ความรู้คู่คุณธรรม


บทพระราชนิพนธ์
การสร้างคุณธรรมก็คือ การสร้างให้คนเป็นคนดีนั่นเอง การสร้างให้ผู้เรียนเป็นคนดี ต้องถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาอบรมหรือคือส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าถ้าจะพัฒนาให้ผู้เรียนมีคุณธรรม ก็ต้องให้เรียนวิชาที่ว่าด้วยศีลธรรม จริยธรรม ตามหลักของศาสนามาก ๆ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่การสร้างคุณธรรมคงไม่สามารถแยกสร้างได้ต่างหากจากการเรียนรู้ในเรื่องอื่น ๆ คุณธรรมความเป็นคนดี เป็นคุณลักษณะทางจิตใจที่แสดงออกมาผ่านการประพฤติปฏิบัติ การตัดสินใจทำหรือไม่ทำอย่างใดอย่างหนึ่ง บนพื้นฐานความเชื่อที่เป็นค่านิยมทางคุณธรรมนั้น ๆ คือพฤติกรรมของคนที่ปรากฏจะส่อแสดงให้เห็นถึงความคิดความเชื่อเชิงคุณธรรม และจะบ่งบอกได้ว่าเป็นพฤติกรรมของคนดีหรือคนไม่ดี พฤติกรรมเหล่านี้ที่สำคัญเช่น ความเป็นคนรู้จักหน้าที่ รับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น ความเป็นคนซื่อสัตย์ สุจริต รู้จักเสียสละ อดทน ช่วยเหลือผู้อื่น เป็นต้น
กระบวนการเรียนรู้สามารถพัฒนาคุณธรรมให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนได้โดยไม่ต้องมีวิชาคุณธรรมให้เรียนเป็นพิเศษ เพราะคุณธรรมที่พึงประสงค์สามารถสร้างให้เกิดได้ ผ่านกระบวนการปฏิบัติงาน ทั้งงานส่วนบุคคลและการปฏิบัติงานร่วมกันเป็นกลุ่ม การเรียนรู้ที่ดีจึงควรเป็นการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนปฏิบัติงานต่าง ๆ ด้วยตนเอง เช่น แสวงหาความรู้ด้วยตนเองจากแหล่งข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ทดลองทำงาน ฝึกทดลองด้วยตนเอง ร่วมกับผู้อื่น ศึกษาค้นคว้า และ
ทดลองปฏิบัติ การแลกเปลี่ยนข้อมูล และข้อค้นพบระหว่างผู้เรียนด้วยกันหรือระหว่างผู้เรียนกับผู้รู้ กระบวนการเหล่านี้ ผู้เรียนจะได้เรียนรู้เรื่องคุณธรรมโดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องสอนวิชาคุณธรรม เพราะการทำงานร่วมกับผู้อื่น เขาต้องเรียนรู้เรื่องความรับผิดชอบ ความตรงต่อเวลา ความอดทน เสียสละ ความซื่อสัตย์ สุจริต ต้องรู้จักช่วยเหลือผู้อื่น ฯลฯ ถ้าเขาได้ทำมาก ๆ ก็จะสานก่อเป็นเจตคติ เป็นความเชื่อ และถ้าเขาปฏิบัติอยู่เสมอก็จะเป็นความเคยชิน เป็นสำนึกที่จะต้องประพฤติปฏิบัติเช่นนั้นอยู่เสมอ ดังนั้น ที่พระราช-บัญญัติการศึกษาแห่งชาติ กล่าวว่า การศึกษาต้องให้ความสำคัญทั้งความรู้ คุณธรรม และกระบวนการเรียนรู้ และบูรณาการตาม
ความเหมาะสมของแต่ละระดับการศึกษา จึงเป็นหลักการจัดการเรียนรู้ที่สำคัญยิ่ง ที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดทั้งความรู้ และคุณธรรมไปพร้อม ๆ กัน
มีบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 5 เป็นโคลงสี่สุภาพบทหนึ่งสามารถเอามาอธิบายความสำคัญของคุณธรรมกับความรู้ที่จะต้องมีควบคู่ไปด้วยกันได้อย่างดี
นั่นคือบทที่ว่า
ความรู้คู่เปรียบด้วย กำลัง กายเฮย
สุจริตคือเกราะบัง ศาตรพ้อง
ปัญญาประดุจดัง อาวุธ
กุมสติต่างโล่หป้อง อาจแกล้วกลางสนาม

ขอฝากบันทึกนี้ไว้กับนักการศึกษา และเพื่อนครูทั้งหลาย อย่าได้หลงลืมใส่ใจ ให้คุณธรรมเกิดควบคู่กันไปกับพัฒนาการด้านอื่น ๆ ของผู้เรียนและอย่าลืมว่า ครูต้องเป็นตัวอย่างที่ดีของผู้เรียน
ด้วย
หมายเลขบันทึก: 140371เขียนเมื่อ 20 ตุลาคม 2007 18:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เข้ามาอ่านและมาให้กำลังใจคุณเตือนตาจะได้เขียนบันทึกเข้ามามากๆ ผมเคยใช้ชีวิตตอนเด็กๆอยู่ที่ ต.น้ำเชี่ยว อ.แหลมงอบ อยู่หลายปี. . . .  ถ้ามีเวลาอยากให้ลองอ่านบันทึกนี้ ที่ผมไปบ่อไร่มา เผื่อว่าจะได้ประโยชน์ โปรดคลิกที่ --> http://gotoknow.org/blog/beyondkm/46793

ผมอยากจะรู้เรื่องเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยชีวิต ช่วยเล่าให้ฟังบ้างนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท