KM หลังสูตรท้องถิ่น ควันหลงจากมหรรม KM ภูมิภาค


                        ผ่านมาแล้วเกือบยี่สิบวันสำหรับงานมหกรรม KM ภูมิภาคที่จัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก แต่เหมี่ยวยังไม่เคยรายงานความเคลื่อนไหวในห้องเลย ด้วยเพราะมัวแต่ทำงานอื่นๆ ซะเพลิน พอดีเห็นว่าทางพี่ๆ จะรวบรวมบันทึกที่เกี่ยวกับมหกรรมนี้แล้ว เลยอดเสียดายไม่ได้ที่จะให้บันทึกนี้รวมอยู่ในเล่มรวม blog มหกรรม KM ภูมิภาค ครั้งที่ 1 ด้วย

                        จากโครงการวิจัย การสร้างเครือข่ายการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นโดยใช้กระบวนการจัดการความรู้ กรณีศึกษาโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวจังหวัดพิษณุโลก  ของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยท่าน ดร.อมรรัตน์ วัฒนาธร ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ที่ 2549 ซึ่งสานต่อจากงานวิจัยเรื่อง การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น กรณีศึกษาโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ท่องเที่ยว จังหวัดพิษณุโลก เมื่อปี 2548   ณ วันนี้ เราได้ครูเก่งๆ ที่มีความรู้และความสามารถในการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นขึ้นใช้เองและเป็นลักษณะเฉพาะตามบริบทของโรงเรียนซึ่งไม่สามารถหาที่ไหนเหมือนได้ นอกจากนี้ยังสามารถดึงเครื่องมือ KM ไปใช้อย่างเหมาะสมกับตนเอง โดยไม่ต้องเข้าอบรมที่ไหนเลยตั้งแต่เข้าโครงการวิจัยนี้

                         ความประทับใจ เรื่องเล่าที่ประสบความสำเร็จ คุณครูนักเล่าเรื่องคนเก่ง และวิธีการใช้ KM ในการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นซึ่งครูแต่ละท่านก็นำไปประยุกต์ใช้และสร้างความรู้เรื่องนี้ให้ตนเองและโรงเรียนได้อย่างลึกซึ้ง ตัวอย่างเช่น

                         อาจารย์ปราณี ทองคำพงษ์ หรือ "ป้านาง" จากหลักสูตร "เรารักพระราชวังจันทร์" โรงเรียนจ่านกร้อง ที่เรียนรู้ KM จากการปฏิบัติที่เรียนรู้จากการเข้าร่วมโครงการ ป้านางสามารถนำ KM ไปสร้างเครือข่ายครูเล็กๆ อย่างครูกลุ่มสาระต่างๆ และนักเรียนกลุ่มความสามารถพิเศษ อย่าง วง JR Brand ที่เค้าได้รางวัลชิงช้าสวรรค์นั่นแหละ นักเรียนเทควันโด และกลุ่มอื่นๆ  ในโรงเรียนได้อีก เริ่มจากการใช้เรื่องเล่า การ์ดเทคนิค และอื่นๆ และแถมยังเอาเครื่องมืออย่าง ตารางอิสรภาพ แผนภูมิแม่น้ำ และบันไดแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปใช้ทำให้เกิดการ แปลงร่างของความรู้ จาก Tacit มาเป็น Expicit  เยี่ยมจริงๆ

                        อาจารย์นิมิตร หรือ "ครูแอ๊ด" จากหลักสูตร "สานศิลป์ มังคละ วัฒนธรรมเมืองพรหม" โรงเรียนวังมะด่านพิทยาคม ผู้ทำมังคละ ดนตรีพื้นบ้าน ที่เด็กๆ รุ่นใหม่ เรียกว่า มังคะโละ กลับมาเป็นมังคละรุ่นใหม่และประยุกต์การเล่นกับดนตรีไทย และดนตรีสากล ซึ่งได้มาจากความคิดเห็นของนักเรียนด้วย  ครูแอ๊ดสนใจ KM หลังจากที่เข้าร่วมประชุมแต่ละครั้งที่ใช้ KM ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ครูแอ๊ด เข้าไปหาความรู้และนำมาใช้ในการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น ซึ่งครูในโรงเรียนก็ได้เรียนรู้ไปด้วย และมีแผนจะนำเข้าไปใช้ในการเรียนการสอน ซึ่งครูแอ๊ดให้สัมภาษณ์ว่า "เราจะไม่บอกเค้าหรอกว่ามันคือ KM ต้องใช้เลย เค้าจะเรียนรู้เอง เหมือนที่เราได้รับจากมน.นั่นแหละ ไม่บอกนะ แต่ทำเลย รู้เลย"

                        อาจารย์จิรวรรณ หรือ "เจ๊" (เห็นอาจารย์ชอบแทนตัวเองว่าอย่างนั้น) จากหลักสูตร "ภูหินร่องกล้า อุทยานตำนานแห่งการท่องเที่ยว"  โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 23 นครไทย ผู้มีความสามารถในการถ่ายทอดเรื่องเล่าจากการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นนี้ให้กับ คนอื่นๆ อย่างสนุกสนาน จนได้รับรางวัล Pop Vote จากห้อง KM หลักสูตรท้องถิ่นในงานมหกรรมนี้ ใครอยากฟังว่าจะสนุกแค่ไหน และวิธีการพัฒนาหลักสูตรของราชประชาฯ เดี๋ยวจะให้อาจารย์จิรวรรณมาเขียนเล่าให้ฟังนะคะ คนนี้เค้าเล่าเก่งจริงๆ

                        อาจารย์สุภา จากหลักสูตร "อาสานำเที่ยววัดอรุณวณาราม" ครูท่านนี้นำว่าเป็นกูรูในการหาโจทย์ของการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น หากโรงเรียนไหนที่หาไม่เจอว่า จุดเด่น หรือเอกลักษณ์ของท้องถิ่นโรงเรียนตัวเองอยู่ที่ไหน ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้จาก อ.สุภาได้เลย

                      สุดท้าย  อาจารย์อัญชลี หรือ "ครูปุ๊" จากหลักสูตร "วัดใหญ่ สายสัมพันธ์กับคนเมืองสองแคว" ครูคนนี้มีเรื่องเล่าของการพัฒนาหลักสูตร ในวัดใหญ่อย่างละเอียดลึกซึ้ง ชนิดที่ว่า หาอ่านจากหนังสือเล่มไหนก็ไม่ได้เชียวล่ะ

                      นี่คือข้อมูลเบื้องต้นของ กูรู จากห้อง KM หลักสูตรท้องถิ่น ซึ่งครูและทีมงานจาก 5 โรงเรียนนี้ กำลังอยู่ในช่วงขยายความรู้ และประสบการณ์ในเรื่อง การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น และ KM ให้กับครูจากโรงเรียนลูกข่ายอีก โรงเรียนละ 5 - 6 โรงเรียน ทำให้ขณะนี้เรามีเครือข่ายการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นเพื่อการท่องเที่ยว แล้ว 24 โรงเรียน ซึ่งโรงเรียนแม่ข่ายทุกโรงเรียนตั้งปณิธานว่า จะต้องนำพาเครือข่ายของตนเองไปให้ถึงฝั่งฝัน ที่ประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน

               

                       

หมายเลขบันทึก: 138730เขียนเมื่อ 15 ตุลาคม 2007 12:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
             ข้อมูลเล่านี้ สามารถอ่านได้จาก หนังสือ เรื่องเล่า KM มน. และ คู่มือการเข้าร่วมงาน ได้นะคะ

สวัดีค่ะน้องเพียงออ

  • อยากอ่านหนังสือที่น้องแนะนำบ้างจังค่ะ
  • น้องเล่าซะพี่เห็นภาพพจน์บรรยากาศในงานเลยนะคะเนี่ย 
  • ชอบประโยคนี้น่ะค่ะ "เราจะไม่บอกเค้าหรอกว่ามันคือ KM ต้องใช้เลย เค้าจะเรียนรู้เอง เหมือนที่เราได้รับมานั่นแหละ ไม่บอกนะ แต่ทำเลย รู้เลย" ดีค่ะ  เพราะบางทีคนที่เค้าตั้งกำแพงเป็นป้อมปราการหนาๆ ไว้เค้าจะได้ไม่รู้ว่า  เค้ากำลังทำ KM อยู่
  • ไม่อยากบอกเลยค่ะว่า  คำว่า "เจ๊" เนี่ย  พี่คุ้นชินมากเลย  ลูกศิษย์รุ่นแรกของพี่ที่โรงเรียนปัจจุบันนี้  มีหลายคนเรียกพี่อย่างเนี๊ยแหละค่ะ  ห้ามเค้าไม่ให้เรียกหลายครั้งหลายคราก็ไม่เป็นผล  ไม่รู้ไปประทับใจวีรกรรมส่วนไหนในชีวิตพี่  แกเลยเรียกซะงั้น  ประมาณว่า  ....เจ๊..สั่งลุย...เค้าว่างั้นค่ะ  เลยต้องยอม... 
  • ขอบคุณค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท