หมอบ้านนอกไปนอก(28): ประสบการณ์ต่างแดน


พระมหาเถรคันฉ่องที่เข้าฝันสอนแก่พระนเรศวรก็คือ”สรรพวิทยาทั้งสิ้นทั้งปวงที่อาตมาสอนให้มหาบพิตร หามีความสำคัญไม่ ที่สำคัญที่สุดคือมหามิตรและบริวารที่จะตายแทนพระองค์ได้ เพราะมันรู้ว่าพระองค์จะตายแทนพวกมันได้ เช่นเดียวกัน นั่นคืออาวุธที่ดีที่สุดที่พระองค์จะมีได้ เหนือสรรพวิทยาทั้งปวงที่อาตมาสอน”

                   วันเสาร์ที่ 13 ตุลาคม 2550 เป็นวันที่อากาศแจ่มใส ท้องฟ้าใส ไม่มีเมฆฝน แดดออก ผู้คนต่างออกจากบ้านเดินไปตามท้องถนน ศูนย์การค้า ต่างๆกันเต็มถนน หลังจากทานอาหารเช้าแล้ว ก็ไปจ่ายตลาดที่ตลาดนัดวันเสาร์เพื่อซื้อวัสดุประกอบอาหารสำรองไว้ในรอบหนึ่งสัปดาห์ เสร็จแล้วก็ไปเล่นกีฬาที่ศูนย์กีฬาของมหาวิทยาลัยแอนท์เวิป เล่นแบดมินตันและฟุตบอล หลังจากนั้นก็ไปซื้อของที่ไชน่าทาวน์ แล้วก็กลับบ้านพัก ผ่านไปอีกหนึ่งวัน

                    เมื่อวันจันทร์ที่ 8 ที่ผ่านมา เรียนตั้งแต่เก้าโมงเช้าถึงหกโมงเย็น เรียนเรื่องLocal Health Systemกับอาจารย์ฌองปิแอร์ ต่อด้วยมนุษย-สังคมวิทยาของอาจารย์โมนิค ช่วงบ่ายเรียน 3 ชั่วโมงกับอาจารย์ฌองปิแอร์ติดต่อกัน

                    อังคารที่ 9 เป็นวันชาติหรือวันได้รับอิสรภาพของยูกานดา มาร์กาเร็ตกับเฟรดเดอริก แต่งชุดประจำชาติมาเรียนและร้องเพลงชาติ พวกเราทั้งชั้นร่วมยืนตรง ภาคเช้าเรียนเรื่องการรักษาพยาบาลในสถานีอนามัยของอาจารย์บาร์ท ครีเอล แล้วต่อด้วยระบบบริการสาธารณสุขระดับอำเภอของอาจารย์ฌอง ปิแอร์ ภาคบ่ายเรียนเรื่องคลินิกเด็กดี (Well baby clinicหรือ Under 5 clinic) กับอาจารย์แพทริก (Patrick Kolsteren เป็นกุมารแพทย์ เคยมาอยู่เมืองไทย ที่อุบลราชธานีและนครพนม 4 ปี) แล้วต่อด้วยอาจารย์ฌอง ปิแอร์ จนถึงหกโมงเย็น

                   วันพุธที่ 10 เรียนเรื่องระบบริการสาธารณสุขระดับอำเภอกับอาจารย์ฌอง ปิแอร์ สองคาบและเรียนเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลของผู้มารับบริการกับอาจารย์เวนเน็ตและมีการนำเสนอเกี่ยวกับประเทศอินเดียของประชันธ์ (มาจากเมืองบังกะลอร์ ที่เป็นเมืองHigh information technology ของอินเดีย) ประชันธ์นำเสนอและเตรียมข้อมูลดีมาก หลังจากนั้นก็รีบกลับบ้านมาเตรียมอาหารเย็นและรีบไปลงทะเบียนเรียนหลักสูตรภาษาอังกฤษที่Athena ที่ถนนอิตาเลีย อยู่ไกลบ้านพักพอสมควร ผมต้องยืมจักรยานของคริสติน ที่อยู่บ้านพักที่เดียวกันขี่ไปใช้เวลาประมาณ 10 นาที มีการจ่ายลงทะเบียนคนละ 70 ยูโร และมีทดสอบพื้นฐานภาษาอังกฤษก่อน เพื่อจัดชั้นเรียนให้เหมาะสม เสร็จแล้วก็รีบกลับมาบ้านพัก รอพี่ยงยุทธ์ พงษ์สุภาพ ที่มาร่วมบรรยายที่บรัสเซลล์และแวะมาเยี่ยมเยียนผมกับพี่เกษมที่แอนท์เวิป ก็ได้กินข้าวเย็นด้วยกันที่บ้าน พี่ยงยุทธ์จะพาพวกเราไปเลี้ยงร้านข้างนอก แต่เราคิดว่าทำกินเองอร่อยกว่า ก็นั่งคุยกันจนเกือบเที่ยงคืนก็แยกย้ายกันไปนอน พี่เขาบอกว่าสภาพความเป็นอยู่ดีกว่าที่คิดไว้เยอะ

                    วันพฤหัสที่ 11 และศุกร์ที่ 12 ตารางเรียนเหมือนกันคือเรียนเรื่องการฝากครรภ์ (Antenatal care) กับอาจารย์ฟาเบียง (Fabienne Richard) เรียนมนุษย-สังคมวิทยากับอาจารย์โมนิค (Monique Van Dormael) และเรียนประชากรศาสตร์กับโดมินิค (Dominique Dubourg) อาจารย์ทั้งสามท่าน สอนสนุก ไม่เครียด โดยเฉพาะอาจารย์โดมินิค สอนสนุกมาก มีมุขตลกเรียกเสียงหัวเราะกันตลอดเวลา พอสอนถึงเวลาเลิก อาจารย์ทุกท่านจะเลิกตรงเวลาเลย ไม่เบียดเบียนเวลาพักของนักศึกษา แต่ตอนเริ่มเรียนผมสังเกตว่าไม่ว่าจะเรียนที่เมืองไทยหรือที่แอนท์เวิป นักศึกษาก็เข้าสายให้อาจารย์รอทุกครั้ง

                     เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาได้ดูหนังตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 1 เพิ่งมีเวลาดูอย่างพินิจพิจารณาจริงๆในวันนี้ ได้แง่คิดมากมายเลย คนสองคนมีบทบาทต่อประวัติศาสตร์ไทย คนหนึ่งทำให้อยุธยาล่มคือพระยาจักรี อีกคนกู้คืนมาคือพระนเรศวร ออกญาจักรีเป็นทหารที่พระมหาจักรพรรดิ์ไว้ใจให้ออกรบคู่กับพระราเมศวร คนเก่งรบจริงๆคือพระราเมศวร ไม่ใช่ออกญาจักรี แต่พระมหาจักรพรรดิ์ รู้จักใช้ รู้จักคุม ต่อมาถูกขอตัวไปเมืองพม่ากับพระราเมศวร เพื่อตัดกำลังของไทย แต่ตอนหลังทรยศขายชาติ อาสาพระเจ้าบุเรงนองมาเป็นไส้ศึก พระมหินทราธิราช เชื่อใจ คิดว่าคงรบเก่งมาจากสมัยพ่อ ก็เลยมอบอำนาจการเป็นแม่ทัพให้จัดการทุกอย่างได้ ทำแทนได้หมด พระมหินทร์ ไม่รู้ว่าใครเก่งจริง เก่งไม่จริงหรือเก่งแต่ปากหรือไว้ใจไม่ได้ เห็นว่ามีชื่อเสียงมาตั้งแต่สมัยพระราชบิดา ก็เลยไว้ใจ สุดท้ายก็เสียกรุงครั้งที่ 1 และก็ยังมีบทเรียนจากหนังเรื่องนี้อีกมากมายเลย ถ้าเจ้านายใช้คนผิด มอบอำนาจให้คนช่างพูดมากกว่าช่างทำ มาทำหน้าที่แทน ก็อาจจะเสียการใหญ่ได้

                 ภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้แสดงให้เห็นความสามารถของพระเจ้าบุเรงนองในเรื่องการรบและการปกครอง มีการวางแผนระยะยาว มองการณ์ไกล มีวิสัยทัศน์ ค่อยๆตัดกำลังคนสำคัญของอยุธยาไปเรื่อยๆ หาจังหวะโอกาสทำให้สองราชวงศ์คือสุพรรณภูมิที่อยุธยากินแหนงแคลงใจกับราชวงศ์พระร่วงที่พิษณุโลก ทำให้ไทยอ่อนกำลังลง แต่อย่างไรก็ตามก็ไม่สามารถหักเอาอยุธยาได้ ซึ่งแสดงถึงพระปรีชาสามารถของพระเจ้าอู่ทองที่เลือกสถานที่ตั้งอยุธยาอย่างเหมาะสม เป็นทำเลที่ข้าศึกจะรุกเอาได้ยาก ถ้าไม่ได้ไส้ศึกอย่างออกญาจักรี พระเจ้าบุเรงนองก็คงต้องถอยทัพกลับไป พระเจ้าบุเรงนองมีความสามารถสมกับสมัญญานามว่าผู้ชนะสิบทิศ ทั้งเก่งงาน เก่งคน เก่งคิดและเก่งชีวิต

                   ได้เห็นการใช้โอกาสในวิกฤติของสมเด็จพระนเรศวร ที่ท่านต้องไปเป็นตัวประกันที่หงสาวดี เรียนรู้ชีวิตความเป็นอยู่ วัฒนธรรม ภูมิประเทศ การต่อสู้ป้องกันตัวและการรบ ทำให้รู้ทางหนีทีไล่ในเมืองพม่า โดยเฉพาะการเรียนวิชากับพระมหาเถรคันฉ่อง จนมีพระปรีชาสามารถเป็นอย่างมาก รวมทั้งเป็นการเรียนรู้จากพระสงฆ์ ซึ่งมีส่วนให้พระองค์มีความเมตตาปราณี ความเยือกเย็น สุขุม ทรงมีวัตรปฏิบัติที่ทำให้เป็นที่รักของพระเจ้าบุเรงนอง และการที่พระองค์ที่กลับอยุธยาได้อย่างปลอดภัยก็มีพระเจ้าบุเรงนองและพระพี่นางสุพรรณกัลยาช่วยอยู่เบื้องหลัง

                    รวมทั้งคำสอนสุดท้ายของพระมหาเถรคันฉ่องที่เข้าฝันสอนแก่พระนเรศวรก็คือ”สรรพวิทยาทั้งสิ้นทั้งปวงที่อาตมาสอนให้มหาบพิตร หามีความสำคัญไม่ ที่สำคัญที่สุดคือมหามิตรและบริวารที่จะตายแทนพระองค์ได้ เพราะมันรู้ว่าพระองค์จะตายแทนพวกมันได้ เช่นเดียวกัน นั่นคืออาวุธที่ดีที่สุดที่พระองค์จะมีได้ เหนือสรรพวิทยาทั้งปวงที่อาตมาสอน” ก็เหมือนกับในนิยายกำลังภายในของจีนที่จอมยุทธ์จะเน้นเรื่องคุณธรรมน้ำมิตร เป็นอย่างมาก

                    ทำให้ผมได้คิดว่า การที่เราได้มีโอกาสไปพบเห็นบ้านเมืองอื่นๆนั้นก็เป็นโอกาสที่ดีที่จะได้เรียนรู้ทั้งสิ่งที่ดีและสิ่งไม่ดีเพื่อจะได้นำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนางานที่ทำอยู่ได้ แต่จากประสบการณ์ที่ทำงานราชการมา 15 ปี พบว่าข้าราชการระดับปฏิบัติในต่างจังหวัดของกระทรวงสาธารณสุขได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานต่างประเทศน้อยมาก แทบจะไม่มีโอกาสเลย แต่ก่อนมีการอบรมผู้บริหารระดับต้นและระดับกลาง จะมีการไปศึกษาดูงานต่างประเทศด้วย แต่ระยะหลังมีปัญหาเรื่องงบประมาณ ทำให้ตัดในส่วนนี้ไป ส่วนทุนศึกษาดูงานระยะสั้น ก็ต้องมีการสอบแข่งขันกันมาก เน้นภาษาอังกฤษ ซึ่งคงมีเจ้าหน้าที่ในชนบทไม่มากนักที่เก่งภาษาอังกฤษเนื่องจากโอกาสได้ใช้น้อยมาก

                    ในส่วนตัวผมเอง ก็ไม่เคยได้รับทุนไปศึกษาดูงานจากกระทรวงสาธารณสุขเลย ผมเคยสมัครเข้ารับทุนไปดูงานที่ญี่ปุ่น แต่ก็ไม่ผ่านเนื่องจากคัดเลือกจากคะแนนสอบภาษาอังกฤษเป็นหลัก แต่ก็ยังโชคดีที่ได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานในต่างประเทศบ้าง ผมคิดว่ามีประโยชน์เป็นอย่างมาก

                      เมื่อปี 2538 ทาง สสจ.ลำปาง ได้จัดศึกษาดูงานให้ผู้บริหารไปดูงานการแพทย์แผนจีนที่เมืองคุนหมิง ประเทศจีน โดยร่วมกันจ่ายเงิน นับเป็นครั้งแรกที่ผมได้ไปต่างประเทศ ครั้งแรกที่ได้นั่งเครื่องบิน รู้สึกตื่นเต้นมาก ในปี 2539 ทาง สสจ. ลำปาง จัดไปดูงานแพทย์แผนจีนที่ปักกิ่งอีกครั้ง ทั้งสองครั้งนี้ทำให้ได้เห็นการแพทย์ทางเลือกของจีนที่เป็นทางเลือกจริงๆคือมีทั้งโรงพยาบาลแผนปัจจุบันและโรงพยาบาลแผนจีน เปิดให้บริการโดยเน้นหลักการของสาขาของตนเองอย่างเด่นชัด ทำให้การแพทย์แผนจีนยังคงศักดิ์ศรีและคุณค่าต่อการดูแลสุขภาพของคนจีนมาทุกวันนี้

                    เมื่อปี 2542 ทาง สสจ.ตาก ได้จัดทัศนศึกษาที่เมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา โดยออกค่าใช้จ่ายกันเอง เดินทางโดยรถบัสไปทางสระแก้ว ถนนหนทางเป็นลูกรัง ขรุขระมาก ได้เห็นสภาพบ้านเมืองเขาดูแล้วคล้ายๆบ้านนอกเมืองไทยเมื่อยี่สิบสามสิบปีก่อน ได้ไปเห็นชีวิตความเป็นอยู่ของบ้านเมืองที่ผ่านสงคราม ได้เห็นนครวัด นครธมที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่างมาก   

                   เมื่อปี 2547 ผมได้รับรางวัลแพทย์ชนบทดีเด่นของกองทุนนายแพทย์กนกศักดิ์ พูลเกสร ทางองค์การเภสัชกรรมได้ให้ทุนร่วมไปศึกษาดูงานที่เมืองคุนหมิง ในเวลาไม่กี่ปีผ่านไป คุนหมิงเจริญขึ้นอย่างรวดเร็วมาก ไกด์บอกว่าต้องขอบคุณนักท่องเที่ยวทุกท่านที่มาช่วยกันสรางเมืองให้เขา

                   ต้นปี 2548 ได้ทุนสนับสนุนจากการได้รางวัลแพทย์ชนบทดีเด่นของคณะแพทยศาสตร์ศิริราช ให้ไปดูงานระบบบริการสาธารณสุขของญี่ปุ่นในโครงการความร่วมมือของแพทย์ที่ญี่ปุ่นท่านหนึ่งกับคุณพ่อโซ่ บาทหลวงที่กรุงเทพฯ ไปที่เมืองฮิเมจิ ได้ดูโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลจิตเวช โรงพยาบาลเอกชน ศูนย์ความร่วมมือทางการแพทย์ของสมาคมแพทย์เมืองฮิเมจิและได้ไปดูการทำงานของแพทย์ในคลินิกเอกชนและได้นั่งรถไฟหัวกระสุนชินกันเช็นไปเที่ยวเมืองเกียวโต เมืองหลวงเก่าด้วย

                    ปลายปี 2548 ทางมหาวิทยาลัยนเรศวรร่วมกับมหาวิทยาลัยนิวอิงแลนด์ที่ออสเตรเลียได้จัดโครงการทัศนศึกษาดูงานระบบการเรียนการสอนแพทย์และระบบสุขภาพของออสเตรเลียทั้งระบบตั้งแต่มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลชุมชนและคลินิกแพทย์ ซึ่งผมได้เขียนอย่างละเอียดไว้ในเรื่องเล่าจากออสเตรเลียแล้ว ได้มีโอกาสไปเที่ยวซิดนีย์ แทมเวิร์ธ อาร์มิเดลและคอฟฟ์ฮาร์เบอร์ ได้ไปนอนในฟาร์มที่ทำเป็นโฮมสเตย์ ไปดูเรื่องความปลอดภัยในการเกษตรกรรม (Farm safety) ซึ่งเขาให้ความสำคัญมาก แต่ของไทยเรายังไม่มีทำอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ทำแต่ในโรงงานอุตสาหกรรมทั้งๆที่บ้านเราเป็นเมืองเกษตรกรรม

                   ต้นปี 2549 ได้ไปเที่ยวที่เมืองกุ้ยหลิน ประเทศจีน ได้ศึกษาระบบการท่องเที่ยวของเขาที่มีการจัดระบบทั้งระบบให้สอดคล้องกันไป ทำให้เป็นแหล่งที่สร้างรายได้ให้ประเทศอย่างเป็นล่ำเป็นสัน มีการกำหนดเส้นทางท่องเที่ยว ไกด์และสถานที่ท่องเที่ยวทั้งธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นและได้คลายข้อสงสัยว่าทำไมจิตกรจีนวาดภูเขาที่มียอดแหลม ก็เป็นไปตามภูเขาที่เห็นอยู่ในเมืองกุ้ยหลินนี่เอง สิ่งแวดล้อมหรือบริบทมีอิทธิพลต่อผู้คนอย่างมาก

                    ปลายปี 2549 ผมได้มีโอกาสไปทัศนศึกษาระบบบริการสุขภาพที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ (Humanized Health Care) ของมูลนิธิพุทธฉือจี้ ที่ประเทศไต้หวัน ได้ไปเห็นการสร้างบุคลากรทางการแพทย์โดยเฉพาะโรงเรียนแพทย์ที่เน้นการสร้างแพทย์ที่มีความละเอียดอ่อนทางด้านจิตใจ การฝึกสมาธิ การจัดดอกไม้ การชงชาและได้รับทราบกิจกรรมจิตอาสาของอาสาสมัครฉือจี้ ภายใต้การนำด้วยความศรัทธาของสมณาจารย์เจิ้งเหยียน ภิกษุณีในบวรพุทธศาสนา เป็นแนวทางของมหายาน (ยานใหญ่ไปสู่ความหลุดพ้นด้วยกันเป็นกลุ่ม ไม่ต้องรอชาติหน้า เกิดได้ในชาตินี้จากความร่วมมือของทุกๆคน) ที่เน้นความรัก ความร่วมมือกัน ทำความดีด้วยกันเป็นกลุ่ม ไม่ใช่ดีคนเดียว อาสาทำด้วยใจ ไม่หวังผลตอบแทน

                    ปลายปีงบประมาณ 2549 ทาง สสจ.ตาก ได้ชวนผู้บริหารร่วมกันจัดทัศนศึกษามาเลเซียไปเที่ยวกัวลาลัมเปอร์ เกนติ้ง ไอซ์แลนด์ และเมืองหลวงใหม่ที่เพิ่งก่อสร้างเสร็จ ได้เห็นความพยายามของรัฐบาลมาเลเซียที่ได้พัฒนาประเทศในด้านต่างๆ แม้จะมีทรัพยากรท่องเที่ยวจากธรรมชาติไม่มาก แต่ก็สามารถเพิ่มคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่ให้โดดเด่นได้ ไม่ใช้อย่างเดียวแต่เสริมสร้างให้มากขึ้นด้วย

                    ก่อนสิ้นปี 2549 ทีมงานโรคติดต่อชายแดนได้ชวนกันไปทัศนศึกษาประเทศลาวโดยนั่งรถบัสไปล่องเรือจากอำเภอเชียงของ เชียงราย ล่องเรือตามลำน้ำโขงตั้งแต่เช้าตรู่ไปจนถึงเมืองหลวงพระบางในช่วงค่ำ ได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของเขาที่เหมือนๆกับชีวิตในชนบทบ้านเราในสมัยสักสิบยี่สิบปีก่อน ได้เห็นวัฒนธรรมความเป็นอยู่ที่คล้ายคลึงกันกับบ้านเรา อาหารการกิน ภาษาพูด สื่อสารกันรู้เรื่องโดยไม่ต้องใช้ล่าม ขณะพักที่โรงแรม ผมกับภรรยาได้นั่งรถสามล้อแวะไปที่โรงพยาบาลหลวงพระบางใหม่และโรงพยาบาลเก่าซึ่งน่าจะอนุรักษ์ไว้อย่างมาก

                    หลังจากนั้นคณะก็เดินทางโดยรถบัสไปที่เมืองโพนโฮง เพื่อพักค้างคืนระหว่างทางและแวะเที่ยวด้วย ผมเช่ารถจักรยานไปที่โรงพยาบาลโพนโฮง เนื่องจากรู้จักกับผู้อำนวยการคือคุณหมอเพ็ดสมร ที่เคยไปดูงานที่โรงพยาบาลบ้านตาก เป็นโรงพยาบาลเล็กๆได้งบประมาณสนับสนุนการก่อสร้างจากเบลเยียมเพิ่งเปิดได้ไม่ถึงปี ตอนไปถึงเจอกับเจ้าหน้าที่เวรบ่ายกำลังพักทานอาหารเย็นกันอยู่ มีเจ้าหน้าที่ชายคนหนึ่งลุกเข้ามาทักทายผม บอกว่าจำนายหมอได้ แล้วก็ช่วยไปตามผู้อำนวยการมาคุยกับผม เขาพาเดินดูโรงพยาบาลแล้วก็แยกย้ายกันกลับ เขาจะชวนไปหาอะไรทานต่อแต่ผมเกรงใจเขา ก็เลยขอตัวกลับโรงแรมที่พัก วันรุ่งขึ้นก็นั่งรถบัสต่อเข้าเมืองเวียงจันทร์ รับประทานอาหารกลางวันที่เวียงจันทร์และเที่ยวชมเมืองในช่วงบ่าย ก่อนกลับเดินซื้อของสินค้าปลอดภาษีแล้วก็กลับเข้าฝั่งไทยแวะทานอาหารเวียดนาม (แดงแหนมเนือง) ที่หนองคายและก็นั่งรถกลับตาก เป็นการเดินทางที่ทรหดอย่างมาก สนุกมากแต่ถ้าจะให้ไปเที่ยวเส้นทางนี้อีกก็คิดหนักเหมือนกัน

                    ต้นปี 2550 ได้มีโอกาสไปเที่ยวเวียดนาม ตอนเหนือ ไปเมืองฮานอย เมืองหลวงของเขา ไม่ได้ไปดูระบบสาธารณสุข แต่ก็ได้ไปเห็นชีวิตความเป็นอยู่ของเขา ที่กำลังพัฒนาขึ้นอย่างมาก หลังจากผ่านช่วงเวลาอันยาวนานของสงครามกับฝรั่งเศสและอเมริกา ซึ่งสิ่งที่เกี่ยวกับการทำสงครามเขาทำเป็นพิพิธภัณฑ์เก็บไว้เตือนใจคนของเขา ให้มุมานะ มุ่งมั่นเอาชนะอุปสรรคปัญหาต่างๆ เด็กๆเวียดนามมีความสนใจในการเรียนมาก เศรษฐกิจกำลังพัฒนา และมีผู้รู้หลายท่านคาดการณ์ว่าอีกไม่นานเวียดนามจะแซงไทยในทุกๆเรื่อง  

                    ผมเองอยากไปเที่ยวพม่า แต่ยังหาโอกาสไม่ได้ เพิ่งได้เข้าไปแค่จังหวัดท่าขี้เหล็กที่ติดกับแม่สาย ไปดูโรงพยาบาลท่าขี้เหล็ก มีหมอเฉพาะทางหลายคน แต่ขาดแคลนเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ ส่วนของจังหวัดเมียวดีที่ติดกับอำเภอแม่สอดยังไม่มีโอกาสเข้าไป  ก็คิดไว้ว่าหลังจากเรียนจบที่เบลเยียมแล้ว ก็จะพยายามเก็บเงินเพื่อไปเที่ยวต่างประเทศสักปีละ 1 ประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเป็นการเพิ่มพูนประสบการณ์ของตนเอง แต่ก็ไม่รู้จะทำได้หรือเปล่า

                      วันนี้เขียนบันทึกได้ช้ามาก เขียนไม่ค่อยออก จะอ่านหนังสือก็ขี้เกียจ จะแก้ไขงานวิจัยที่ถูกส่งมาให้แก้ไขก็ไม่ค่อยอยากทำ อาจจะล้าเพราะช่วงบ่ายวันนี้เล่นแบดมินตันเกือบชั่วโมง เล่นจนเมื่อยแขน ปวดแขน แล้วก็เล่นฟุตบอลต่ออีกเกือบชั่วโมง ปวดขาทั้งสองข้าง กว่าจะเดินกลับถึงบ้านพักก็แทบไม่อยากเดินเลย พอดีได้คุยกับลูกชาย (น้องแคน) ก็มีพลังขึ้นมานั่งเขียนบันทึกนี้ได้และจบบันทึกนี้ด้วยเพลงรักซึ้งๆที่ภรรยาโหลดส่งมาให้ครับ รักยืนยง ของคุณปั่น ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว

“เมื่อสองเราครองรักมั่น นั่นจะไม่เป็นเพียงสัญญา วันคืนผ่านไปมีค่า ยิ่งกว่าคำสัญญาใดๆ รักเรามั่นคงผูกพันซึ้งใจ รักมอบซึ่งกันและกัน ให้ความรักผูกพันในหัวใจ รักเรายืนยง

ทุกทีที่เธอจากไป ไม่อาจซ่อนความขมขื่นใจ ไม่ว่าเธอจะไปหนใด นำใจรักฉันไปพร้อมเธอ รักฉันนั้นมอบแด่เธอเท่านั้น แล้วเธอเก็บรักให้ใคร ให้ความรักผูกพันในหัวใจ รักเรายืนยง ถ้าเธอพบกับรักใหม่ ดวงใจของฉันปวดรวดร้าว ไม่อาจรักใครได้อีก ได้โปรดปราณีเก็บใจรักไว้ให้กับฉัน

ให้เราผูกใจสัมพันธ์ ไม่หวั่นแม้แต่ความใกล้ไกล สัญญายังไม่มีความหมาย ขอเธอไม่หวั่นไหวเรื่องใด ฉันเฝ้ารอเธอทุกทีที่จาก ขอเธอกลับมาด้วยใจ ให้ความรักผูกพันในหัวใจ รักเรายืนยง”

พิเชฐ  บัญญัติ

Verbond straat 52

2000 Antwerp, Belgium

13 ตุลาคม 2550

21.50 น. ( 02.50 น.เมืองไทย )

หมายเลขบันทึก: 138297เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2007 02:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 12:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

สวัสดีค่ะคุณหมอ

  ไม่ได้เข้ามาแสดงความดคิดเห็นเสียนาน พูดถึงข้าราชการระดับล่าง เปรียบไปเหมือนผู้ด้อยโอกาส จึงทำให้หลายคนรังเกียจงานชุมชน ดูมันต่ำต้อยติดดิน ไม่มีสง่าราศี ถ้าจะให้เกียรติถึงขั้น เอาบ้านนอกไปดูงานต่างประเทศ ท่านที่เขียนโครงการคงนึก หลักการเหตุผลไม่ออก แต่แท้จริงแล้ว คนกลุ่มนี้ เหมือนฝีพายคนสำคัญทีเดียว จะให้ประเทศชาติไปทางไหน เราสามารถ นำพากันไปได้

 เอาแค่ง่ายๆ กับการจัดระบบแท่ง ข้าราชการที่เป็นหัวหน้าระดับตำบล เช่นสถานีอนามัย ยังไม่มีแท่งจะอยู่ ทำงานบริหาร รับผิดชอบประชาชนไม่น้อย แต่เขาตั้งกฎเกณฑ์ จนไม่มีที่ให้เหลือ ให้เรายืน สรุป คือต้องอยู่แท่งทั่วไป เงินประจำตำแหน่งไม่มี ขณะที่ลูกน้องที่เป็นวิชาชีพ วิชาการ มีเงินประจำตำแหน่งกัน หลายๆคนบอก จะเป็นหัวหน้าทำไม(วะ)

ที่เขียนเสียยืดยาว ก็เพราะคุณหมอเป็นคนเข้าใจ คนทำงานในชุมชนได้ดี ขอบคุณคุณหมอมากๆค่ะ

สวัสดีครับคุณตันติราพันธ์

คงค่อยๆปรับกันไปครับ ระบบสาธารณสุขของประเทศเรา เป็นระบบที่ใหญ่และซับซ้อนมาก การปรับแก้แต่ละอย่างทำได้ยากมาก ที่ทำอยู่ส่วนใหญ่ก็เป็นการแก้ไขบางส่วน เป็นส่วนๆและผูกติดกับระดับ ตำแหน่งและเงินเดือนซึ่งเป็นผลประโยชน์ ทำให้มีการต่อรองผลประโยชน์จากกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆมาก การปฏิรูประบบสาธารณสุขจึงมีปัจจัยต่างๆมากระทบมากโดยเฉพาะระบบราชการ

ขอให้มีความสุขกับงานที่ทำครับ 

สวัสดีเจ้าค่ะ คุณน้าหมอ

             หนูแวะมาเยี่ยมเจ้าค่ะ ...สบายดีไหมเอ่ย....เป็นกำลังใจให้นะเจ้าค่ะ....น้าหมอสู้ๆ คิคิ

               เป็นกำลังใจให้เจ้าค่ะ -------> น้องจิ ^_^

ขอบคุณครับน้องจิ เห็นว่าสอบได้สบายๆใช่ไหมครับ น้าหมอส่งกำลังใจมาช่วยเช่นกันนะครับ

สวัสดีคะพี่หมอ ยังขยันเหมือนเดิมนะคะ ดูจากตาราง อ่านจากบันทึก นกว่านะคะ พี่หมอ เอาเวลาไหนพักผ่อนคะ พี่หมอต้องพักบ้างนะคะ เพราะ อากาศมันก็ไม่เหมือนบ้านเรา รวมอาหารการกิน  วันนี้ที่ทำงานนกเขาเชิญพร"พระครูสีลวัฒนาภิรม"นกประทับใจคำพูดท่านมากเลยคะ แต่ทั้ง 3 คำที่นกเอามาฝากในตัวพี่หมอมีอยู่หมดแล้วคะ
1.หน้านอกบอกความงาม 
2.หน้าในบอกความดี 
3. หน้าที่บอกผลงาน    

สวัสดีครับน้องนก

ขอบคุณสำหรับแง่คิดดีๆที่นำมาฝากและความห่วงใยที่ส่งมาให้ครับ

พี่ก็นอนวันละ 7 ชั่วโมง คุยกับครอบครัววันละ 1 ชั่วโมง บริหารร่างกายทุกวัน ทานอาหารที่มีประโยชน์ ใส่เสื้อผ้าที่อบอุ่น ก็พยายามดูแลตัวเองอยู่ครับ อาหารการกินไม่มีปัญหาสะอาด ปลอดภัยแน่นนอนเพราะทำกินกันเองกับพี่อีกคนหนึ่งที่มาเรียนด้วยกัน

ก็พยายามบริหารเวลาให้ได้ เพื่อจะได้ทำสิ่งที่เราชอบได้มากครับ 

อ่านแล้วสนุกไปกับการเดินทางของคุณหมอด้วย บางทีก็ทำให้อยากทำอย่างนั้นบ้าง ถ้ามีโอกาส  แต่ไม่ค่อยแสวงหาโอกาสเท่าไร บวกกับความเข้าใจของทางบ้านไม่พร้อมเหมือนของคุณหมอ นั่นเเหละครับ

http://gotoknow.org/blog/nopadol

 http://gotoknow.org/blog/nopadol/199890

International Course in Health Development (ICHD) ICHD เรียนอะไร เรียนอย่างไร ประเมินอย่างไร (Objective, Learning Experiance, Evaluation)

2008-2009 ไม่มี ICHD มี (MPH - HSMP) แทน http://www.itg.be/internet/courses0809/info/1 MPH-HSMP E 0809.pdf

Master in Public Health Health system ManageMent & Policy (MPH - HSMP)

Formerly “International Course in Health Development” (ICHD)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท