ดินดีเป็นอย่างไร1


หากเราๆ ท่านๆเดินลงไปในแปลงนาข้าว  แล้วลองหยิบดินขึ้นมาดูสักกำมือหนึ่ง  ใครจะพอตอบได้บ้างว่า  ดินที่อยู่ในมือนั้นเป็นอย่างไร  คร่าวๆ...  จากการสังเกตดูอย่างพินิจพิเคราะห์แล้ว  ใครๆ  อาจจะพอตอบได้ว่าดินเป็นอย่างไร  แม้แต่เด็กๆก็ยังพอจะตอบให้ได้ว่า  ดินมีสีอะไร  มีความร่วนซุยมากน้อยเพียงใด  น่าจะเป็นดินประเภทใด  พอมองเห็นได้ว่าในดินมีวัตถุอะไรปะปนอยู่บ้าง 

             ดินดีเป็นอย่างไร  นักเรียนชาวนาหลายคนบอกว่า  ดินเป็นอย่างไรนั้นนะหรือ...  ดินดีก็คือดินที่ปลูกข้าวแล้วต้องให้ผลผลิตดีด้วย  ดินดีจึงเป็นอย่างนั้นแหละ  และเมื่อถามต่อไปอีกว่า  ที่ว่าดินดีนั้น...  อะไรอยู่ในดินบ้าง  พอมาถามอย่างนี้...  จึงทำให้ใครหลายต่อหลายคนเริ่มสงสัยไปตามๆกัน  บางคนก็ไม่มั่นใจที่จะตอบ  และเพื่อเป็นการขจัดข้อสงสัยใดๆที่เกิดขึ้น  ก็ต้องมาค้นหาคำตอบ  ต้องทำวิจัยสักเล็กน้อยกันแล้ว  เพราะหากอยากจะเป็นชาวนานักวิจัยกัน  ก็ต้องตั้งคำถาม  แล้วจึงค่อยค้นหาคำตอบ 

             นักเรียนชาวนาในโรงเรียนชาวนาบ้านโพธิ์เดินทางเข้าสู่กระบวนการชาวนานักวิจัยดิน  หรือจะเรียกกันอย่างสั้นๆให้คุ้นชื่อก็คือ  หมอดิน  นั่นเอง  นักเรียนชาวนาทุกคนจะต้องฝึกทดลองด้วยตัวเอง  จะลองผิดหรือจะลองถูก  ก็ต้องฝึกทดลองกันดู  ไม่ลองก็ไม่รู้  การทดลองจะช่วยทำให้นักเรียนทุกคนได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง  เรื่องนี้สำคัญยิ่งนัก

             ทุกคนอยากจะรู้ว่าดินในนาของตนเองเป็นอย่างไร  ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการค้นหาคำตอบ  คราวนี้สนุกกันใหญ่แล้ว  ป้าๆลุงๆ  น้าๆอาๆ  พากันแบกจอบแบกเสียมเดินเข้าไปขุดเอาดินจากในนา  เพื่อจะนำมาทดลองตรวจสอบดินกันยกใหญ่เลย  ทุกๆคนต่างกระตือรือล้นขนดินจากบ้านจากนามาที่โรงเรียนชาวนากันเป็นถุงๆ  มีบ้างบางรายถึงกับแบกก้อนดินที่ก้อนใหญ่ๆใส่กระสอบหอบมาถึงโรงเรียนเลยก็มี  เพราะต้องการเอาดินมาทดลองตามกระบวนการวิทยาศาสตร์  แต่อันที่จริงแล้ว  การเอาตัวอย่างดินมาตรวจมาทดลองนี้  ให้สุ่มตัวอย่างดินจากในนามาเพียงนิดหน่อยเท่านั้นเอง  ไม่จำเป็นต้องแบกก้อนดินก้อนใหญ่ๆมาก็ได้  ทว่าบางคนมากระซิบบอกแก้เขินว่า  ที่เขาเอามาเยอะๆมากๆนี่เนี่ยนะ...  เขาเอามาเผื่อ  เอามากันไว้ก่อน  เผื่อจะได้ใช้ทดลองมากๆ  เล่าความกันมาอย่างนี้

             แปลงนา  1  แปลงนั้น  นักเรียนชาวนาควรจะสุ่มเก็บตัวอย่างดินอย่างน้อยแปลงละ  10  จุด  โดยให้ใช้จอบหรือเสียมขุดดินลงไปลึกประมาณ  15  เซนติเมตร  ขุดเอาเนื้อดินทั้งสองข้างของหลุม  ขูดเอาเนื้อดินบางๆจำนวนเล็กน้อย  ขุดและขูดเนื้อดินมาให้ได้สัก  10  จุดเป็นอย่างต่ำ  นักเรียน   ชาวนาคนใดที่มีที่ทางกว้างใหญ่นัก  ก็ให้เก็บมามากจุดหน่อย  เอ...  แล้วทำไมต้องเก็บมากจุดด้วยเล่า...  หลายคนสงสัย  เก็บสักที่เดียวมิได้หรือ...  นี่เป็นคำถามที่ดี  การสุ่มเก็บตัวอย่างดินในแปลงหนึ่งๆควรเก็บให้มากจุด  เพื่อป้องกันความผิดพลาดและหาค่าเฉลี่ยของธาตุอาหารในดินได้ละเอียด  มีผลคลาดเคลื่อนน้อย

             นักเรียนชาวนาเดินสุ่มเก็บตัวอย่างดิน  ก็ควรจะเดินให้ห่างจากคันนาอย่างน้อยประมาณ  2  เมตร  และควรเดินขุดเก็บตัวอย่างดินกลางแปลงหรือขอบแปลงในลักษณะสลับฟันปลาหรือทะแยงมุมให้ทั่วแปลง

             เมื่อได้ดินมาจากแต่ละจุดแล้ว  ก็ให้นำดินที่เก็บได้จากทุกจุดมาผสมคลุกเคล้ารวมกัน  นักเรียนชาวนาบางคนก็ขุดดินแห้งมา  บ้างก็ขุดดินเปียกมา  (บ่งบอกว่าขุดเอามาจากในนากันอย่างสดๆร้อนๆเลย)  อย่างนี้ควรจะนำดินไปผึ่งลมไว้แถวที่ร่มๆหรือใต้ถุนบ้านก่อน  รอให้ดินแห้ง  จะได้นำมาทดลองได้ง่ายและสะดวก  จากนั้นให้นำดินมาทุบให้ละเอียด  ทำให้เป็นผงได้ยิ่งดี   

             นักเรียนชาวนาได้เตรียมดินจากในนามากันอย่างพร้อมเพรียง  ด้วยหมายใจใคร่รู้ใคร่เข้าใจธาตุแท้ที่มีอยู่ในดิน  ดินซึ่งเคยรองรับการปลูกข้าวปลูกผักมาหลายสิบปีหรือนับเป็นชั่วอายุคนหรือเป็นร้อยๆปี  มาบัดนี้จำต้องถูกนำมาทดลองเพื่อการเรียนรู้ตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์  หรือกล่าวอย่างง่ายๆว่า  จะต้องใช้วิทยาศาสตร์ให้เป็นประโยชน์ต่อชาวนา  วิทยาศาสตร์จะต้องเป็นเครื่องมือของชาวนาด้วย

             การเรียนรู้เรื่องดินนี้  นักเรียนชาวนาต่างตื่นเต้นและเฝ้ารอคอยกันมาหลายคาบเรียนแล้ว  เพราะเรียนรู้เรื่องของการบำรุงดิน  ก่อนที่จะบำรุงดินก็ต้องทำความรู้จักมักคุ้นเรื่องดินๆกันให้กระจ่างแจ้งก่อน  การทดสอบดินจึงเป็นสิ่งที่จำต้องกระทำ  เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปเชื่อมโยงกับอีกหลายประเด็นที่จะต้องเรียนรู้ต่อยอดองค์ความรู้ในตัวไปอีกเรื่อยๆ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 13876เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2006 16:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 15:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท