รุ่งอรุณ...บ้านรักไทย ทางไกลของชุมชนสีขาว


รุ่งอรุณ...บ้านรักไทย ทางไกลของชุมชนสีขาว


Terchang

พวกเขาเดินทางไกล หลายร้อยกิโลเมตร จากยูนนานถึงประเทศไทย ลงหลักปักฐาน บนแผ่นดินที่งดงาม และน่าจะสงบสุข หากว่าชีวิตไม่ต้องตกอยู่ในอิทธิพลมืด ของกลุ่มผู้ค้ายาเสพติด วันนี้หลายชุมชน ในพื้นที่สีแดง กำลังปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของตัวเอง ท่ามกลางการยึดยื้อระหว่างกระแสการท่องเที่ยว และการกลับมาของสิ่งผิดกฎหมาย ชุติมา ซุ้นเจริญ ย้อนรอยเส้นทางที่ผ่านมา เพื่อค้นหาเป้าหมาย ที่ต้องฝ่าไปให้ถึง

 

ม่านหมอกหนาลอยตัวอยู่เหนือผิวน้ำเรียบนิ่งของอ่างเก็บน้ำกลางหมู่บ้าน แสงอาทิตย์จากมุมหนึ่งของท้องฟ้า ค่อยๆ ปรับสีสันทิวทัศน์โดยรอบบ้านรักไทยให้พ้นจากความหม่นมัว ถึงอย่างนั้น…ในฤดูหนาวหมอกจางๆ จะยังคงโอบล้อมชีวิตของคนที่นี่ไปจนสาย

 

สาวไทยเชื้อสายจีนยูนนาน ในชุดกี่เพ้า จัดเตรียมข้าวของรอต้อนรับนักท่องเที่ยวในเช้าวันใหม่ ร้านน้ำชาเล็กๆ จากแหล่งชาชั้นดี คือ คำเชื้อเชิญอันอบอุ่น บ้านเรือน และร้านรวงส่วนใหญ่ทำจากดินเหนียวผสมฟางข้าวตามวัฒนธรรมดั้งเดิม

 

ในหมู่บ้านแห่งนี้ นอกจากผู้คนที่มีบรรพบุรุษอพยพมาจากทางตอนใต้ของประเทศจีนแล้ว ยังมีชุมชนชาวไทยใหญ่ปะปนอยู่จำนวนหนึ่ง ทุกเช้าคุณยายชาวไตจะเริ่มภารกิจหุงหาอาหารตรงชานบ้าน ขณะที่เด็กๆ วิ่งเล่นกันตามประสา ใกล้กันนั้นหนุ่มวัยกลางคนกำลังดูดยาเพื่อเรียกพลังก่อนออกไปทำไร่ตามปกติ

 

ด้วยความงดงามของธรรมชาติและวัฒนธรรม บ้านรักไทย หรือ บ้านแม่ออ ในอดีต ซึ่งเป็นหมู่บ้านสุดท้ายก่อนถึงชายแดนไทย-พม่า และอยู่ห่างจากตัวเมืองแม่ฮ่องสอนเพียง 44 กิโลเมตร ได้รับการแนะนำในฐานะหมู่บ้านท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดแม่ฮ่องสอน

จากยูนนานถึงบ้านแม่ออ

การเดินทางไกลของชาวบ้านรักไทย ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวจีนจากมณฑลยูนนาน (จีนฮ่อ) เริ่มต้นเมื่อจีนเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบบคอมมิวนิสต์ เมื่อปี ค.ศ.1949

“ตอนแรกก็มาอยู่ที่พม่าก่อน บางส่วนอยู่ที่ลาว จนสุดท้ายกองพล 93 ก็มาอยู่ที่ดอยแม่สะลอง เชียงราย ส่วนกองพลที่ 95 ไปอยู่ที่ผาตั้ง ที่เรามาอยู่ที่นี่ก็เพราะว่านายพลตงฉีเหวิน เห็นว่า ช่องทางระหว่างบ้านแม่ออ ตรงข้ามเป็นบ้านแม่ออหลวง มีการค้าขายหยกและอัญมณี จึงส่งกองพลมาเพื่อจะมาตั้งด่านตรงนี้และเก็บส่วย แรกๆ มาร้อยกว่าคน”

“ภายหลังเมื่อมีปัญหาเรื่องการคอร์รัปชัน ท่านนายพลต้วนก็ให้ท่านเจ้าฟ้าเล่าหยาง ซึ่งปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่มาสืบหาความจริงและดูแลพื้นที่ตรงนี้ ในที่สุดก็เลยตั้งรกรากอยู่ที่นี่”

 

คู่จง แซ่เฉิ่น เยาวชนบ้านรักไทย ทายาทรุ่นที่สาม ย้อนอดีตให้ฟังอย่างคล่องแคล่ว

 

จากอดีตทหารจีนคณะชาติ คนที่นี่ค่อยๆ กลมกลืนกับผืนแผ่นดินไทย ด้วยการเข้าร่วมในปราบปรามคอมมิวนิสต์ในสมรภูมิเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ จนบางส่วนได้รับพระราชทานนามสกุล ซึ่งมักจะขึ้นต้นหรือลงท้ายด้วย ‘ภักดี’ ‘อภิรดี’ รวมทั้งชื่อหมู่บ้านรักไทยด้วย

“ส่วนใหญ่จะชอบชื่อรักไทยมากกว่า เพราะชื่อแม่ออจะไปคลองกับหมู่บ้านฝั่งตรงข้าม ซึ่งมีปัญหายาเสพติด”

ทุกวันนี้แม้ว่าความอึมครึม จะเริ่มถูกเปิดเผยด้วยการแปลงโฉมหมู่บ้านให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่ในสายตาของลูกหลานบ้านแม่ออ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ไม่ได้ทำให้อคติบางอย่างหายไป

“ชาวบ้านกว่าครึ่งยังไม่มีสัญชาติ ตรงนี้รัฐก็เอามาบีบ ช่วงหลังมาก็มีทหารเข้ามาทำเรื่องยาเสพติด ก็พยายามจะเคลียร์ให้ขาวสะอาดที่สุด“

คู่จง บอกว่า การไม่มีสัญชาติทำให้พวกเขาต้องประสบปัญหาหลายอย่าง ทั้งในเรื่องการทำมาหากิน การเดินทาง รวมทั้งการศึกษา ซึ่งทั้งหมดนำมาซึ่งความยากลำบากในการดำเนินชีวิต

 

แม้ว่าปัจจุบันรัฐจะพยายามส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยว ทั้งการจัดเทศกาลชิมชา ในเดือนกุมภาพันธ์ การเที่ยวชมวัฒนธรรมของชาวจีนยูนนาน ซึ่งพวกเขายังคงสืบทอดอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นภาษาพูด ภาษาเขียน อาหาร บ้านดิน หรือแม้แต่ ‘ม้าล่อ’ สัตว์หายากที่ใช้ในการบรรทุกสัมภาระตั้งแต่เมื่อครั้งยังใช้ชีวิตอยู่ในประเทศจีน

แต่การขาดโอกาสในด้านต่างๆ ทำให้คนเหล่านี้กลายเป็นแค่ ‘ผู้ถูกท่องเที่ยว’ ซึ่งไม่อาจยืนหยัดได้อย่างแท้จริงในเส้นทางที่รัฐพยายามผลักดัน ขณะเดียวกัน ก็ไม่อาจสลัดภาพเดิมๆ ของการเป็นพื้นที่สีแดงได้หมดสิ้น

บนเส้นทางสายยาเสพติด

จากบ้านรักไทย ลัดเลาะเทือกดอยอันสลับซับซ้อนของจังหวัดแม่ฮ่องสอน บ้านรุ่งอรุณ ถือเป็นหมู่บ้านถัดมาตามเส้นทางลำเลียงยาเสพติด ก่อนจะเชื่อมโยงกับเครือข่ายที่บ้านกึ๊ดสามสิบ และผ่านไปยังบ้านสันติชล อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ก่อนจะกระจายไปยังพื้นที่อื่นๆ ในประเทศ ในลักษณะเครือข่ายใยแมงมุม

รุ่งอรุณ หรือ บ้านแม่สุยะจีน เป็นหมู่บ้านชาวจีนฮ่อและครอบครัวอดีตทหารจีนคณะชาติอีกกลุ่มหนึ่งที่อพยพเข้ามาอยู่เมืองไทยตั้งแต่ปี 2493-2504

“คนกลุ่มแรกๆ เป็นชาวจีนที่อพยพมาพร้อมกับ โหลซิงฮั่ง ผู้นำกลุ่มโกกั้ง กระทั่งเมื่อปี 2517 โหลซิงฮั่งถูกทางการหารไทยส่งกลับพม่า บางส่วนก็กลับไปกับโหลซิงฮั่ง บางส่วนก็ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่ ขณะเดียวกัน ก็มีคนจีนจากทางตอนใต้อีกจำนวนหนึ่งอพยพเข้ามาสมทบ ก่อนจะก่อตั้งหมู่บ้านอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ.2526” เล่าไก่ แซ่หยาง ผู้นำหมู่บ้านรุ่งอรุณ เท้าความ

ด้วยความที่ตั้งบ้านอยู่ท่ามกลางสภาพป่าเขา มีทางเดินเชื่อมโยงถึงชายแดนพม่า ทำให้หลายสิบปีที่ผ่านมาหมู่บ้านแห่งนี้กลายเป็นที่ฝังตัวของกลุ่มอิทธิพลจากภายนอก กลุ่มผู้ค้ายาเสพติดได้อาศัยถ้ำและหน้าผาเป็นที่ซ่อนยา ใช้คนในชุมชนเป็นมดงานในขบวนการค้าเสพติด จนที่นี่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งพักยาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ

"สมัยก่อนเราเหมือนเป็นหมู่บ้านปิด เจ้าหน้าที่ยังไม่กล้าเข้าเลย แต่เราก็ว่าไม่มีอะไรนะ" คนในชุมชนเอ่ยปาก ก่อนจะเล่าถึงความทุกข์ยากที่ต้องอยู่ท่ามกลางอำนาจมืด

“พวกนั้นมีอาวุธ มีอิทธิพล ชาวบ้านส่วนใหญ่จะกลัว ตอนนั้นถึงเราจะอยากปราบปราม แต่มันเป็นกลุ่มใหญ่ ถ้าเราไปปราบปรามกลุ่มย่อยๆ แล้วกลุ่มใหญ่เราไม่ปราบปราม มันอันตราย แล้วชาวบ้านก็กลัวเจ้าหน้าที่อีกด้วย ไม่แน่ใจว่าจะช่วยปกป้องเขาได้” สุเมธ แซ่หยาง หนึ่งในคณะกรรมการบ้านรุ่งอรุณ กล่าว

กระทั่งในปี 2546 เมื่อรัฐบาลประกาศสงครามกับยาเสพติด พวกกลุ่มผู้ค้ารายใหญ่จึงได้หลบหนีออกไป เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองกับทหารเข้ามาจัดรูปชุมชน โดยการตั้งผู้นำและคณะกรรมการชุดใหม่

“กรรมการชุดใหม่ก็คิดว่าเราอยู่ในสังคมมืดมา 30 ปีแล้ว น่าจะอยู่ในที่แจ้งสักที ก็เลยให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ช่วยกันปราบปรามยาเสพติด พอทำได้ระยะหนึ่ง ก็มีคนให้ความร่วมมือเข้ามาเยอะ ชาวบ้านก็เห็นว่ามันมีความปลอดภัยดี มีทหารเข้ามาคอยดูแล จริงๆ แล้วส่วนใหญ่เขาจะไม่ค่อยชอบยาเสพติด แต่มันอยู่ในสถานการณ์อย่างนั้น เราไปพูดอะไรไม่ได้ ต้องอยู่ไปตามน้ำ“

ไม่นานความร่วมมือระหว่างชาวบ้านกับทางการก็เริ่มบรรลุผล วันที่ 19 กันยายน 2547 เป็นฤกษ์งามที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องว่า หมู่บ้านแห่งนี้ควรจะสลัดภาพอันน่ากลัวของชุมทางยาเสพติด เพื่อก้าวเข้าสู่วิถีทางใหม่ ในนาม 'หมู่บ้านรุ่งอรุณ' ซึ่งเจตนาจะสื่อความหมายถึง 'การเริ่มต้น'

เส้นทางสายใหม่ของบ้านแม่สุยะจีน จึงเป็นการปรับตัวภายใต้กระแสการท่องเที่ยวเช่นเดียวกับบ้านรักไทย

จุดพักยา และซ่อนตัวในถ้ำใกล้หมู่บ้าน ถูกแปลงเป็นแหล่งศึกษาประวัติศาสตร์ ขณะที่เส้นทางลัดเลาะเทือกดอยหลุกตอง น้ำตกซู่ซ่า ที่เคยใช้ลำเลียงยาเสพติด ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นเส้นทางเดินป่าที่มีศักยภาพ อาหารและเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของชาวยูนนาน ได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาเป็นสินค้าทางการท่องเที่ยว

อาหมี่ แซ่หวู่ วัย 71 ปี หญิงชราผู้เดินเท้าทางไกลมาจากมณฑลยูนนานเมื่อหลายสิบปีก่อน เล่าถึงการตัดสินใจในครั้งนั้นว่า “อยู่ที่โน่นหากินลำบาก ได้ยินว่าเมืองไทยอยู่สบาย ก็เลยมาทำไร่ข้าว”

แม้ว่าตอนนี้ไร่ข้าวจะเป็นภาระที่เกินกำลัง แต่แกก็ยังสามารถหารายได้เล็กๆ น้อยๆ จากการเย็บรองเท้าสวมแบบจีน ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับที่อาหมี่ใส่มาตั้งแต่ครั้งยังรัดเท้า ตามประเพณีจีนโบราณ

“รัดมา 28 ปี เดี๋ยวนี้ปล่อยแล้ว เท้าโตขึ้นนิดหนึ่ง แต่ที่ทำขายนี่ต้องโตหน่อย เพราะคนไทยเท้าใหญ่” พูดพลาง แกก็สอดเข็มลงไปบนผืนผ้าเพื่อตรึงไว้กับพื้นรองเท้าที่ปูด้วยเส้นฟาง

สำหรับคนที่นี่ แม้ว่ารายได้จากการท่องเที่ยวหรือแม้แต่สินค้าที่เตรียมไว้ต้อนรับผู้มาเยือน จะยังไม่สามารถค้ำจุนชีวิตของพวกเขาได้ แต่การอยู่อย่างปลอดภัยจากอำนาจอิทธิพลมืด ก็นับเป็นความมั่นคงในชีวิตที่พอจะหวังได้

ฟื้นฟูด้วยวัฒนธรรม

บนเส้นทางสายเดิม ชุมชนทั้งสี่ซึ่งเคยถูกให้ภาพอย่างคลุมเครือ ว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ายาเสพติด กำลังเดินหน้าต่อไปสู่การเป็นหมู่บ้านสีขาว แม้ว่าที่ผ่านมาการซ้อนภาพการท่องเที่ยวลงไปในชุมชน จะช่วยเปิดเผยความงดงามของธรรมชาติ และวัฒนธรรมของชุมชนชาวจีนฮ่อ ที่บ้านรักไทย รุ่งอรุณ และสันติชล รวมถึงวิถีชีวิตอันเรียบง่ายของชุมชนลีซูที่บ้านกึ๊ดสามสิบ ให้ปรากฏแก่สายตาคนภายนอก

แต่หลังจากผ่านการสนามทดลองไปได้ระยะหนึ่ง พวกเขาก็รู้ว่าการเป็นสินค้าทางการท่องเที่ยว ไม่ใช่คำตอบ

“ในแม่ฮ่องสอน เราพยายามจะจับใน 4 จุดที่วิเคราะห์กันว่าเป็นเงื่อนไขสำคัญของการเข้าสู่ขบวนการค้ายาเสพติด นั่นคือ ระบบอิทธิพลภายนอก-ภายในประเทศ ระบบการจัดวางคนในพื้นที่ที่เหมาะสมของเครือข่ายยาเสพติดเอง ระบบเครือญาติ และการปกครองที่ล้มเหลวของฝ่ายทางรัฐของทางไทย” จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร นักวิจัยประเมินสถานการณ์

“เงื่อนไขที่สำคัญที่สุด คือ การไม่ได้รับสัญชาติไทย ปัญหาหนักตอนนี้อยู่ที่บ้านสันติชล มีชาวบ้านได้รับสัญชาติไทยแค่ 10-20% ตรงนี้ก็เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้เขาต้องตัดสินใจทำอะไรสักอย่างหนึ่งเพื่อความอยู่รอด เพราะว่าออกจากนอกชุมชนปุ๊บก็โดนตำรวจไถแล้ว เขาไม่มีทางเลือกอะไรเลย”

ในความเห็นของ จตุพร ผู้ทำงานคลุกคลีอยู่กับชาวบ้านมานาน เขามองว่า ถ้ายังไม่สามารถตัดปัจจัยที่ผลักดันให้คนเหล่านี้เข้าสู่กระบวนค้ายาเสพติด ก็ไม่แน่ว่าเส้นทางสายเดิม ซึ่งด้านหนึ่งกำลังปรับตัวเข้าสู่กระแสการท่องเที่ยว จะถูกถากถางมาใช้โดยกลุ่มอิทธิพลอีกเมื่อไหร่

“เราเลยคิดโครงการวิจัยเลียนแบบกระบวนการค้ายาเสพติด ทำใน 4 ชุมชน รักไทย สันติชล รุ่งอรุณ จะทำในประเด็นท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ส่วนที่กึ๊ดสามสิบ ซึ่งเป็นคนลีซู จะเป็นเรื่องของภูมิปัญญาท้องถิ่น เรื่องสุขภาพ เป็นเรื่องสมุนไพร หมอเมือง พิธีกรรม” เขาอธิบายเนื้อหาของงานที่กำลังทำ ในฐานะผู้ประสานงานโครงการวิจัย

ถึงแม้จะเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างยาก แต่ด้วยความร่วมมือของเจ้าหน้าที่รัฐ นักพัฒนาเอกชน และผู้นำชุมชน 'โครงการวิจัยการเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็งในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหายาเสพติด จ.แม่ฮ่องสอน' ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.ภาค) ซึ่งมี พันโทปิยะวุฒิ โลสุยะ รองผู้บังคับกองพันทหารที่ 174 เป็นหัวหน้าโครงการ จึงเป็นเครื่องมืออย่างใหม่ที่หลายฝ่ายคาดหวังว่าจะช่วยเสริมความมุ่งมั่นในการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของชาวบ้านในครั้งนี้

สำหรับตัวแทนเยาวชนบ้านรักไทยอย่าง 'คู่จง' ซึ่งได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการวิจัยด้วย เขามองว่า การนำอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของแต่ละชุมชนจะใช้ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องเปิดโอกาสให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม โดยกิจกรรมการท่องเที่ยวน่าจะเป็นส่วนเสริมให้ชาวบ้านได้ทำงานร่วมกัน

"การท่องเที่ยวเราก็มองว่าเป็นจุดแข็ง ชาวบ้านเคยประชุมกัน เพราะว่าก่อนหน้านี้เราประสบปัญหาการท่องเที่ยวมาก เพราะผลประโยชน์ยังไปตกกับคนบางกลุ่มเท่านั้น ทำให้ชาวบ้านค่อนข้างมีอคติกับหน่วยงานรัฐที่ให้ความช่วยเหลือ และรู้สึกไม่ดีต่อหน่วยงานรัฐที่มาเอาเปรียบ เช่น งบประมาณโครงการชงชา ชาวบ้านไม่ได้เป็นคนทำ ชาวบ้านจัดสถานที่ ขายตั๋วอาหาร หลังจากที่งานเสร็จแล้ว ตั๋วก็ขายไปแล้วแต่เงินไม่ได้ จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้ เราทำงานทุกอย่าง แต่ไม่ได้อะไรกลับมา เงินค่าอาหารเป็นหน่วยงานราชการบางกลุ่มไปขาย เราก็ขาดทุน" คู่จง เปิดใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้น

ดังนั้น ในความเห็นของเขา ไม่ว่ารัฐจะส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตร หรือสนับสนุนให้ชุมชนเหล่านี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน เงื่อนไขที่สำคัญที่สุด ก็คือ การมีส่วนร่วมในฐานะเจ้าของพื้นที่และการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง

ส่วนภูมิคุ้มกันที่จะทำให้ไม่หวนกลับไปในเส้นทางเดิม ย่อมขึ้นอยู่กับความรักและหวงแหนวัฒนธรรมของตนเอง เช่นเดียวกับการสร้างการยอมรับจากภายนอกถึงอัตลักษณ์ที่แตกต่าง

และหากว่าเป้าหมายร่วมกัน คือ การเป็นชุมชนสีขาว ...ณ ทางแยกนี้ ถือได้ว่าการเดินทางไกลของพวกเขาใกล้จะถึงปลายทางแล้ว


กรุงเทพธุรกิจ 4 มีนาคม 2548

ที่มา : ชุติมา ซุ้นเจริญ


อ่านเรื่องราวของชุดโครงการวิจัยที่

ISBN 978 - 974 -7492-80-4

ผู้เขียน : จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

พิมพ์ครั้งที่ 1 กันยายน 2550

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 146200เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2007 18:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

สวัสดีครับ

เห็นเปลี่ยนรูป นึกว่าพระเอกหนังจีนที่ไหน อิๆๆ

ยาเสพย์ติดเป็นตราบาปของชาวเขามานานทีเดียว

ดูหนังไทยรุ่นก่อนๆ พูดถึงชาวเขาก็ไม่พ้นเรื่องยา

อ่านแล้วก็อบอุ่นในใจครับ

อ้อ หนังสือเล่มนี้สั่งซื้อจาก สกว. ใช่ไหมครับ

 พี่ P

เป็นบทความใน กรุงเทพธุรกิจ ครับ ผมคัดลอกมาเพื่อเชื่อมกับหนังสือที่ผมเขียน

ใช่ครับหนังสือสั่งซื้อที่ สกว. แต่ไม่ต้องสั่งหรอกครับ

หากพี่มาเยี่ยมผมที่ ปาย จะให้ฟรีครับ พร้อมเลี้ยงกาแฟ ม็อคค่า ที่ คอฟฟี่อินเลิฟ จิบกาแฟแกล้มเมฆหมอกครับผม

ขอบคุณครับ

 

จาก  พระเอกหนังจีน  อิอิ

สวัสดีเอก

ชาวจีนยูนนานเป็นอีกกลุ่มชาติพันธุ์ที่น่าเห็นใจ และน่าสนใจเป็นพิเศษครับ(โดยเฉพาะคนที่ถูกกุมหัวใจไปโดยสาวจีนยูนนานเช่นอ้าย)

ชาวจีนยูนนานแถวดอยแม่สลอง มีชีวิตความเป็นอยู่ดี ได้รับการเกื้อกูลจากพี่น้องจากไต้หวันหลายอย่าง

แต่มีชุมชนชาวจีนฮ่ออีกหลายที่ที่พบว่ามีความลำบากยากเข็นไม่ต่างจากพี่น้องชนเผ่าอื่นบนที่สูง เคยพบเห็นความลำบากตอนที่พวกเขามาโรงหมอสวนดอก คนคู่ใจผมต้องเข้าไปดูแลช่วยเหลือตลอด บางคนก็เอาเป็ดเอาไก่มาตอบแทน

แต่ชุมชนจีนยูนนานที่ปายยังไม่มีโอกาสไปสัมผัสครับ คงมีโอกาสสักครั้ง

สวัสดีครับ อ้าย เปลี่ยนP

ยูนนานที่สันติชลเป็น ก๊กมินตั๋ง กลุ่มเดียวกับ แม่สะลองครับ และที่แม่ฮองสอน ทั้งสามชุมชนก็มาจากที่เดียวกัน เป็นจีนฮ่อ "มาลีปา"

ยอมรับว่า สาวยูนนานสวย เด็ดขาดมากครับ

วันที่ ๘ ผมก็จะไปนอนที่ บนดอยแม่สะลอง กะว่าจะไปเยี่ยมเยียนพี่น้อง และเที่ยวชมประวัติศาสตร์ชุมชนให้เข้มข้น

ช่วงนี้ผมขอพักผ่อนยาวครับ

มีโอกาสมาแอ่วปายครับผม

  • ตามมาแสดงความคิดถึง  "อาเอก" ค่ะ
  • "แม่บอกอาเอกด้วย  น๊อตกินผักใบเขียว  กินไข่  กินนมด้วย  น๊อตตัวสูงแล้วนะ"  (เป็นคำสั่งของเจ้าตัวดีค่ะ)

Pว้าววว...หลานอาเอก ท่าเท่ห์เสียด้วยสิครับ

ขอบคุณครับที่คิดถึง ที่บ้านอาเอกอากาศหนาวเย็นมากเลยครับ ตอนนี้ก็สวมหมวก สวมถุงเท้า ผ้าพันคอ ที่กำแพงเพชรเป็นยังไงบ้างเอ่ย

เก่งจังครับ กินผักเยอะๆนะครับ

อย่าลืมทานปลาจะได้บำรุงสมอง หลานน๊อตจะได้เรียนเก่งๆไงครับผม

สวัสดีค่ะ

- แหมอยากไปเยี่ยมที่ปาย

-ได้อ่านหนังสือ - กินกาแฟฟรี

- อิอิ

- ถ้าไม่มีใครซื้อชาวเขาก็คงไม่ปลูกเนอะ

- บางทีนึกคิดสับสน เราหรือเขากันแน่ที่ไม่เข้าท่า...

- เอาแต่ลอยเท้งเต้ง

สวัสดีครับ คุณ นาง พรรณา ผิวเผือก (ไม่มีชื่อกลาง)

มาปายครั้งเดียวคุ้มเลยครับ

มีโอกาสมาเยี่ยมเยียนได้ครับผม

มีหนังสือ พาไปจิบกาแฟ พร้อมเป็นไกด์ที่น่ารัก

ตัดสินใจด่วน !!!

อิอิ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท