นิสัยรักการอ่าน1


ใครก็ตามที่มีรสนิยมการอ่านหนังสือดี ย่อมทนต่อความเงียบได้

การศึกษากระบวนการสร้างนิสัยรักการอ่าน   

  "ข้าพเจ้าเป็นสุข และเชื่อว่า ใครก็ตามที่มีรสนิยมการอ่านหนังสือดี
ย่อมทนต่อความเงียบเหงาในทุกแห่งได้อย่างสบาย" มหาตมะ คานธี

นี่คือคำกล่าวของมหาบุรุษคนสำคัญของประเทศอินเดีย   ผู้นำในการเคลื่อนไหวเรียกร้องอิสรภาพของอินเดียจากการเป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักร โดยใช้วิธีอหิงสา ซึ่งภายหลังได้กลายเป็นต้นแบบของการประท้วงแบบสันติที่ได้รับการยกย่อง มหาตะมะ คานธี พูดถึงการอ่านที่ทรงพลังในด้านการให้จินตนาการ ความคิด  ที่นอกเหนือจากความรู้ และเป็นเพื่อนที่ดีของของผู้อยู่ในโลกของการอ่าน การอ่านจัดเป็นพฤติกรรมที่พึงประสงค์ของสังคม คำว่า การอ่าน หมายถึง สิ่งที่สังเกตหรือพิจารณาเพื่อให้เข้าใจ  คำว่า พฤติกรรม หมายถึง การกระทำหรืออาการที่แสดงออกทางกล้ามเนื้อ ความคิด และความรู้สึกเพื่อตอบสนองสิ่งเร้า (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ) เพราะการอ่านเป็นรากฐานสำคัญของการศึกษาทุกระดับ  เป็นขุมทรัพย์ทางปัญญาที่เชื่อมโยงไปสู่ความสำเร็จหลายๆ ด้าน เพราะผู้อ่านจะรู้เท่าทันเหตุการณ์ รู้วิทยาการใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังเกิดความสุข  ความสนุกสนาน ความเพลิดเพลิน เกิดความอิ่มเอิบใจจากอรรถรสที่ผู้เขียนกลั่นออกมาจากอารมณ์และความรู้สึกและเกิดจินตภาพตามจินตนาการของผู้เขียนอันเป็นจุดประกายของความคิดสร้างสรรค์ ความคิดที่แปลกใหม่ การอ่านมีความจำเป็นต่อชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน เพราะโลกปัจจุบันเป็นโลกยุคไร้พรมแดน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่คนในสังคมต้องสนใจและแสวงหาการอ่าน ดังคำกล่าวที่ว่า  “…the more reading, the more lerning….”โดย สแตรง (Strang)  ที่เห็นว่าการอ่าน คือ ถนนแห่งความรู้ การศึกษาทุกอย่างต้องอาศัยการอ่าน สภาพปัจจุบันในชีวิตจริงต้องใช้การอ่านจึงจะอยู่ในสังคมได้อย่างทัดเทียม (อ้างใน ฉวีลักษณ์ บุณยะกาจน, 2547 : 10)นอกจากนี้ การอ่านยังมีคุณค่า ทั้งต่อตนเอง และสังคม  เพราะจะทำให้เป็นผู้มีคุณค่าในสังคม มีประสบการณ์ในชีวิต  และช่วยให้บุคคลในสังคมรู้ข้อเท็จจริง และหากบุคคลนั้นมีนิสัยรักการอ่านด้วยแล้ว การอ่านจะเป็นรางวัลที่มีค่าในเวลาว่างทำให้ชีวิตน่ารื่นรมย์ ละมุนละไม (Jame Conan  อ้างใน ฉวีลักษณ์ บุณยะกาจน, 2547 : 11)นิสัยเป็นลักษณะอันเป็น เอกลักษณ์ของปัจเจกบุคคลและเกี่ยวข้องอยู่กับกระบวนการเรียนรู้พื้นฐาน 2 ประการ ประการแรก เป็นการเรียนรู้ซึ่งเชื่อมต่อกันเป็นลูกโซ่ของพฤติกรรมเฉพาะแบบ ประการที่สองเป็นผลของประสบการณ์ในอดีตซึ่งบุคคลเคยแสดงพฤติกรรมชนิดหนึ่งตอบสนองต่อสิ่งเร้าชนิดหนึ่งและได้รับการเสริมแรง จึงมีความถี่ในการแสดงพฤติกรรมดังกล่าวเพิ่มขึ้นเกิดความเคยชินจนกลายเป็นนิสัย  การศึกษาเป็นมิติหนึ่งทางสังคม ที่มุ่งเน้นในเรื่องการปลูกฝังความคิด สติปัญญา  ค่านิยม ความรู้ ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมที่สังคมต้องการ  การศึกษากระบวนการสร้างนิสัยรักการอ่านครั้งนี้ จะเห็นได้ว่า  ทั้งที่พฤติกรรมดังกล่าวเป็นพฤติกรรมที่พึงประสงค์ของครอบครัวและสังคม แต่ทำไมจึงไม่สามารถสร้างเด็กส่วนใหญ่ในประเทศให้มีนิสัยรักการอ่านได้ ดังเช่น ผลงานวิจัยจากองค์การยูเนสโก (UNESSCO)  ระบุว่า คนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ย ต่อคนปีละ 8 บรรทัด  นอกจากนี้การวิจัยส่วนใหญ่ที่ออกแบบเพื่อพยายามส่งเสริมนิสัยรักการอ่านนั้น มักมุ่งเฉพาะปัจจัยทางสภาพแวดล้อม ทำให้ไม่สามารถเข้าใจกระบวนการก่อตัวของนิสัยรักการอ่านได้   เนื่องจากมีผู้ที่มีนิสัยรักการอ่านจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้กลายเป็นคนมีนิสัยรักการอ่านได้ ดังนั้นการศึกษานี้จึงต้องการทำความเข้าใจ กระบวนการสร้างนิสัยรักการอ่าน เพื่อทำความเข้าใจตัวแปรที่เกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการสร้างนิสัยรักการอ่าน   การศึกษากระบวนการสร้างนิสัยรักการอ่านในครั้งนี้ เป็นการศึกษาแบบกรณีศึกษา ซึ่งเลือกศึกษาผู้ที่มีนิสัยรักการอ่านจำนวน  4  คน  เป็นการเลือกแบบเจาะจง  ทั้งนี้ผู้วิจัยเห็นว่ากรณีศึกษานี้เป็นลักษณะงานวิจัยในเชิงบวก ไม่มีผู้เสียหาย  ดังนั้นลักษณะการลงสนามจึงไม่จำเป็นต้องปิดบังเพราะในการเลือกตัวอย่าง  ผู้วิจัยเลือกผู้ที่มีนิสัยรักการอ่าน โดยมีผู้รับรองถึงการมีนิสัยรักการอ่านด้วย  

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการศึกษาครั้งนี้

1.  การศึกษาถึงกระบวนการสร้างนิสัยรักการอ่าน จะทำให้ทราบถึงตัวแปรที่มีอิทธิพลและความสัมพันธ์ภายในของนิสัยรักการอ่าน  ที่เกิดขึ้นและส่งผลต่อนิสัยรักการอ่านในชีวิตของบุคคล

2.   การศึกษานี้จะช่วยทำความเข้าใจ โลกของการอ่าน โดยเฉพาะการดำเนินชีวิตของผู้ที่มีนิสัยรักการอ่าน  

วิธีการในการศึกษาวิธีการที่ใช้ในการศึกษากระบวนการสร้างนิสัยรักการอ่าน เป็นวิธีการศึกษาในเชิงคุณภาพ โดยมองปรากฏการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมในแง่ของระบบใหญ่และระบบย่อย โดยจะยึดหลักหรือแนวการวิเคราะห์ตามทฤษฎีโครงสร้าง-หน้าที่ (Structural - Functionalism) ซึ่งถือว่าสังคมหรือองค์กรเป็นระบบกระทำการชนิดหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยระบบย่อยสำคัญ 6 ประการ (สำนักคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, 2521) คือ

1.ระบบครอบครัวและเครือญาติ

2. ระบบการศึกษา

3.ระบบเศรษฐกิจ

4.ระบบสาธารณสุข

5.ระบบการเมืองการปกครอง

6.ระบบความเชื่อถือและศาสนา 

ระยะเวลาในการศึกษา                ผู้วิจัยใช้เวลาในการศึกษาประมาณ  2  เดือน (โดยเป็นการศึกษาย้อนกลับจากผู้ที่มีนิสัยรักการอ่านเพื่อเข้าใจ กระบวนการสร้างนิสัยรักการอ่าน)   

วรรณคดีที่เกี่ยวข้อง                 จากการศึกษากระบวนการสร้างนิสัยรักการอ่านได้เลือกแนวคิด ทฤษฎีที่ใช้เป็นตัวนำทางในการศึกษา

1.    แนวคิดเกี่ยวกับกฎการเรียนรู้

2.     ทฤษฎีการเรียนรู้พหุปัญญา

3.    ทฤษฎีพัฒนาการทางสิตปัญญาของเพเจต์ 



คำสำคัญ (Tags): #การอ่าน
หมายเลขบันทึก: 146262เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2007 23:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กรกฎาคม 2012 15:08 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

บทความนี้มีประโยชน์มาก ๆ ครับ เพราะว่ากำลังจะทำวิจัยเกี่ยวกับการอ่านอยู่

จะสอนอย่างไรให้เขารักการอ่าน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท