สนุกกับภาษาไทย – ภาษาอัชฌาไศรย ๑๒. ประวัติศาสตร์กับการศึกษาวรรณคดีไทย (๑๑)


3.2 ประเด็นสำคัญสำหรับนักประวัติศาสตร์
         นักประวัติศาสตร์ท่านอื่นศึกษาวรรณคดีไทยแล้วจะสนใจประเด็นอะไรบ้างนั้น ผมคงตอบแทนไม่ได้ เพราะเขาว่า นักประวัติศาสตร์ 10 คน มี 11 ความคิด แต่สำหรับนักประวัติศาสตร์สายอนุรักษ์นิยมเช่นผมนี้ ศึกษาวรรณคดีโดยให้ความสำคัญแก่ประเด็นดังต่อไปนี้

3.2.1 ใครเป็นผู้แต่งวรรณกรรมนั้นและแต่งเมื่อใด

         ประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญสำหรับนักประวัติศาสตร์ เพราะคุณค่าและเนื้อหาของวรรณคดีต้องถูกนำไปใช้วิเคราะห์โดยถูกยุคสมัย เรื่องนี้เป็นปัญหาที่หนักหน่วง   เนื่องจากวรรณคดีไทยหลายเรื่องเป็นวรรณกรรมนิรนาม นักประวัติศาสตร์กำหนดอายุวรรณคดีโดยดูลักษณะภาษาที่ใช้และบริบทของเนื้อความ เช่น  วรรณคดีไทยที่ใช้ชื่อ “อโยทธยา” เรียกชื่อเมืองหลวงของสยามประเทศ   หมายความว่า น่าจะแต่งในสมัยก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 เพราะหลังจากนั้นชื่อเมืองหลวงไทยจะเปลี่ยนเป็น “อยุธยา” ชินกาลมาลีปกรณ์ เรียกชื่อเมืองหลวงของสมเด็จพระรามาธิบดีว่า “อโยชฌปุระ” เพราะแต่งเสร็จใน พ.ศ. 2059 แต่จะไปถือเป็นเด็ดขาดก็ไม่ได้เพราะการเรียกชื่อเมือง ชื่อประเทศ เป็นเรื่องความเคยชินเสียส่วนหนึ่ง ในเรื่องเนื้อหานั้น  นักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาเอกสารชั้นต้น ย่อมบอกได้ว่า วรรณคดีบางเรื่อง เช่น  นางนพมาศ เป็น pseudo-history หรือ จินตนาการอิงประวัติศาสตร์ เนื้อหาผิดยุคผิดสมัย สมเด็จพระธรรมราชมาตาท้าวศรีจุฬาลักษณ์ในประวัติศาสตร์สุโขทัยตามที่ปรากฏในจารึกสุโขทัย โดยเฉพาะจารึกวัดบูรพาราม เป็นพระอัครราชชายาของสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชที่ 2 และเป็นผู้สำเร็จราชการเมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชา (รามราชาธิราช) ยังทรงเป็นยุวกษัตริย์ พระนางเป็นทั้ง “หญิงเหล็ก” ในทางการเมืองและเป็น “เบญจกัลยาณี” ผู้“ดำกลใจมั่น” ในพระพุทธศาสนา แต่ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ในเรื่อง นางนพมาศที่แต่งในสมัยรัชกาลที่สามแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ กลับเป็นกุลสตรีที่เป็นเสมือนผ้าพับไว้   เวลาที่เราจัดประเภทวรรณคดี เรื่อง นางนพมาศ ควรจัดไว้ในหมวดวรรณคดีสอนหญิง ซึ่งก็เป็นแนวความคิดหลักอย่างหนึ่งที่สอดคล้องกับสมัยรัชกาลที่ 3   ดังนั้น เราจึงเห็นประเด็นที่ศาสตราจารย์ ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ บอกว่า โลกของนางนพมาศ เป็นโลกที่กำลังเปลี่ยนไปของสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น หาใช่โลกของสุโขทัยไม่

วิจารณ์ พานิช
๑๘ ต.ค. ๕๐

หมายเลขบันทึก: 144484เขียนเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2007 08:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 21:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท