การประชุมเครือข่ายฯสัญจร (3.2) ต่อ


      วันนี้ที่คณะมีการสัมภาษณ์ (ว่าที่) นักศึกษาใหม่ ทำให้เป็นวันหยุดอีก 1 วันที่ผู้วิจัยต้องตื่นแต่เช้าเพื่อไปให้ทันสอบสัมภาษณ์ เนื่องจากตัวเองเป็นกรรมการด้วยคนหนึ่ง ถ้าร่างกายปกติดีก็คงไม่เป็นอะไร แต่วันนี้รู้สึกไม่ค่อยดีเลย เพราะ ไม่สบายมา 2 อาทิตย์แล้ว พอทำท่าจะดีขึ้น อากาศก็เปลี่ยน อาการไม่สบายเลยกลับมาเหมือนเก่า รู้สึกเบื่อจังเลย แต่ก็ต้องทน มาสัมภาษณ์ (ว่าที่) นักศึกษาในวันนี้ก็ดีเหมือนกัน เปลี่ยนบรรยากาศไปอีกแบบหนึ่ง ได้เห็นเด็กในรูปแบบที่หลากหลาย บางคนถือพระพุทธรูปนำหน้ามาเลย บางคนก็ออกแนวนักพัฒนา ในขณะที่บางคนก็ออกแนวนางงาม (เตรียมคำตอบมาเสร็จสรรพ) ส่วนบางคนเหมือนไม่รับรู้อะไรเลย มีอยู่ประมาณ 2-3 คน ที่ผู้วิจัยไม่ค่อยอยากให้ผ่านสัมภาษณ์เลย ชั่งใจอยู่นาน ในที่สุดก็ต้องให้ผ่าน เพราะ เหตุผลหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น คุณแม่ขอร้อง (คุณแม่ของผู้วิจัยเองค่ะ ท่านบอกกับผู้วิจัยเสมอว่าอย่าไปให้ลูกใครตกนะ สงสารเขา มีอะไรก็ค่อยๆเรียกมาคุยกันก็ได้) ความสงสารของผู้วิจัยที่เห็นเด็กอุตส่าห์มาสอบแล้ว คิดว่าน่าจะให้โอกาสเขาบ้าง ("โอกาส" เป็นสิ่งสำคัญ การที่ผู้วิจัยก้าวเดินมาได้จนถึงวันนี้ก็เพราะมีคนให้ "โอกาส") และอีกหลายเหตุผลค่ะ สุดจะบรรยายได้หมด

          มาเข้าเรื่องกันดีกว่า หลังจากเมื่อวานนี้ไม่ได้เล่าเรื่องประชุมสัญจร เพราะ มัวแต่รำพึงรำพันเรื่องเงินๆทองๆ (ของเครือข่ายฯ) วันนี้ขอเล่าต่อเลยก็แล้วกันนะคะ แต่ไม่รู้ว่าจะเล่าได้รู้เรื่องหรือเปล่า เพราะ โน๊ตที่จดมาในช่วงนี้ไม่ค่อยละเอียดเท่าไหร่ แถมยังเปิดดูจากวีดีโอก็ไม่ได้ (มีคนยืมกล้องไป) ครั้นฟังจากเทปที่อัดไว้ก็ไม่ค่อยได้ยิน ยังไงๆก็ทนอ่านหน่อยแล้วกันนะคะ รับรองว่าถึงแม้ไม่ละเอียด แต่เนื้อความก็ไม่เพี้ยนนะคะ

          ประธานฯเริ่มต้นภาคบ่ายโดยการอธิบายเป้าหมายของการจัดการความรู้ควบคู่ไปกับแผนที่ภาคสวรรค์ โดยบอกว่าแผนที่ภาคสวรรค์จะเดินไปได้ต้องมีคณะกรรมการที่มีคุณภาพเข้ามา บริหารจัดการ ในขณะนี้เครือข่ายฯมีกรรมการบริหารทั้งสิ้น 6 คน (ถ้ารวมประธานฯด้วยก็จะเป็น 7 คน) 6 คนนี้ต้องเข้าใจแผนที่ภาคสวรรค์ แล้วถ่ายทอดไปให้ 20 คน ซึ่งเป็นคณะกรรมการ เครือข่ายฯที่ทำหน้าที่ดูแลกองทุนต่างๆ (10 กองทุน) คน 20 คนนี้ก็ต้องถ่ายทอดความรู้ไปให้คน 100 คน ซึ่งคน 100 คนนี้มาจากกรรมการกลุ่มต่างๆ กลุ่มละ 5 คน ตอนนี้เครือข่ายฯมีสมาชิกอยู่ 20 กลุ่ม จึงมีคณะกรรมการ 100 คน (จำนวนกลุ่มตอนนี้ยังไม่ค่อยนิ่งนะคะ) ตัวแทนกลุ่มๆละ 5 คนนี้จะต้องรู้ความเคลื่อนไหวของเครือข่ายฯ จะต้องถ่ายทอดเรื่องราว ข้อมูลของ เครือข่ายฯไปให้กลุ่มรับทราบได้ นอกจากนี้แล้วตัวแทนยังต้องรายงานเกี่ยวกับข้อมูล ข่าวสารของกลุ่มมาที่เครือข่ายฯให้ได้ด้วย ต่อไปนี้ทุก 3 เดือน จะต้องมีการจัดประชุมใหญ่ ต้องเอา ตัวแทนกลุ่ม (5 คน) ทุกกลุ่มมาเรียนรู้ร่วมกัน เพราะฉะนั้นสมาชิกทุกคนต้องรู้จักและเข้าใจแผนที่ภาคสวรรค์

         ในระดับสมาชิก ทุกคนต้องรู้บทบาทของตนเอง เช่น

         1.สร้างวินัยในการลดรายจ่ายของตนเอง

         2.จัดทำข้อมูลครัวเรือน หรือ ข้อมูลรายรับรายจ่ายของตนเอง

         ในระดับกลุ่ม สิ่งที่ต้องทำ คือ

         1.มีบอร์ดแสดงข้อมูลที่ชัดเจน

         2.ระบบบัญชี ตอนนี้ทุกกลุ่มนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในการช่วยจัดเก็บข้อมูลแล้ว ดังนั้น ต่อไปต้องสามารถแสดงฐานะการเงินของตนเองได้

         3.การจัดการกองทุนต่างๆ ในปี 2549 กองทุนต่างๆที่ได้ตั้งไว้ต้องมีการเคลื่อนไหว ต้องมีการจัดการภายใต้ทุนที่มีอยู่ โดยทุนประกอบด้วย (1) ทุนทรัพยากร (2) คน (3) เงิน (4) ภูมิปัญญา

         4.การขยายผล ต้องมีสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2,000 คน (เฉลียกลุ่มละ 100 คน)

         5.การเชื่อมประสานการทำงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับตำบล

         ในระดับเครือข่ายฯ สิ่งที่ต้องดำเนินการ คือ

         1.การขยายผล ต้องมีกลุ่มเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 5 กลุ่ม ตอนนีก็เริ่มเพิ่มขึ้นมาแล้ว มีสมาชิกใหม่ เช่น กลุ่มบ้านศรีบุญเรือง เป็นต้น

         2.การเชือมประสานการทำงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐ

         จะเห็นได้ว่าตอนนี้เรามีตัวชี้วัดที่ค่อนข้างชัดเจน ดังนั้น เราต้องหันกลับมาทบทวนตนเองว่าเราเป็นอย่างไร กลุ่มแต่ละกลุ่มอาจดูตัวอย่างจากเถิน ในเรื่องการหาคณะกรรมการ หาที่ปรึกษา รวมทั้งการสร้างสวัสดิการให้กับคนทำงานเพื่อให้เขามีกำลังใจ ไม่ใช่เอาเงินสวัสดิการของสมาชิกไปเป็นค่าจ้างให้กับตนเองหรือให้กับคณะกรรมการ สำหรับแนวทางการขยายผล เราจะร่วมมือกับ พมจ. , พัฒนาชุมชน , ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน เพื่อถวายให้กับในหลวง ดังนั้น เราต้องมีแผนในการขยายผลว่าจะทำอย่างไร จะสร้างทีมวิทยากรอย่างไร จะจัดเวทีในแต่ละพื้นที่อย่างไร เช่น ในกรณีตำบลป่าตัน ถ้าเราจะรณรงค์เรื่องนี้เราจะทำอย่างไรให้ 8 หมู่บ้านในตำบลป่าตันเข้าใจเรื่องนี้ ในกรณีของพ่อชบนั้น จะมีทีมวิทยากรลงไปสร้างความเข้าใจ ต้องหาทีมที่มีความเข้าใจ สามารถตอบคำถามได้ การทำงานร่วมกับภาคี ตอนนี้เริ่มเป็นรูปเป็นร่างแล้ว แต่ท้องถิ่นก็กำลังดูและตั้งคำถามว่าถ้าจะให้ท้องถิ่นลงไปช่วย ตอนนี้ชาวบ้านทำหรือยัง ออมแล้วหรือยัง นี่คือสิ่งที่พวกเราต้องทำ

            ในการทำหรือปฏิบัติต้องมีทีมในการทำ ซึ่งต้องเป็นทีมที่มีคุณภาพ ภายใต้งบประมาณโครงการจัดการความรู้ที่มีอยู่ ในส่วนของงบประมาณมีอยู่ 2 ส่วน คือ ส่วนของการบริหารจัดการ และ ส่วนของการจัดกระบวนการ เช่น การจัดเวที การไปดูงาน การอบรม ฯลฯ ดังนั้น ต้องมีทีมในการบริหารงบประมาณ ซึ่งมีงบประมาณไม่มากนัก บางส่วนเราอาจต้องไปดึงมาจากที่อื่น แต่ก็ไม่อยากให้ทุกคนไปให้ความสนใจกับเรื่องงบประมาณมากนัก แต่อยากเห็นแผนการทำงานในระยะเวลา 6 เดือนว่าเราจะทำอะไร ทำอย่างไร ใครจะเป็นคนทำ ทำไปแล้วเกิดผลอย่างไร เพื่อให้บรรลุผลตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ในการทำ ทีมวิจัยจะลงไปช่วยบันทึกในทุกกระบวนการและขั้นตอน เมื่อกล่าวจบ ประธานฯได้ทิ้งท้ายเอาไว้ว่าเราจะเริ่มต้นทำกันอย่างไร ปรากฎว่าไม่มีผู้ใดออกความเห็น ประธานจึงเรียกชื่อผู้เข้าร่วมประชุม คือ อ.ธวัช ให้ออกความเห็นในเรื่องนี

           อ.ธวัช กล่าวว่า ในการที่จะพัฒนากลุ่มหรือองค์กรนั้นมีองค์ประกอบหลายอย่าง เพราะ ในองค์กรมีหลายสิ่งหลายอย่างมาอยู่รวมกัน ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการ สมาชิก อุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ในส่วนของคณะกรรมการต้องมีการแบ่งหน้าที่กัน หัวเรือใหญ่คือ ประธานฯ กรรมการต้องเชื่อฟังประธานฯ เพราะ เรามอบให้เขาเป็นใหญ่แล้ว คนทำงานหรือคณะกรรมการทั้งหลายก็ต้องมีความรับผิดชอบตามหน้าที่ที่ตนเองได้รับมอบหมาย ไม่ควรไปก้าวก่ายงานคนอื่น โดยเฉพาะถ้างานของตนเองไม่ดี แล้วไปก้าวก่ายงานของคนอื่น ก็จะทำให้องค์กรแตกสลายได้ง่าย เช่น เลขาฯ เป็นแม่บ้านของกลุ่ม ต้องรับรู้ทุกอย่าง รับรู้ทุกงาน หากประธานฯ หรือ คณะกรรมการมีนโยบายออกมาแม่บ้านจะเป็นผู้ประสานกับฝ่ายต่างๆเพื่อให้งานบรรลุไปด้วยดีไม่มีปัญหา ประธานฯก็ต้องมีองค์ประกอบหลายอย่าง ต้องเป็นผู้รอบรู้พอสมควร เช่น ต้องมีความรุ้ในเรื่องการวางแผนงานและโครงการ ต้องมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี มีการประชาสัมพันธ์ที่ดี มีการสื่อความที่ดี มีการตัดสินใจที่ดี ถ้าประธานฯมีคุณสมบัติอย่างนี้เชื่อว่าองค์กรจะเดินไปด้วยดี ไม่มีอุปสรรคปัญหา ถ้าประธานฯไม่มีความรู้ ย่อมเกิดปัญหา การตัดสินใจก็เช่นกัน หากมีการอภิปรายกันในกลุ่ม ประธานฯต้องเป็นผู้ตัดสินใจ เป็นสิ่งที่สำคัญมากในองค์กร หากประธานตัดสินในผิด องค์กรจะเขวทันที ที่ทำงานมาใช้หลักแบบนี้ ตนเองทำงานบริหารมา 28 ปีก็ใช้หลักการนี้ องค์กรก็ราบรื่นดี ไม่มีปัญหาอะไร ดังนั้น จึงอยากฝากเรื่องนี้กับทุกกลุ่มว่าในการที่จะพัฒนาองค์กรต้องมีองค์ประกอบแบบนี้ ต้องมีกรรมการ ประธาน เครื่องไม้เครื่องมือ สมัยปี 2504 ผมไปเรียนที่ประสานมิตรในเรื่องเกี่ยวกับการบริหาร มีการสอนกันว่าในการบริหารจัดการองค์กรต้องมี 4 M คือ Man , Meterial , Management , Money

          1.Man ในองค์กรต้องมีคน คนเหล่านั้นต้องรู้หน้าที่ของตนเอง ต้องมีการแบ่งบทบาทหน้าที่กัน

          2.Meterial ในองค์กรต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือที่ครบครัน เพื่อหนุนเสริมให้งานของเราเดินไปได้สะดวก

          3.Management การจัดการในองค์กร ประธานอยู่ที่ยอด รองประธานฯ เลขาฯ คณะกรรมการส่วนต่างๆ ต้องเป็นมือเป็นไม้แทนประธานได้

          4.Money สำคัญมาก ขาดไม่ได้ ทหารต้องเดินทัพด้วยท้อง ถ้าไม่มีเงินตอบแทน งานก็เดินได้ แต่ไม่เต็มที่ ทุกคนต้องดูแลครอบครัว มีภาระหน้าที่ เงินเป็นขวัญ กำลังใจให้กับคนทำงาน

           เมื่อ อ.ธวัช กล่าวจบ ประธานฯได้สรุปสิ่งที่ อ.ธวัช พูด จับประเด็นได้ว่า องค์กรต้องประกอบด้วย 3 ส่วน คือ สมาชิก คณะกรรมการ (ต้องมีกติการ่วมกัน แต่ละคนต้องมีบทบาท) และเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ทีนี้เมื่อมาพิจารณาในส่วนของบทบาท เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าเราจะต้องมีการอบรมหรือถ่ายทอด เพราะ คงไม่มีกลุ่มไหนที่แข็งเป๊ะ ถ้ากลุ่มไหนแข็งก็ต้องมาช่วยกลุ่มที่อ่อน ดังนั้น เราต้องทำแผนว่าจะอบรมกี่ครั้ง อบรมเรื่องอะไรบ้าง คนที่จะต้องอบรมคงต้องเข้ามาอบรมที่จังหวัด

           ในช่วงนี้ยังไม่มีใครเสนอความคิดเห็นออกมาว่าจะทำอะไรต่อไป ประธานฯจึงได้เชิญให้ อ.นวภัทร (ประธานกลุ่มบ้านเหล่าเถิน) แสดงความคิดเห็นบ้าง ซึ่ง อ.นวภัทร ได้แสดงความคิดเห็นว่า กลุ่มไหนจะรุ่งเรืองหรือจะดับขึ้นอยู่กับภาวะผู้นำของผู้นำ (ผู้นำกับภาวะผู้นำไม่เหมือนกัน) ผู้นำต้องมีความคิด คนต้องศรัทธา ผู้นำต้องมีคุณธรรม ดังนั้น จึงขอเสนอว่าน่าจะเอาผู้นำของแต่ละกลุ่มมาติวเข้มกัน โดยเนื้อหาที่จะติวนั้นต้องแสดงให้เห็นว่าคุณสมบัติของผู้นำที่ดีควรเป็นอย่างไร ถ้าหากมีการติวเข้มแล้วเชื่อว่าผู้นำจะมีโลกทัศน์ที่กว้างขึ้น มีอะไรดีๆเกิดขึ้นในตัวเองหลายๆอย่าง เมื่อผู้นำมีการพัฒนาแล้ว ผู้นำก็จะรู้ว่าตนเองควรที่จะทำอย่างไรต่อไป (ตามเป้าหมายที่เราวางไว้)

            เมื่อ อ.นวภัทร เสนอจบ ประธานฯได้สรุปข้อเสนอของ อ.นวภัทร โดยบอกว่า อ.นวภัทรเน้นในเรื่องภาวะผู้นำ ดังนั้น เราอาจต้องพาผู้นำไปสังคยานา ไปฝึกจิต อาจต้องออกนอกสถานที่ การฝึกภาวะผู้นำต้องมีความพร้อม เมื่อประธานฯสรุปจบก็ยังไม่มีใครเสนอความคิดเห็นอะไรขึ้นมา ประธานฯจึงได้เชิญ คุณปิยชัย (ประธานกลุ่มบ้านต้นธงไชย) ขึ้นเสนอความคิดเห็นบ้าง

           คุณปิยชัย ได้กล่าวว่า ในส่วนที่ผมทำอยู่ที่ตำบล ตอนนี้ผมได้ติดต่อติดต่อหมู่บ้านไว้ 4-5 จุดแล้ว กำลังรออยู่ว่าที่เครือข่ายฯเคยบอกว่าจะทำทีมวิทยากรเมื่อไหร่จะเสร็จซักที จะได้ลงไปที่พื้นที่ที่ผมติดต่อไว้บ้าง เห็นพูดกันมานานแล้ว แต่ไม่เห็นเสร็จซักที มันก็ขยายไม่ได้ น่าจะทำทีมตรงนี้ให้เร็วๆหน่อย ถ้าเรานั่งคุยอย่างนี้ก็ไม่เสร็จซะที คนก็ไม่มี ทีมก็ไม่มี เราก็ขยายไม่ได้ คนไม่เพิ่มแน่นอน ผมคิดว่ายังมีอีกหลายอย่างที่ต้องพิจารณา อย่างของเถิน ที่ให้โรงพยาบาลอำนวยความสะดวกในการออกใบรับรองให้ ผมอยากทราบว่าสภาองค์กรชุมชนที่ประธานฯ (คุณสามารถ) เป็นประธานอยู่ช่วยด้านไหนบ้าง ผู้ว่าช่วยด้านไหนได้บ้าง ขอการช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรมนะครับ ไม่ใช่การช่วยในกระดาษ ทีมของชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านของลำปางก็มี ประชุมกันอยู่ทุกเดือน เราจะไปทำอย่างไรได้บ้างในการที่จะจุดประกายให้เขามาช่วย ในส่วนของ โครงสร้างการจ่ายสวัสดิการก็เช่นกัน ผมคิดว่าเราตั้งเอาไว้สูงจนเกินไป กำหนดอายุไว้ 75 ปี (แต่ผู้วิจัยรู้สึกว่า 70 ปีนะคะ เดี๋ยวต้องไปเช็คข้อมูลก่อน) ออมมาแล้ว 15 ปี จึงจะได้สวัสดิการชราภาพ ผมไปเช็คที่สาธาณสุขจังหวัดลำปาง ได้ข้อมูลมาว่าอายุเฉลี่ยของผู้ชายในจังหวัดลำปางเท่ากับ 69 ปี ส่วนผู้หญิงเท่ากับ 72 ปี เราจะลดเพดานอายุลงมาหน่อยได้หรือเปล่า เพราะ คิดว่ามันสูงจนเกินไป อยากเสนอให้ทำโครงการผ่านผู้ใหญ่ เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นต้น ให้เขาสั่งการลงมา บางทีเราเป็นชาวบ้านเข้าไปพูดกับ อบต. เขาก็บอกว่าไม่มีเงินช่วยเหลือ โดยเฉพาะ อบต. ขนาดเล็ก แต่ถ้าให้ผู้ว่าสั่งการลงมาเขาก็จะทำ จะให้ความร่วมมือ อยากให้มีทีมงานขยายผล เพราะ ตอนนี้ผมได้ติดต่อกับหมู่บ้านต่างๆไว้แล้ว แต่ยังไม่มีคนลงไปพูด ก็เลยไม่เกิดกลุ่มใหม่ซะที กลุ่มเดิมของผมขณะนี้ก็ขยายยาก ขยายได้ทีละ 5-6 คน มันช้า จึงอยากให้เสนอตั้งกลุ่มใหม่

           ประธานฯได้กล่าวต่อจากคุณปิยชัยว่า ตนเองคิดว่าขณะนี้หน่วยงานต่างๆกำลังดูเราอยู่ว่าเราทำจริงหรือเปล่า มีการให้สวัสดิการจริงหรือเปล่า อย่างในกรณีของกลุ่มกำนัน ผู้ใหญ่บ้านก็เช่นกัน เขาก็กำลังดูเราอยู่ หากเราทำไม่จริงจัง ทำแล้วไม่สำเร็จ เขาคงไม่กล้าเข้ามาช่วยหรือมาร่วมมือกับเรา

           จากนั้น อ.ธวัช ได้ยกมือขออนุญาตแสดงความคิดเห็นว่า ผมคิดว่าจาก 3 เรื่องที่เราจะทำ คือ การบริหารจัดการ การขยายผล การเชื่อมประสาน สิ่งที่ผมคิดว่ามีความสำคัญมาก คือ เรื่องการขยายผล ผมอยากจะเสนอว่า ให้แบ่งเป็นโซน โซนละ 4-5 กลุ่ม ให้แต่ละกลุ่มที่อยู่โซนเดียวกันช่วยกันจะดีไหม ผมคิดว่าเครือข่ายฯไม่สามารถจะเข้าไปช่วยได้ทุกกลุ่ม ดังนั้น จึงควรแบ่งเป็นโซน จะไปได้เร็วกว่า

           ประธานฯกล่าวว่าที่มีการเสนอมานั้นเป็นแนวทางปฏิบัติ แต่ตอนนี้เราต้องถามตัวเองก่อนว่าเรามีความพร้อมหรือยังที่จะลงไปช่วยกันปฏิบัติ ลงไปช่วยกันขยาย ดังนั้น เราจึงต้องมีแผนว่าเราจะทำอะไร ทำอย่างไร ใครจะทำ ทำแล้วเกิดอะไร ตอนนี้จุดอ่อนของเรา คือ คณะกรรมการยังไม่เข้าใจบทบาทของตนเอง เกิดการตั้งคำถามว่าทำไมแต่ละกลุ่มต้องมีกรรมการ 15 คน ทำคนเดียวไม่ได้เหรอ ดังนั้น เราต้องมาทำงานร่วมกัน มาวางแผนร่วมกัน จากนั้นประธานฯได้กล่าวต่อ โดยยกคำพูดของคุณภีมขึ้นมาว่า จากคำพูดของคุณภีมเมื่อวันที่ 11 ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าคุณภีมตั้งข้อสังเกตขึ้นมาข้อหนึ่งว่าเราพูดเรื่องเหล่านี้มา 2 รอบแล้ว แต่ยังไม่เห็นทำอะไร ยังไม่เห็นผลในทางปฏิบัติ แสดงว่าต้องมีอะไรสักอย่างหนึ่งที่ทำให้ไม่เกิด ดังนั้น เราจึงต้องกลับมาทบทวนตัวเองว่าเรามีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก หลายคนอาจมองว่าทำไมไม่ขยาย ทำไมไม่สร้างความเข้าใจ ผมคิดว่าเรื่องนี้มีเส้นผมบังอยู่ทำให้เราทำไม่ได้

           จากนั้น คุณกู้กิจ (ประธานกลุ่มบ้านดอนไชย) ได้ยกมือขึ้นขออนุญาตเสนอแนวความคิด โดยกล่าวว่าในความรู้สึกของเถิน ตอนนี้กลุ่มแม่วะ ต้องการให้เราไปจัดตั้งกลุ่มสวัสดิการวันละ 1 บาทให้ ตำบลล้อมแรด (บ้านแม่ยายคุณกู้กิจ) ก็เช่นกัน ตอนนี้มีคนที่สนใจจะมาสมัครเป็นสมาชิกแล้วกว่า 200 คน อยากให้เราไปจัดตั้งให้ แต่ผมยังประวิงเวลาอยู่ โดยบอกว่าตอนนี้ผมยังไม่ว่าง เมื่อวันที่ 11 ที่ผ่านมา กลุ่มแม่วะก็ส่งตัวแทนมาร่วมฟังด้วย (เวทีตำบลละแสน) ผมรับปากผู้ใหญ่บ้านไว้แล้วด้วย แต่ผมยังไม่ไปจัดตั้งให้ ที่เป็นอย่างนี้เพราะ ผมเห็นว่าในระดับ เครือข่ายฯยังไม่มีความชัดเจน ทำให้ผมไม่สามารถเอาไปประชาสัมพันธ์ได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น ทั้ง 2 กลุ่มที่อยากจะจัดตั้ง ผมจึงชะลออยู่ ผมอยากเห็นภาพ และทิศทางที่ชัดเจนของ เครือข่ายฯ

          ลุงคมสัน กล่าวต่อจากคุณกู้กิจว่า ผมเห็นว่าตอนนี้คณะกรรมการยังไม่รู้บทบาทของตนเอง เราพูดกันมาหลายครั้งแล้วว่าอยากได้คู่มือในการขยายผล ที่เป็นทิศทางเดียวกัน เพราะ เวลานี้ถ้าถามเรื่องเดียวกัน จะตอบกันไปคนละอย่าง เนื่องจากการรับความรู้ ข้อมูลของแต่ละคนรับไม่เท่ากัน มีความเข้าใจไม่เหมือนกัน ไม่สามารถตอบสมาชิกได้ ที่เป็นอย่างนี้ เพราะ เราไม่มี คู่มือ เราน่าจะมีคู่มือให้คณะกรรมการแต่ละกลุ่มศึกษาจะได้ตอบคำถามสมาชิกได้ เครือข่ายฯก็ทำหน้าที่ไปเปิดเวที จัดตั้งกลุ่มขึ้นมา จะได้เป็นทิศทางเดียวกัน

            จากนั้น ประธานฯได้ขอความคิดเห็นจากพี่นก (เลขาฯกลุ่มบ้านดอนไชย) พี่นก บอกว่า แต่ละคนก็มีความคิดที่หลากหลาย ในส่วนของกลุ่มเถินที่พัฒนามาก มีสมาชิกมาก เพราะ เราไม่ปล่อยให้ปัญหาหมกหมม ถ้ามีปัญหาอะไรเราจะรีบแก้ ทำให้สมาชิกเกิดความมั่นใจ อย่างกลุ่มแม่วะนั้น เขาบอกมาว่าขอให้เราไปพูดให้ความรู้เท่านั้น เขาก็จะจัดตั้งกลุ่มขึ้นมาเลย นี่เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าเขามีความมั่นใจเรา

            วันนี้ขอจบแค่นี้ก่อนนะคะ พรุ่งนี้ (ถ้าโอกาสอำนวย) จะมาเล่าต่อ ซึ่งไม่รู้ว่าจะจบหรือเปล่า (ก็อย่างที่บอกนั่นแหละค่ะว่าเรื่องนี้อีกยาว) บ๊าย บาย ค่ะ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 13812เขียนเมื่อ 29 มกราคม 2006 16:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท