GotoKnow

นอกเรื่องสักวัน

นางสาว วิไลลักษณ์ อยู่สำราญ
เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2549 14:00 น. ()
แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2555 14:23 น. ()

     ให้เดาค่ะว่าตอนนี้ผู้วิจัยอยู่ที่ไหน?  ถ้าคนที่เคยเข้ามาอ่าน Blog ของผู้วิจัยบ่อยๆคงจะพอเดาถูก  ขอเฉลยเลยก็แล้วกันนะคะว่าตอนนี้ผู้วิจัยอยู่ที่เกาะช้าง  จ.ตราด  ที่ล่องหนมาอยู่ที่นี่ได้เพราะพานักศึกษามาศึกษานอกสถานที่ค่ะ  พวกเราเริ่มเดินทางตั้งแต่เมื่อคืนนี้ตอน 2 ทุ่ม  มากัน 2 รถตู้  10 กว่าคนค่ะ  กว่าจะมาถึงที่จังหวัดตราดก็ปาเข้าไปเกือบ 09.00 น.  แล้วค่ะ  เมื่อมาถึงแล้วก็นั่งเรือต่อมาที่เกาะช้าง  หาข้าวทานรองท้อง  เสร็จสรรพกว่าจะไปถึงอุทยานแห่งชาติเกาะช้างก็ 11.30 น.  มีเจ้าหน้าที่มาต้อนรับอย่างอบอุ่นด้วยค่ะ  พวกเราได้ความรู้มากมายเกี่ยวกับการจัดการท่องเที่ยวของที่นี่ค่ะ

       ความรู้ใหม่ที่ผู้วิจัยได้รับก็คือ  นอกจากทางอุทยานแห่งชาติแล้ว  ยังมีหน่วยงานอีกหน่วยหนึ่ง  คือ  อพท.  ซึ่งเป็นองค์กรมหาชน  สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี  เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นมาในสมัยของท่านนายกฯ ทักษิณ  ให้ขึ้นมาทำหน้าที่พัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่ต่างๆ  ร่วมกับหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง  โดยในการพัฒนาการท่องเที่ยวนี้เน้นไปที่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ในการทำงานของหน่วยงานนี้นั้นเป็นในลักษณะของ MOU  หน่วยงานนี้ไม่มีอำนาจในการบังคับหรือสั่งการใดๆ

      จากความรู้ตรงนี้ทำให้ผู้วิจัยหวนคิดถึงหน่วยงานที่มีลักษณะเช่นนี้อีกหลายหน่วยงานที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อปฏิบัติภารกิจต่างๆ  แต่ผู้วิจัยรู้สึกชื่นชมการทำงานของ อพท.  โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับอุทยานแห่งชาติเกาะช้างนะคะ  (ส่วนการทำงานร่วมกับที่อื่นเป็นอย่างไรไม่ทราบค่ะ)  จากการฟังบรรยายของผู้จัดการ  ร่วมกับรองหัวหน้าหน่วยอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้างรู้สึกได้เลยว่าทั้ง 2 หน่วยงานมีการร่วมมือกันทำงานเป็นอย่างดี  สิ่งที่ทาง อพท.พูดถึงและสะกิดใจผู้วิจัยก็คือ  ในการทำงานเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวนั้น  ในส่วนของพื้นที่เกาะช้างให้ความสำคัญกับการทำการศึกษาวิจัย  และการให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของชุมชน  ไม่ว่าทางท อพท.  หรืออุทยานแห่งชาติจะทำอะไร  ต้องมีการทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ก่อน  รวมทั้งให้อิสระในการตัดสินใจกับคนในพื้นที่ว่าต้องการให้มีการพัฒนาพื้นที่ให้ออกมาในรูปแบบใด    และสิ่งที่ผู้วิจัยรู้สึกประทับใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ  การที่ทางอพท.  บอกว่าปัญหาความขัดแย้งระหว่างประชาชนในพื้นที่กับหน่วยงานราชการ  โดยเฉพาะเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น  ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าภาครัฐนั้นตัดสินใจเร็วเกินไป  โดยไม่มีการสำรวจพื้นที่ให้ชัดเจนก่อน  เห็นได้ชัดในกรณีของการประกาศพื้นที่ป่าสงวนทับที่ดินทำกินของชาวบ้าน  ซึ่งในพื้นที่หลายแห่งของประเทศไทยนั้น  ชาวบ้านอยู่อาศัย  ทำมาหากินในพื้นที่นั้นๆมานานแล้ว  มาก่อนที่ทางการจะเข้ามาสำรวจซะอีก  แต่พอทางการเข้ามาสำรวจโดยไม่มีการตรวจสอบอย่างละเอียด  ใช้เพียงแผนที่ทางอากาศ  แล้วไปประกาศเป็นพื้นที่ป่าสงวน  ซึ่งไปทับที่ดินทำกินของชาวบ้าน  ปัญหาจึงเกิดขึ้นตามมา  (ที่บอกว่าประทับใจ  เพราะ  จะมีคนของหน่วยงานรัฐสักกี่คนที่กล้าออกมายอมรับความจริงอย่างนี้)

      วันนี้ขอจบแค่นี้ก่อนนะคะ  เพราะ  ต้องรีบไปดูแลนักศึกษา  แถมค่าชั่วโมงอินเตอร์เน็ตก็แพงมากด้วยค่ะ  ไว้ถ้าพรุ่งนี้มีโอกาสอำนวยจะเข้ามาคุยใหม่ค่ะ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized 


ความเห็น

beer
เขียนเมื่อ

สวัสดีพี่อ้อม

ไปสำรวจพื้นที่ก่อนลงพื้นที่จริงเดือนมีนาคมหรือคะ

คิดถึงค่ะ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท
ภาษาปิยะธอน (Piyathon)
เขียนโค้ดไพทอนได้ด้วยภาษาไทย