บทเรียนจากทีมวิจัยปริก


ปีเศษ ๆ ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสร่วมงานทีมวิจัยที่ทำเรื่องเกี่ยวกับฐานข้อมูลสุขภาพชุมชนในระดับเทศบาลตำบลปริก อ.สะเดา โดยออกไปร่วมทำ KM กับชุมชน เพื่อกลับมาสร้างระบบเก็บ tacit knowledge ในรูปแบบระบบเว็บ และระบบฐานข้อมูลตัวชี้วัด สำหรับเป็น feedback ให้ชุมชนและผู้บริหารเทศบาลตำบล

...ทั้งที่คนที่ทำ ไม่มีใครชำนาญตรงกับประเด็นนี้สักคน

...แต่งานจะออกมาในระดับที่ผมคิดว่า น่าพอใจ

(หากสนใจ ลองเข้าไปดูฐาน KM ที่ http://tonprikinfo.org และฐานตัวชี้วัด อยู่ที่ http://www.tonprikinfo.org/application/index.php ซึ่งข้อมูลดิบ อาจยังมีไม่มาก เพราะเป็นระบบที่ออกแบบให้ทำงานไปข้างหน้า ข้อมูลเก่าใส่นิดหน่อยเพื่อทดสอบระบบและเป็นจุดตั้งต้น โดยผู้ใช้ทั่วไป สามารถดูรายงานสาธารณะบางส่วนได้โดยไม่ต้อง login)

ผมเชื่อว่า คนที่เขาเคยจับทำด้านนี้มาก่อน ก็คงมาในแนว ๆ นี้ แหละ แต่การที่ทีมหน้าใหม่สามารถทำได้อย่างที่ทำ ผมถือว่า เป็นเรื่องมหัศจรรย์

เรื่องที่ผมจะนำมาเล่า น่าสนใจในเชิงของบทเรียน ของการเกิดทีมวิจัย

นั่นคือ ทีมวิจัยนี้ มีการเสริมพลังกันได้แบบลงตัว ทั้งที่แต่ละคนในทีม อยู่กันคนละสาขา และต่างความสนใจ อย่างสิ้นเชิง

ทำไมผมจึงกล่าวว่าลงตัว ?

1. มีความหลากหลายของความชำนาญ กล่าวคือ เมื่อแยกเป็นประเด็นย่อยใด ๆ จะมีคนที่รู้เรื่องอยู่เสมอ ทั้งนี้ขอบข่ายเนื้อหากว้างมาก คือแนว  มิติชุมชน + การจัดการความรู้ + web + database + สาธารณสุข  ซึ่งหาคนที่ถึงพร้อมทุกด้านแบบไม่ได้เลย  แต่เมื่อมองภาพรวม ทีมจะฉลาดกว่าคนเดี่ยว ๆ เพราะสามารถใช้คนที่รู้ลึกเพียงด้านเดียว มารวมกันทำให้ลุล่วงได้

ความหลากหลายนี้ เป็น สินทรัพย์ คือทำให้ไม่เกิดการย้ำคิดย้ำทำตะบี้ตะบันแต่ในเรื่องที่ตนเองชิน จำเป็นต้องแหวกความเคยชินของตัวเองออกมา

2. มีความซ้อนเหลื่อมของความชำนาญอยู่เสมอ อย่างน้อย 1-2 คน ที่รู้ในระดับลึก และอีก 1-2 คน ที่พอฟังรู้เรื่องแบบสบาย ๆ

    • มีคนที่จับเรื่องสุขภาพหลัก 1 คน + พอช่วยเสริมได้ 1 ราย
    • มีคนจับเรื่อง web หลัก อยู่ 2 ราย + พอช่วยเสริมได้ 2 ราย
    • มีคนจับเรื่องการจัดการความรู้หลัก 1 ราย + ที่เหลือเสริมได้นิดหน่อย
    • มีคนจับเรื่องฐานข้อมูลหลักอยู่ 1 ราย + เสริมได้นิดหน่อยอีกหลายราย
    • ฯลฯ 

ถ้าไม่มีการซ้อนเหลื่อมกันเลย ผมเชื่อว่า งานคงออกมาได้ไม่ดี 

ความซ้อนเหลื่อมนี้ เป็นเหมือนกาวความรู้ ที่ทำให้ชิ้นส่วนย่อย เกาะติดกันได้เหนียวแน่น

เช่น เมื่อพูดถึงเรื่อง การหาอายุขัยเฉลี่ย คนหนึ่งมองในเรื่องประเด็นทางสาธารณสุข คนหนึ่งมองในเรื่องแนวทางการบริหารการไหลเวียนของข้อมูล อีกคนหนึ่งมองในเรื่องภาษา SQL สำหรับคำนวณ (กรณีนี้บังเอิญง่าย ก็อาจเป็นกรณีตัวอย่างที่เห็นไม่ชัดนัก)

ผลคือ เวลาคุยกัน เสริมกันคนละนิดคนละหน่อย งานก็เคลื่อนไปได้

ประเด็นไหน มีการซ้อนเหลื่อมความรู้หลายคน ประเด็นนั้นจะไปเร็วมาก

การซ้อนเหลื่อม อาจมีหลายมิติ เช่น

  • มิติทางเทคนิค คือ รายละเอียดคืออะไร คำนวณอย่างไร อ้างอิงจากไหน
  • มิติเชิงการจัดการ คือ ดูว่า มีประเด็นการจัดการอะไรที่จะทำให้ประเด็นนั้นใช้ได้ดีเป็นพิเศษ หรือไม่น่าจะใช้ในสถานการณ์จริง เพราะขัดกับระบบงานที่มีอยู่

กรณีนี้ เป็นตัวอย่างว่า ทีมที่เสริมพลังกันได้ดี ต้องหลากหลายให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อคิดแหวกแนวได้ แต่ต้องมีการซ้อนเหลื่อมกันอยู่บ้าง เพื่อทำหน้าที่เป็นกาวเชื่อมความรู้คนในทีมให้ขับเคลื่อนได้เร็ว

 

 

หมายเลขบันทึก: 141043เขียนเมื่อ 23 ตุลาคม 2007 00:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

การสร้างตัวชี้วัดเพื่อการพัฒนาน่าจะต่างจาก
การพัฒนาโดยใช้ตัวชี้วัดเป็นเครื่องมือ

ผมขอยืมไปใช้ในงานด้วยครับ

ถ้าอาจารย์ลงไปปริก

ฝากความระลึกถึงนายกสุริยาด้วยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท