ภารกิจเพาะหว่านเมล็ดพันธ์แห่งคุณธรรม จริยธรรมและความดีงาม โดย ธีระ เงินแก้ว
ธีระ ภารกิจเพาะหว่านเมล็ดพันธ์แห่งคุณธรรม จริยธรรมและความดีงาม โดย ธีระ เงินแก้ว เงินแก้ว

วัฒนธรรม ที่รัก(การอ่าน)


สังคมแห่งการอ่าน

      มีข้อมูลออกมาว่า คนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยแค่ปีละ 2 เล่ม และใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อหนังสือแค่คนละประมาณ 260 บาทต่อปี ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ และเวียดนามแล้ว เราถูกทิ้งห่างจากเขามากนัก เพราะสถิติการอ่านของประเทศทั้งสองนี้อยู่ที่เฉลี่ย 40-50 เล่มต่อปี สำหรับคนสิงคโปร์ และ 60 เล่มต่อปี สำหรับคนเวียดนาม

     นี่แสดงให้เห็นว่า สังคมไทยยังอยู่ห่างไกลจากการเป็นสังคมแห่งการอ่านมากมายนักจะว่าไปแล้ว บ้านเรามีการรณรงค์เรื่องรักการอ่านมานาน ไม่ต่ำกว่า 30-40 ปีก็ว่าได้ แต่ทำไมการอ่านจึงยังไม่ฝังรากอยู่ในวิถีชีวิตของคนไทย

     หนึ่งในสาเหตุหลักน่าจะมาจากการขาดนโยบายที่เอาจริงของรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านๆ มา เมื่อมอบภารกิจนี้ไว้กับกระทรวงศึกษาธิการ จึงทำให้การขับเคลื่อนเรื่องการอ่านดูจะไปเป็นไปอย่างอืดอาด และทำให้การอ่านกลายเป็นกิจกรรมที่ก้าวไม่พ้นรั้วโรงเรียน นั่นคือเป็นแค่การอ่านตามหลักสูตรภาคบังคับเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งประเด็นนี้มีข้อมูลเชิงประจักษ์ยืนยันว่า

     เด็กไทยอ่านหนังสือตามหน้าที่มากกว่าอ่านเพราะความสนใจหรือความอยากอ่าน หนังสือที่เด็กในวัยเรียน 6-14 ปีอ่านมากที่สุด จึงเป็นตำราเรียน (ร้อยละ 46) และเมื่อโตขึ้นอัตราการอ่านก็จะลดลงตามลำดับ เพราะไม่ต้องถูกบังคับให้อ่านตำราเรียนอีกแล้ว ซึ่งเป็นที่น่าเสียดาย ที่ความอยากอ่านถูกทำลายลงไปทีละน้อยตั้งแต่วัยเด็ก               

     ในประเทศที่คนในสังคมมีความตื่นตัวต่อการเรียนรู้ โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชีย อย่าง จีน เกาหลี และเวียดนาม พบว่ารัฐบาลทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น ให้ความสำคัญกับการลงทุนพัฒนาห้องสมุดสาธารณะอย่างยิ่ง เช่น ในประเทศเกาหลี สัดส่วนของห้องสมุดต่อจำนวนประชากรนั้นอยู่ที่หนึ่งต่อประชากรทุกๆ 20,000 คน

     ในขณะที่ของประเทศไทยเป็นหนึ่งต่อประชากรทุกๆ 84,000 คน มากกว่าถึงราวๆ 4 เท่า นอกจากนี้ หากใครเคยใช้บริการห้องสมุดในต่างประเทศ จะทราบดีว่ามีการจัดระบบยืมและคืนหนังสือที่ให้ความสะดวกสบายแก่ผู้อ่านอย่างยิ่ง เพราะทุกแห่งใช้ระบบออนไลน์ และการสั่งซื้อหนังสือเข้าห้องสมุดก็ยังจัดการพร้อมๆ กัน ทำให้ประหยัดงบประมาณของรัฐ ได้หนังสือตามจำนวน และที่สำคัญยังเป็นหนังสือที่สอดคล้องกับความต้องการอ่านของคนในชุมชนนั้น เพราะมีระบบสอบถามและทำให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมกับการจัดการห้องสมุดของชุมชนอย่างดียิ่ง

     การมีห้องสมุดสาธารณะประจำชุมชนที่มีการจัดการอย่างดี จึงเป็นการพัฒนารากฐานของชุมชนและสังคมให้เข้มแข็ง ตัวอย่างการศึกษาสภาพชุมชนในประเทศอังกฤษเมื่อปี 2005 พบว่า การมีห้องสมุดสาธารณะส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพของเด็ก เยาวชน ครอบครัวและผู้สูงอายุ รวมทั้งการสร้างความสมานฉันท์และความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน

     ดังนั้น การลงทุนกับห้องสมุดหรือแหล่งบริการหนังสือ จึงถือเป็นนโยบายสาธารณะที่สำคัญยิ่ง และรัฐต้องเป็นฝ่ายจัดการกับเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นแผนปฏิบัติการระดับชาติ การจัดสรรงบประมาณ รวมทั้งการส่งเสริมและชักจูงใจให้เอกชนหรือชุมชนอยากลงทุนกับห้องสมุดท้องถิ่น  เรื่องนี้ถือเป็นนโยบายในระดับโครงสร้างของประเทศ  เพราะคุณภาพของพลเมืองย่อมขึ้นอยู่กับคุณภาพของการอ่านและรู้หนังสือ           

บางตอนจาก  สร้างสังคมการอ่าน ฯ  โดย

ดร.วิลาสินี พิพิธกุล

หมายเลขบันทึก: 142210เขียนเมื่อ 27 ตุลาคม 2007 00:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท