เกาะติดกระแสการจัดการความรู้


ยุคเศรษฐกิจสังคมฐานความรู้ถ้าไม่รู้จักการจัดการความรู้ถือว่าเป็นคนตกยุค

กระแสหลักการปฏิรูปเศรษฐกิจสังคม
ในปัจจุบันนี้จะเห็นได้ว่าการปรับเปลี่ยนของโลกทุนนิยมได้สร้างกระแสให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ โดยใช้องค์ความรู้เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมให้ไปถึงเป้าประสงค์หรือจุดหมายที่วางไว้  หากเทียบเคียงกับภาพการพัฒนาประเทศไทยก็จะมองเห็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๙ เป็นตัวตั้งและมีทรัพยากรมนุษย์หรือ (man power) เป็นตัวขับเคลื่อน  ซึ่งต้องพึ่งพาอาศัยคนที่มีความรู้ ความสามารถ มีศักยภาพในการทำงานนำไปสู่การพัฒนาที่ต่อเนื่อง ยั่งยืนและสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก

หัวใจสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม มีแนวทางสำคัญๆอย่างน้อย ๓ ประการ  ดังต่อไปนี้

ประการแรก ได้แก่ คนต้องมี ความรู้ ความสามารถ (Knowledge & ability)   การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเป็นจุดหมายปลายทาง แต่จุดหมายแรกควรคำนึงถึงการเริ่มต้นพัฒนาความรู้ความสามารถของคนในหน่วยงาน องค์กร ให้มีความรู้รอบ รู้ลึก และมีความสามารถในการบริหารจัดการ ทำงานอย่างเป็นระบบเสียก่อน

ประการที่สอง ได้แก่ คนจะต้องได้รับการฝึกทักษะ และประสบการณ์ในการทำงาน (Skill & Experience) กล่าวคือ ผู้ที่จะประกอบกิจการงานใดๆก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานที่มีความสลับซับซ้อนหรืองานที่จะต้องใช้ทักษะเฉพาะด้าน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการฝึกคนให้มีทักษะประสบการณ์ในการทำงานนั้นๆจนเกิดความมั่นใจ และนำไปสู่การพัฒนาจนเกิดความชำนาญ จนกระทั่งเชี่ยวชาญในด้านนั้นๆในที่สุด และ

ประการสุดท้าย ได้แก่ คนจะต้องมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ (Creative thinking)
คงต้องยอมรับว่าในยุคปัจจุบันเป็นยุคของการแข่งขันเชิงคุณภาพ ไม่ว่าหน่วยงาน สถานศึกษา องค์กรของรัฐหรือเอกชน ต่างก็มุ่งแสวงหาเอกลักษณ์ ความโดดเด่น หรือความแตกต่างเพื่อดึงดูดความพึงพอใจของลูกค้าให้ใช้สินค้าหรือบริการอย่างต่อเนื่องนั่นเอง   สิ่งสำคัญที่จะขาดเสียมิได้คือ "การใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์" พัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าหรือบริการให้แปลกใหม่ ทันสมัยอยู่เสมอ   ดังนั้นหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆจึงไม่ควรมองข้ามจุดนี้ไป

การปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง
เมื่อได้ทราบแนวทางดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ให้ถือว่า "ทุกๆคนมีหน้าที่ปรับตัว" ให้รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง หรือต้องทำตัวเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงเสียเองโดยการเข้าร่วมกิจกรรมการประชุม อบรม สัมมนา ศึกษา-ดูงาน ศึกษาต่อ หรือศึกษาหาความรู้จากการอ่าน การศึกษาค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมจากแหล่งเรียนรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดจนสื่อสารมวลชนต่างๆอย่างหลากหลาย  ไม่ทำตัวหรือวางตนเป็นเสมือน "นำล้นแก้ว"และพร้อมที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลง พัฒนาตนเองให้ดีขึ้น

ออกแรงศึกษา แลกเปลี่ยนเรียนรู้
จากตัวอย่างที่ยกมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าบุคคลสำคัญที่จะทำให้การจัดการความรู้ในหน่วยงานหรือองค์กร ประสบผลสำเร็จ สามารถเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฐานความรู้ไปสู่เป้าหมายความสำเร็จได้ดีมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล คงไม่ใช่ใครที่ไหนอื่นไกล นั่นคือ "ตัวเราเอง" จำเป็นจะต้องออกแรงหมั่นศึกษา หาความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้คนทุกแวดวงที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีช่องทางในการดำเนินการ ดังนี้
       1) การตั้งวงเล่าเรื่อง เรื่องเล่าเชิงสร้างสรรค์
       2) การพบปะพูดคุยกันอย่างไม่เป็นทางการเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็น
       3) การใช้เครื่องมือจัดการความรู้เพื่อการสื่อสารในวงกว้าง เช่น Web blog เป็นต้น

นำไปสู่การลงมือปฏิบัติจริง
เหนือสิ่งอื่นใดหากมีเพียงความรู้และไม่มีการนำไปสู่การปฏิบัติจริง ความรู้นั้นไซร้ก็ไร้คุณค่าและคุณประโยชน์โดยสิ้นเชิง ฉะนั้นนักจัดการความรู้ที่แท้จริงจึงต้องเป็นนักปฏิบัติด้วย  ซึ่งจะทำให้ผู้ปฏิบัติทราบถึงปัญหา อุปสรรค และแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขปัญหาหรือพัฒนางานโดยวิถีแห่งปัญญา

ด้วยเหตุผลนานัปการที่ได้หยิบยกมานำเสนอในที่นี้ เป็นแนวคิด มุมมองของผู้เขียน แม้จะมีประโยชน์เพียงน้อยนิดแต่เชื่อมั่นว่าผู้ที่สนใจจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อหน่วยงาน องค์กร หรือการปฏิบัติงานต่างๆได้เป็นอย่างดี

หมายเลขบันทึก: 14533เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2006 13:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท