สนุกกับภาษาไทย – ภาษาอัชฌาไศรย ๑๓. ประวัติศาสตร์กับการศึกษาวรรณคดีไทย (๑๒)


3.2.2 ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของวรรณคดีไทยแต่ละเรื่องเป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาต้องทราบเป็นอย่างดี เพื่อจะได้อรรถรสในการอ่านอย่างแท้จริง และเพื่อโยงไปสู่ประเด็นทางการเมือง สังคม และวัฒนธรรม ในทางกลับกัน การได้ทราบภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ จะทำให้ผู้ศึกษาได้ทราบข้อมูลที่แสดงนัยสำคัญอยู่ในวรรณคดีไทยที่ศึกษา

         ผมไม่ขอยกวรรณคดีที่เก่าหลายร้อยปี  แต่ขอให้ท่านผู้สนใจอ่านงานค้นคว้าของจิตร ภูมิศักดิ์ เกี่ยวกับวรรณคดีที่คุณพุ่มและพระมหามนตรีแต่งในสมัยรัชกาลที่ 3   และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิเคราะห์เรื่อง นิราศหนองคาย ของทิม สุขยางค์   ผมเองก็ได้เคยศึกษาและแสดงให้เห็นว่า นักประวัติศาสตร์สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างไรจากข้อมูลใน นิราศไทรโยค ซึ่งเป็นนิราศเรื่องยาวที่สุดของไทยที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์ได้ทรงนิพนธ์ไว้ โดยเฉพาะเมื่อต้องการศึกษาสภาพสังคมไทยในสมัยรัชกาลที่ 5

3.2.3 วรรณคดี “บำรุงปัญญา” : แก่นสารของภูมิปัญญาไทย (unitideas) ในเรื่องต่างๆ

         ผมได้กล่าวมาแล้วว่า วรรณคดีนั้นสะท้อนโลกทัศน์ของคนในแต่ละสังคม แม้เป็นเรื่องจินตนาการ แต่จะมีเอกสารอื่นใดเล่าเกี่ยวข้องกับปรัชญาและโลกทัศน์ของปัญญาชนในสังคมมากกว่าวรรณคดี ในบรรดาวรรณคดีของไทยมีอยู่จำนวนไม่น้อยที่จะอยู่ในจำพวกหนังสือ “บำรุงปัญญา” หรือ ที่ฝรั่งเรียกว่า Books of Wisdom วรรณคดีเหล่านี้ ได้แก่ ไตรภูมิพระร่วง  โคลงสุภาษิต  สุภาษิตสอนหญิง  นางนพมาศ  ทนันไชยบัณฑิต  ฉฬาภิชาติพิไสย  ลิลิตกฎหมาย  พิไชยเสนา  สารสังคหะ  คำสอนพระยามังราย  และวรรณคดีอื่นๆ   เช่น อิหร่านราชธรรม และ ปูมราชธรรม    ควรจะนำมาศึกษาเพื่อตอบคำถามว่า จริงๆ แล้วมีจารีตภูมิปัญญาที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยหรือไม่ การศึกษาหาแก่นสารของภูมิปัญญาไทยนั้น คือ การอธิปรายว่าสารัตถะของความคิด (unit ideas) ในเรื่องต่างๆ เช่น รัฐ ธรรมะ สตรีภาพ อำนาจ สุนทรียศาสตร์ และ หลักการปกครอง ฯลฯ เป็นอย่างไร

         ลักษณะเด่นของวัฒนธรรมไทยมาจากการรู้จักประสมประสานและการปรับเปลี่ยนแนวคิดที่รับมาจากผู้อื่น แต่ปรับให้เข้ากับสังคมไทย เรื่องนี้เห็นได้ชัดในเรื่องของกฎหมายที่ไทยเรารับมาจากอินเดีย แต่ปรับเปลี่ยนไปมากจนกลายเป็นกฎหมายไทย

วิจารณ์ พานิช
๑๙ ต.ค. ๕๐

หมายเลขบันทึก: 144486เขียนเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2007 08:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 เมษายน 2012 17:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท