แผนฟื้นทะเลสาบฉลุย ชาวเกาะยอจัดถกไฟเขียวขุดร่องน้ำ


ชาวบ้านเกาะยอ 35 เวทีเห็นด้วยให้รัฐขุดร่องน้ำ ยันพร้อมให้ความร่วมมือในการรื้ออุปกรณ์ในการทำประมงที่ขวางทางน้ำ แต่รัฐต้องแจ้งล่วงหน้า 1 ปี
แผนฟื้นทะเลสาบฉลุย ชาวเกาะยอจัดถกไฟเขียวขุดร่องน้ำ
   ชาวบ้านเกาะยอ 35 เวทีเห็นด้วยให้รัฐขุดร่องน้ำ ยันพร้อมให้ความร่วมมือในการรื้ออุปกรณ์ในการทำประมงที่ขวางทางน้ำ แต่รัฐต้องแจ้งล่วงหน้า 1 ปี เชื่อมั่นฟื้นทะเลสาบสงขลาได้แน่
    หลังจากเปิดเวทีสอบถามความคิดเห็นของชาวบ้านในพื้นที่เกาะยอรวม 35 เวที ล่าสุดมีการสรุปผลเพื่อเป็นแนวทางในการฟื้นฟูทะเลสาบสงขลาแล้ว โดยนายประยงค์ รัตนพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ได้เรียกประชุมคณะทำงาน เพื่อกำหนดแนวร่องน้ำในการจัดระเบียบเครื่องมือประมงในทะเลสาบสงขลา ซึ่งการประชุมครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรก หลังจากมีคำสั่งแต่งตั้งเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2548 หลังจากเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นชาวบ้านรวม 35 เวที ใน 7 อำเภอ และ 2 อำเภอของ จ.พัทลุง ระหว่างวันที่ 14 กุมภาพันธ์-29 มีนาคม 2547
    โดยเบื้องต้น นายวิชัย ชิดเชิดวงศ์ หัวหน้าสำนักงานขนส่งทางน้ำที่ 15 (สาขาสงขลา) ในฐานะคณะทำงานและเลขานุการ ได้นำเสนอแผนที่แนวขุดลอกร่องน้ำและติดตั้งเครื่องหมายเดินเรือในทะเลสาบสงขลาตอนล่าง 3 แนว ได้แก่ 1.แนวปากรอ-เขาเขียว ระยะทาง 17.3 กิโลเมตร กว้าง 200 เมตร 2.แนวรอบเกาะยอ ระยะทาง 19.05 กิโลเมตร กว้าง 100 เมตร 3.แนวเขาเขียว-เขาแดง ระยะทาง 6.16 กิโลมตร กว้าง 100 เมตร และ 4.แนวปากรอ-อ้อมเกาะยอ มาบรรจบกับแนวเขาเขียว-เขาแดง ระยะทาง 26.7 กิโลเมตร กว้าง 200 เมตร
    นายวิชัย ให้ความเห็นว่า แนวร่องน้ำเขาเขียว-เขาแดง ตรงบริเวณปากทะเลสาบสงขลา อาจจะไม่ต้องขุดลอก เนื่องมีความลึกพอสมควรแล้ว แต่อาจต้องรื้อเครื่องมือประมงที่มีอยู่อย่างหนาแน่นออกไป โดยเฉพาะโพงพาง ส่วนการศึกษาการขุดลอกทะเลน้อย ซึ่งอยู่ในเขตทะเลสาบสงขลาตอนบน บริเวณ จ.พัทลุงนั้น ขณะนี้บริษัทที่ปรึกษาได้สำรวจเสร็จแล้ว โดยอยู่ระหว่างการสรุปรายงานเพื่อส่งให้กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี กระทรวงคมนาคม คาดว่าภายในต้นปี 2548 จึงจะมีรายงานฉบับสมบูรณ์ ส่วนในพื้นที่ทะเลสาบตอนกลางนั้นยังไม่มีข้อมูล
    นอกจากแนวขุดลอกแล้ว ที่ประชุมยังกำหนดแนวกันชนบริเวณแนวขุดลอกร่องน้ำด้วย โดยมีการเสนอว่าต้องกว้างกว่าแนวขุดลอกร่องน้ำ 2-3 เท่า และทั้งบริเวณแนวขุดลอกและแนวกันชนต้องไม่มีเครื่องประมงประจำที่ เช่น โพงพาง หรือ ไซนั่ง เป็นต้น
   
ขณะเดียวกัน นายประยงค์ได้มอบหมายให้สำนักงานขนส่งทางน้ำที่ 15 (สาขาสงขลา) และสำนักงานประมงจังหวัดสงขลา กำหนดแนวการขุดลอกร่องน้ำทะเลสาบสงขลาให้เชื่อมกันทั้งหมดตั้งแต่ทะเลน้อยลงมาจนถึงปากทะเลสาบสงขลา โดยใช้สรุปความเห็นทั้ง 35 เวทีดังกล่าวมาเป็นฐานข้อมูลในการกำหนดแนวขุดลอก รวมทั้งกำหนดแนวร่องน้ำเดิมด้วย แล้วนำมาเสนอในการประชุมคณะทำงานครั้งต่อไป ทั้งเพื่อจะนำไปเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาต่อไป
    รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวขุดลอกร่องน้ำดังกล่าว เนื่องจากในการรับฟังความคิดเห็นเรื่องการจัดระเบียบเครื่องมือประมงทั้ง 35 เวทีนั้นส่วนใหญ่เสนอให้ขุดลอกร่องน้ำในทะเลสาบสงขลา ซึ่งในการประชุมครั้งนี้เป็นการวางกรอบการขุดลอกร่องน้ำเท่านั้น อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการศึกษาถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับคณะกรรมการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาด้วย
      "หลังจากกำหนดแนวขุดลอกร่องน้ำแล้ว ในขั้นต่อไปก็จะเป็นการจัดลำดับความสำคัญของบริเวณที่จะจัดระเบียบเครื่องมือประมง เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาทะเลสาบสงขลาตามอำนาจหน้าที่ ส่วนการชดเชยเครื่องมือประมงที่ต้องรื้อออกไปขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเช่นกัน"
      ด้านนายจำรัส พันธนิยะ กำนัน ต.เกาะยอ อ.เมือง จ.สงขลาในฐานะคณะทำงาน กล่าวว่า ในส่วนของชาวต.เกาะยอ เห็นด้วยกับการขุดลอกร่องน้ำ แต่ในการจัดระเบียบประมงควรต้องแจ้งก่อนล่วงหน้า 1 ปี เพื่อจะได้เตรียมรื้อทัน
แหล่งที่มา http://www.nicaonline.com/webboard/index.php?board=20;action=display;threadid=3474

 


คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 14063เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2006 21:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2012 13:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท