สนุกกับภาษาไทย – ภาษาอัชฌาไศรย ๓. ประวัติศาสตร์กับการศึกษาวรรณคดีไทย (๒)


          ผมขอย้อนไปพูดถึงเรื่องที่ผมได้คุยกับเพื่อนอาจารย์ท่านที่สอนวิทยาศาสตร์ ในเมื่อท่านบอกว่า วรรณคดีไทยไม่มีอะไรให้น่าสนใจเลย ผมจึงถามว่า ยังพอมีอะไรหลงเหลือจากสมัยเรียนวรรณคดีไทยในโรงเรียนบ้างหรือไม่ แม้ว่าเรื่องนั้นเป็นเรื่องถูกบังคับให้ท่องจำหรือให้ต้องนำไปสอบก็ดี ท่านก็บอกว่า ยังพอจำได้ถึง กาพย์เห่เรือ แล้วท่านก็ปะติดปะต่อให้ฟังว่า

มัสมั่นแกงแก้วตา หอมยี่หร่ารสร้อนแรง
ชายใดได้กลืนแกง แรงอยากให้ใฝ่ฝันหา
ยำใหญ่ใส่สารพัด วางจานจัดหลายเหลือตรา
รสดีด้วยน้ำปลา ญี่ปุ่นล้ำย้ำยวนใจ

         ผมจึงกล่าวชมว่า ความจำท่านยังดีทีเดียว เพราะผมจำไม่ค่อยได้แล้วและได้ถามต่อไปว่า มีอะไรสะดุดใจและความรู้สึกหรือไม่ในกาพย์บทที่ท่านยกมา ท่านบอกว่า ไม่เห็นมีอะไร ครูบังคับให้ท่องกาพย์นี้เพราะเห็นว่า ผู้แต่งประพันธ์จำเรียงคำได้ไพเราะดีมีสัมผัสร้อยกรองเป็นแบบอย่าง ผมพูดความจริงเพื่อเอาใจท่านบ้างว่า ผมก็มองว่า วรรณคดีไทยที่เรียนตั้งแต่มัธยมมาจนเรียนคณะอักษรศาสตร์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นไม้เบื่อไม้เมาสำหรับผม ผมอ่านวรรณคดีไทยหลายเรื่องเมื่อเรียนอักษรศาสตร์ เพราะอาจารย์
บังคับให้อ่านเป็นหนังสือนอกเวลา แต่เคยสงสัยว่า เกิดอะไรขึ้นแก่ตัวผมเพราะอ่านแล้วละลายหายไปหมด เรียนวรรณคดีไทยแล้วเสแสร้งชื่นชมแต่ปาก ใจและความรู้สึกเข้าไม่ถึงวรรณคดีเลย ยิ่งเป็นคนไม่ชอบท่องจำด้วยแล้ว ยิ่งเห็นเป็นภาระแก่สมองเข้าไปอีก

         ความรู้สึกผมเปลี่ยนไปเมื่อไปศึกษาต่อวิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สถาบันบุรพคดีและแอฟริกันศึกษา มหาวิทยาลัย
ลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อไปเรียนที่อังกฤษแล้ว จึงได้รู้ว่าคนที่สติปัญญาปานกลางอย่างเราก็พัฒนาได้ ถ้าหากว่า เรียนถูกวิธี หัวใจของประวัติศาสตร์คือ การอ่านและวิเคราะห์หลักฐานเอกสาร เอกสารนี้หมายถึงเอกสารใดก็ตามที่จะช่วยให้นักประวัติศาสตร์เข้าใจประสบการณ์ด้านต่างๆของมนุษย์ในอดีตและส่งผลกระทบต่อมาถึงปัจจุบัน นักประวัติศาสตร์อ่านเอกสารไม่ใช่เพื่อชื่นชมเชิดชูผลงานเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่อ่านเพื่อหาความหมาย (meaning) ที่อยู่ข้างหลังตัวหนังสือ ซึ่งสามารถจะบอกประสบการณ์ของสังคมโดยรวมและของมนุษย์ในฐานะปัจเจกบุคคล ผู้สะท้อนความหวัง อารมณ์ความรู้สึก โลกทัศน์และสภาพสังคม ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ผมทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จนักเรื่อง จารีตประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยกับการเสื่อมความนิยมลงในคริสตศตวรรษที่ ๑๙

         ผมได้อ่านวรรณกรรมประวัติศาสตร์และวรรณคดีของตะวันตก อินเดีย จีน ญี่ปุ่น และชาติเพื่อนบ้านมามาก โดยส่วนหนึ่งเป็นวรรณคดีที่ถูกนำมาใช้เป็นหลักฐานเอกสารประวัติศาสตร์ ผมได้กลับมาอ่านวรรณคดีไทยใหม่หมด ตั้งแต่ โองการแช่งน้ำ ยวนพ่าย ไปจนถึง ขุนช้างขุนแผน และอ่านอย่างที่เป็นนักเรียนประวัติศาสตร์อ่านซึ่งก็คือหาข้อมูล ผมได้พบด้วยตนเองว่า การที่เราจักอ่านวรรณคดีและรักวรรณคดีนั้น ไม่ใช่เพราะใครมาบอกให้เรารักหรือบังคับให้รักวรรณคดี ความรักวรรณคดีย่อมมาจากการเห็นความสำคัญของวรรณคดี และการเห็นความสำคัญของวรรณคดีย่อมมาจากการเข้าใจเนื้อหาและการเชื่อมโยงเนื้อหานั้นเข้ากับบริบททางสังคมและสรรพวิชาที่เกี่ยวข้อง กล่าวง่ายๆ คือ วรรณคดีต้องไม่อยู่อย่างโดดเดี่ยวในโลกของมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

         ข้อความข้างบนลุ่มลึกมากนะครับ    ในเรื่องวิธีการเรียนรู้

วิจารณ์ พานิช
๑๘ ต.ค. ๕๐

หมายเลขบันทึก: 140719เขียนเมื่อ 22 ตุลาคม 2007 08:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
อ่านแล้วไม่สนุกสักนิดเหรอครับ -_-'. 
แบบที่ผมแอบคิดว่าวรรณกรรมต่างๆ เช่น ขุนช้างขุนแผน เป็นเรื่องที่สนุกในตัวเองอยู่แล้ว. เนื้อหาก็สะท้อนอะไรหลายอย่างออกมาค่อนข้างชัดเจน. อธิบายหลายอย่างได้จนเห็นภาพ ดูดดื่มไปด้วย. แต่บางทีที่อ่านแล้วไม่สนุกอาจจะเป็นเพราะถูกบังคับให้อ่าน แล้วต้องไปสอบหรือเปล่า :-P.
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท