เพลงพื้นบ้าน ยังมีให้เห็นอีก 19 อย่าง ที่สุพรรณบุรี


ติดตามชมหรือไปชมความสามารถในการแสดงเพลงพื้นบ้าน 10 อย่างของนักเรียนได้ทุกวัน ที่โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี

เพลงพื้นบ้าน

ไม่สูญหายไปจากดอนเจดีย์

ยังมีให้เห็นอีก 19 ชนิด ที่โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1

อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี

โดย นายชำเลือง มณีวงษ์
(โล่รางวัลชนะเลิศเพลงอีแซวจังหวัดสุพรรณบุรี ปี 2525)
(ผู้มีผลงานดีเด่น รางวัลราชมงคลสรรเสริญ เพลงพื้นบ้าน ปี 2547)

           เพลงพื้นบ้านภาคกลางมีอยู่หลายชนิด อาจมากกว่า 50 อย่าง แต่ที่ยังพอมีคนรู้จัก และนักเพลงเล่นกันอยู่คงไม่ถึง 25 อย่างแล้ว ส่วนตัวผมเองได้ฝึกหัดเอาไว้จากครูเพลงหลายท่าน ในบางเพลงก็ลักจำเอามา แต่ว่าได้เคยร่วมร้อง ร่วมเล่น ร่วมแสดงกับนักเพลงเก่า ๆ หลายท่านเพลงพื้นบ้านยังอยู่ในตัวผม จำนวน  19 อย่าง ได้แก่ 

         1. เพลงอีแซว       - เล่นเป็นคณะ เป็นทีม

         2. เพลงฉ่อย         - เล่นเป็นคณะ เป็นทีม

         3. ลิเก (รานิเกลิง)  - เล่นเป็นคณะ  มีโรง/เวทีแสดง

         4. เพลงเรือ          - เล่นเป็นกลุ่ม มีทั้งลงเรือในน้ำและบนบก

         5. เพลงเต้นกำ      - เล่นในท้องนา บนเวที

         6. เพลงลำตัด       - เล่นเป็นคณะ ใช้รำมะนาให้จังหวะ

         7. เพลงพวงมาลัย  - เล่นเป็นวงล้อมรอบ

         8. เพลงขอทาน     - เล่นเดี่ยว เล่นเป็นกลุ่ม

         9. เพลงแหล่         - ร้องเดี่ยว ร้องคู่และเป็นที่

       10. ทำขวัญนาค      - ร้อง ประกอบพิธี เดี่ยวหรือชาย-หญิง

       11. เพลงยั่ว (รำกลองยาว) - เล่นเป็นกลุ่ม ใช้กลองยาวให้จังหวะ

       12.  เพลงระบำบ้านไร่ - เล่นเป็นวง

       13. เพลงชักกระดาน  - เล่นที่ลานบ้าน ตอนนวดข้าว

       14. เพลงสงฟาง       - เล่นที่ลานบ้าน ตอนนวดข้าว

       15. เพลงพานฟาง     - เล่นที่ลานบ้าน ตอนนวดข้าว

       16. ขับเสภา            - ร้องขับเดี่ยว ร้องสลับกัน ร้องต่อกัน

       17. เพลงเหย่อย       - เล่นเป็น 2 กลุ่ม ใช้กลองยาวให้จังหวะ

       18. เพลงกล่อมเด็ก   - ร้องเดี่ยว

       19. เพลงเกี่ยวข้าว    - เล่นเป็นกลุ่มในท้องนา หน้าเกี่ยวข้าว 

                 

                 ในจำนวนเพลงพื้นบ้านที่กล่าวมาข้างต้น ผมทำการฝึกหัดและผ่านการแสดงบนเวที หรือที่จัดให้แสดงมาทั้งหมด เพียงแต่ว่าบางเพลง เป็นเพลงสั้น ๆ มิอาจทีจะนำเอาไปเล่นเป็นอย่างมหรสพได้ เมื่อกาลเวลาผ่านไป  ความนิยมในการเล่นเพลงเปลี่ยนไปเป็น  มีฝ่ายคนดูและฝ่ายนักแสดง ทำให้นักแสดงเพลงพื้นบ้านต้องเลือกที่จะนำเอาเพลงยาวไปเล่น ทำให้เป็นส่วนหนึ่งที่เพลงบางเพลงต้องหายไปจากเวทีการแสดง แต่ก็ยังอยู่ในตัวคนที่เป็นปราชญ์ชาวบ้าน หรือปราชญ์เดินดินทั้งหลายที่นับวันแต่จะถูกลืมไป สำหรับผมแล้ว ผมยังคงนำเอาเพลงพื้นบ้านที่ผมร้องเป็น เล่นได้ มาใช้ผสมผสานในการแสดงอยู่ตลอดเวลา เหมือนกับว่า เป็นการเตือนใจเรา จะได้ไม่ลืมเพลงเก่า ๆ เหล่านั้นด้วย มีหลายครั้งที่ท่านผู้ชมขอให้ร้องเพลงขอทานให้ฟังหน่อย ก็จัดให้ได้เลย และอีกอย่างหนึ่งคือ เพลงพื้นบ้านเก่า ๆ มีมาคู่กับการทำงานด้านการเกษตรกรรม เมื่อกิจกรรมนั้นๆ ไม่มีเพราะเครื่องมือทางเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่ เพลงที่เคยเล่นสนุกคู่มากับอาชีพเกษตรกรรมก็พลันหายไปด้วย ว่ากันจริง ๆ แล้วเพลงที่ยังร้องเล่นกันเป็นอาชีพได้ก็เหลือเพียงไม่กี่อย่าง บางท่านพยายามที่จะรื้อฟื้นเพลงที่สูญหายไปนาน ๆ แล้วให้กลับมาอีกครั้ง  แต่ไม่มีที่จะรองรับ ที่จะให้นักแสดงได้นำผลงานไปเสนอ ผมจึงนำเอาเฉพาะที่จะต่อยอดไปสู่การแสดงอาชีพได้ มาถ่ายทอดให้กับนักเรียนได้ฝึกอย่างจริงจัง  ได้แก่ 

              1. ลิเก (รานิเกลิง) ยังได้รับความนิยมอยู่ในสังคมปัจจุบันทั่วประเทศ

        2. เพลงอีแซว      มีเล่นกันในแถบภาคกลาง ตะวันตก 8 จังหวัด

        3. เพลงฉ่อย        ยังหาดูได้ มีเล่นกันหลายจังหวัด เป็นเพลงเก่าแก่ 

        4. ลำตัด             มีเล่นกันมากแถบจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ปทุมธานี

        5. เพลงเรือ         มีเล่นกันน้อยลงนอกจากมีงานเทศกาล

        6. ขับเสภา         ยังหารับฟังได้ เป็นการขับลำนำประกอบการแสดงอื่น ๆ

        7.  เพลงพวงมาลัย มีเล่นกันในชุมชนภาคกลาง แต่ความนิยมน้อยลง

        8.  เพลงเต้นกำ     มีเล่นกันในชุมชนภาคกลาง เฉพาะกิจ

        9.  เพลงแหล่       มีร้องในเทศมหาชาติ เพลงลูกทุ่ง ทำขวัญนาค

      10. ทำขวัญนาค    ยังได้รับความนิยมทั่วไป แม้ว่าจะเบาบางลงบ้าง แต่ก็ยังมีให้เห็น 

               

เพลงอีแซว

          เป็นเพลงหลักที่ผมฝึกหัดให้กับนักเรียน ที่โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 มานาน นับ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 (ความจริงเริ่มมาก่อนหน้านั้นเสียอีก) แต่มาเริ่มจริง ๆ ก็ ปี พ.ศ. 2535 จนมาถึงในปัจจุบัน เป็นเวลา 16 ปี เศษแล้ว ยังได้รับการสนับสนุน ได้รับความเมตตาจากท่านผู้ชมให้การอุปถัมภ์มาโดยตลอด ทำให้ผมและเด็ก ๆ ในวงเพลงมีกำลังใจที่จะเดินหน้าต่อไปอีกจน ถึงวาระสุดท้าย แม้จะไม่มีเวทีให้แสดง แต่เสียงเพลงอีแซวก็จะยังคงได้ยินออกมาจากตัวผมไปจนสิ้นลมหายใจ ส่วนเพลงพื้นบ้านอื่น ๆ ผมนำเอามาเล่นเป็นเพลงเสริม เรียกว่าเป็นเพลงแทรกในช่วงที่มีโอกาส หรือเมื่อมีท่านผู้ชมขอมา  ส่วนเด็ก ๆ แบ่งฝึกหัดกันเป็นกลุ่ม ๆ ครับ เด็กเขาจะได้ไม่สับสนในการจำเนื้อร้อง ได้แก่

          ธีระพงษ์-ภาธิณี       เป็นนักร้องนำเพลงอีแซว เพลงฉ่อย เพลงขอทาน เพลงลำตัด ลิเก

          ยุวดี-ยุพาภรณ์-เมธี  เป็นนักร้องนำเพลงอีแซว เพลงพวงมาลัย เพลงลำตัด

          จิระพงษ์, สหรัฐ, กนกพร, วรรณา เป็นนักร้องนำเพลงฉ่อย ลำตัด

          หทัยกาญจน์-รัตนา   เป็นนักร้องนำเพลงอีแซว เพลงแหล่ เพลงเรือ เพลงเต้นกำฯลฯ 

               

ทำขวัญนาค

           เป็นอีกประเภทหนึ่งที่ผมทำหน้าที่สอนนาคและประกอบพิธี โดยฝึกหัดมาจากบรรพบุรุษของตนเองโดยแท้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2513 รับทำขวัญนาคมามากมายหลายสถานที่ หลายต่อหลายจังหวัด และในปัจจุบันผมได้ถ่ายทอดความรู้ของผมไปสู่นักเรียน เยาวชนที่สนใจในพิธีทำขวัญนาค ได้เรียนรู้ ฝึกหัดร้อง ฝึกหัดประกอบพิธีและไปออกงานกับผมได้แล้วหลายคน ได้แก่

          นางสาวหทัยกาญจน์  เมืองมูล       ม. 6/1

          นางสาวรัตนา  ผัดแสน                 ม. 6/2

          เด็กชายธีระพงษ์  พูลเกิด              ม. 3/6 

          เด็กหญิงภาธิณี  นาคกลิ่นกุล          ม. 3/1 

         เด็กชายจักรกฤษณ์  ศุภสุข             ม. 1/4 

                

เพลงแหล่

           เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่เสริมรายได้ให้กับนักเรียนที่ผมฝึกหัดร้องเพลงแหล่ เพราะนอกจากจะใช้ท่วงทำนองของเพลงแหล่นำเอาไปร้องในพิธีทำขวัญนาคได้แล้ว เด็ก ๆ เขายังนำเอาไปร้องในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬา งานประชุม อบรมสัมมนาในโรงแรมใหญ่ ๆ ได้ด้วย เพลงแหล่ที่ผมสอนให้กับนักเรียน มี 2 ลักษณะคือ แหล่กลอนเดียวแบบง่าย ๆ  (ด้นสดได้ด้วย) กับแหล่แบบผูกกลอนสัมผัสแบบกลอนแปด (มีร้องด้นได้บ้าง 2-3 คน) ในเรื่องของการนำไปใช้ในชีวิตจริงของเด็ก ๆ เขานำเอาไปรับใช้สังคมได้ โดยไปกับผม ไปเดี่ยว ๆ และนำเอาไปบูรณาการใช้กับวิชาที่เรียนในกลุ่มสาระอื่น ๆ ได้ด้วย 

                  

เพลงพื้นบ้านอื่น ๆ

           ผมตั้งใจที่จะถ่ายทอดทุกเพลงที่ยังมีผู้คนให้ความสนใจส่งต่อไปให้กับเด็ก ๆ ที่ผมสอนโดยใช้เวลาเรียนและนอกเวลาเรียน ตามความสนใจ ตามความถนัด ได้แก่ ลิเก (มีการแสดง 1 ชุด) เพลงเรือ, เพลงขอทาน, เพลงเต้นกำ, เพลงฉ่อย, ลำตัด, เสภา, เพลงพวงมาลัย  

                             

                             

                             

                             

                               

           ติดตามชมหรือไปชมความสามารถของนักเรียนได้ที่ โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี โทร.035-591271, 084-976-3799 และ 084-976-1661 ได้ทุกวันครับ.

  

หมายเลขบันทึก: 146268เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2007 23:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:33 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท