ค้นพบรอยเท้าไดโนเสาร์


ปฏิบัติการตามหารอยเท้าไดโนเสาร์(ตอนที่1)

   
   

 เรื่อง-ภาพ   สุวรรณา  จิตรสิงห์

   
       ช่วงกลางเดือน กุมภาพันธ์ 2550 ผู้เขียนเตรียมตัวแบกเป้ไปกับโครงการสำรวจวิจัยไดโนเสาร์และซากดึกดำบรรพ์ ไทย-ฝรั่งเศส โดยกรมทรัพยากรธรณี  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม    ศูนย์ศึกษาและวิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (Center National de la Researche Scientifique) ประเทศฝรั่งเศส คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา สำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน กรุงเทพฯ  โดยมี Dr.Eric Buffectaut,Dr.Hyian Tong Buffectaut   ดร.วราวุธ สุธีธร  เป็นหัวหน้า เดินทางสู่ดินแดนอีสานเพื่อล่ารอยเท้าไดโนเสาร์กัน
   
        จำได้ว่าทีมงานของเราสำรวจรอยเท้าไดโนเสาร์ครั้งล่าสุดเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา(ต้นปี2547)ที่อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นรอยเท้าที่สวยมากๆ มีขนาดเล็ก เดินกันเป็นฝูงใหญ่มีมากกว่า300รอย

   

บ้านท่าสองคอน จ.เลย

             สู่บ้านท่าสองคอน  อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย ซึ่งมองเห็นภูกระดึงอยู่ใกล้ๆโดยรถยนต์ เป็นถนนดินแดงลูกรังฝุ่นตลบ   จอดรถทิ้งไว้หัวไร่ปลายนา ใต้ต้นมะขามหวานของชาวบ้าน   เดินด้วยเท้าต่อไปอีกประมาณ  600เมตร  ถึงลำธารน้ำใสไหลแรงชาวบ้านเรียกว่า คอน  หลังจากข้ามลำห้วยอย่างคล่องแคล่ว ลานหินตรงหน้าเป็นท้องลำธารในหน้าน้ำบัดนี้แห้งกลายเป็นลานหินให้ชาวบ้านนั่งเล่นได้นั้น หินเก่าแก่ผุ ซ้อนเกยทับกันคล้ายขนมชั้น 3-4 ชั้น และแผ่นหินชั้นล่างสุดมองเห็นเป็นแอ่งๆมีระยะชัดเจน พวกเราดีใจที่มาเห็น หลังจากความสะอาดพื้นที่รอยเท้าไดโนเสาร์ที่ค่อนข้างผุกร่อน  และช่วงการก้าวเดินที่ชัดเจน   มีทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก  พบมากกว่า 12 รอย ก็ปรากฏสู่สายตาพวกเรา

   

              บางรอยมีขนาดกว้าง 35 เซนติเมตร ยาว 49 เซนติเมตร มี 3 นิ้ว  เป็นรอยเท้าของไดโนเสาร์กินเนื้อ ที่น่าสนใจคือมันมีอายุเก่าแก่ที่สุดพบในประเทศไทยเท่าที่ทีมงานของเราเคยค้นพบเลยทีเดียวอายุเก่าแก่ไปถึงยุคไทรแอสซิก (Triassic) หรือประมาณ 210 ล้านปีมาแล้ว   พบเส้นทางเดิน(Track) เป็นของตัวใหญ่ 1 เส้นทาง มีให้เห็นเพียง  4-5 ก้าวและพวกเรารู้ว่ามันยังมีอยู่ใต้แผ่นหินที่ทับไว้อีก  และอีกหนึ่งเส้นทางเป็นของตัวเล็ก คนละชนิดกัน พบ4-5ก้าวเช่นกัน

   

           ข่าวพบรอยเท้าไดโนเสาร์แพร่ไปรวดเร็วไม่ช้าไม่นานมีชาวบ้านมามุงดูเต็มลานไปหมด  สอบถามชาวบ้านพวกเขาบอกว่าเห็นมานานแล้ว แต่ไม่ทราบว่าเป็นอะไรมองไม่ชัดเจนมีโคลนลงไปอุด  บางทีครูพานักเรียนมาเข้าค่ายลูกเสือนั่งพักกินข้าวกันแถวนี้ ครูจะเล่าเรื่องไดโนเสาร์ให้เด็กๆฟังเพื่อสร้างจินตนาการ  และพวกเขาดีใจมากที่พบไดโนเสาร์จริงๆในหมู่บ้านของเขา  น้ำในลำธารสายนี้ไหลมาจากภูกระดึงไม่เคยแห้ง น้ำชุ่มทั้งปี และพื้นที่ตรงนี้จะจมอยู่ใต้น้ำ นาน 8 เดือน ระดับน้ำในหน้าน้ำหลากจะสูงท่วมพื้นที่ถึง 3-5 เมตร  หากเป็นเช่นนี้ทางจังหวัดคงต้องมีการพูดคุยกับผู้เกี่ยวข้องถึงแนวทางการอนุรักษ์รอยเท้าและทำเป็นแหล่งท่องเที่ยว  เมื่อนักท่องเที่ยวมาชมความสวยงามของภูกระดึงแล้วก็แวะมาชม รอยเท้าไดโนเสาร์ได้ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวที่คุ้มค่า และยังส่งเสริมให้ชาวบ้านมีอาชีพมีรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์สินค้าการเกษตร แก่นักท่องเที่ยวอีกด้วย

   

      มีชาวบ้านคนหนึ่งบอกกับผู้เขียนว่า ยังมีอีกคอนหนึ่ง ตอนนี้น้ำเปลี่ยนเส้นทาง ไหลอ่อนมากเพราะมีต้นไม้ไปขวางอยู่  ทำให้มีดินทับถมมาก  ที่ตรงนั้นก็มีรอยเท้าไดโนเสาร์อีกอย่างน้อย 7 รอย  พวกเราเดินไปดูกันเก็บเป็นข้อมูลไว้และวางแผนจะมาทำการสำรวจใหม่อีกครั้งในปีถัดๆไปต่อไป
   
          แสงแดดอ่อนลงมากแล้ว   หากไม่รีบทำงานพวกเราจะมืดค่ำที่นี่ ก่อนสิ้นแสงลำสุดท้ายที่ทาบผ่านภูกระดึง  พวกเราเร่งมือปัดกวาด ลานหิน  ใช้แปรงปัดฝุ่น  ลงน้ำยากันแตกร่อน มันก็แปลกนะเมื่อหินเจอกับอากาศแห้งแห่งเดือนกุมภาพันธ์ที่ร้อนแทบไหม้อย่างเช่นปีนี้  มันผุกร่อนกระเทาะเป็นเกล็ดร่อนตัวออก  เราลงน้ำยาซ้ำๆหลายครั้งเพื่อคงสภาพมันไว้มากที่สุดนับจากวันนี้ๆไปผู้คนจะแวะมาเยี่ยมชม  มันผุแล้ว เก่ามาก   ทีมของเรารู้หน้าที่ว่าใครทำอะไรบ้างบ้างก็เก็บบันทึกข้อมูล   วัดขนาดรอยเท้า   (วัดช่วงที่กว้าง-ยาวที่สุด)  วัดช่วงก้าวแต่ก้าว   บ้างก็วัดมุมด้วยเครื่องมือหามุม   บ้าง หาตำแหน่งพิกัดของแหล่งที่ค้นพบจากดาวเทียม  บ้างก็ถ่ายภาพ เก็บทุกรายละเอียด ก่อนที่จะทำการทำสำเนา(Copy )ลงบนแผ่นพลาสติกใส   ด้วยปากกาเคมีเพื่อนำไปศึกษาวิจัยอย่างละเอียดโดยผู้ชำนาญต่อไป
   
  
        นั่งพิจารณารอยเท้าเจ้าตัวใหญ่ที่เดินลงน้ำหนักจนอุ้งเท้าลึกเป็นแอ่งชัดเจน   มันอาจกำลังไล่ล่าเจ้าตัวเล็กอยู่ จินตนาการเป็นสิ่งไร้พรมแดน  ไร้ขีดจำกัด  หากนำนักเรียนมานั่งตรงนี้แล้วเล่าเรื่องโลกยุคไดโนเสาร์เมื่อครั้งกระโน้นเมื่อ210 ล้านปีให้พวกเขาฟัง  เด็กๆคงรู้จักสร้างสรรค์จินตนาการ โลดแล่นไปสู่โลกดึกดำบรรพ์อย่างมีความสุข    ผลการศึกษาวิจัยยังอยู่ในขั้นตอนของการทำงาน  คงจะเผยแพร่โดยกรมทรัพยากรธรณีวิทยา ในเร็วๆนี้ .

   

                 .................................................................................... 

ประมวลภาพ การสำรวจแหล่งรอยเท้าไดโนเสาร์

บ้านท่าสองคอน อ.ภูกระดึง จ.เลย

   
เดินลัดเราะทุ่งนาของชาวบ้าน

เดินลัดเราะทุ่งนาของชาวบ้าน

ลานหินบริเวณพบรอยเท้าไดโนเสาร์

ข้ามลำห้วยอย่างทุลักทุเล

รอยเท้าขนาดใหญ่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย

ช่วงก้าวที่ทอดยาวบนลานหิน

ผู้เขียน (เสื้อสีน้ำเงิน) กับทีมงาน

เจ้าหน้าที่ลงน้ำยาเคลือบกันแตก

ลงน้ำยาเคลือบกันแตก (ซ้ำอีกครั้ง)

   

----------------------------------------------

 *** สงวนลิขสิทธิ์ ภาพและเนื้อเรื่อง

 

คำสำคัญ (Tags): #ไดโนเสาร์
หมายเลขบันทึก: 139008เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2007 11:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรียน อ.สุวรรณา หรือ พี่ ฟ้า

ได้ อ่าน บท ความ ได้ ความ รู้ เหมือน ได้ ไป ด้วย คะ ระลึก ถึง หาก มี ข่าว สาร เขียน มา อีก นะคะ

อยู่ แดน ไกล คะ

ณัฐพงศ์ เเสงพูนทรัพย์

หว้า~~~ สงวนลิขสิทธิ์ซะงั้น

คือ ผมขอเอาข้อมูลไปเผยเเพร่ได้มั้ยครับ

ผมจะเอาไปทำเว็บไซต์ครับ

ขอขอบคุณล่วงหน้าครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท