"ไผ่" เรื่องเล่าจาก ภูผาม่าน ขอนแก่น


เรียบเรียงเรื่องเล่าโดย คุณวราภรณ์ หลวงมณี

"ไผ่"  ภูมิปัญญาชาวบ้าน  ภูมิปัญญาแผ่นดิน

ทองอยู่  ตลับคำ  บ้านโนนเตาเหล็ก  ตำบลวังสวาบ  อำเภอภูผาม่าน  จังหวัดขอนแก่น  พูดถึงความรู้ในการเก็บหาของป่า  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  "หน่อไม้"  ซึ่งชาวบ้านมีระบบความรู้และภูมิปัญญาในการดำรงชีวิตร่วมกับป่าอย่างลึกซึ้ง  อาจกล่าวได้ว่า  "ลึกซึ้ง"  ยิ่งกว่าระบบความรู้ที่คนภายนอกนำมาใช้ในการจัดการป่าเสียอีก   จะเห็นได้จากการเลือกใช้ประโยชน์จากต้นไผ่  ซึ่งในอดีตเคยเป็น  "สมบัติของท้องถิ่น"  แต่ปัจจุบันทางอุทยานฯประกาศห้ามชาวบ้านเข้าไปเก็บหาหน่อไม้ในป่า

"เจ้าหน้าที่อุทยานฯ  เขาบอกว่า  ที่ชาวบ้านเข้าไปหักหน่อไม้เป็นการทำลายป่า   มันก็ถูกครึ่งหนึ่ง  ผิดครึ่งหนึ่ง   เพราะชาวบ้านที่อยู่กับป่าเขาจะมีความรู้ในการเก็บหน่อไม้   ที่เหง้าของต้นไผ่ทุกต้นมันจะมีตาอยู่ 3 ตา   ที่จะเกิดเป็นหน่อไม้     หน่อไม้มันจะเกิดทีละหน่อ  ไม่เกิดพร้อมกัน   ถ้าหากตาที่ 1 เกิดเป็นหน่อไม้   แล้วเราไปหักมากิน    ตาที่ 2ก็จะเกิด  ถ้าเราไปหักอีก  ตามที่ 3 ก็จะเกิด  แต่จะเกิดเป็นตาสุดท้าย   ถ้าไปหักอีก มันก็จะไม่เกิดหน่อไม้อีกแล้ว    ชาวบ้านเขาก็จะรู้ว่าต้นไผ่ต้นนี้หักหน่อไม้ไปแล้ว 2 ตา (หน่อ)  เขาก็จะปล่อยให้ตาที่ 3  เกิดเป็นต้นไผ่   แต่ถ้าเราปล่อยให้ตาแรกเกิดเป็นต้นไผ่ไปเลย   อีก 2 ตาที่เหลือมันก็จะลีบไป   ไม่เกิดเป็นหน่อไม้อีก   ชาวบ้านก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรจากอีก 2 ตาที่เหลือ    เสียประโยชน์ไปเปล่าๆ   แต่ถ้าเป็นชาวบ้านจากที่อื่นที่ไม่มีความรู้เรื่องการเก็บหน่อไม้   เขาก็ไม่สนใจว่าไผ่ต้นนี้เก็บหน่อไม้ไปแล้วกี่ครั้ง  ถ้าไปหักหน่อไม้ที่เกิดจากตาที่ 3 มันก็เป็นการทำลสยป่าเหมือนกัน..."

จากคำบอกเล่านี้ทำให้เราได้บทเรียนอีกอย่างหนึ่งว่า   การอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในท้องถิ่น  จำเป็นต้องใช้การจัดการความรู้ที่เหมาะสมและชาญฉลาด    ไม่ใช่การตัดสินกล่าวโทษว่าใครเป็นผู้อนุรักษ์และใครเป็นผู้ทำลาย  หรือ  "การทำให้ง่าย"  ในการอนุรักษ์ทรัพยากรด้วยการห้ามใช้ประโยชน์ทั้งหมด   จนทำให้ดูเหมือนว่าระบบความรู้สมัยใหม่ไม่ได้เอื้อประโยชน์อันใดให้แก่คนที่อาศัยอยู่กับทรัพยากรในท้องถิ่นเลย

นอกจากนี้ชาวบ้านยังมีความรู้ในการเลือกใช้ประโยชน์จากต้นไผ่และหน่อไม้แต่ละชนิด   ซึ่งมีความแตกต่างกันด้วย   โดยกล่าวว่า

"....ไผ่ในป่ามันมีตั้งหลายชนิด  บางชนิดมันเป็นไผ่ใช้งาน  เพราะเส้นมันเหนียว    หน่อไม้มันก็เลยเส้นเหนียวไปด้วย   กินไม่อร่อย   ชาวบ้านก็จะไม่หักมากิน   ปล่อยมันเอาไว้เป็นไม้ใช้งาน   อย่างพวกไผ่เซิม  ไผ่บง  ไผ่เฮี่ย  ไผ่ขะมะ  ไผ่บางอย่างเป็นไม้ใช้งานก็ได้    หน่อไม้ก็กินอร่อย  อย่างพวกไผ่คาย  หรือไผ่ไผ่ไร่  ไผ่ฮวก  ไผ่ฮก  ไผ่ซาง  ไผ่บางอย่างเอาไปทำไม้ไม้ไผ่เผาข้าวหลามดี   อย่างพวกไผ่เปาะ   แต่ชาวบ้านจากที่อื่นที่เหมารถเข้ามาเก็บหน่อไม้  เขาไม่สนใจหรอกว่าเป็นหน่ออะไร  ขอให้เป็นหน่อไม้ก็หักเอาไปหมด..."

การจะนำไม้ไผ่ไปใช้ประโยชน์ก็จำเป็นต้องใช้ความรู้เช่นกัน   เพราะไม่เช่นนั้นจะเกิดมอดในไม้ไผ่ได้  ชาวบ้านเล่าถึงความรู้ในเรื่องนี้ว่า

"....เวลาเราตัดไม้ไผ่  แมงมอดมันจะได้กลิ่นทันที  เหมือนกับแมลงวันมันได้กลิ่นของเน่าเหม็นนี่แหละ   มันก็จะมาตอมไม้ไผ่ตรงที่เราตัด  แล้วมันก็จะทิ้งไข่ไว้  พอเราเอาไปใช้งานได้ไม่นานมันก็จะเกิดเป็นตัวมอดกินไม้ไผ่ผุพังหมด    ผู้เฒ่าสอนว่าต้องตัดไม้วันเดือนดับ  บางเดือนก็เป็นวันแรม 14 ค่ำ  บางเดือนก็แรม 15 ค่ำ   ถ้าไปตัดวันนั้นจะไม่เกิดแมงมอดเจาะไม้   ไม่รู้เหมือนกันว่าแมงมอดกับดวงจันทร์มันสัมพันธ์กันอย่างไร   บางครั้งก็เอาไผ่ที่ตัดใหม่ๆ ไปฝังดินหรือแช่น้ำไว้นานๆ  จนเกิดเป็นตะไคร่ มีกลิ่นเหม็นโน่นแหละ  ถึงจะไปเอามาใช้   แมงมอดมันก็ไม่มาเจาะ...."    ยังมีความรู้เกี่ยวกับไผ่อีกมากมาย  จนคนฟังแล้วรู้สึกสนุก  และอยากเข้าร่วมเรียนรู้ไปกับเขาด้วยในป่าด้วย

กระบวนการหาความรู้โดยการตั้งคำถามกับตัวเองว่า  "รู้อะไร"  "ต้องการรู้อะไร"  "เพื่ออะไร"  "จะรู้ได้อย่างไร"  ทำให้วิทยากรกระบวนการที่ศึกษาเรื่องไม้ไผ่ตระหนักถึงคุณค่าของความรู้ที่เรียกว่า  "ภูมิปัญญาชาวบ้าน"  อย่างแท้จริง   รวมถึงการได้วิธีการหาความรู้ที่ลงลึกและเชื่อมโยงกับธรรมชาติของท้องถิ่นนั้นๆ   แม้ว่าเขายังไม่สามารถนำความรู้เหล่านี้ไปเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆได้   แต่ "ไม้ไผ่"  ก็สอนให้ทองอยู่และกลุ่มวิทยากรกระบวนการรู้จักการแสวงหาความรู้     ทองอยู่ได้เปลี่ยนวิธีคิดที่หวังพึ่งคนภายนอกมาเป็นการพึงตนเองซึ่งดีกว่าเยอะ   

"แต่ก่อนทำงานกับหน่วยงานไหนก็อยากได้งบประมาณจำนวนมากๆ  เข้ามาพัมนาในชุมชน   แต่พอทำเข้าจริงก็ไม่สำเร็จอะไรสักอย่าง   เพราะหน่วยงานแต่ละแห่งเขาก็มีขีดจำกัดในเรื่องการสนับสนุนงบประมาณเหมือนกัน   ทุกวันนี้เริ่มมองว่าเราน่าจะทำโครงการเล็กๆ ที่มันเป็นไปได้ที่สามารถจัดการได้  และเกิดผลโดยตรงกับคนในชุมชน  ผมก็เลยเปลี่ยนแนวคิดใหม่  มันทำให้ตัวเองสบายใจ"

หมายเลขบันทึก: 14603เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2006 10:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
อ่านแล้วก็ดีมีสาระทำให้เกิดความคิดที่จะทำให้เกิดประโยชน์(คนภูผาม่าน)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท