ข้อจำกัดของ "รูป" และสาเหตุของการพัฒนา "ภาษา"


ใน บันทึกก่อนหน้านี้ ผมบอกว่าพื้นฐานของการทำงานของสมองถนัด (prefer) ที่จะสื่อสารด้วยรูปครับ

ถ้าคุณได้ไป Google Images แล้วค้นหาด้วยคำว่า rock art", "rock painting", "cave painting", "petroglyph", "prehistoric art" นั้นคุณจะพบว่ามนุษย์คุยนั้นพยายามสื่อสารด้วยรูปเยอะแยะไปหมดเลย เป็นการพยายามอธิบายความของคนในยุคก่อนประวัติศาสตร์ครับ

หนึ่งในรูปที่น่าดูที่สุดคือ Newspaper Rock ครับ เป็นรูปวาดที่ผู้วาดพยายามสื่อสารอะไรบางอย่างจนได้ชื่อเรียกว่าเป็น Newspaper Rock (หนังสือพิมพ์หิน) ทีเดียว

แต่เราก็ยังไม่เข้าใจครับ ว่าผู้วาดพยายามสื่อสารอะไร เดาได้ แต่ไม่มีอะไรยืนยันได้ว่าเราเดาถูกหรือเดาผิด เราเดาว่าเป็นการพยายามสื่อสารกิจกรรมที่เกิดขึ้นในบริเวณนั้นครับ เราเลยเรียกว่าเป็น "หนังสือพิมพ์หิน" ครับ

การสื่อสารด้วย "รูป" มีปัญหาครับ ปัญหาใหญ่ที่สุดของรูปคือความ "คลุมเครือ" (ambiguity) และการขาดศักยภาพในการอธิบายความ (lack of expressiveness) ครับ

มาทดลองกันดูก็ได้ครับ ผมให้คุณอธิบายวิธีการทำไข่เจียวด้วยรูป ก่อนอ่านต่อหยิบกระดาษกับปากกามาลองทำเลยครับ

.....

อ๊ะ อ๊ะ ทำให้เสร็จก่อนอ่านต่อครับ

.....

การทดลองที่ผมพึ่งให้ทำไปมีประเด็นน่าสนใจสองเรื่องครับ เรื่องแรกคือคนเราทุกคนจะสามารถอธิบายด้วยภาพได้โดยไม่ต้องสอน และเรื่องที่สองคือคุณจะพบว่าคนแต่ละคนอธิบายด้วยรูปด้วยวิธีการและสัญลักษณ์ที่แตกต่างกัน

คุณอาจบอกว่าที่จริงแล้วดูใกล้เคียงกัน ที่จริงแล้วความใกล้เคียงนั้นเกิดจากความรู้ก่อนหน้าที่คุณมีก่อนคุณจะเริ่มวาดรูปครับ ถ้าจับคนที่เติบโตมาจากต่างวัฒนธรรมกันลักษณะของ "รูป" ที่ใช้ก็จะต่างกันอย่างชัดเจนครับ

สรุปก็คือ "รูป" เป็นสัญชาติญาณพื้นฐานในการสร้าง "ความหมาย"

แต่รูปมีความคลุมเครือ (ambiguity) ในการอธิบายความหมายและขาดศักยภาพในการอธิบายความหมายที่ลึกซึ้ง (lack of expressiveness)

ไม่เชื่อลองวาดรูปที่มีความเป็นนามธรรมดูครับ การทำไข่เจียวนั้นง่ายเพราะมีความเป็นรูปธรรมมาก แต่คราวนี้ทดลองอธิบาย "ความสดชื่น" ด้วยรูปดูครับ

สังเกตุว่าผมเขียนแค่ "ความสดชื่น" ผมก็สื่อสาร concept นี้ให้คุณได้แล้ว แต่ถ้าให้ผมวาดรูปนี่ลำบากกว่านี้แน่นอนครับ

นั่นคือสาเหตุที่ว่า เพื่อแก้ปัญหาข้อจำกัดของการอธิบายด้วยรูปทั้งสองประการ มนุษย์เราเลยต้องพัฒนา "ภาษา" (language) ขึ้นมาเพื่อใช้ลดความคลุมเครือในการอธิบายและเพื่อให้สามารถอธิบายได้ลึกซึ้งมากขึ้น

ภาษาในยุคแรกๆ ก็ยังมีลักษณะเป็นรูปอยู่ครับ ภาษาโบราณๆ จะมีลักษณะอย่างนี้ อย่างที่เรารู้จักกันดีก็ได้แก่ Hieroglyphs ของอียิปต์ หรือภาษาจีน เป็นต้นครับ

Wikipedia รวบรวมภาษาเก่าแก่ไว้ดีทีเดียวครับ อ่านต่อได้ที่นี่ ครับ

ภาษาในยุคหลังๆ (รวมทั้งภาษาไทยเรา) มีพัฒนาการในด้านต่างๆ อาทิเช่นการผสมอักษรเพื่อแทนความหมายของคำ และอื่นๆ อีกมากมาย เรื่องเหล่านี้ผมขอไม่พูดถึงนะครับ เพราะไม่ได้เจตนาจะอธิบายถึงวิวัฒนาการของภาษามนุษย์ เพียงแต่ต้องการอธิบายว่า "ภาษา" พัฒนาขึ้นเพื่อแก้ปัญหาของ "รูป"

แต่ภาษาที่เราใช้กันอยู่ในทุกวันนี้ก็ไม่ได้แก้ปัญหาทั้งสองข้อได้อย่างสมบูรณ์ครับ ยังมีความคลุมเครือและยังมีปัญหาในการอธิบายความ

ทำให้เวลามนุษย์ใช้ภาษาในการอธิบายความ ยังต้องใช้รูปภาพแบบต่างๆ ประกอบเสมอ เรียกว่าทั้ง "รูป" และทั้ง "ภาษา" มีปัญหาไม่สมบูรณ์ มนุษย์เราเลยใช้ทั้งสองอย่างประกอบกันเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการสื่อสารให้ได้มากที่สุดครับ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเราต้องการสื่อสารให้มีความคลุมเครือน้อยที่สุด โดยเฉพาะกับสิ่งที่มีความเป็นนามธรรมเป็นอย่างมาก มนุษย์จึงต้องพัฒนา "ภาษาคณิตศาสตร์" (mathematical notation) ขึ้นมาครับ

คณิตศาสตร์นี่เป็น "ภาษา" นะครับ เวลาเราเรียนคณิตศาสตร์ ที่จริงแล้วเรากำลังเรียนสองอย่างพร้อมๆ กัน อย่างแรกคือ "แนวความคิด" (concept) ของสิ่งที่เราเรียน อย่างที่สองคือ "ภาษา" ในการแสดงความหมายของแนวความคิดนั้น

ที่จริงแล้ว ในการสอนคณิตศาสตร์ในบ้านเรานี้ ถ้าเราได้บอกนักเรียนในเรื่องนี้ก็น่าจะดีเหมือนกัน เพราะที่จริงแล้ว mathematical notation ก็มีอยู่หลายแบบอยู่ครับ สำหรับนักเรียนที่เกลียดคณิตศาสตร์บางครั้งอาจเกิดขึ้นเพราะเขาถูกบังคับให้เรียนสองอย่างพร้อมกันโดยไม่รู้ก็ได้ครับ

ภาษาคณิตศาสตร์เป็นสิ่งที่ออกแบบมาเพื่อลดความคลุมเครือให้เหลือน้อยที่สุด และในขณะเดียวกันต้องมีความสามารถในการอธิบายความสูงสุดครับ

หากมนุษย์ต่างดาวมาเยี่ยมโลกเมื่อไหร่ "คณิตศาสตร์" นี่ละครับ จะเป็นสิ่งที่เราใช้สื่อสารกันได้เป็นอย่างแรกครับ (แต่ notation ของเขากับเราอาจไม่เหมือนกัน แต่ถ้าเทียบเข้าหากันได้เมื่อไหร่ก็เป็นอันว่าคุยกันรู้เรื่อง)

ภาษาคณิตศาสตร์นั้นเป็นภาษาจัดได้ว่าดีที่สุดแล้ว แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเราต้องการสื่อสารกับเครื่องคอมพิวเตอร์ ปรากฎว่าวิธีการแสดงภาษาคณิตศาสตร์นั้นยังใช้งานไม่ได้ มนุษย์เราเลยศึกษาและพัฒนาในด้าน "ภาษา" เพื่อการนี้มากขึ้น เราเรียกสาขาวิชาด้านนี้ว่า "Formal Language"

Formal Language เรียนรู้ถึงการสร้าง "ภาษา" เพื่อการสื่อสารระหว่างสอง "สิ่ง" (ไม่ว่า "สิ่ง" นั้นจะเป็น "เครื่อง" หรืออะไรก็ตาม) ภาษาคอมพิวเตอร์ (programming languages) ต่างๆ ที่เราใช้กันอยู่ในทุกวันนี้ก็เป็นผลพวงมาจากองค์ความรู้ในสาขาวิชาด้านนี้ครับ

ตอนผมจบกลับมาใหม่ๆ ผมพยายามเอา Automata Theory, Formal Language Theory, และ Information Theory มาสอนนักศึกษา และเท่าที่ผมเดินๆ ดูตามร้านหนังสือ ผมไม่พบหนังสือภาษาไทยที่นำเสนอเรื่องเหล่านี้ครับ ที่จริงแล้วเรื่องเหล่านี้เป็นองค์ความรู้พื้นฐานที่สำคัญมากสำหรับนักศึกษาด้าน Computer Science/Information Systems ทั้งมวลครับ (แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องที่สอนยากมากเหมือนกัน ถ้าจะสอนนักศึกษาปริมาณเยอะๆ ครับ ยังไม่มีใครย่อยไว้ครับ)

บันทึกนี้ยาวเชียว จบที่ (1) "รูป" คือ "ภาษา" และ "ภาษา" คือ "รูป" (2) พัฒนาการด้านการสื่อสารด้วย "ภาษา" ก็เพื่อให้ "ไม่มีความคลุมเครือ" และ "ความสามารถในการอธิบายความสูงสุด" ครับ

หมายเลขบันทึก: 140580เขียนเมื่อ 21 ตุลาคม 2007 15:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2012 20:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีค่ะ

เรื่องรูปและภาษา คงต้องประกอบกันจึงจะสมบูรณ์มากที่สุดอย่างที่อาจารย์บอก

ดิฉันเอง ชอบอ่านพร้อมรูปค่ะ และทุกคนก็คงชอบแบบนี้เหมือนกันค่ะ

 

เรียนคุณศศินันท์ การประมวลผลรูปพร้อมภาษานั้นเป็นเรื่องธรรมชาติของการทำงานของสมองเลยครับ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนจะชอบอ่านหนังสือที่มีรูปประกอบหรือ diagram อธิบายครับ

เรียนคุณหมอสุธี บันทึกชุดนี้ผมกะว่าจะเขียนยาวเลยครับ ผมดีใจมากที่คุณหมอติดตามอ่านครับ

สวัสดีครับ  

พอดีผมกำลังจะลงเรียนวิชา Artificial Intelligence นี้ อยู่พอดีอ่ะคับ เลยเสิร์ชมาเจอบล็อกของอาจารย์  ได้ความรู้ดีมากครับ 

ขอบคุณครับ 

ชอบ blog ของอาจารย์มากเลยค่ะ

เพิ่งจะเริ่มเรียนต่อป.โทอยู่พอดี กำลังหาหัวข้อวิจัย และสนใจในเรื่อง A.I. ค่ะ แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะทำเกี่ยวกับแขนงไหนของ A.I. ดี (image processing ก็น่าสนใจดีค่ะ) ได้มาอ่านบทความของอาจารย์แล้วรู้สึกกระตือรือร้นขึ้นอีกเยอะเลย

ติดตามอ่านอยู่นะคะ^^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท