   เป้าหมายร่วมของเขาชัดเจนมาก  (นึกถึงนิทานเรื่อง นกที่บินพร้อมๆกันจึงสามารถยกตาข่ายได้ขึ้นมาทันที)   

เขาจึงเรียนอย่างรู้คุณค่า ...  และตอบโจทย์เพื่อชีวิต   .(..แลกด้วยชีวิตทั้งชีวิตของเขา)

แต่นักเรียนมหาวิทยาลัยนั้น เดิมอยู่สบายดีไม่มีปัญหา  มามีปัญหาอีกทีก็ตอนเรียนมหาวิทยาลัย   : )   โจทย์จำนวนมากในมหาวิทยาลัยก็ไกลจากชีวิต  และปัญหาชีวิต    คือเรียนๆไปแล้วชีวิตเขาก็ยังมีปัญหาอยู่เท่าเดิม  ....เป้าหมายร่วมก็ไม่มี   โดยมากจะเป็นเป้าใครเป้ามัน  หายากที่จะสร้างอุดมการณ์ให้เกิดเป็นเป้าร่วมกันได้โดยแท้จริง

เพื่อนๆดิฉันเคยแซวพวกเรากันเองเล่นๆว่า"เรียนแบบป๊อป"  คือง่ายๆ  สบายๆ ติดตลาด ตามสไตล์เพลงป๊อป   แต่มาแล้วก็ไป  คงคุณค่าอยู่ได้ไม่นาน 

ดิฉันจึงคิดว่าบ้านเราจำเป็นต้องสร้างให้นักเรียนมหาวิทยาลัยตระหนักอย่างลึกซึ้งก่อนว่า 
                     เรียน(อะไร)ไปเพื่ออะไร 
เขาจะได้มีเป้าหมาย  มีทิศทาง  และมองเห็นคุณค่าของสิ่งที่เขาจะเรียนอย่างแจ่มชัดไปจนสุดทาง  จากนั้น ความพยายามที่จะหาวิธีเรียนรู้ให้บรรลุผลสูงสุด  คงจะมีพลังเข้มข้นขึ้นอีก 

ว่าแล้วดิฉันก็เลยอภิปรายร่ายยาวไปเช่นเคยค่ะอาจารย์วสะ  ขอบพระคุณสำหรับการเปิดประเด็นคมๆชวนคิดนี้    ขอให้อาจารย์มีความสุขมากๆตลอดปีใหม่นี้นะคะ

คำถามอาจารย์ขจิตน่าสนใจมากเลยครับ

ผมเคยได้รับเชิญไปพูดให้น้องๆ โรงเรียนมัธยมที่ผมจบมาว่าผมเตรียมตัวอย่างไร เพื่อการสอบเข้ามหาวิทยาลัย

การเรียนก็คงคล้ายๆ กิจกรรมอื่นในชีวิตนะครับ ถ้าเราวางแผนดีๆ เราก็มีโอกาสสำเร็จมากกว่าคนอื่น

ผมก็เตรียมตัวสามสี่เดือน ก่อนสอนวางแผนย้อนหลังว่าเราจะไปจบที่ไหน แล้วต้องเริ่มอย่างไร เพื่อนๆ ที่ประสบความสำเร็จด้านการเรียนที่ผมรู้จักก็มักจะมีการวางแผนล่วงหน้าแบบนี้ทั้งนั้นครับ

แล้วอาจารย์ล่ะครับ?

ขอบคุณครับ

อาจารย์สุขุมาลยกประเด็นน่าสนใจนะครับ

เรียนเพื่ออะไร เป็นเรื่องที่เราตอบกันยากนะครับ เพราะระบบไม่ได้ให้เราตั้งคำถามมากนัก ทั้งกับระบบและกับตัวเอง เราก็เลยเรียนไปอย่างที่มีให้เรียน...

ผมมองว่าสองเรื่องนี้ต่างกัน และเกี่ยวกันนะครับ คือถามว่าเรียนไปเพื่ออะไร บางครั้งมันเหมือนคำถามเชิงปรัญญา ตอบยาก ผมตอบตัวเองก็ยังไม่ได้ แต่ถ้าตอบว่าเรียนเพื่อหางานดีๆ อันนี้ง่ายเลย จริงไหมครับ?

หลายๆ คนรู้วิธีเรียน รู้จริตการเรียนตัวเอง ว่าต้องเรียนแบบไหน แต่ไม่เคยมีความสุขกับการเรียน เพราะไม่รู้ว่าเรียนไปทำไม ตรงนี้ล่ะ ที่ผมว่ามันเกี่ยวกัน คือผมเห็นว่าเด็กหลายคนบางทีอดทนเรียน และเรียนได้ดี ทั้งๆ ที่ไม่ชอบ อันนี้เศร้านะครับ

น้องๆ หลายคนเรียนแพทย์ (med school) ที่อเมริกา บ่นว่า I don't have life ... ฟังแล้วเศร้านะครับ

หลายๆ คนมองว่าเราเรียนเพื่อเตรียมใช้ชีวิต ส่วนชีวิตนั้นอยู่นอกโรงเรียน ด้วยตรรกะแบบนี้ การเรียนไม่ใช่ส่วนหนึ่งของชีวิต ตรงนี้ต้องเปลี่ยนครับ

เหมือนอย่างที่ John Dewey กล่าวไว้ว่า "education is not a preparation for life but is life itself"

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท