ปัญหาการมีส่วนร่วมของเยาวชนในเวทีสิ่งแวดล้อมโลก: ควันหลงการประชุมกับ UNEP ที่กรุงโซล


การที่ UNEP (รวมถึงองค์กรใหญ่ๆ) ออกอาการ “โอ๋” เด็กชนชั้นนำที่เข้าร่วมอย่างมากนั้น ไม่เพียงแต่จะทำให้โอกาสในการเข้าถึงเด็กยากจนลดน้อยลง แต่ยังเพิ่มช่องว่างทางสังคมระหว่างเด็กรวย เด็กจน ให้กว้างขึ้นอย่างไม่รู้ตัว

จะว่าไปการเข้าประชุมเวทีสิ่งแวดล้อมระดับนานาชาติ ที่จัดขึ้น ณ กรุงโซล 25-26  ต.ค. ที่ผ่านมานี้  ก็ถือว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับผมมาก  เพราะ

1. ผมยังไม่รู้จักกับหน่วยงานระดับสากลด้านนี้ อย่าง UNEP ที่เป็นเจ้าภาพมีความเป็นมา ภารกิจ วิสัยทัศน์ โครงสร้างอะไร อย่างไร ผมไม่รู้

 2. ประเด็นๆหลักๆในการประชุม เป็นเรื่อง วิกฤตโลกร้อน และการใช้พลังงานทดแทนซึ่งจะมีการนำเสนอแนวทางและระดมความเห็นจากตัวแทนที่ UNEP  คัดเลือกมาจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิค  ไอ้เรื่องโลกร้อน นี่ผมพอจะผ่านสายตามาบ้าง  แต่ก็ไม่ถึงกับรู้อะไรมากมาย ส่วนพลังงานทดแทนนี่ สมองยังกลวงอยู่             ส่วนเกาหลีใต้นี่ก็เป็นประเทศใหม่สำหรับผม ไม่เคยไปเยือนกับเขาเลย ไปต่างประเทศครั้งล่าสุด ก็เวียดนามเมื่อ 2 ปีก่อน  ตอนนี้ก็ลืมไปหมดแล้วว่าไปสนามบินแล้วต้องทำอะไรบ้าง แต่ข้อนี้ไม่ห่วงเท่าไร เพราะมีทีมจากเมืองไทยไปด้วยก็อุ่นใจ 

 

            การประชุมครั้งนี้ ทำให้ผมมีความรู้และตื่นตัวเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเยอะ ในการประชุมทั้งสองวัน หนึ่งในประเด็น สำคัญที่เราร่วมแชร์กันในห้องย่อยก็คือ การจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแก้ไขปัญหาวิกฤตโลกร้อน ความเป็นไปได้การใช้พลังงานทดแทนในรูปแบบต่างๆ การใช้กลไกท้องถิ่น กลไกทางวัฒนธรรม กลไกทางการตลาด โดยการมีส่วนร่วม จากผู้มีส่วนร่วมได้ส่วนเสีย (Stake holder)  ในทุกภาคส่วน

  

            น่าดีใจที่ในการประชุมดังกล่าว มีเยาวชนจากหลายประเทศใต้เข้ามามีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็น สาธารณรัฐเชค , ฟิลลิปปินส์ , เกาหลีใต้  รวมถึงเด็กไทยเองมีส่วนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในสชิกการประชุม 40 กว่าคนในครั้งนี้ ให้เยาวชนได้แสดงความคิดเห็นอย่างเสรี

              ก็ถือได้ว่าเป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนได้เข้าร่วมประชุมกับระดับสากลซึ่งผมเอง ก็ไม่ค่อยพบเห็นการประชุมในลักษณะนี้เท่าใดนัก 

 

            อย่างไรก็ตาม  การที่เยาวชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมขององค์กรสากล เช่นนี้ แม้ว่าผมจะชื่นชมในความกล้าหาญและจริงใจของเด็ก แต่ตามกมลสันดานนักวิจัย ผมก็มีข้อสังเกตอยู่บางประการ

 1.      การมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงเด็กและเยาวชน ควรให้มีตัวแทนจากคนยากจนให้มาก เพราะ เด็กเยาวชนและประชาชนที่ยากจนกลายเป็นผู้ที่รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมมากกว่ากลุ่มคนที่มีอันจะกิน 

2.      การจะเปิดโอกาสให้เด็ก เยาวชน ที่ยากจนเข้ามามีส่วนร่วมนั้น ต้องใช้กระบวนการ ที่เหมาะสมกับบริบทเชิงพื้นที่ และบริบททางเครือญาติ/ครอบครัวของ ตลอดจนพื้นฐานทางไอคิวอีคิวของตัวเด็กเอง ทั้งนี้ควรต้องมีเงื่อนไข ที่ เอื้ออำนวย  ขจัดขั้นตอนที่ยุ่งยาก และจัดหาพี่เลี้ยง หรือที่ปรึกษาให้กับพวกเขาด้วย

     ผมพยายามบรรจุข้อสังเกตเหล่านี้ ไว้ในระดมความเห็นในห้องย่อย ซึ่งก็ได้รับการบันทึกไว้ ส่วนจะนำไปขับเคลื่อนงานของ  UNEP  เพียงไร ผมก็ไม่รู้  เพราะตัวเองมาเที่ยงนี้ ก็จับพลัดจับผลูมา หากได้แสดงความคิดที่เป็นประโยชน์ออกไป ไหนๆมาแล้ว ก็ไว้ลายออกไปบ้าง ให้ไม่เสียชื่อประเทศของเรา ซึ่งก็น่าดีใจ ที่เขาก็นำไปบันทึกสรุปไว้เป็นประเด็นอยู่ เราก็ดีใจที่มาไม่เสียเปล่า 

พอกลับถึงบ้านเกิด ความคิดแว่บนึงมันก็โผล่มา เอ้อก็คิดมาได้อีกประเด็นว่า เอ้อ เฮ้อ UNEP  ก็เหมือนหน่วยงานขนาดใหญ่ทั่วไปที่มักจะ ติดใจ กับกลุ่มเด็กที่พูดเก่ง นำเสนอเก่ง สื่อสารภาษาเดียวกันรู้เรื่อง โดยลืมนึกไปว่ายังมีเด็กและเยาวชนอีกส่วนใหญ่ที่ถูกเบียดบังไว้ข้างหลังด้วยข้อจำกัดสารพัดจะซับซ้อน  

การที่ UNEP (รวมถึงองค์กรใหญ่ๆ) ออกอาการ โอ๋เด็กชนชั้นนำที่เข้าร่วมอย่างมากนั้น ไม่เพียงแต่จะทำให้โอกาสในการเข้าถึงเด็กยากจนลดน้อยลง แต่ยังเพิ่มช่องว่างทางสังคมระหว่างเด็กรวย เด็กจน ให้กว้างขึ้นอย่างไม่รู้ตัว 

มิพักต้องพูดถึงการยกให้เด็กเกิดอาการกร่าง และเคยชินกับการถูกเอาใจ และผนวกเข้าไปติดกับการบริโภค ความสะดวกสบายที่มาพร้อมกับสถานภาพความเป็นผู้นำ 

พูดง่ายๆ ก็เป็นการสปอยล์เด็ก ซึ่งเด็กเองอาจจะไม่ทันรู้ตัว แต่เซ็นส์ผมมันบอกว่า วิธีคิดเรื่องการพัฒนาเด็กแบบนี้มันมีปัญหา และมีผลต่อสังคมในวงกว้าง 

แว่บนึง ในขณะที่ผมกำลังเข้าร่วมประชุมกับ UNEP ที่เกาหลีใต้ โดยพยายามสะท้อนเสียงที่ไม่ได้ยิน  ของเด็กชายขอบบ้านเรา เช่น เด็กไร้สัญชาติ  แรงงานอพยพ  เด็กชาวเขา เด็ก "ไม่เอาไหน" ใจผมก็นึกตั้งคำถามอยู่ว่า 

แล้วพรรคการเมืองก็ดี หน่วยงานรัฐในระดับจังหวัดก็ดี ท้องถิ่นบ้านเราก็ดี กลุ่มคนที่ประกาศตัวเองว่าจะทำเพื่อเด็กก็ดี ตอนนี้กำลังทำอะไรอยู่ 

            แต่นั่นอาจจะไม่ใช่คำถามที่สำคัญที่สุด เพราะสิ่งสำคัญและเป็นไปได้มากกว่า ก็คือ วันนี้และพรุ่งนี้ตัวเราจะทำอะไร

            ซึ่งมันสำคัญไม่น้อยไปกว่าการประชุมระดับนานาชาติเลยนะครับ
หมายเลขบันทึก: 143162เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2007 23:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤษภาคม 2012 22:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

แหม.....

ช่างโดนใจมากเลยค่ะ  ไม่ต่างจากในระบบราชการที่มักให้ความสำคัญกับคนนำเสนอเก่ง มากกว่าคนทำงาน ไม่คิดบ้างว่าถ้าไม่มีคนที่ทำ แล้วจะมีอะไรไปนำเสนอ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท