แกะกล่องซอฟต์แวร์จำลองร่างกาย3Dจากไอบีเอ็ม


ตามไปดูต้นแบบซอฟต์แวร์ภาพจำลอง 3 มิติซึ่งฝ่ายวิจัยของไอบีเอ็มการันตีว่าจะช่วยให้แพทย์สามารถดูข้อมูลประวัติผู้ป่วยได้รวดเร็วขึ้น และการสร้างภาพจำลองร่างกายมนุษย์ในแบบอินเตอร์แอคทีฟ 3 มิติที่จะช่วยให้แพทย์สามารถโต้ตอบกับข้อมูลการแพทย์ได้เหมือนกับที่โต้ตอบกับผู้ป่วย ด้านทีมพัฒนาเผย อนาคตเล็งเพิ่มเทคโนโลยีเสียงลงในโปรแกรมต่อไป
       
       เทคโนโลยีนี้เป็นผลงานจากห้องปฏิบัติการวิจัยซูริกของไอบีเอ็ม มีชื่อเรียกว่า Anatomic and Symbolic Mapper Engine (ASME) ใช้ภาพ 3 มิติแสดงแทนร่างกายมนุษย์เพื่อให้แพทย์สามารถดูข้อมูลประวัติของผู้ป่วยได้ด้วยการคลิกเมาส์บนอวัยวะของ“ร่างกายเสมือน”ที่ปรากฏบนจอภาพ โดยแพทย์สามารถสืบค้นข้อมูลประวัติผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมได้แบบเรียลไทม์
       
       เหมือนกูเกิลจำลองโลก
       
       “ซอฟต์แวร์นี้เสมือนเป็น Google Earth สำหรับร่างกายคนเรา” อองเดร เอลิสซีฟ นักวิจัยของไอบีเอ็ม ซึ่งมีหน้าที่ดูแลโครงการด้านสุขภาพที่ห้องปฏิบัติการวิจัยซูริกของไอบีเอ็ม กล่าว “ด้วยความหวังว่าเราจะสามารถเร่งพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านข้อมูลประวัติการดูแลสุขภาพในแบบอิเล็กทรอนิกส์ เราได้พยายามที่จะทำให้ผู้ให้บริการด้านสุขภาพสามารถเข้าถึงข้อมูลนั้นได้ง่ายขึ้น ด้วยการผสมผสานข้อมูลทางการแพทย์กับการนำเสนอข้อมูลเป็นภาพ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถสื่อสารกับข้อมูลเหล่านั้นอย่างง่ายดายที่สุดเท่าที่เป็นได้ อันจะนำไปสู่การปรับปรุงคุณภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วยอีกด้วย”

       
       เอลิสซีฟยกตัวอย่างว่า ในปัจจุบันหากผู้ป่วยมาพบแพทย์เพื่อรักษาอาการปวดหลัง แพทย์จะสอบถามประวัติการรักษาเดิมเท่าที่ผู้ป่วยสามารถจดจำได้ ทำการทดสอบ วิเคราะห์วินิจฉัยอาการด้วยการดูและตรวจร่างกายผู้ป่วย หลังจากนั้น แพทย์จะต้องสืบค้นข้อมูลประวัติการรักษาเดิมจากกองเอกสารจำนวนมาก และโดยส่วนใหญ่แล้ว แพทย์มักไม่พบข้อมูลประวัติการรักษาเดิมได้อย่างครบถ้วนทั้งหมดและไม่สามารถรับทราบถึงอาการเจ็บป่วยคล้ายคลึงกันที่เคยเกิดขึ้น

ด้วยซอฟต์แวร์ภาพจำลอง 3 มิติ ASME แพทย์จะสามารถ “คลิก” ภาพ 3 มิติที่แสดงแทนร่างกายมนุษย์ เพื่อเรียกดูข้อมูลประวัติการรักษาทั้งหมดที่มีอยู่ รวมถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกระดูกสันหลังของผู้ป่วยได้ในทันที ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่เป็นข้อความ ผลการทดสอบในห้องปฏิบัติการ และภาพถ่ายทางการแพทย์ เช่น ภาพถ่ายเอ็กซ์เรย์ หรือภาพจากการตรวจวินิจฉัยด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือหากแพทย์สนใจข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกระดูกสันหลังเฉพาะชิ้นใดชิ้นหนึ่ง ในกรณีนี้ แพทย์สามารถขยายภาพ จำกัดขอบเขตการสืบค้นข้อมูลโดยกำหนดเวลาหรือปัจจัยอื่นๆ
       
       การใช้เทคนิคการเรียนรู้ของเครื่องจักรกลชั้นสูง (Advanced Machine Learning) และการสร้างโมเดล 3 มิติที่เป็นเทคโนโลยีล่าสุด ช่วยให้นักวิจัยของไอบีเอ็มสามารถจัดการกับความท้าทายเชิงเทคนิคที่สำคัญบางอย่าง นั่นคือ การรวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่างๆ กันและข้อมูลแบบข้อความที่ซับซ้อน หรือที่เรียกว่าข้อมูลที่ไม่มีการจัดโครงสร้าง (Unstructured Data) และการเชื่อมโยงข้อมูลนั้นเข้ากับโมเดลเชิงกายวิภาคในรูปแบบที่สื่อความหมายและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
       
       นอกจากนี้ ซอฟต์แวร์ ASME ยังใช้ SNOMED ซึ่งเป็นระบบกำหนดชื่อทางการแพทย์ที่ประกอบด้วยคำศัพท์เฉพาะทางการแพทย์ประมาณ 300,000 คำ เพื่อเชื่อมโยงส่วนที่เป็นภาพและส่วนที่เป็นเอกสารข้อความเข้าด้วยกัน
       
       ASME เป็นผลงานจากความร่วมมือระหว่างไอบีเอ็ม เดนมาร์ก และฝ่ายวิจัยของไอบีเอ็ม โดยการนำพนักงานขายและหน่วยงานวิจัยมาทำงานร่วมกัน ก่อเกิดทีมงานสร้างสรรค์นวัตกรรมที่โดดเด่น ซึ่งมีความเข้าใจอุตสาหกรรมอย่างลึกซึ้ง พร้อมทั้งมีความเชี่ยวชาญเชิงเทคนิคในระดับแถวหน้า
       
       ไอบีเอ็มเชื่อว่าเทคโนโลยีจะช่วยแก้ปัญหาข้อมูลประวัติผู้ป่วยแยกย่อยและไม่ปะติดปะต่อกัน รวมถึงช่วยลดความยุ่งยากในการเข้าถึงข้อมูลประวัติการวินิจฉัยโรคและการรักษาของผู้ป่วย จุดนี้ไอบีเอ็มระบุว่าระบบข้อมูลประวัติสุขภาพแบบอิเล็กทรอนิกส์ (eHR) ที่มีในปัจจุบันยังเหลือหนทางอีกยาวไกลในการพัฒนาจึงจะประสบความสำเร็จ เชื่อว่า ASME คือแนวทางที่ครบถ้วนสมบูรณ์สำหรับบุคลากรทางการแพทย์อย่างแท้จริง
       
       สำหรับแผนพัฒนาในอนาคต นักวิจัยไอบีเอ็มระบุว่าจะค้นหาวิธีผนวกรวมเทคโนโลยีเสียงพูดเข้าไปใช้กับ ASME สำหรับแผนในเชิงพาณิชย์ ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดในขณะนี้

ภาพร่างกายสามมิติเสมือนจริง ทำให้ซอฟต์แวร์ของไอบีเอ็มมีลักษณะคล้ายกูเกิลเอิร์ธที่จำลองโลกสามมิติไว้บนคอมพิวเตอร์

 

เมื่อแพทย์คลิกที่อวัยวะที่ต้องการ ระบบจะแสดงภาพจำลองเสมือนจริงและข้อมูลการรักษาของผู้ป่วยทั้งหมด  

 

ที่มา ผู้จัดการออนไลน์

หมายเลขบันทึก: 142218เขียนเมื่อ 27 ตุลาคม 2007 04:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เข้ามาเยี่ยมชม ความก้าวหน้าเรื่องราวดีๆ เทคโนโลยีนำสมัย ได้สาระดีครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท