หมอบ้านนอกไปนอก(31): ชีวิตเสมือนจริง


ผมคุยกับแม่ กับภรรยา คุยกับลูก ได้ยินเสียง ได้เห็นหน้าเห็นตากัน ยิ้มด้วยกันหัวเราะด้วยกันได้ในเวลาเดียวกันทั้งที่อยู่ห่างไกลกันเป็นหมื่นกิโลเมตรแต่ไม่สามารถสัมผัสตัวกันจริงๆได้ ไม่สามารถกอดลูกหรือหอมแก้มกันได้ เห็นกัน แต่ไขว่าคว้าสัมผัสกันไม่ได้ ชีวิตความเป็นอยู่แบบนี้จึงคล้ายชีวิตจริงที่อยู่ด้วยกัน แต่ไม่จริงที่เรียกกันว่า ชีวิตเสมือนจริง (Virtual reality)

การเรียนในช่วงเดือนที่สองของหลักสูตรหนักมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในแต่ละวิชาจะมีการสั่งงานทั้งเดี่ยวและกลุ่มให้ทำและนำเสนอ รวมทั้งงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรเช่น การเสนอปัญหาในพื้นที่ของแต่ละคนพร้อมหาแนวทางแก้ไขร่วมกันเป็นกลุ่ม มีเอกสารงานวิจัยที่มอบหมายให้อ่านก่อนเข้าชั้นเรียนและจะมีการสอบวิชาแรกคือประชากรศาสตร์ในวันอังคารที่ 30 ตุลาคมนี้ ทำให้บรรยากาศในชั้นเรียนเคร่งเครียดมากขึ้น หลายๆคนดูท่าทางเป็นกังวลกับการสอบรวมทั้งตัวผมเองด้วย

ช่วงนี้อากาศที่เบลเยียมเย็นลงอย่างรวดเร็ว อยู่ที่ประมาณ 3-8 องศาเซลเซียส ผู้คนทั้งชาวเบลเยียมและชาวต่างชาติต่างใส่เสื้อกันหนาวชนิดหนาๆ ใส่หมวกไหมพรม ผ้าพันคอและถุงมือออกนอกบ้านกัน เวลาอยู่ในอาคารเรียนจะไม่หนาวเพราะมีเครื่องทำความร้อนอยู่ แต่นอกอาคารอากาศจะเย็นและลมแรง เวลาปั่นจักรยานถ้าไม่ใส่ถุงมือจะเย็นมากจนต้องจับแฮนด์มือหนึ่งอีกมือหนึ่งซุกกระเป๋าเสื้อไว้ สลับกันไปจนต้องใส่ถุงมือ เวลานอนก็ใส่เสื้อผ้าแขนขายาวหลายชั้นใส่หมวกและเปิดฮีตเตอร์ นับเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับคนชอบอากาศร้อนอย่างผมที่ต้องปรับตัวอย่างมาก

วันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม ได้เรียนเรื่องโภชนาการกับอาจารย์แพทริค (Patrick Kolsteren) เรียนระบาดวิทยากับอาจารย์สตัฟท์ (P Van der Styft) และการเตรียมการทำงานกลุ่มเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่กับอาจารย์วาลาเรีย ปัญหาความรุนแรงของการขาดสารอาหารในบ้านเราลดน้อยลงไปมาก ผมไม่เคยรักษาคนไข้เด็กขาดสารอาหารรุนแรงเลยในชุมชนที่ทำงานอยู่ แต่ปัญหานี้มีมากในพื้นที่แอฟริกา จนเกือบลืมโรคขาดพลังงาน (Marasmus) และขาดโปรทีน (Kwarshiorkor) ไปแล้ว วันนี้ได้มาเรียนและอภิปรายทางด้านสรีรพยาธิวิทยาอีกครั้ง ตอนเลิกเรียนผมบอกกับอาจารย์ว่าที่เมืองไทยจากประสบการณ์ ผมไม่พบเด็กขาดสารอาหารรุนแรงแล้ว อาจารย์บอกว่า ไม่เป็นไร เรียนไว้เผื่อวันข้างหน้าคุณอาจต้องไปทำงานในองค์การระหว่างประเทศก็ได้

จริงๆแล้วปัญหาที่เมืองไทยเป็นเรื่องทุพโภชนาการ (Malnutrition) แต่เป็นภาวะโภชนาการเกิน จากการที่เด็กกินอาหารไม่เหมาะสม จนเกิดภาวะอ้วนที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ประมาณ 30 % ของเด็กอ้วนจะกลายเป็นผู้ใหญ่อ้วนและประมาณ 30 % ของคนอ้วนจะเป็นโรคเบาหวาน ของไทยเรามีสถิติผู้ที่อ้วนและมีน้ำหนักเกินติดอันดับต้นๆของโลกเหมือนกัน

เมื่อวันอังคารที่ 23 เรียนประชากรศาสตร์กับอาจารย์โดมินิค ต่อด้วยการนำเสนอของเพื่อนๆในการเปรียบเทียบสถิติทางประชากรศาสตร์ในกลุ่มย่อยทั้งหมด 8 กลุ่มในห้องประชุมใหญ่ร่วมกันทั้งหลักสูตรการบริหารสาธารณสุขและการควบคุมโรค ต่อด้วยเรื่องโภชนาการ แล้วก็ว่างให้ทำสไลด์นำเสนอในวันพฤหัสบดี ผมวิเคราะห์ว่าการทำงานของกลุ่มผมที่มีอามีน เอ็ดวิน เลมม่า เจเจ เป็นการทำงานกลุ่มที่ไม่มีประสิทธิภาพนักโดยไม่มีการประชุมตกลงกันให้ชัดเจนก่อนที่จะค้นหาข้อมูล ต่างคนต่างไปหา ทำให้ได้ข้อมูลที่ต่างปีกันมาก แล้วก็ให้ต่างคนต่างไปทำสไลด์ทำให้ซ้ำซ้อนและไม่เสร็จง่าย ต้องแก้ไขกันหลายครั้ง อาจเนื่องมาจากไม่มีใครทำตัวเป็นผู้นำกลุ่มด้วยความเกรงใจซึ่งกันและกัน พอห้าโมงครึ่งก็ต้องรีบกลับบ้านพักเพื่อกินข้าวมื้อเย็นและไปเรียนภาษาอังกฤษที่แอทีน่า ซึ่งถ้าขี่จักรยานไปก็ราว 15-20 นาที ผมไปสายเกือบยี่สิบนาที ไปถึงก็เริ่มเรียนเลย เป็นการเรียนที่สนุกมาก และทำให้ทราบว่าผมและเพื่อนๆหลายคนออกเสียงภาษาอังกฤษผิดกันมาก ที่พูดๆกันคล่องๆก็ผิดอยู่หลายคนเช่นกัน กว่าจะเลิกเรียนกลับถึงบ้านพักก็สี่ทุ่มครึ่งแล้ว

วันพุธที่ 24 เรียนระบาดวิทยาโดยการทำแบบฝึกหัดกับอาจารย์ ออสติน (Bart Ostyn) เป็นการฝึกออกแบบการศึกษาวิจัยทางระบาดวิทยา ต่อด้วยฟังบรรยายระบาดวิทยากับอาจารย์สตัฟท์เกี่ยวกับสถิติ พักกลางวันต้องรีบกินข้าวแล้วรงวมกลุ่มกันทำสไลด์นำเสนอต่อ และก็อ่านเอกสารการเรียนของโภชนาการในเรื่องโปรแกรมการบูรณาการการดูแลผู้ป่วยเด็ก (Integrate Management of Childhood Illness) ให้สรุปประเด็นแล้วนำเสนอเป็นกลุ่ม ผมได้ออกไปนำเสนอในกลุ่ม (มีอยู่สามคนคือผม มาร์กาเร็ตและโลซ่า) ก็ผ่านพ้นไปด้วยดี ก่อนกลับบ้านก็มีการแบ่งสไลด์กันนำเสนอประชากรศาสตร์คนละ 3 สไลด์โดยจะนำเสนอวันพรุ่งนี้ ผมค่อนข้างกังวลกับการนำเสนอหน้าชั้นเรียนนี้มากเหมือนกันเพราะเป็นกลุ่มใหญ่ มีอาจารย์ฟังหลายคนและเรียนรวมกันสองหลักสูตร กลางคืนก็เลยอ่านเอกสารประชากรศาสตร์ทั้งหมดแล้วก็เตรียมร่างการนำเสนอไว้เลย เกือบๆจะท่องไปเลยเหมือนกัน

วันพฤหัสที่25 ช่วงแรกฟังการบรรยายประชากรศาสตร์ในเรื่องผลกระทบของเอดส์ต่อโครงสร้างประชากรและการเปลี่ยนแปลงของปิระมิดประชากร ต่อด้วยการนำเสนอ กลุ่มผมนำเสนอเป็นกลุ่มที่สาม ก็ผ่านพ้นไปด้วยดี การทำงานกลุ่มเพื่อนำเสนอชิ้นนี้ ทำให้ได้เรียนรู้ตัววัดทางด้านประชากรศาสตร์ของแต่ละประเทศที่มาเรียนร่วมกันเกือบสี่สิบประเทศ หลายประเทศในแอฟริกายังคงมีอัตราการเกิด ตาย เจริญพันธุ์สูงมาก ปิระมิดประชากรจะมีเด็กมากกว่าผู้ใหญ่และคนแก่ มีคนที่เป็นวัยพึ่งพิงมาก ในขณะที่หลายประเทศปิระมิดประชากรเริ่มปรับตัวไปเป็นแบบประเทศพัฒนาแล้ว เช่นไทย เวียดนาม จีน เป็นต้น ค่าตัวชี้วัดของไทยอยู่ในเกณฑ์ดีมากเมื่อเปรียบเทียบทั้งหมดในกลุ่ม โดยข้อมูลใช้จากสำนักงานสำมะโนประชากรของสหรัฐอเมริกา ซึ่งหลายค่าของไทยสูงกว่าข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขไทยเช่นอัตราตายทารก ต่างกันเกือบสามเท่า

จากการนำเสนอของทุกกลุ่มทำให้ทราบชัดเจนว่าอัตราการเจริญพันธุ์รวมมีผลกระทบต่อลักษณะโครงสร้างประชากรมากและอัตราตายทารกมีผลต่ออายุขัยเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดมากเช่นกัน ช่วงบ่ายเป็นการเตรียมตัวอ่านเอกสารวิจัย 5 ฉบับ เพื่อเรียนวันศุกร์ 4 ฉบับและทำรายงานส่งอีก 1 ฉบับของอาจารย์โดมินิค ซึ่งผมคิดว่ามีเทคนิคการสอนและการให้งานที่เอื้อต่อการเรียนรู้ทักษะต่างๆที่เป็นประโยชน์อย่างมาก

ตลอดเจ็ดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้คุยกับครอบครัวผ่านทางสไกป์เกือบทุกวัน จะเว้นอยู่บ้างไม่กี่วัน แต่มาสัปดาห์นี้เพิ่งได้คุยกับครอบครัวน้อยลง เนื่องจากเวลาเรียนเลิกหกโมงเย็นดึกเกินไปสำหรับเวลาที่เมืองไทย แต่ก็คิดว่าก็ยังมีการติดต่อที่สะดวกมากกว่ารุ่นก่อนๆที่เขามาเรียนกัน โดยเฉพาะช่วงที่อินเตอร์เน็ตยังไม่ค่อยมีใช้ ต้องใช้โทรศัพท์เป็นหลัก เสียค่าใช้จ่ายมาก คุยกันได้ไม่นานต่อครั้ง การก่อกำเนิดของเทคโนโลยีสารสนเทศ จึงมีประโยชน์อย่างมากที่ช่วยให้คนที่อยู่ห่างไกลกันสามารถติดต่อกันได้เกือบจะในเวลาเดียวกัน (Real time) พูดคุยกันได้ เห็นหน้าตาท่าทางกันได้ชัดเจนหรืออย่างน้อยก็ได้ยินเสียงของกันและกันได้ง่าย

โชคดีที่ผมตัดสินใจติดระบบอินเตอร์เน็ตที่บ้านพักในโรงพยาบาลบ้านตากเป็นการเฉพาะ เป็นราคาแบบเหมาจ่ายต่อเดือนไม่สูงนัก ซื้อคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะและติดตั้งกล้องวีดีโอไว้ รวมทั้งตัดสินใจซื้อคอมพิวเตอร์แบบพกพาที่มีกล้องวีดีโออยู่ในตัวและนำมาที่เบลเยียมด้วย จริงๆแล้วการตัดสินใจในเรื่องเหล่านี้เป็นของภรรยามากกว่าเพราะเขาเก่งกว่าผมในเรื่องเทคโนโลยี ผมเป็นแค่ผู้สนับสนุนและใช้งานเท่านั้น และบ้านพักที่เช่าอยู่ที่เบลเยียมก็มีระบบอินเตอร์เน็ตบริการให้ ทำให้สะดวกในการติดต่อกัน เพียงแต่จัดเวลาให้เหมาะสมกับทั้งผมและครอบครัวก็ติดต่อกันได้สบาย

ผมคุยกับแม่ กับภรรยา คุยกับลูก ได้ยินเสียง ได้เห็นหน้าเห็นตากัน ยิ้มด้วยกันหัวเราะด้วยกันได้ในเวลาเดียวกันทั้งที่อยู่ห่างไกลกันเป็นหมื่นกิโลเมตร ได้เห็นสีหน้า แววตา ท่าทางกัน น้องขิมนั่งทำการบ้าน วาดรูปแล้วเอามาให้ผมดู น้องแคนวาดรูปพ่อให้ดูผ่านทางกล้องและสแกนส่งไฟล์มาให้ดูได้ง่ายๆ สามารถสอนลูกทำการบ้านได้ ให้คะแนนการบ้านลูกได้ บางวันผมกับลูกสาวก็ร้องเพลงด้วยกัน บางวันภรรยาก็เปิดเพลงเพราะๆให้ฟัง กล่าวราตรีสวัสดิ์กันก่อนนอนได้ แต่ไม่สามารถสัมผัสตัวกันจริงๆได้ ไม่สามารถกอดลูกหรือหอมแก้มกันได้ เห็นกันแต่ไขว่าคว้าสัมผัสกันไม่ได้ ชีวิตความเป็นอยู่แบบนี้จึงคล้ายชีวิตจริงที่อยู่ด้วยกัน แต่ไม่จริงที่เรียกกันว่า ชีวิตเสมือนจริง (Virtual reality) เมื่อวานคุยกับน้องขลุ่ยๆบอกให้พ่อถอดแว่น แล้วทำหน้าตลกๆให้ดูหน่อย เสร็จแล้วลูกก็หัวเราะชอบใจใหญ่ เห็นรอยยิ้มและได้ยินเสียงหัวเราะอย่างมีความสุขของลูก ก็พลอยทำให้เรามีความสุขไปด้วย

ที่มีประโยชน์มากอีกอย่างก็คือโลกเสมือนจริงในอินเตอร์เน็ตได้กลายเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ ความสำเร็จของคนที่อยู่คนละที่กันได้อย่างดี สานสัมพันธ์คนทำงานคอเดียวกันที่หาโอกาสไปพบปะเจอะเจอกันได้ยาก เป็นเวทีสำหรับการจัดการความรู้ได้ดีมาก ที่ผมเกี่ยวข้องด้วยมากก็คือwww.bantakhospital.com และ www.gotoknow.org แต่น่าเสียดายว่าตอนนี้เว็บไซต์ของโรงพยาบาลบ้านตาก ถูกกลั่นแกล้งจากผู้ไม่หวังดีหรืออาจจะทำด้วยความสนุกทำให้ติดไวรัสเข้าไปใช้งานไม่ได้ ทั้งที่เว็บนี้ก็ไม่ได้มีผลประโยชน์อะไร เป็นเพียงเวทีเรียนรู้ร่วมกัน ไม่รู้ว่าทีมงานจะแก้ไขปัญหานี้ได้หรือไม่ ส่งกำลังใจมาช่วยคุณอภิชาติและทีมงานด้วยครับ

คนบนโลกทุกวันนี้ อยู่กับโลกเสมือนจริงมากขึ้นเรื่อยๆ ติดต่อกันทางเสียงโดยโทรศัพท์ เขียนจดหมายถึงกันทางอีเมล์ มองหน้าเห็นกิริยาท่าทางกันผ่านวีดีโออินเตอร์เน็ตถ้าเป็นคนไกลกันก็จะมีประโยชน์มาก แต่สำหรับคนที่อยู่ด้วยกัน อยู่บ้านเดียวกัน ก็พบว่าหลายคนปฏิสัมพันธ์ สังสรรค์กับคนในบ้านในครอบครัวลดน้อยลงไป แต่ไปท่องโลกเสมือนจริงมากขึ้นๆ ความสัมพันธ์ในครอบครัวลดน้อยลง การสัมผัสโอบกอด พูดคุยกันลดลงไปและผมคิดเองว่าคนไทยแสดงความรักไม่เป็น โอบกอดแสดงความรักไม่เป็น หอมแก้มกันไม่เป็น (ไม่ใช่การจูบปากกันอย่างดูดดื่ม แบบนี้จะมากเกินไปสำหรับมิตรภาพ มันจะเป็นมิตรเพศไป) พอโตขึ้นการแสดงความรักกันด้วยการกอดและหอมจึงน้อยลงไป เป็นเรื่องที่ถูกเพ่งเล็งทางเพศ ต้องปกปิด กลายเป็นการกอดการหอมเป็นเรื่องของการแสดงความใคร่ (ทางเพศ) เท่านั้น

ผมเห็นฝรั่งสามีภรรยาหลากวัยเดินจูงมือกันไปตามท้องถนนมากมาย มีโอบกันบ้างและไม่ใช่การแสดงออกของอารมณ์ทางเพศ แต่แทบไม่ค่อยเห็นสามีภรรยาเมืองไทยเดินจูงมือกันนัก คิดว่าคนไทยอาจจะต้องกลับมารณรงค์การโอบกอดกันในครอบครัว เพื่อนสนิท เพื่อกระชับความรู้สึกดีๆที่มีให้กัน กอดกันได้โดยไม่มีความรู้สึกทางเพศ น่าจะทำให้เกิดมิตรภาพได้มากขึ้น

เพื่อนๆในห้องเรียนเท่าที่ผมสังเกตเห็นเวลาทักทายกันก็จะจับมือกัน โอบกัน บางคนก็เอาแก้มแนบกันเป็นเรื่องปกติ ทั้งชายกับชายและชายกับหญิง โดยที่ไม่ได้คิดไปในเรื่องเพศต่อกัน ลักษณะการปฏิบัติไม่ใช่ลักษณะของคู่รักหรือความสัมพันธ์ฉันท์ชู้สาว เรื่องคนไทยกอดไม่เป็นนี้ ผมเคยอ่านในบันทึกของอาจารย์หมอวิจารณ์มาแล้วครั้งหนึ่ง ลองหาอ่านดูนะครับ แต่อย่างไรก็ตามก็ไม่ได้สนับสนุนให้ลืมการทักทายกันแบบไทยๆที่ดีมากก็คือการไหว้ เพราะเป็นการแสดงสัมมาคารวะต่อกัน

การสัมผัสกันด้วยการจับมือ โอบบ่าหรือกอดให้ความรู้สึกดีๆของมิตรภาพได้มาก วันเลี้ยงส่งผมที่บ้านตากเจ้าหน้าที่หลายคนเข้ามากอดผมกับตอนจะขึ้นเครื่องบินมาเบลเยียมก็กอดกัน เป็นความรู้สึกดีๆที่ประทับใจมาก หรือแม้แต่ในสนามกีฬาทุกครั้งที่ผมกับทีมลงแข่งขันกันทุกคนในทีมจะจับมือกัน กอดคอกันแล้วเปล่งคำว่าสู้ ทำให้เกิดพลังใจร่วมกัน ความเป็นพวกเดียวกันได้มาก

ผมจำได้ว่าครั้งหนึ่งตอนแข่งฟุตบอลที่แม่พริก เพื่อนในทีมคนหนึ่งเป็นคนงานของโรงพยาบาลเจ็บที่ข้อเท้าเดินไม่ไหว ผมเข้าไปประคองให้เขากอดคอผมกับเพื่อนในทีมอีกคนแล้วพาเขาไปนั่งพักข้างสนาม ผมตรวจข้อเท้าให้เขา ตอนนั้นผมรู้สึกได้ว่าเขาเป็นเสมือนเพื่อนสนิทคนหนึ่ง วันที่ผมเดินทางจากแม่พริกมาบ้านตาก เขาเข้ามาบอกผมว่าเขาไม่เคยลืมความรู้สึกดีๆที่ผมให้เขากอดคอพยุงออกจากสนามเลย เป็นความรู้สึกที่ดีกับเขามาก ผมก็บอกเขาว่า ผมคิดว่าเขาเป็นเพื่อนของผมคนหนึ่ง ไม่ใช่ลูกน้องและต่อไปนี้ผมก็ไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาของเขา เพราะผมย้ายแล้ว แต่ความเป็นเพื่อนก็ยังคงอยู่ คนในชนบทจะให้เกียรติแพทย์มาก การที่เราให้ความเป็นกันเองกับเขา จับมือกับเขา ทำให้เกิดความรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน เป็นมิตรที่ดีต่อกันได้ง่าย นี่ขนาดคนอื่นนอกครอบครัว ยังรู้สึกดีต่อกันขนาดนี้ ถ้าได้สัมผัสกันในครอบครัวบ่อยๆ สามีกับภรรยา แม่กับลูก พ่อกับลูกหรือพี่กับน้อง ปู่ย่าตายายกับหลานๆ ก็จะยิ่งกระชับความสัมพันธ์ ความรัก ความห่วงใยกันได้มาก

เทคโนโลยีสารสนเทศช่วยผ่อนคลายความคิดถึง ช่วยกระชับความสัมพันธ์ เชื่อมความสัมพันธ์ที่ดีในกลุ่มคนได้ แต่ไม่สามารถทดแทนการพูดคุย สัมผัสตัวจริงซึ่งกันและกันได้ ลึกๆในใจของคนทุกคนต้องการการสัมผัส พูดคุยกัน มีปฏิสัมพันธ์กัน เมื่อหาจากคนใกล้ตัวไม่ได้ก็เลยหันไปหาสิ่งไกลตัวทางเวทีเสมือนจริงไป และอาจถูกหลอกจากภาพมายาต่างๆที่อาศัยความทันสมัยของเทคโนโลยีตกแต่งเอาได้

สภาพในช่วงนี้ของผมถือว่าอยู่ในช่วงชีวิตเสมือนจริงทั้งในสภาพนักศึกษา (ทั้งที่เป็นข้าราชการที่ต้องทำงาน แต่ไม่ได้ทำงาน เพราะลามาเรียนต่อ) และการติดต่อปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัว

ผมขอจบบันทึกนี้ท่ามกลางความคิดถึงครอบครัว ความเหน็บหนาวของอากาศ ความเงียบเหงาในห้องเช่าเล็กๆคนเดียวและความเครียดเล็กๆจากการอ่านบทความภาษาอังกฤษเพื่อทำรายงานและเตรียมตัวสอบวันอังคารหน้า ด้วยบทเพลงซึ้งๆของพลพล พลกองเส็ง ในเพลงห่วงใย ครับ

“วันนั้นวันที่สับสน เราสู้เราทน อยู่ข้างเคียงกัน วันนี้เธออยู่ไกลฉัน ไม่รู้เธอเป็นอย่างไร ใจฉันได้แต่คอยคิด ชีวิตของเธอสุขทุกข์เพียงใด อยู่ตรงนั้น เธอลำบากไหม ใจฉันยังเป็นห่วงเธอ

คืนที่เธอหนาว วันที่เธอเหงา เธอจะปวดร้าวจะเจ็บสักเพียงไหนเมื่อเธออ่อนล้าเสียใจ และร้องไห้ จะมีไหมใคร อยู่เป็นเพื่อนเธอ  วันไหน ที่เธอสับสน วันไหนมืดมน ไม่เหลือใครๆ จำไว้ว่ายังมีฉัน เพราะฉันยังคงห่วงใย

คืนที่เธอหนาว วันที่เธอเหงา เธอจะปวดร้าว จะเจ็บสักเพียงไหน  เมื่อเธออ่อนล้า เสียใจและร้องไห้ จะมีไหมใคร อยู่เป็นเพื่อนเธอ ทุกๆค่ำคืนก็ยังคงคิดถึง และหวังว่าเธอคงปลอดภัย ...

คืนที่เธอหนาว วันที่เธอเหงา เธอจะปวดร้าว จะเจ็บสักเพียงไหน เมื่อเธออ่อนล้า เสียใจและร้องไห้ จะมีไหมใครอยู่เป็นเพื่อนเธอ จะมีไหมใครที่เฝ้าคอยดูแลเธอ”

พิเชฐ  บัญญัติ

Verbond straat 52

2000 Antwerp, Belgium

26 ตุลาคม 2550

20.45 น. ( 01.45 น.เมืองไทย ) 

หมายเลขบันทึก: 142215เขียนเมื่อ 27 ตุลาคม 2007 02:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ผมคุยกับแม่ กับภรรยา คุยกับลูก ได้ยินเสียง ได้เห็นหน้าเห็นตากัน ยิ้มด้วยกันหัวเราะด้วยกันได้ในเวลาเดียวกันทั้งที่อยู่ห่างไกลกันเป็นหมื่นกิโลเมตร
  • อ่านบันทึกของพี่หมอมันก็ไม่ต่างอะไรกับวิถีชีวิตของคนจำนวนหนึ่งในปัจจุบันและหนึ่งในนั้นก็มีนกคะพี่หมอ
  • นกว่าการที่เราอยู่ห่างกันทำให้พอเราเจอกันเราก็จะหาสิ่งดี ๆ มาให้กันและรีบทำความดีให้กันคะ
  • จริง ๆ แฟนนกเขาก็จะย้ายมากทม.แต่นกยังไม่ให้เขาย้ายมาคะเพราะสงสารไม่อยากให้เขาวุ้นวายกับสังคมเมืองใหญ่ ยังอยากให้พ่อไปรับเช้ากลับเย็นและพาลูก ๆ ออกกำลังกาย
  • ขอบคุณพี่หมอคะ

สวัสดีครับน้องนก

มีคนกล่าวไว้ว่า เราต้องมีเวลาอยู่ด้วยกันเพื่อที่จะได้เติมกำลังใจให้กัน และต้องมีเวลาอยู่ห่างกันบ้างเพื่อที่จะคิดถึงกัน

การอยู่คนละจังหวัดแต่ประเทศเดียวกัน สามารถไปมาหาสู่กันได้เร็วและสะดวก ถ้าได้เจอกันทุกสัปดาห์ พี่คิดว่าเพียงพอครับ เพียงแตว่าเวลาตอนที่อยู่ด้วยกันใช้อย่างมีคุณภาพหรือเปล่าเท่านั้น

บางคนอยู่บ้านเดียวกัน แทบไม่ได้คุยกัน แทบไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กันเลย อย่างนี้ก็ไม่มีประโยชน์นัก

ขอบคุณสำหรับการติดตามอ่านบันทึกอย่างสม่ำเสมอครับ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท